ThaiPublica > เกาะกระแส > ‘SEAC’ จับมือ ‘Stanford Center for Professional Development’ สร้างผู้นำยุค Disruptive

‘SEAC’ จับมือ ‘Stanford Center for Professional Development’ สร้างผู้นำยุค Disruptive

29 มิถุนายน 2017


นางอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC และ มร.พอล มาร์คา Associate Vice Provost แผนก Office of the Vice Provost for Teaching and Learning มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ในแวดวงการศึกษาและการเรียนรู้ เมื่อศูนย์พัฒนาผู้นำและผู้บริหารระดับสูง “SEAC” (South East Asia Center) สร้างความร่วมมือกับ “Stanford Center for Professional Development” มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ออกแบบหลักสูตรเฉพาะสำหรับผู้นำไทยและผู้นำในภูมิภาคอาเซียน ภายใต้ชื่อ “Leading in a Disruptive World” (LDW) หลักสูตร LDW เป็นการเรียนรู้ผ่านแบบผสม ผ่านระบบออนไลน์ และบินไปศึกษาต่อพร้อมดูงานที่ ซิลิคอน วัลเลย์ สหรัฐอเมริกา โดยดีเดย์รุ่นแรก เมื่อเดือนมี.ค. 2560 ที่ผ่านมา

“ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ถือเป็นโอกาสสำคัญของโลกใบนี้ โดยเฉพาะแวดวงการศึกษา เราสามารถผสานการเรียนรู้ในห้องเรียน กับโลกออนไลน์ได้ และถือเป็นภารกิจของสแตนฟอร์ด ที่พยายามขยายขอบเขตการเรียนรู้ออกไปนอกมหาวิทยาลัยให้ได้มากที่สุด” นายพอล มาร์คา Associate Vice Provost แผนก Office of the Vice Provost for Teaching and Learning กล่าว

สำหรับ“Stanford Center for Professional Development”มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย มีชื่อเสียงโดดเด่นทางด้านงานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยี

ขณะที่ “SEAC” เป็นชื่อใหม่ของ บริษัท เอพีเอ็ม กรุ๊ป จำกัด ที่ปรึกษาทางด้านการพัฒนาคนและองค์กร โดยนางอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC กล่าวว่า เป้าหมายการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาผู้นำแห่งนี้คือ การพัฒนาองค์กรธุรกิจในอาเซียน ให้สามารถก้าวทันกับแนวทางปฏิบัติทางธุรกิจระดับโลก เพื่อให้มีข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน และนำหน้าคู่แข่งอยู่เสมอ

“Disruptive World หรือความโกลาหลที่ทับซ้อนกันไปมาบนโลกทุกวันนี้ ในแง่ของการทำธุรกิจแล้ว นี่ถือเป็นเรื่องที่สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้า ให้กับบรรดาผู้บริหารอย่างที่สุดถึงที่สุด และตลอดช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา เราเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเกิดขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรมและเทคโนโลยี ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลกและส่งผลกระทบระหว่างกัน ภาพที่เห็นคือมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในด้านเทคโนโลยี มีการเกิดขึ้นใหม่ของกลุ่มยูโรโซน การใช้เงินสกุลยูโร การก้าวเข้าสู่ AEC การที่เราได้เห็นการเติบโตและศักยภาพของอุตสาหกรรมชั้นนำในประเทศจีนและอินเดีย เราได้ยินข่าวการเปิดและปิดโรงงานของบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับโลกเพื่อหาแหล่งทรัพยากรที่ถูกกว่า เช่นนี้เป็นต้น” นางอริญญากล่าว

นางอริญญากล่าวต่อว่าสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา พลวัตของมันรวดเร็วและรุนแรงจนทำให้หลายๆ คนตั้งรับไม่ทัน โอกาสและภัยคุกคามเกิดขึ้นตลอดเวลากับบริษัทต่างๆ ทั้งที่เป็นผู้เล่นในตลาดระดับประเทศ ตลาดในภูมิภาค หรือผู้เล่นในตลาดโลก ส่งผลให้แต่ละองค์กรต้องเร่งหาทางปรับตัวเพื่อความอยู่รอด และเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบและโอกาสด้านการตลาด อีกทั้งเพื่อหลีกหนีความล้มเหลวจากสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น

เมื่อดูบริษัทที่ติดอันดับในนิตยสาร Fortune 500 จะเห็นได้ว่ามีหลายบริษัทที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันและมีการเข้ามาใหม่ของบริษัทคู่แข่ง ดังเช่น ด้านธุรกิจผู้ผลิตรถยนต์ ในอดีต General Motors และ Fords เคยเป็นสองบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก แต่ปัจจุบันก็มีชื่อของบริษัท Tata ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอินเดียเบียดเข้ามาติดอันดับ และล่าสุดก็ยังมีบริษัทใหม่จากประเทศจีนที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วอย่าง บริษัทบีวายดี ออโต้ (BYD Auto) ผู้เชี่ยวชาญในการผลิตแบตเตอรี่ชาร์ตซ้ำ ซึ่งวันนี้มุ่งเน้นผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ไฮบริด โดยการพลิกโฉมมาใช้พลังงานสะอาดแทนการใช้น้ำมัน

นอกจากนั้นธุรกิจที่เคยเติบโตอย่างมากในช่วงยุคแรกเริ่มอินเตอร์เนต เช่น บริษัท Yahoo ซึ่งเคยเป็นบริษัทที่ทำกำไรและเติบโตสูงสุดในช่วงเริ่มแรก แต่เมื่อ Google เข้ามาทำธุรกิจและนำเสนอโมเดลธุรกิจที่ตรงข้ามโดยเสนอทุกอย่างเป็น free service ก็ทำให้ Google เข้ามาเป็นบริษัทชั้นนำแทน Yahoo ได้ในที่สุด

ดังนั้น หากเราถอดบทเรียนจากตัวอย่างบริษัทข้างต้น จะเห็นว่าทุกบริษัทมีโอกาสเติบโตและถดถอยได้อย่างรวดเร็วในสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งเป็นเรื่องที่การเปลี่ยนแปลง ความไม่แน่นอนไม่เข้าใครออกใคร และมันสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว รุนแรงตลอดเวลา แต่องค์ประกอบสำคัญสำหรับบริษัทที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นคือความสามารถในการนำองค์กรของผู้นำในยุค disruptive นี้เอง

“จริงอยู่ที่มีทฤษฎีมากมายสอนเรื่องความเป็นผู้นำ แต่การเป็นผู้นำในโลกที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงแบบ disruptive นั้นยังไม่มีใครสอนเพราะมันเป็นเรื่องใหม่ LDW เป็นหลักสูตรทันยุคทันสมัย ที่หยิบยกเอา “ประเด็น” ที่ยุ่งเหยิงเหล่านี้ มาตีแผ่ และเติมเต็มวิธีคิดบางอย่างให้กับบรรดาผู้นำได้เล็งเห็นหนทางที่จะต่อสู้ และเดินหน้าต่อ ด้วยโลกวันนี้ไม่เหมือนเดิม ถ้าเราไม่ได้เป็นเบอร์ 1 แล้ว เราจะนำองค์กรอย่างไร เพื่อก้าวขึ้นไปเป็นเบอร์ 1 ในโลกที่ยากจะคาดเดา ผู้นำวันนี้ต้องสลัดให้พ้นจากกรอบการทำงานแบบเดิมๆ เพื่อเอาชนะความเปลี่ยนแปลงและการหยุดชะงักงันทางธุรกิจ” นางอริญญากล่าว

นางอริญญา เถลิงศรีผู้บริหารระดับสูง SEAC

นางอริญญากล่าวต่อว่าทุกวันนี้ผู้บริหารต่างไม่ได้อยู่ในภาพเดิมของการทำธุรกิจ ในโลกของ disruptive world ทำให้เราไม่สามารถนำแบบเดิมได้ การที่จะเป็นผู้นำที่ leading a disruptive world จึงต้องมีวิธีคิดแบบใหม่ เปลี่ยนเลนส์ใหม่ เพราะไม่ว่าเราจะอยู่ในธุรกิจอะไร ก็แทบจะไม่หลงเหลือความแน่นอนในธุรกิจที่เราอยู่เลย หรือกล่าวง่ายๆ ผู้นำต้องคิดถึง 4 หัวใจหลักเพื่อให้อยู่ในโลก disruptive ได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง lead – innovate – disrupt – change

Lead หรือการเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง หากตัวผู้นำเองซึ่งต้องทำหน้าที่เป็นแบบอย่าง ไม่สามารถเป็นต้นแบบให้คนอื่นได้ ก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ในทางตรงกันข้ามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดอาจไม่ใช่เรื่องดีหากองค์กรไร้ซึ่งผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงที่มีความสามารถ โดยผู้นำที่ดีจำเป็นต้องมองไปยังอนาคตข้างหน้า ไม่ใช่เพียงแค่ปัจจุบัน และยิ่งไปกว่านั้นจะต้องสามารถนำตนเองให้ได้ก่อนเพื่อจะไปนำผู้อื่น แปลว่าต้องสามารถทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดได้กับทั้งตัวเองและผู้อื่น โดยจุดที่สำคัญที่สุดนั่นคือผู้นำจะต้องมีความสามารถในการเปลี่ยนแปลง “Mindset” หรือกรอบความคิดของแต่ละบุคคลซึ่งจะส่งผลโดยตรงไปยังการเปลี่ยนแปลงด้าน “พฤติกรรม” ที่สุดท้ายจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในการกระทำใหม่ๆ นั่นเอง

Innovate การเปลี่ยนแปลงจะไม่เกิดหากเราไม่คิดให้ต่างจากเดิม ซึ่งนี่คือเรื่องนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ถือเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญของการเปลี่ยนแปลง จะเห็นได้ว่าโดยปกติเราจำเป็นต้องมีการสร้างนวัตกรรมให้กับสินค้าและการบริการเพื่อให้ตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายนอกอยู่เสมอ

Disrupt การสร้างนวัตกรรมหรือเป็นนวัตกรไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนจะทำได้ เพราะคนส่วนใหญ่มักติดกับการทำอะไรแบบเดิม ซ้ำยังกลัวกับการคิดนอกกรอบอีกด้วย กุญแจสำคัญที่จะสามารถก่อให้เกิดนวัตกรรมหรือสร้างนวัตกร คือการกล้าทำต่างหรือการ disrupt แบบล้มกระดาน กล้าที่จะพลิกโฉมตัวเอง คิดใหม่ทำใหม่ กล้าที่จะท้าทาย ฉีกกฎเกณท์ ทำในสิ่งที่เราไม่สามารถหรือไม่เคยทำได้มาก่อน

ทุกวันนี้คนพูดถึงเรื่อง disruption กันเยอะ มีการตีความหมายกันหลากหลาย แต่ส่วนมาก disruption จะถูกนำไปผูกกับเรื่องเทคโนโลยี แต่ในความเป็นจริง disruption เกี่ยวเนื่องได้กับทุกมิติ ทุกบริบท รวมถึงการ disrupt ความคิด การกระทำของตนเอง เมื่อคนเรา disrupt ตนเองได้ จะทำให้เกิดมิติใหม่ของชีวิต และนำไปสู่การพัฒนา นั่นแปลว่าองค์กรจำเป็นจะต้องยอมรับและให้การสนับสนุน สร้างเวทีหรือช่องทางในการนำเสนอให้เกิดการ disrupt ได้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการทำงานทั้งนี้เมื่อคนหนึ่งคน disrupt มันจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ไปยังทุกคนในองค์กรกล้าที่จะลุกขึ้นมา disrupt เช่นกันและสุดท้ายมันจะสร้างวัฒนธรรมองค์กรซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างคุณลักษณะในการเป็นนวัตกรให้แก่ทุกคนในองค์กรอย่างเป็นธรรมชาติโดยที่ทุกคนไม่รู้ตัว และเป็นวัฏจักรต่อเนื่องไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

Change คือความกล้าที่จะเปลี่ยน เมื่อองค์กรมีผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ดี มีการคิดต่าง ทำต่าง เปิดรับนวัตกรรมใหม่ๆ ผลที่ตามมาคือการรู้จักปรับและเปลี่ยนตนเองให้สนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพียงเท่านี้ก็จะทำให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงให้กลายมาเป็นโอกาสในการก้าวหน้าได้ก่อนใคร

ดังนั้น การสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก กับศูนย์พัฒนาผู้นำฯ ในท้องถิ่น จึงถือเป็นอีกโมเดลของการเปลี่ยนผ่านเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอน และทำให้องค์กรยังคงคงเดินหน้าต่อไปได้

นายพอลกล่าวเพิ่มเติมว่า บุคลิกของผู้นำในยุคที่ต้องเปลี่ยนผ่านตัวเอง จากโลกเก่าสู่โลกใหม่ สิ่งที่ต้องทำคือ อะไรที่ทำอยู่ในปัจจุบันให้ทำต่อไป แต่อย่าย่ำอยู่กับที่ เพราะการยึดมั่นถือมั่นกับการบริหารแบบเดิมๆ นับวันมีแต่จะทำให้เราเฉาตาย เราต้องหัดเรียนรู้และมองรอบด้าน ศึกษาของใหม่ แล้วลองหัดทำ ให้ความสำคัญเท่าๆ กันทั้งของเก่าและของใหม่ อะไรดีอยู่แล้ว ทำต่อไป แต่วันไหนเริ่มส่งสัญญาณไม่ดี ให้รีบงัดของใหม่ วิธีคิดใหม่ๆ ดึงเอามาใช้งาน

“ผู้นำยุคนี้ต้องฝึกฝนตัวเองให้ยืดได้หดได้ ล้มเร็ว ลุกเร็ว ไม่เสียเวลาให้กับความท้อแท้ ผู้นำไทยมักจะไม่กลัวความล้มเหลว แต่อายเมื่อล้มเหลว เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด มองว่า จริงๆ แล้ว เราไม่ได้ล้มเหลวหรอก เราแค่ทดลองทำดูเท่านั้นเอง แล้วบังเอิญว่ามันยังไม่สำเร็จ เราก็แค่ทำต่อไป ถ้าเราเปลี่ยนมุมมอง มองให้ขาดและชัดเจนได้แบบนี้ เราก็จะยืดหยุ่นและยิ้มสู้ได้ในทุกสถานการณ์” พอลกล่าว

นายพอลกล่าวอีกว่า”LDW เป็นหลักสูตรที่เน้นวิธีการแก้ปัญหา มากกว่าการเรียนรู้แล้วได้ปริญญาจากมหาวิทยาลัยดังอย่างสแตนฟอร์ด พอลย้ำว่า การเรียนรู้ในยุคนี้ ไม่ใช่แค่ “ให้รู้” แต่ต้องสามารถ “เอาไปใช้”ได้จริง ถ้าเป็นผู้บริหารระดับกลาง มีไม่น้อยที่อยากมาเรียนสแตนฟอร์ด เพราะอยากได้ปริญญา แต่ถ้าเป็นผู้บริหารระดับสูงแล้ว ส่วนใหญ่จะไม่สนใจใบปริญญา เท่ากับการได้วิธีคิด เพื่อเอาไปปรับใช้ให้องค์กรขับเคลื่อนต่อไปได้ เรียกว่าเป็นการเรียนรู้เพื่อเอาไปตอบโจทย์เฉพาะจุด เอาไปแก้ปัญหาได้ทันทีเลย ไม่ต้องรอให้เรียนจบ แล้วค่อยกลับมาแก้ปัญหาเพราะดูเหมือนว่า ในโลกของ disruptive world คงไม่มีใครสามารถรอใครได้อีกแล้ว”