ThaiPublica > เกาะกระแส > SCB EIC -วิจัยกรุงศรี เห็นพ้อง กนง.ลดดอกเบี้ย 0.25% อีก 1 ครั้งในปีนี้

SCB EIC -วิจัยกรุงศรี เห็นพ้อง กนง.ลดดอกเบี้ย 0.25% อีก 1 ครั้งในปีนี้

8 สิงหาคม 2019


ที่มาภาพ: https://www.scbeic.com/th/home

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เมื่อวานนี้ (7 สิงหาคม 2562) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.75% เป็น 1.50% ต่อปี หลังจากตัวแปรทางเศรษฐกิจทุกตัวชะลอลง ส่งผลให้ฝ่ายวิจัยของธนาคารพาณิชย์ประเมินว่า กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้ อีก 0.25%

EIC คาดลดอีก 0.25%

EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ระบุว่า การลดดอกเบี้ยของ กนง.เมื่อวานนี้มีสาเหตุสำคัญ ดังนี้

กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ และ “ต่ำกว่าระดับศักยภาพ” ซึ่งมีปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกที่ “หดตัว” มากกว่าที่ ธปท. (ธนาคารแห่งประเทศไทย) ประเมินไว้เดิม ตามปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากสภาวะกีดกันทางการค้าที่ทวีความรุนแรง และภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง สำหรับอุปสงค์ภายในประเทศ กนง.ประเมินว่ามีแนวโน้มชะลอลงทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มชะลอลงตามรายได้และการจ้างงานที่ลดลง อีกทั้งการใช้จ่ายภาครัฐยังมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ นอกจากนี้ อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ กนง.ต้องปรับลดดอกเบี้ย คือ ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีที่มีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมาย ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงเร็ว

กนง.ยังแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาก และยังให้ติดตามความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน กนง.ประเมินว่าภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย แต่แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งอาจกระทบต่อเศรษฐกิจในสภาวะที่การกีดกันการค้ารุนแรงขึ้น รวมไปถึงยังกล่าวว่า “อาจดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น” ส่วนในด้านเสถียรภาพระบบการเงิน กนง.ยังคงติดตามเรื่องการก่อหนี้ของภาคครัวเรือน การขยายสินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ และการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่

EIC ธนาคารไทยพาณิชย์มองว่า กนง. อาจลดดอกเบี้ยนโยบายได้อีก 1 ครั้งในปีนี้ โดยจะลดลง 0.25% จากปัจจัยดังต่อไปนี้

ความเสี่ยงและผลกระทบของสงครามการค้ามีเพิ่มสูงขึ้นหลังสหรัฐฯ ประกาศเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่ารวม 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐที่ 10% ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ โดยจีนได้ออกมาตรการตอบโต้ด้วยการห้ามไม่ให้รัฐวิสาหกิจและสถาบันของรัฐนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ อีกทั้งล่าสุดกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ประกาศว่าจีนเป็นประเทศที่แทรกแซงค่าเงิน (currency manipulator) แม้จีนจะยังไม่เข้าทั้ง 3 เกณฑ์ ทำให้ภาวะความเชื่อมั่นและบรรยากาศการลงทุนยิ่งซบเซาลง โดยอีไอซีประเมินว่าความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะภาคการส่งออก ท่องเที่ยว และการลงทุนภาคเอกชนมีสูงขึ้น นอกจากนี้ ความเสี่ยงของสงครามการค้าที่สูงขึ้นน่าจะทำให้ธนาคารกลางของทั้งกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้แรงกดดันการแข็งค่าของเงินบาทยังมีอยู่ต่อไป

แรงกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐอาจไม่มากและเร็วพอที่จะชดเชยผลกระทบจากสงครามการค้า จากการรายงานของสื่อในประเทศ อีไอซีคาดว่ารัฐบาลน่าจะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ด้วยงบประมาณที่จำกัด (ประมาณ 8 หมื่นล้านบาทจากการประเมินของอีไอซี) บวกกับการเบิกจ่ายที่อาจล่าช้ากว่าคาด แรงกระตุ้นจากภาครัฐอาจไม่เพียงพอที่จะชดเชยผลกระทบจากสงครามการค้าต่อภาคการส่งออก ท่องเที่ยว และการลงทุนภาคเอกชน

ภาวะการเงินไทยอาจยังไม่ผ่อนคลายเพียงพอ อีไอซีมองว่า แม้จะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยทั้งระยะสั้นและระยะยาวจะมีการปรับลดลงค่อนข้างมาก แต่ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง สะท้อนจากดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ที่ปรับแข็งค่าขึ้นมาถึง 5.5% ในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออกไทย อีกทั้งมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV measure) ที่ประกาศใช้ไปแล้วยังทำให้การขยายตัวของสินเชื่อชะลอลง การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมจึงอาจมีความจำเป็น

ที่มาภาพ: https://www.scbeic.com/th/detail/product/6194

วิจัยกรุงศรีประเมินลดดอกเบี้ย พ.ย.

ทางด้านวิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีมุมมองว่า แถลงการณ์ของ กนง.สะท้อนว่าการประเมินภาวะเศรษฐกิจในวงกว้าง กนง.มีความโน้มเอียงไปทางการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนปรน (dovish) ดังที่ระบุว่า เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าที่ได้ประเมินไว้และต่ำกว่าศักยภาพ เนื่องจากการส่งออกสินค้าที่อ่อนตัวลงเริ่มส่งผลถึงความต้องการในประเทศ อีกทั้งในคำแถลงการณ์ตัวแปรกิจกรรมเศรษฐกิจทุกประเภทลดลง โดยการส่งออกสินค้าหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ (เมื่อเทียบกับ 0% ในการประชุมวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา) ส่วนการท่องเที่ยวจะขยายตัวต่ำจากที่ประเมินไว้ว่าจะเติบโตปานกลาง

สำหรับความต้องการในประเทศ การบริโภคของภาคครัวเรือนคาดการณ์ว่าจะขยายตัวปานกลาง จากที่ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดการณ์ว่าจะยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง และการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนใหญ่เป็นผลจากการชะลอการลงทุนภาครัฐจากอนุมัติ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจ่าปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ล่าช้า

แถลงการณ์ กนง.ยังประเมินเงินเฟ้อที่ต่ำลง โดยระบุมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-4% ที่วางไว้ และเงินเฟ้อพื้นฐานจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ เพราะไม่มีแรงกดดันจากด้านอุปสงค์

มองไปข้างหน้า แถลงการณ์ กนง.ระบุว่า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของตัวแปรทางเศรษฐกิจทุกตัว รวมทั้งความเสี่ยงที่มีผลต่อการพิจารณานโยบายการเงินในอนาคต “อย่างใกล้ชิด” จากการประชุมครั้งก่อนที่ระบุว่า “ยังคงติดตามต่อเนื่อง” อย่างไรก็ตาม กนง.ได้ลดความคาดหมายที่ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มขาลง โดยได้ใช้คำว่า “เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง” ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยนโยบายการเงินเพียงอย่างเดียว

นอกเหนือจากนี้ ในการแถลงข่าว นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. และเลขานุการ กนง. ได้กล่าวว่า การตัดสินใจของ กนง.ครั้งล่าสุดเป็นการตัดสินใจบนข้อมูล (data-dependent) และเพื่อเป็นหลักประกันเพราะนโยบายการคลังที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่ชัดเจน โดยระบุว่า “การพิจารณาของคณะกรรมการ กนง.อยู่บนพื้นฐานของข้อมูล” และ “กรรมการทุกท่านยังมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน”

นายทิตนันทิ์กล่าวอีกว่า คณะกรรมการยังมีความกังวลต่อเงินบาทที่แข็งค่า แต่การตัดสินใจลดดอกเบี้ยไม่ได้มีเป้าหมายที่จะลดการแข็งค่าของเงินบาท

วิจัยกรุงศรีประเมินว่า กนง.จะลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง โดยจะลดลง 0.25% ในเดือนพฤศจิกายน และการลดดอกเบี้ยรอบนี้จะหยุดที่ระดับ 1.25%

“เราไม่คิดว่าการลดดอกเบี้ยที่ผิดจากความคาดหมายครั้งนี้จะเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งเดียวแล้วหยุด ที่ผ่านเมื่อ กนง.ลดดอกเบี้ย มักจะมีการปรับลดต่อเนื่อง อีกทั้งการที่ระบุว่าเป็นการตัดสินใจบนข้อมูล กนง.จึงมีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ยลงอีก โดยมีเหตผลสำคัญคือ หนึ่ง ความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเริ่มบ่งชี้ไปในด้านต่ำมากขึ้น ดังนั้นการขยายตัวของ GDP ปีนี้จะไม่เป็นไปตามเป้า 3.2% ที่เราประมาณการณ์ไว้ (ธปท.ประมาณการณ์ไว้ที่ 3.3%) สอง ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการอนุมัติงบประมาณล่าช้า ซึ่งจะทำให้ ธปท.มีมาตรการอื่นรองรับ และสาม ธนาคารกลางหลายแห่งยังคงส่งสัญญานการผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่อง ซึ่งจะสร้างแรงกดดันให้กับ ธปท.” วิจัยกรุงศรีประเมิน

ในสภาวะที่เงื่อนไขเอื้ออำนวยให้ลดดอกเบี้ยต่อเนื่องมีความชัดเจน แต่จังหวะที่จะลดดอกเบี้ยยังไม่แน่ชัด กนง.อาจจะลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายน (ซึ่งจากแบบจำลองระบุว่ามีความเป็นไปได้เพียง 47%) แต่วิจัยกรุงศรีคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะลดดอกเบี้ยในปลายปีนี้เพราะ กนง.ใช้ท่าทีรอดูสถานการณ์ ดังนั้นจึงประเมินว่า กนง.จะลดดอกเบี้ย 0.25% ลงมาที่ 1.25% ในการประชุมวันที่ 6 พฤศจิกายนหลังจากมีการเปิดเผยภาวะเศรษฐกิจช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัว และเช่นเดียวกับการลดดอกเบี้ยในครั้งล่าสุด กนง.อาจจะไม่รอตัวเลข GDP ที่มีกำหนดเผยแพร่ในวันที่ 18 พฤศจิกายน