ThaiPublica > เกาะกระแส > กนง.เอกฉันท์ลดดอกเบี้ยเหลือ 1% ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์

กนง.เอกฉันท์ลดดอกเบี้ยเหลือ 1% ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์

5 กุมภาพันธ์ 2020


นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ กนง. แถลงผลการประชุม กนง.

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ครั้งที่ 1 ของปี โดย กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลด 0.25% จาก 1.25% เหลือเพียง 1% เนื่องจาก กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้นมาก จากการระบาดของไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี และภัยแล้ง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อตลอดช่วงประมาณการ ขณะที่เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ในสถานการณ์เช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประสานมาตรการทั้งทางการเงินและการคลัง

คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น รวมทั้งสนับสนุนสภาพคล่องและการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผลชัดเจนขึ้น จึงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้

“ถามว่าน้ำหนัก 3 ปัจจัยเป็นอย่างไร ไวรัสโคโรนาเป็นเรื่องหลักหรือไม่ ต้องบอกว่าไม่เหมือนกันเพราะหลายอย่างที่แม้จะรู้อยู่แล้วแน่ก็ยืดเยื้อขึ้น อย่างปีที่แล้วเราทราบว่ามีภัยแล้ง แต่ผลกระทบและความยืดเยื้อตอนนี้ดูจะมากขึ้น ส่วนเรื่องของงบประมาณล่าช้าก็แน่นอนว่าจะยืดเยื้อมากขึ้นและไม่รู้จะจบอย่างไร ส่วนไวรัสที่เข้ามาตอนนี้กระทบแน่นอนในระยะสั้น แต่ต้องติดตามว่ากระทบกับภาคต่างประเทศและส่งผ่านอย่างไร เช่น ห่วงโซ่การผลิต จำนวนนักท่องเที่ยวมาไทย พวกนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูง กระทบแน่นอน แต่ก็ไม่แน่นอนสูงด้วย ดังนั้นช่วงนี้ผลกระทบที่มาจากสามปัจจัยส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไปหลายภาคส่วน ทั้งท่องเที่ยว อุตสาหกรรม เกษตรกรรม และจะส่งผลกระทบในวงกว้างพอสมควร โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีและการจ้างงานของครัวเรือน นโยบายการเงินจึงต้องผ่านคลายเพิ่มขึ้น”

อย่างไรก็ตาม นายทิตนันทิ์กล่าวต่อไปว่า นโยบายดอกเบี้ยตอนนี้เป็นเหมือนนโยบายเสริมของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าและต้องขับเคลื่อนให้ได้คือ ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจและช่วยเหลือเรื่องปรับโครงสร้างหนี้ของภาคธุรกิจทั้งหลาย ซึ่งที่ผ่านมาได้มีนโยบายและมาตรการที่ออกมาก่อนแล้ว แต่ยังจะต้องพูดคุยกับทุกภาคส่วนให้ช่วยเหลือกัน และเป็นงานที่ ธปท.จะต้องทำต่อไปข้างหน้าอีกมาก

“ตอนนี้สิ่งที่สำคัญไม่ใช่ราคาของเงินคือดอกเบี้ย แต่เป็นเรื่องสภาพคล่องของธุรกิจในแต่ละภาคส่วนว่าจะสามารถต่อลมหายใจต่อไปได้ เรามองว่าการลดดอกเบี้ยครั้งนี้แล้วอาจจะมีส่วนช่วยลดภาระหนี้อะไรบ้าง แต่ปัจจัยสำคัญคือการเสริมสภาพคล่องและปรับโครงสร้างหนี้ของผู้ได้รับผลกระทบ ดอกเบี้ยจะเป็นตัวเสริมแพกเกจนี้ แต่ถามว่าสิ่งนี้จะเหมือนการทำคิวอีอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบหรือไม่ ไม่ใช่แบบนั้น แต่เป็นการช่วยเหลือธุรกิจมากกว่า ให้สามารถต่อลมหายใจไปได้ ดังนั้นเรื่องของการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และเสริมสภาพคล่องในเชิงนโยบายตอนนี้เป็นอะไรที่ถูกให้ความสำคัญสูงและต้องขับเคลื่อนอย่างจริงจัง”

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้นมาก จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี และภัยแล้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจและการจ้างงานที่เกี่ยวเนื่องจำนวนมาก โดยการท่องเที่ยวมีแนวโน้มลดลงจากที่ประมาณการไว้เดิมมาก และการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มลดลงตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคด้วย

สำหรับด้านอุปสงค์ในประเทศ การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำลงจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ล่าช้าและยังมีความไม่แน่นอนสูง นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนยังได้รับแรงกดดันจากรายได้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มชะลอลงมากขึ้นทั้งครัวเรือนในภาคบริการ เกษตร และอุตสาหกรรม รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ให้ติดตามผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณ และภาวะภัยแล้งที่อาจรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ รวมทั้งสภาวะการกีดกันทางการค้าและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

“สำหรับการประเมินเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าต่อไป กลไกที่ ธปท.ใช้อยู่คือทำเป็นลักษณะของ scenario planing ว่าเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าจะมีโอกาสเป็นแบบไหนบ้างในแต่ละข้อต่อแต่ละปัจจัยว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นจะกระทบอะไรอย่างไร แตกต่างจากกรณีฐานอย่างไรบ้าง และมันกำลังจะเข้าใกล้กรณีไหนมากที่สุด ถามว่าดอกเบี้ยจะยังมีพื้นที่นโยบายหรือไม่ ขอไม่ตอบ แต่ตอนนี้ก็ต่ำเป็นประวัติการณ์แล้วตั้งแต่ใช้เป้าหมายนโยบายการเงินแบบกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อมาตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งรอบนี้ผลกระทบเศรษฐกิจจากปัจจัยเหล่านี้ที่มาเร็วและไม่คาดคิด พื้นที่นโยบายที่เก็บไว้ก็นำมาใช้”

ส่วนการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ได้เผื่อไปถึงกรณีที่เลวร้ายสุดหรือไม่ นายทิตนันทิ์กล่าวว่า ตอนนี้แม้ว่าจะเห็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจชัดเจนแล้ว แต่ผลกระทบยังไม่ชัดเจนพอว่าจะเป็นเท่าไหร่ ไปถึงขั้นไหน หรือนานแค่ไหน เนื่องจากสถานการณ์กำลังเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและไม่แน่นอนสูง ฉะนั้นยังต้องติดตามต่อไป ทั้งนี้ เบื้องต้นผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะมีพอสมควรในครึ่งปีแรกและในหลายกลุ่มพอสมควร ส่วนประมาณการอย่างเป็นทางการอาจจะต้องรอบเดือนมีนาคม ซึ่งจะต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ 2.8%

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 และปี 2564 มีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อตลอดช่วงประมาณการ ตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอลงตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงราคาพลังงานต่ำกว่าคาดเนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มลดลงจากการระบาดของไวรัสโคโรนา แม้อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดจะปรับเพิ่มขึ้นบ้างจากภัยแล้ง

ภาวะการเงินที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลาย โดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลง สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง แต่สินเชื่อภาคธุรกิจมีแนวโน้มชะลอลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจ ด้านอัตราแลกเปลี่ยน แม้ว่าเงินบาทอ่อนค่าลงบ้างเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง แต่ยังอาจไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย และมีแนวโน้มผันผวน ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านต่างประเทศที่มีอยู่สูง รวมถึงให้ติดตามประสิทธิผลของการผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออก และสนับสนุนให้ ธปท.ดำเนินมาตรการเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ระบบการเงินโดยรวมมีความเปราะบางมากขึ้นจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจเอสเอ็มอี คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการการเงินการคลังต่างๆ ที่ภาครัฐและ ธปท.ได้เร่งดำเนินการเป็นการช่วยเหลือที่ตรงจุด ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามประสิทธิผลของมาตรการต่างๆ อย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามพฤติกรรมการก่อหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจเอสเอ็มอี พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะดอกเบี้ยต่ำ การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์ และการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ร่วมกันในจังหวะที่เหมาะสม

มองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี และภัยแล้ง เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายอย่างเหมาะสม รวมทั้งจะติดตามปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขันและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน