ThaiPublica > เกาะกระแส > “SEAC” เปิดตัวศูนย์พัฒนาผู้นำและผู้บริหารระดับสูง “Learning Ecosystem” ยกระดับผู้นำ-สร้างนวัตกรรม

“SEAC” เปิดตัวศูนย์พัฒนาผู้นำและผู้บริหารระดับสูง “Learning Ecosystem” ยกระดับผู้นำ-สร้างนวัตกรรม

30 มีนาคม 2018


นางอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 มีงานแถลงข่าวเปิดตัว South East Asia Center หรือ “SEAC” ศูนย์พัฒนาผู้นำและผู้บริหารระดับสูงครบวงจรและใหญ่ที่สุดแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียนอย่างเป็นทางการ ณ อาคารเอฟวายไอ เซ็นเตอร์ 2 โดยนางอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC กล่าวถึงความเป็นมาและพันธกิจในการก่อตั้ง SEAC ว่า SEAC ไม่ได้เพิ่งมาเริ่มต้นทำธุรกิจที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กรและบุคลากร แต่ทำมายาวนานตลอด 25 ปีที่ผ่านมา ในนามบริษัท เอพีเอ็ม กรุ๊ป จำกัด (APM Group) เน้นการพัฒนาองค์กรและบุคลากร ทำให้องค์กรนั้นสามารถต่อยอดธุรกิจเพื่อไปแข่งขันได้ในระดับสากล

จาก APM Group สู่ SEAC

ทั้งนี้ เจตนารมณ์ของเอพีเอ็ม กรุ๊ป คือทำอย่างไรให้องค์กรในประเทศไทยไปยืดหยัดในระดับสากลได้ ทำอย่างไรที่จะไม่ได้มีกรณีตัวอย่างแค่ในบริษัทชั้นนำจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือบางประเทศเท่านั้น แต่เราคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้คนอื่นเดินมามองว่าองค์กรไทยก็ทำได้เช่นกัน

จากเจตนารมณ์นั้นมาถึงวันนี้ ทำให้เรามองภาพว่าถ้ายังเป็นเอพีเอ็ม กรุ๊ป แบบเดิม โดยที่ไม่ได้เริ่มต้นจากตัวเองว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงยังไงเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงโลก เราก็อาจจะไปไม่ถึงจุดหมายที่จะพาองค์กรในไทยหรือองค์กรกรในอาเซียนไปแข่งขันในเวทีโลกได้ ดังนั้น เราจึง Transform ตัวเองมาเป็น SEAC โดยมุ่งไปที่ “ผู้บริหารระดับสูงสุด” ขององค์กรก่อน

ในอดีตเราได้พยายามเข้าไปดูแลระบบ ดูแลกระบวนการ ดูแลการพัฒนาผู้นำในระดับกลางและล่าง แต่แค่นั้นยังไม่พอ เราจึงมองใหม่ว่าการที่จะร่วมกันเปลี่ยนองค์กรไทย ยกระดับประเทศไทย หรือช่วยทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่ไม่น้อยหน้าไปกว่าสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือจีน ต้องเปลี่ยนวิธีการบริการโดยมุ่งไปที่ผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กรก่อน

“คงเป็นเรื่องยากมากที่องค์กรจะสามารถขับเคลื่อนได้ หากผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กรยังไม่ได้มีความเชื่อว่าจะต้องนำองค์กรในภาพที่เปลี่ยนไป ดังนั้น SEAC จึงเกิดขึ้นเพื่อจะนำพาผู้บริหารระดับสูงสุดในประเทศไทยและในอาเซียนทำความเข้าใจว่าโลกวันนี้ไม่เหมือนเดิม”

ศูนย์แห่งการเรียนรู้-ยกระดับนวัตกรรม

นางอริญญากล่าวว่า ต้องยอมรับว่าในระบบการศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้เน้นเรื่องการสอนให้คนมีภาวะผู้นำ หรือไม่ได้เน้นการสอนคนให้สร้างนวัตกรรมสำหรับโลกวันนี้ แต่ SEAC ได้ศึกษาอย่างชัดเจนว่าแล้วพบว่าโลกวันนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ในอดีตมีใครเคยคิดบ้างว่าสมาร์ทโฟนจะเป็นคำตอบหลายอย่างของชีวิตไปแล้ว เราไม่เคยคิดว่าวันนี้ไม่ใช่แค่เดินเข้าไปในห้างสรรพสินค้าเพื่อเข้าไปซื้อของ แต่ยังสามารถช็อปปิ้งที่ไหนก็ได้ หรือเราไม่เคยคิดว่าวันอาทิตย์นั่งอยู่ที่บ้านแล้วสามารถสั่งอาหารผ่าน Grab Eat มาทานที่บ้านได้

ดังนั้น ภาพที่เปลี่ยนไปและความท้าทายของโลกวันนี้ ทำให้ผู้บริหารระดับสูง เจ้าของกิจการ มีคำถามมากขึ้นทุกทีว่าจะนำองค์กรไปยังไง จะทำแบบไหนที่ทำให้นำองค์กรในประเทศไทย นำองค์กรในย่านเซาท์อีสเอเชียไปแข่งขันได้ไม่น้อยกว่าที่ได้ยินจากจีน สหรัฐอเมริกา หรือจากที่ซิลิคอนวัลเลย์

“จากจุดนี้เองเราจึงเห็นเป็นโอกาส เรามีความเชื่อ มีความฝัน และมั่นใจว่าศูนย์แห่งนี้จะเป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้ที่จะทำให้องค์กรในประเทศไทยและองค์กรในเซาท์อีสเอเชียสามารถจะทำให้เกิดนวัตกรรมได้ และในวันหนึ่งไม่ใช่คนจะพูดถึงแต่นวัตกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ที่เราเคยได้ยินเท่านั้น แต่นวัตกรรมใหม่ๆ จะถูกนำโดยผู้นำจากประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน”

Leadership Center ผู้บริหารระดับสูงต้องคิดภาพใหม่

และจากโอกาสตรงนี้ ทำให้เราเริ่มมองภาพว่าอยากจะโฟกัส อยากเปลี่ยนธุรกิจที่เคยทำมาจาก 25 ปีของเอพีเอ็ม กรุ๊ป มาสู่การโฟกัสว่าจะนำพาผู้นำ โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงให้เห็นภาพใหม่ ด้วยการเปิด leadership center ขึ้นมา

สำหรับโฟกัสแรกของ SEAC เราบอกว่า leadership center จะเน้นการเชื้อเชิญผู้บริหารระดับสูง เจ้าของกิจการในเมืองไทย ที่จะทำให้บุคคลเหล่านั้นเริ่มคิดว่ากำลังนำภาพใหม่ เพราะโลกไม่ใช่โลกใบเดิม ซึ่งตั้งแต่เปิดศูนย์มาอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เริ่มมีผู้บริหารระดับสูง เจ้าของกิจการ เป็นพันคนมาร่วมโครงการของเรา ในการที่จะเปลี่ยนวิธีการมอง refrem ใหม่ rethink ใหม่ และโยนทิ้งในสิ่งที่คุ้นเคย สิ่งที่เคยเชื่อทิ้งไป

“เราบอกว่าขอไม่เริ่มต้นที่ผู้บริหารระดับกลางหรือระดับล่าง ซึ่งแน่นอนว่าคนเหล่านั้นก็ต้องพัฒนา แต่คนเหล่านั้นเมื่อได้รับการพัฒนาแล้ว และจะพาองค์กรต่อไปได้ จะต้องสอดคล้องกับวิธีคิดและวิธีมองกับคนข้างบน”

และเมื่อผู้บริหารระดับบนเห็นภาพนั้นแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้คือคำว่า “นวัตกรรม” (innovation) เพราะไม่ว่าเราจะพูดถึงผู้นำแบบไหน SEAC เข้าใจเป็นอย่างดีว่าประเทศไทยต้องขับเคลื่อนไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งต้องการที่จะเห็นประเทศของเรายกระดับ แต่ประเทศจะยกระดับไม่ได้เลยถ้ายังทำอะไรเหมือนเดิมทุกวัน ดังนั้น การที่ประเทศจะยกระดับได้ องค์กรต่างๆ จะต้องยกระดับเช่นเดียวกัน

นี่คือเหตุผลที่SEAC มองภาพว่าจะทำยังไงให้เกิดนวัตกรรมในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน จึงพยายามทำการบ้านและศึกษาว่า ที่ไหนเป็นที่ที่ดีที่สุด และสามารถทำให้องค์กรไทยยกระดับในเรื่องนวัตกรรมได้ ซึ่งนั่นคือการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

สร้างนวัตกรรม ผ่าน Design Thinking

นางอริญญากล่าวต่อว่า SEAC ได้ทำการติดต่อและทำงานร่วมกับ Stanford Center for Professional Development (SCPD) มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่ทำงานเกี่ยวกับ executive education สร้างบริษัทชั้นนำของโลกให้มีนวัตกรรมเกิดขึ้นมาแล้ว เพื่อต้องการทำและนำสิ่งที่ดีที่สุดมาให้กับบริษัทไทยและคนไทย รวมทั้งภูมิภาคนี้ เพื่อให้สามารถมีนวัตกรรมออกมาไม่น้อยหน้าใคร

โดยSEACต้องการจะเปลี่ยนวิธีคิดของนวัตกรรมในที่ทำงาน ซึ่ง “Innovation at Work” นั้น เป็นเรื่องสำคัญของสแตนฟอร์ด ทั้งนี้ Stanford Innovation at Work เป็นภาพที่สแตนฟอร์ดพยายามจะผลักดันให้บริษัทแต่ละบริษัทเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีมอง และสร้างนวัตกรรมออกมาได้

ทั้งนี้ SEAC จึงได้ไลเซนส์ ได้คอนเทนต์จากสแตนฟอร์ด และนำมาปรับให้เข้ากับประเทศไทยและอาเซียน โดยเน้นใน 2โปรแกรมหลัก โปรแกรมแรก คือ “Design Thinking” เป็นหลักสูตรที่ผ่านการรับรองจากสแตนฟอร์ด ซึ่งจะทำให้เห็นภาพของกระบวนการที่สแตนฟอร์ดสามารถสร้างองค์กรเพื่อสร้างนวัตรกรรมให้เกิดขึ้นได้ คนที่มาเรียนเกิดประสบการณ์โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปเรียนแต่ที่สแตนฟอร์ดเท่านั้น แต่ผู้เรียนจะได้บรรยากาศ ได้ความรู้สึก และได้แรงบันดาลใจ จากการเข้ามาเรียนรู้ในศูนย์แห่งนี้ไม่ต่างจากที่สแตนฟอร์ดเช่นกัน

ส่วนอีกหนึ่งโปรแกรมคือ “Leading in a Disruptive World” (LDW) เป็นหลักสูตรที่ต่อให้เข้าไปค้นหาในเว็บไซต์ของสแตนฟอร์ดก็จะไม่มีหลักสูตรนี้ เพราะเป็นหลักสูตรที่ผู้บริหารสแตนฟอร์ดเข้ามาทำโฟกัสกรุ๊ปกับผู้บริหารระดับสูงของไทย กับซีอีโอหลายบริษัท กับเจ้าของธุรกิจ ว่าวันนี้ถ้าเราจะยกระดับบริษัท ยกระดับประเทศ จะต้องมีการพัฒนาเรื่องอะไรบ้าง

“โครงการนี้เป็นโครงการที่ผู้บริหารระดับสูงต้องเข้าไปเรียนรู้ที่สแตนฟอร์ด ไปเรียนรู้กับอาจารย์ชั้นนำจากสแตนฟอร์ด รวมทั้งได้มีโอกาสเข้าไปดูองค์กรต่างๆ ในซิลิคอนวัลเลย์เช่นเดียวกัน ซึ่งหลักสูตรนี้จัดไปแล้วสองรุ่น และกำลังจะมีรุ่นที่สามภายในเดือนเมษายนปีนี้”

นอกจากนั้น SEAC ไม่ได้ทำแค่ในประเทศไทย แต่กำลังขยายไปในตลาดประเทศเมียนมา เวียดนาม อินโดนีเซีย และกำลังจะจัดตั้งบริษัทในประเทศสิงคโปร์ โดยจะเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฏาคมปีนี้ เพราะต้องการโชว์ให้เห็นว่าคนไทยมีศักยภาพ มีความจริงใจและมุ่งมั่นที่จะทำให้ SEAC เป็นสถาบัน เป็นศูนย์การเรียนรู้ ที่จะทำให้คนไทย บริษัทไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ไปด้วยกันในการสร้างนวัตกรรมในย่านเซาท์อีสเอเชีย

Learning Ecosystem สร้างแรงบันดาลใจ

นางอริญญา กล่าวด้วยว่า ศูนย์ SEAC แห่งนี้ ถูกออกแบบมาเพื่อทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้สร้างนวัตกรรม เน้นการเป็น “learning ecosystem” หรือสังคมแห่งการเรียนรู้ ทั้งสภาพแวดล้อมของศูนย์ บรรยากาศของศูนย์ การออกแบบทุกอย่างของศูนย์เน้นว่าจะทำอย่างให้เกิดการเรียนรู้ทั้งเรื่องของบรรยากาศ เทคโนโลยี และรูปแบบ แค่ไม่ใช่การเรียนอยู่ในห้องเรียนเท่านั้น

“สิ่งที่สำคัญมากที่สุดคือศูนย์แห่งนี้ เราอาจจะได้วิชาที่ดี ได้ความหลากหลายที่ใช่ แต่ถ้าเราไม่ได้แรงบันดาลใจของการเดินเข้ามาเรียนรู้ในสถาบันหรือศูนย์ที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่เราอยากจะสร้างนวัตรกรรม เราก็สามารถเรียนผ่านออนไลน์ที่ไหนก็ได้”

ศูนย์การเรียนรู้ของ SEAC เน้นเป็น learning ecosystem ทั้งสภาพของศูนย์ บรรยากาศของศูนย์ การออกแบบทุกอย่างของศูนย์เน้นว่าจะทำยังไงให้เกิดการเรียนรู้ ทั้งเรื่องของบรรยากาศ ทั้งเรื่องของเทคโนโลยี ทั้งเรื่องของรูปแบบ ที่ไม่ใช่แค่นั่งเรียนในห้องเรียนอย่างเดียว แต่จะเห็นภาพของการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มีคอมมูนิตี้เกิดขึ้น ซึ่งปีที่แล้วหลังจากจัดไป ทุกวันนี้ยังมีการขับเคลื่อนคอมมูนิตี้ที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมขึ้นในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

นางอริญญาสรุปทิ้งท้ายว่า “สำหรับจุดมุ่งหมายของ SEAC คือ ภายในปี 2020 เราจะไม่ได้ยินแค่ชื่อบริษัทกูเกิล (Google) จะไม่ได้ยินแค่ชื่อบริษัทอเมซอน (Amazon) แต่เราจะได้ยินชื่อบริษัทในประเทศไทย ชื่อบริษัทในอาเซียน ที่ SEAC ตั้งใจที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง”

รศ. ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ ประธานกรรมการสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ

นวัตกรรมสร้างผู้นำ – ผู้นำสร้างนวัตกรรม

รศ. ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ ประธานกรรมการสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า ศูนย์ SEAC นับเป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์ในการเรียนรู้ และมีสิ่งที่น่าภูมิใจในการมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้เป็นสถาบันครอบคลุม 2 ด้าน คือด้านผู้นำ (leadership) และด้านนวัตกรรม (innovation) นอกจากนั้นยังจะกระจายองค์ความรู้ไปตั้งศูนย์ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นความภูมิใจของคนไทยอย่างมาก

รศ. ดร.สมเจตน์ชี้ว่า นวัตกรรมนั้นเป็นตัวสร้างผู้นำ ขณะเดียวกันผู้นำก็ต้องสร้างนวัตกรรม ทั้งสองมีความปฏิสัมพันธ์กันอย่างมีเหตุมีผล อย่างไรก็ตาม ผู้นำต้องมีคุณธรรมความดีด้วย ผู้นำต้องไม่หลงใหลเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมจนขาดคุณธรรม เพราะไม่อย่างนั้น บ้านเมืองก็จะเดินหน้าไปไม่ได้เช่นกัน

ผู้นำนั้นต้องมีนวัตกรรม เพราะนวัตกรรมนั้น making creativity into value reality แปลว่าตราบเท่าที่คนไปสร้างตนตัวจนเกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งปัจจัยของการมีความคิดสร้างสรรค์อาจจะมาจากปัจจัยหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นจากการวิจัย จากแรงบันดาลใจ หรือจากจินตนาการฯลฯ แต่ทั้งนี้ต้องนำความคิดสร้างสรรค์นั้นไปทำให้เกิดคุณค่า ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรม

“บางคนบอกว่าต้องเป็นของใหม่ ของเก่า ผมบอกว่าอะไรก็ได้จะเก่าจะใหม่ แต่ต้องเป็นความความคิดเชิงสร้างสรรค์ เพราะความสร้างสรรค์ก็มักจะเกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาเอง แล้วไปสร้างให้เกิดคุณค่า ไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้ ทั้งคุณค่าทางการเงิน และคุณค่ากับสังคม เพราะฉะนั้น เราต้องสร้างคนของประเทศไทย เหมือนกับที่ SEAC ต้องการจะสร้าง คือสร้างคนให้มีทัศนคติเรื่องนวัตกรรม ต้องสร้างผู้นำให้มีทัศนคติ ไม่อย่างนั้นเถ้าแก่หรือนักธุรกิจอาจจะไม่สนใจ และต้องรวมกลุ่มกันสร้างเป็นคอนเนกชันขึ้นมา เพราะถ้าทำคนเดียวไอเดียอาจจะไม่เกิดหรือยังไม่เป็นที่ยอมรับ” รศ. ดร.สมเจตน์ กล่าว

รศ. ดร.สมเจตน์ ระบุด้วยว่า ปัจจุบันโลกกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะจากสิ่งที่เรียกว่า disruption ดังนั้น ทัศนคติสำหรับเรื่อง “การเปลี่ยนแปลง” ก็เป็นเรื่องที่มีความหมาย และตรงกับสิ่งที่ SEAC ได้พยายามเน้นย้ำเรื่องการเปลี่ยนแปลง เพราะ disruption ก็คือการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งกับคน กับครอบครัว กับบริษัท กับธุรกิจ ที่ทุกคนต้องตระหนักรู้

“สตีเฟน ฮอว์คิง นักฟิสิกส์ที่เพิ่งเสียชีวิต บอกว่าบนโลกหรือจักรวาลแห่งนี้อาจไม่มีจุดเกิดหรือจุดจบ แต่มีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน แสดงว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นคีย์สำคัญ เป็นสรณะ เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ทุกคนต้องตระหนักรู้ การเปลี่ยนแปลงอยู่ในสเกลของ disruption เพราะทันทีที่เทคโนโลยีเปลี่ยน สังคมก็เปลี่ยน พฤติกรรมคนก็เปลี่ยน เศรษฐกิจก็เปลี่ยน การเมืองก็เปลี่ยน แม้กระทั่งสิ่งแวดล้อมก็ยังเปลี่ยน ฯลฯ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลาย เกิดขึ้นทุกอณูของพื้นที่และเวลา ดังนั้นจะทำอย่างไรให้คนของเราแข่งขันกับคนอื่นได้ ทำอย่างไรเราจะเอาชนะ disruption ให้ได้”

SEAC ภายใต้คอนเซปต์ “การคลี่คลายกระดาษ”

สำหรับ SEAC ผ่านการออกแบบและตกแต่งภายใต้คอนเซปต์ “unfolding paper หรือ การคลี่คลายกระดาษ” โดยมีที่มาของแนวคิดคือ เมื่อมนุษย์เราต้องการค้นหาศักยภาพของตนเอง หรือต้องการคิดค้นไอเดียและนวัตกรรมใหม่ๆ เราจะเริ่มจากการเขียนไอเดียลงในแผ่นกระดาษ

จากนั้นจึงจะเริ่มลงมือทำ และเมื่อพบว่าไอเดียนั้นใช้ไม่ได้ เรามักจะขยำกระดาษนั้นๆ ทิ้ง แล้วเริ่มเขียนกระดาษแผ่นใหม่อีกครั้ง จนในที่สุดเราจะได้กระดาษที่สามารถใช้ได้โดยไม่ต้องขยำทิ้งอีกต่อไป

เสมือนความเชื่อที่ว่าคนที่ลงมือทำแล้วผิดพลาดเท่านั้น ถึงจะได้พัฒนาความสามารถจากการเรียนรู้ในความผิดพลาด จนท้ายที่สุดจะค้นพบความสามารถและศักยภาพของตนเอง หรือได้มาซึ่งนวัตกรรมใหม่ๆ

SEAC ตั้งอยู่บนพื้นที่ 3 ชั้นขนาดใหญ่กว่า 4,550 ตารางเมตร ณ อาคารเอฟวายไอ เซ็นเตอร์ ที่ล้อมรอบไปด้วยห้องเรียน ห้องประชุม ห้องสัมมนา และสเปซต่างๆ โดยถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และการทำงานร่วมกัน พร้อมกระตุ้นให้ผู้นำและผู้บริหารเกิดพลังความคิดสร้างสรรค์

SEAC มีการตกแต่งภายในที่เรียบหรู อลังการ และมีความทันสมัย พร้อมทั้งเชื่อว่าบรรยากาศภายใน ศูนย์จะสามารถสร้าง learning ecosystem (ระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้) และ learning experience (ประสบการณ์การเรียนรู้) ให้แก่ผู้เรียน ซึ่งมีความสำคัญในการส่งผลต่อการเรียนรู้ไม่น้อยไปกว่าตำราการเรียนการสอนในหลักสูตร

ส่วนผู้อยู่เบื้องหลังคอนเซปต์การออกแบบของศูนย์แห่งนี้ คือ เจมส์ เอนเกล หนึ่งในทีมผู้บริหารของ SEAC รวมทั้งยังได้ The Beaumont Partnership มาร่วมออกแบบจากโจทย์ที่ได้รับนี้ และรังสรรค์ศูนย์การเรียนรู้อันล้ำสมัย ฉีกทุกข้อจำกัดของการเรียนรู้แบบเดิมๆ

นอกจากนี้ ทุกห้องเรียนและห้องจัดประชุมของ SEAC ได้ตั้งชื่อตามเมืองหลวงของแต่ละประเทศในอาเซียนเพื่อสะท้อนจุดมุ่งหมายและทิศทางของ SEAC และถูกออกแบบให้เป็นห้องเก็บเสียง พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้มากมาย เช่น LCD Projectors, Digital Signage, Techno-Booths, Group-Work Pods, Video-Conferencing, Flip Charts และ Wi-Fi ที่เข้าถึงได้อย่างครอบคลุม ทุกพื้นที่ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความประสงค์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้งาน

SEAC ประกอบไปด้วย 3 ชั้นสำคัญ ได้แก่ ชั้นหนึ่ง Innovation Hub & Registration Center, ชั้นสอง Center for Innovation and Leadership และชั้นสาม Center for Executive Education

ชั้นหนึ่ง – Innovation Hub & Registration Center เปรียบเสมือนศูนย์รวมนัวตกรรม เปิดเป็นพื้นที่ต้อนรับแขกทุกท่านให้สามารถมานั่งพักผ่อน อ่านหนังสือ พบปะสังสรรค์กันกับเพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่ทำงานร่วมกัน และแลกเปลี่ยนแนวคิดอย่างเป็นกันเอง ทั้งชั้นจะเน้นใช้สีโทนร้อน ตกแต่งให้รู้สึกถึงความอบอุ่น เสมือนอยู่บ้านของตนเอง

ชั้นสอง – Center for Innovation and Leadership มีเอกลักษณ์ที่ “The Capital” หรือห้องประชุมขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับได้มากกว่า 180 คน และยังมีพื้นที่สำหรับรับประทานอาหารและของว่าง บรรยากาศภายในจะฉีกกฎจากห้องเรียนและห้องประชุมทั่วไปด้วยการตกแต่งให้มีสีสันขึ้นมาอีกระดับ ไม่จำเจ เพื่อให้ผู้นำและผู้บริหารตื่นตาตื่นใจ เกิดประกายของความรู้สึกกระหายความรู้ และยังเกิดการตื่นตัวแบบผ่อนคลาย ที่จะช่วยกระตุ้นไอเดียให้กล้าคิด กล้าลงมือทำ และพร้อมที่จะเรียนรู้

ชั้นสาม – Center for Executive Education เอกลักษณ์ของชั้นนี้คือถูกเนรมิตขึ้นมาเพื่อผู้นำและผู้บริหารระดับสูงโดยเฉพาะ ตกแต่งด้วยสีโทนเข้ม เรียบง่าย เน้นความหรูหราเสมือนโรงแรมระดับ 5 ดาว ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของผู้เรียน ชื่อในห้องประชุมย่อยแต่ละห้องของชั้นนี้จะถูกเรียกตามสกุลเงินของแต่ละประเทศในอาเซียน เช่น ริงกิต ด่ง รูเปียห์ และอื่นๆ โดยทั้งชั้นรวบรวมไปด้วยห้องเรียน ห้องประชุม และห้องสัมมนาขนาดใหญ่ โดยเฉพาะห้องที่พิเศษที่สุด คือ “Amphitheatre” เปรียบเสมือนอัฒจันทร์ที่จุผู้เรียนได้มากถึง 60 คน ภายในล้อมรอบไปด้วยจอภาพยนตร์ 3 จอขนาดยักษ์ ที่สามารถรับส่งสัญญาณภาพและเสียงบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อกับทุกพื้นที่ทั่วโลก

ออกแบบเพื่อการประหยัดพลังงาน

SEAC ยังให้ความสำคัญกับการเลือกใช้หลอดไฟรวมถึงวัสดุอื่นๆ ที่ช่วยประหยัดพลังงาน โดยห้องเรียนส่วนใหญ่ของ SEAC จะเป็นห้องกระจก และมีการจัดวางแบบแปลนของชั้นที่เน้นเรื่องการใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติ เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ถึง 40%

นอกจากนี้ การใช้ไฟในแต่ละห้องยังถูกวางระบบให้สามารถปรับเปลี่ยนพลังงานได้ตามความต้องการ เช่น แสงไฟเพื่อให้การต้อนรับ แสงไฟเวลาพรีเซนต์งาน หรือการใช้ไฟตามช่วงเวลาของแต่ละวัน ข้อดีของห้องกระจกอีกอย่างหนึ่ง คือ ผู้เรียนสามารถมองเห็นวิวสวนและวิวตึกภายนอกได้รอบทิศ ซึ่งจะช่วยสร้างบรรยากาศในการประชุมและการทำงานแบบไม่จำเจ

SEAC ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์การเรียนรู้และการศึกษาที่ให้ความสำคัญในการใช้ประโยชน์จากทุกพื้นที่อย่างแท้จริง โดยมุ่งเน้นไปที่ “space conscious” การใช้งานจากการจัดวางแผนผังของห้องที่ไม่ตายตัว มากกว่า multi-function หรือความอเนกประสงค์ ที่กลายเป็นเรื่องธรรมดาของอาคารทั่วไป

ทุกพื้นที่ในห้องเรียนของ SEAC สามารถจัดสรรได้หลากหลายฟังก์ชัน ปรับเปลี่ยนได้ตามรูปแบบกิจกรรม พฤติกรรม และจำนวนผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นห้องเรียนขนาดเล็กสำหรับผู้เรียน 6 ท่าน หรือจะปรับเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ที่สุดที่จุได้มากกว่า 180 ท่าน

และยังสามารถจัดห้องได้มากถึง 5 รูปแบบ ได้แก่ Classroom, Theatre, U Shape, Banquet และ Cocktail นอกจากนี้ ในทุกๆ ห้องของ SEAC จะมีมุมรองรับความคิดและไอเดียใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผนัง กำแพง หรือประตู ก็สามารถใช้ในการเรียนรู้ได้หมด เช่น กระดานกระจกที่ติดอยู่ตามผนัง ยังสามารถขีดเขียนเพื่อนำเสนอไอเดียอย่างไม่จำกัดกรอบความคิด สามารถลบออก และเขียนใหม่ได้อย่างง่ายดาย