ThaiPublica > เกาะกระแส > สภาพัฒน์เผยเศรษฐกิจ Q1/62 ต่ำสุดในรอบ 4 ปี เหลือ 2.8% เหตุ “ฐานสูง – สงครามการค้ายืดเยื้อ” จับตา “เจรจาการค้า-ตั้งรัฐบาล”

สภาพัฒน์เผยเศรษฐกิจ Q1/62 ต่ำสุดในรอบ 4 ปี เหลือ 2.8% เหตุ “ฐานสูง – สงครามการค้ายืดเยื้อ” จับตา “เจรจาการค้า-ตั้งรัฐบาล”

21 พฤษภาคม 2019


ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมากแรกของปี 2562 ว่าขยายตัวเพียง 2.8% ต่ำสุดในรอบ 17 ไตรมาส สืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจการค้าโลกที่ชะลอตัวลงและความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาจนกระทบกับภาคส่งออกของไทยที่หดตัวไป -3.6% เทียบกับไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 2.3% ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศอย่างการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน แม้ว่าจะชะลอตัวแค่ยังเติบโตในระดับสูงที่ 4.6% และ 4.4% ตามลำดับ

“ภาพเศรษฐกิจไทยสอดคล้องกับเศรษฐกิจทั่วโลกโลก ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่อาจจะควบคุมไม่ได้มากนัก ถ้าไปดูการส่งออกของหลายประเทศหดตัวเช่นเดียวกับประเทศไทย ขณะที่การเติบโตของจีดีพีต่างชะลอลงเหมือนกัน ยกเว้นสหรัฐอเมริกาที่ยังเติบโตอยู่ โดยสภาพัฒน์ได้ปรับลดคาดการณ์การส่งออกลงจาก 4.1% เมื่อการประมาณการเดือนกุมภาพันธ์เป็น 2.2% ในครั้งนี้  และทำให้จีดีพีไทยทั้งปีปรับลดลงจาก 3.5-4.5% เป็น 3.3-3.8% หรือจากค่ากลาง 4% เป็น 3.55% แต่ทั้งนี้สงครามการค้ายังมีผลทั้งด้านบวกและลบต่อเศรษฐกิจไทย ดังนั้นส่วนนี้รัฐบาลจะต้องแสวงหาตลาดหรือโอกาสใหม่ๆ และป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากสงครามการค้า โดยคาดว่าจะสามารถผลักดันให้การส่งออกทั้งปีเติบโตถึง 3% ได้” ดร.ทศพรกล่าว

ดร.ทศพรกล่าวว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญและสามารถควบคุมได้มากกว่าคือการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเกี่ยวเนื่องไปยังการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ โดยเชื่อว่าหากสามารถจัดตั้งได้เร็ว พรรคร่วมรัฐบาลก็สามารถออกมาตรการระยะเร่งด่วนได้ ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนต่างๆ เช่น การบริโภคและลงทุนภายในประเทศ รวมไปถึงภาคการท่องเที่ยวจะต้องหาทางรักษาฐานรายได้เหล่านี้ไว้ต่อไป

“เรื่องของรัฐบาลปริ่มน้ำประเทศไทยก็มีสถานการณ์แบบนี้มาหลายครั้งแล้ว เชื่อว่าถ้าตั้งได้เร็วก็จะมีความมั่นคงด้านการเมืองและนโยบายเศรษฐกิจในระยะต่อไป ตรงนี้อยากให้มีขึ้นมาได้เร็ว ส่วนกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือการส่งออกไม่ได้ดีขึ้น สงครามการค้ายังยืดเยื้อต่อไป การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า และฐานรายได้ต่างๆ ชะลอตัวตามลงมา คิดว่าเศรษฐกิจยังเติบโตได้ระดับ 3.3% ที่เป็นกรอบล่างของการประมาณการ แต่ถามว่าสงครามการค้าจะกระทบกับไทยมากไปกว่านี้หรือไม่ คงคาดการณ์ไม่ได้ แต่คิดว่าสหรัฐอเมริกาและจีนก็คงจะต้องเจรจากันในที่สุด คงไม่ทำสงครามจนแตกหักกันไป ในกรณีแบบนี้คงไม่เลวร้ายกว่าที่ประเมินไว้ และจริงๆ แนวโน้มครึ่งหลังของเศรษฐกิจสภาพัฒน์คาดการณ์ว่าจะฟื้นตัวกลับมาจากหลายปัจจัย เช่น การเบิกจ่ายลงทุนของรัฐบาลที่กลับมา การส่งออกที่ดีขึ้น” ดร.ทศพรกล่าว

คาดจีดีพีวูบชั่วคราว – ผลฐานสูง-สงครามการค้าชัดเจนมากขึ้น

ดร.วิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการ สศช. กล่าวอธิบายเพิ่มเติมว่า ที่สภาพัฒน์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวในครึ่งหลังของปี 2562 มีสาเหุตอยู่ 2 ประการ คือ 1) การเติบโตในไตรมาสแรกที่ต่ำลงเป็นผลจากฐานที่สูงในปี 2561 โดยในปีที่แล้วจีดีพีเติบโตสูงถึง 5% ซึ่งสูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส หรือ 5 ปี แต่ในไตรมาสถัดๆ มาของปี 2561 การเติบโตของจีดีพีได้ทยอยลดลง และทำให้ผลของฐานสูงในไตรมาสต่อๆ ไปของปี 2562 ลดลง และเมื่อเทียบการเติบโตไตรมาสต่อไตรมาสพบว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2562 ขยายตัวเพิ่มจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 ที่ 0.9% สะท้อนว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวได้อยู่ แม้จะไม่ชะลอตัวลง

2) การส่งออกคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ตามเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ฟื้นตัวขึ้น เนื่องจากช่วงปีที่ผ่านมาเมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มเติบโตร้อนแรงเกินศักยภาพจนทำให้นโยบายการเงินเริ่มตึงตัวในหลายประเทศ ซึ่งส่งผลการชะลอตัวต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจโลกในไตรมาสแรกของปี ขณะที่สงครามการค้าได้กลับมาซ้ำเติมมากขึ้น โดยแบ่งเป็นผลด้านลบต่อประเทศไทยคือปริมาณการค้าโลกที่ลดลงและห่วงโซ่การผลิตที่ชะลอการผลิตลงไป แต่ผลกระทบด้านบวกคือการย้ายฐานการผลิตหรือการค้ามายังประเทศไทยกลับยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากนักลงทุนและภาคธุรกิจต่างรอคอยผลการเจรจาให้มีความชัดเจนมากขึ้นก่อน

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจในสหรัฐอเมริกาได้เร่งนำเข้าวัตถุดิบต่างๆ ไปก่อนหน้านี้ เพื่อรับมือผลกระทบของสงครามการค้าไปแล้ว ทำให้ช่วงที่ผ่านมามีการเร่งผลิตและส่งออกมากขึ้น แต่พอมาตรการภาษีเข้ามามีผลบังคับใช้ ธุรกิจเหล่านี้ชะลอการผลิตและการค้าลงไป และใช้สินค้าคงคลังเหล่านี้ไปพลางเพื่อรอความชัดเจนก่อน ซึ่งเป็นปัจจัยเพิ่มเติมจากปัจจัยพื้นฐานที่มี

“ดังนั้นความไม่แน่นอนของการเจรจาทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกและไทยต่ำกว่าที่ควรจะเป็นไป เพราะธุรกิจยังรอคอยว่าสถานการณ์จะดีขึ้นและยังไม่ย้ายฐานการผลิตออกมายังประเทศต่างๆ รวมไปถึงมีการสะสมสินค้าคงคลังเอาไว้ส่วนหนึ่งแล้ว แต่ในช่วงครึ่งหลังของมุมมองต่อสงครามการค้าน่าจะเริ่มเปลี่ยนไป โดยจะมองว่าสงครามครั้งนี้จะยืดเยื้อและเป็นจริงมากขึ้นกว่าที่คิด ดังนั้นการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตหรือการค้าก็น่าจะเกิดมากขึ้น รวมไปถึงสินค้าคงคลังที่สะสมก่อนหน้านี้น่าจะทยอยหมดลงไป ทำให้ธุรกิจต้องกลับมาผลิตและค้าขายกันอีกครั้ง แต่การประเมินนี้ยังไม่ได้รวมมาตรการในระยะต่อไปของสหรัฐฯ ที่ขู่จะขึ้นภาษีส่วน 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถ้าเข้ามาจริงคาดว่าไม่น่าจะมีผลกระทบมากนักเพราะประเภทสินค้าาส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของโลก ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตและการค้าได้เร็วกว่าสินค้าประเภทก่อนหน้านี้ แต่ระยะสั้นแน่นอนว่ากระทบต่อปริมาณการค้าโลกที่อาจจะลดลง” ดร.วิชญายุทธกล่าว

ดร.วิชญายุทธกล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวนโยบายของรัฐบาลจะต้องรักษาฐานรายได้ของภาคส่งออกให้ได้มากที่สุด โดยการเจรจาข้อตกลงการค้าต่างๆ เนื่องจากภายหลังจากที่สินค้าคงคลังที่สหรัฐฯ สะสมไว้หมดลง การนำเข้าสินค้าระยะต่อไปจากจีนจะต้องเจอกำแพงภาษีค่อนข้างสูง เป็นโอกาสให้ประเทศต่างๆ เข้ามาเจรจาการค้า ซึ่งหลายประเทศได้ดำเนินการไปแล้ว นอกจากนี้ ฐานรายได้จากภาคท่องเที่ยวแม้ว่าในไตรมาสแรกจะชะลอตัวลงจากฝุ่น PM2.5 และเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว แต่คิดว่ายังมีโอกาสที่สามารถดึงดูดการเดินทางของนักเที่ยวจีนเข้ามาได้

ดร.วิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจคาดว่ายังไม่เหมาะสม เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสแรกยังเติบโตสูงถึง 4.6% มากกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่ 2.8% ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจควรรอให้สัญญาการบริโภคชะลอตัวลงชัดเจนมากกว่า เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคให้ชดเชยภาคการส่งออกจะต้องใช้งบประมาณ 80,000 ล้านบาทต่อการหดตัวของภาคส่งออก 1% ซึ่งเป็นภาระทางการคลังที่ค่อนข้างสูงและต้องอัดฉีดเงินเพิ่มขึ้นทุกปี เพื่อให้เศรษฐกิจยังคงเติบโตต่อไปหากภาคต่างประเทศไม่ได้ดีขึ้น และเป็นการเบียดบังงบประมาณส่วนอื่นที่จำเป็น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอาจจะออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ให้หดตัวรุนแรงเกิดไปได้ แต่ไม่ควรเป็นการชดเชยทั้งหมด

“หากดูตัวเลขเศรษฐกิจที่ต่ำสุดในรอบ 17 ไตรมาส คิดว่าต้องดูด้วยว่ามีสาเหตุจากอะไร หลักๆ คือเศรษฐกิจการค้าโลกที่ชะลอตัว ซึ่งเป็นเหมือนกันทั้งหมดในโลก ขณะที่ปัจจัยภายในจะมีการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐที่ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ของเดิมคาดว่าครึ่งปีงบประมาณจะเบิกจ่ายได้ 70% แต่ของจริงกลับเบิกจ่ายได้ 27% เราก็ลดประมาณการลงมาทั้งปีน่าจะเบิกจ่ายได้ 65% ส่วนงบประมาณในปี 2563 คาดว่าจะล่าช้าออกไป 2-4 เดือน เพราะหากจัดตั้งรัฐบาลได้ในมิถุนายน 2562 จากสถิติของเดิมคือประมาณ 6 เดือนในการผ่านร่างงบประมาณใหม่ ซึ่งไม่ทันใช้ในปี 2563 จากเดิมที่เราคาดว่าจะทำได้ทัน แต่ปัจจัยภายในประเทศก็ยังดีทั้งการบริโภคของเอกชนและการลงทุนที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากปริมาณการส่งเสริมการลงทุน การคาดการณ์ว่าจะมีการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในระยะต่อไป การลงทุนของภาครัฐที่จะทยอยกลับมา ส่วนตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการนำเข้าสินค้าทุนที่ชะลอตัวลง ถือว่าเป็นไปตามเศรษฐกิจการค้าโลกที่ชะลอตัว ส่วนการนำเข้าสินค้าทุนถ้าไปดูรายละเอียดพบว่าจะเป็นพวกอากาศยานและแท่นขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งเป็นเรื่องของการเหลื่อมเวลาของปีมากกว่า เพราะในอนาคตรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ก็มีแผนที่จะลงทุนอยู่แล้วชัดเจน” ดร.วิชญายุทธกล่าว