ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 15-21 ก.พ. 2563
- มติศาล รธน. 7:2 ยุบพรรคอนาคตใหม่ ตัดสิทธิ กก.บห. 10 ปี ชี้ เงินกู้ เป็น “รายรับ”
- ศาล รธน. ชี้ กฎหมายทำแท้งขัด รธน. เห็นควรแก้ไข
- ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง “ธาริต” หมิ่น “สุเทพ”
- “จีเอ็ม” ยุติ “ผลิต-ขาย” เชฟโรเลตในไทย ยัน มีอะไหล่สต็อก 5-10 ปี
- โคโรนาระบาด สถานทูตไทยกรุงโซลแนะเลี่ยงเดินทางไปเกาหลีใต้
มติศาลรธน.7:2 ยุบพรรคอนาคตใหม่ ตัดสิทธิ กก.บห. 10 ปี ชี้ เงินกู้ เป็น ‘รายรับ’

มติศาลรธน. 7:2 สั่งยุบพรรค อนาคตใหม่ ตัดสิทธิ กก.บห. 10 ปี ย้ำ รธน.มุ่งหมายให้พรรคเป็นอิสระ ไร้การถูกครอบงำจากทุน ชี้ เงินกู้ เป็น “รายรับ” ธนาธร ปล่อยกู้ ดอกต่ำ-ไร้หลักประกัน ผิดปกติวิสัย ถือเป็นการให้ประโยชน์อื่นใดขัดมาตรา 72 พ.ร.ป.พรรคการเมือง
เวลา 15.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบังลังก์อ่านคำวินิจฉัยในคดียุบพรรคอนาคตใหม่ ตามคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง กรณีกู้เงินนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จำนวน 191 ล้านบาท ว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 72 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ระบุ ไม่ให้พรรคการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง เช่น หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้ส่งตัวแทนมารับฟังคำวินิจฉัย
โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า การกู้เงินนายธนาธร ของพรรคอนาคตใหม่ เข้าข่าย การกระทำความผิดตามมาตรา 72 พร้อมสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหาร ที่เป็นกรรมการบริหารตั้งแต่วันที่ทำสัญญากู้เงิน จำนวน 16 คน เป็นเวลา 10 ปี นับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า คดีนี้ไม่จำเป็นต้องไต่สวนพยานบุคคล แต่เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาให้พยานทั้ง 17 ปาก จัดทำบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และให้เลขาธิการ คณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.)ในฐานะผู้เกี่ยวข้องจัดทำเป็นหนังสือ โดยศาลได้พิจารณาใน 4 ประเด็น คือ
- ประเด็นที่ 1 ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องนี้ ตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 หรือไม่
- ประเด็นที่ 2 มีเหตุยุบพรรคตามมาตรา 92 หรือไม่
- ประเด็นที่ 3 กก.บห.จะถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งหรือไม่ เพียงใด
- ประเด็นที่ 4 ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกก.บห.พรรคที่ถูกยุบจะไปจดทะเบียนพรรคขึ้นใหม่ หรือเป็นกก.บห.พรรค ไม่ได้ภายในสิบปีหรือไม่
ตามข้อเท็จจริงพบว่า ผู้ถูกร้องมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้ ผู้ถูกร้องทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายธนาธรจำนวน 161 ล้านบาทโดยระบุว่า ผู้กู้ได้รับเงินเรียบร้อยแล้ว และยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยให้ชำระเป็นรายเดือน ถ้าผิดกู้ไม่ชำระหนี้ ผู้กู้ต้องรับผิดในเบี้ยปรับวันละ 100 บาท ต่อมามีการชำระเงินกู้ยืมบางส่วนให้นายธนาธร จำนวน 3 ครั้ง รวม 72 ล้านบาทต่อมามีการทำสัญญากู้เงินเพิ่มเติมอีก 2.7 ล้านบาท ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี นอกจากนี้นายธนาธร บริจาคเงินให้ผู้ถูกร้อง 8.5 ล้านบาท
ประเด็นที่ 1 ศาลเห็นว่าผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องคำร้องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ข้อที่ผู้ถูกร้องโต้แย้งว่าเมื่อคณะกรรมการสอบสวน เสนอต่อผู้ร้องว่าคดีไม่มีมูล ตามมาตรา 66 แต่เลขากกต. ได้อาศัยข้อเท็จจริงมาไต่สวน ตามมาตรา72 ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยุบพรรคผู้ถูกร้อง โดยไม่ได้ส่งเรื่องให้นายทะเบียนแก้ไขสำนวนไต่สวนหรือแสวงหาข้อเท็จจริง ดังนั้นการเสนอคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้ศาลมีอำนาจหน้าที่พิจารณายุบพรรคผู้ถูกร้องได้
ศาลรธน.ได้ดำเนินการตามกระบวนพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มีการร่วมประชุมปรึกษาหารือประเด็นนี้ ในองค์คณะตุลาการรวม 11 ครั้ง จนตุลาการได้ข้อยุติและวินิจฉัยในวันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญใช้ระยะเวลาในการพิจารณาคดีอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยใช้เวลา 71 วัน โดยให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ไม่ได้เร่งรัด หรือ รวบรัดแต่อย่างใด
ประเด็นที่ 2 ศาลมีอำนาจยุบพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ ศาลเห็นว่า กฎหมายกำหนดให้พรรคการเมืองเป็นอิสระ ปราศจากการครอบงำ ด้วยการกำหนด ในมาตรา66 ว่า บุคคลใดจะบริจาคเงินแก่พรรคการเมืองเกิน 10 ล้านบาทต่อปีไม่ได้ และนิติบุคคล บริจาคเกินปีละ 5 ล้านบาทไม่ได้
นอกจากนี้ในมาตรา 72 ที่ระบุว่า ไม่ให้พรรคการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง เช่น หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เห็นได้ว่ากฎหมายมีความมุ่งหมายให้เพื่อให้พรรคการเมือง เป็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พรรคการเมือง สามารถทำหน้าที่โดยอิสระ ปราศจากการชี้นำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองตั้งแต่เริ่มแรกไม่ให้เป็นธุรกิจการเมือง หรือ ให้บุคคลใดที่อาศัยความได้เปรียบทางการเงิน มาควบคุมพรรค บงการ ครอบงำ พรรคได้ ทำให้การบริหารกิจการพรรคการเมืองไม่เป็นอิสระ ทำลายหลักประชาธิปไตย ของพรรคการเมือง ส่งผลให้พรรคการเมืองถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ส่วนตน จึงต้องมีมาตรากรควบคุมมูลค่าการบริจาค เพื่อให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันของประชาชน
ปัญหาประการที่สองมีว่า พรรคการเมืองสามารถกู้ยืมเงินได้หรือไม่ เห็นว่าการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง ต้องอาศัยรายได้ของพรรคการเมือง ซึ่งกฎหมายได้กำหนดไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นเงินส่วนใดที่ไม่ได้เป็นเงินที่ได้มาตามที่กฎหมายกำหนด เป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบ เงินกู้ไม่ได้เป็นรายได้ แต่เป็นรายรับ การดำเนินการเกี่ยวกับการได้มาใช้จ่ายดำเนินการทางการเมือง ทำได้ภายในขอบเขตเท่านั้น การกู้ยืมเงินต้องสอดคล้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
ปัญหาที่สาม การรับบริจาคเงิน และประโยชน์อื่นใด มีความหมายอย่างไร เมื่อพิจารณา แล้ว บริจาคหมายความว่า การให้เงินหรือทรัพย์สิน แก่พรรคการเมือง รวมถึงการให้ประโยชน์อื่นใด ตามที่สามารถคำนวน เป็นเงินได้ การให้ส่วนลดไม่มีค่าตอบแทน การทำให้หนี้ลดลง ดังนั้นการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมืองย่อมมีความหมาย ดังนั้นการให้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย หรือคิดดอกเบี้ยที่ไม่เป็นปกติทางการค้า หรือการทำให้หนี้ลดลง ย่อมถือว่าเป็นประโยชน์อื่นใดตามพ.ร.ป.พรรคการเมืองที่จะต้องอยู่ภายใต้ เจตนารมณ์ ภายใต้เกณฑ์การบริจาค มาตรา 66 และมาตรา72
ข้อเท็จจริงปรากฎว่างบการเงิน ปี 2561 ของพรรคอนาคตใหม่ที่ยื่นต่อ กกต. พรรคอนาคตใหม่มีรายได้จากทุนประเดิม รายได้เงินสมาชิก รายได้จากการจำหน่ายสินค้า รายได้เงินบริจาค และรายได้อื่น รวม 71 ล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่าย รวม 72 ล้านบาท และมีสินทรัพย์ 32 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายจึงสูงกว่า รายได้ 1.4 ล้นบาท ผู้ถูกร้องจึงกู้เงินกับนายธนาธร แต่อยู่ในรูปแบบไม่ใช่การทำการค้า จึงถือเป็นประโยชน์อื่นใด ผิดปกติวิสัย นอกจากนี้ยังมีการทำสัญญากู้เงินฉบับที่สอง ทั้งที่หนี้เดิมยังอยู่ ถือเป็นการช่วยเหลือผู้ถูกร้องเป็นกรณีพิเศษ ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า ทั้งในเรื่องอัตราดอกเบี้ย และการไม่มีการใช้หลักประกัน
ดังนั้นการที่นายธนาธร ให้เงินกู้ผู้ถูกร้อง จำนวนมาก กรรมการบริหารพรรคคงจะต้องรู้ว่า การเป็นหนี้จำนวนมาก ย่อมเกิดการครอบงำ ชี้นำ จากตัวเจ้าหนี้ ได้ และเกิดความได้เปรียบทางการเงินมาเป็นผู้บงการพรรคแต่เพียงผู้เดียว ทำให้พรรคการเมืองเป็นธุรกิจการเมือง ดังนั้นการกู้เงิน มีเจตนาหลีกเลี่ยงการรับบริจาคเงิน ที่กำหนดจำนวนเอาไว้ จึงเป็นการรับบริจาค ทรัพย์สิน ประโยชน์อื่นใด ที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้เวลาในการอ่านคำวินิจฉัยรวม 53 นาที
สำหรับพรรคอนาคตใหม่ถือเป็นพรรคการเมืองพรรคที่ 110 ที่ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค นับตั้งแต่ปี 2541 อ่านที่นี่
[pdf-embedder url=”https://thaipublica.org/wp-content/uploads/2020/02/ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ-ที่-7-2563-ยุบพรรคอนาคตใหม่.pdf” title=”ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 7-2563 ยุบพรรคอนาคตใหม่”]ศาล รธน. ชี้ กฎหมายทำแท้งขัด รธน. เห็นควรแก้ไข
เว็บไซต์ประชาไทรายงานว่า วันที่ 19 ก.พ. 2563 ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องกรณีนางสาวศรีสมัย เชื้อชาติ (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 และมาตรา 28 หรือไม่ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 มาตรา 28 และ มาตรา 77 หรือไม่
ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ ซึ่งปรากฏผลการลงมติดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ซึ่งบัญญัติว่า “หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 และมาตรา 28 หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 หรือมาตรา 28
ประเด็นที่สอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา 301 และมาตรา 302 นั้น เป็นการกระทำของนายแพทย์ และ (1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือ (2) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 282 มาตรา 283 หรือมาตรา 284 ผู้กระทำไม่มีความผิด” ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 77 หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 77
ประเด็นที่สาม สมควรมีมาตรการปรับปรุงกฎหมาย หรือไม่ อย่างไร ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และมาตรา 305 สมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว
อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74 กำหนดคำบังคับให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่วินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้น มีผลเมื่อพ้นสามร้อยหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย
หมายเหตุ: รัฐธรรมนูญมาตราต่างๆ ที่ใช้ในการวินิจฉัยมีรายละเอียดดังนี้
มาตรา ๒๗ บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน
การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้
มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น หรือเพื่อคุ้มครองหรืออำนวยความสะดวกให้แก่เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้ด้อยโอกาส ย่อมไม่ถือว่า เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม
บุคคลผู้เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และพนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรของรัฐ ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นแต่ที่จำกัดไว้ในกฎหมายเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจริยธรรม
มาตรา ๒๘ บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย
การจับและการคุมขังบุคคลจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
การค้นตัวบุคคล หรือการกระทำใดอันกระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือเสรีภาพในชีวิตหรือร่างกาย จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ
การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม จะกระทำมิได้
มาตรา ๗๗ รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ โดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง
ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป
ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง “ธาริต” หมิ่น “สุเทพ”

เว็บไซต์เนชั่นทีวีรายงานว่า วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.1940/2556 ที่ “นายสุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง “นายธาริต เพ็งดิษฐ์” อดีต อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) , บริษัท มติชน จก. นายวรศักดิ์ ประยูรศุข บก.นสพ.มติชน , บริษัท ช่าวสด จก. และนายสุริวงศ์ เอื้อปฏิภาณ บก.นสพ.ข่าวสด เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 , 328
จากกรณีเมื่อวันที่ 27 ก.พ. – 5 มี.ค. 2556 นายธาริต จำเลยที่ 1 ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน กล่าวหาโจทก์ ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ทำเรื่องขอเปลี่ยนแปลงสัญญาโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่ง จากประมูลรายภาครวมเป็นรายเดียว ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และเสื่อมเสียชื่อเสียง โดยจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธคดี
โดยคดีนี้ ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2561 ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1-5 เนื่องจากนายธาริต จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติตามหน้าที่ ในฐานะอธิบดีดีเอสไอ ย่อมมีอำนาจแถลงข่าวการตั้งข้อสงสัยเเละเชิงตรวจสอบแก่สื่อมวลชนในเรื่องดังกล่าวได้ เนื่องจากเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจ เเละเป็นการให้ข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ส่วนจำเลยที่ 2-5 เป็นสื่อมวลชน ก็ได้เสนอข้อเท็จจริงตามที่ นายธาริต จำเลยที่ 1 เเถลงข่าวจึงเป็นการกระทำโดยสุจริต ติชมเพื่อความเป็นธรรม ตามที่วิสัยวิญญูชนพึงกระทำ ต่อมา “นายสุเทพ” ยื่นอุทธรณ์
ขณะที่วันนี้ “นายธาริต” จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2-5 ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ก็เดินทางมาศาล ส่วนฝ่ายโจทก์ ไม่ได้เดินทางมาศาล
สำหรับคดี “ศาลอุทธรณ์” ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว ที่โจทก์นำสืบและอุทธรณ์ทำนองว่า”นายธาริต”จำเลยที่ 1 แถลงและรีบให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนมีจำเลยที่ 2 และ 4 อยู่ด้วยว่าโจทก์จงใจฝ่าฝืนมติ ครม.เกี่ยวกับการประมูลจัดจ้างโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายมาตรา 157 และกฎหมายอื่น โดยจำเลยที่ 2 และ 4 นำข้อความแถลงหรือให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพใน นสพ.มติชนรายวันและข่าวสดรายวัน
ศาลอุทธรณ์ เห็นว่า ความผิดหมิ่นประมาทโดยการโฆษณานั้น ผู้กระทำผิดจะต้องมีเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคแรก และข้อความที่เป็นหมิ่นประมาทที่ใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่3 จะต้องเป็นข้อความที่ทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง และผู้กระทำนั้นจะต้องไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 329 (1)(2)(3)(4)
เมื่อคดีนี้ได้ความจากคำเบิกความของพยานว่า ดีเอสไอมีคำสั่งตั้งหัวหน้าคณะสืบสวนเกี่ยวกับข้อร้องเรียนโจทก์โครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่งที่กระทำขัดต่อมติ ครม. ก็ได้ทำการสืบสวนไปตามอำนาจหน้าที่ ส่วนการให้ข่าวหรือสัมภาษณ์เป็นอำนาจของ นายธาริต จำเลยที่ 1 อธิบดีดีเอสไอ ขณะน้้น โดยจะมีคณะทำงานเป็นผู้ให้ข้อมูลต่าง ๆ แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งจะสรุปประเด็นข้อเท็จจริงที่สำคัญพร้อมรายละเอียด และเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตามที่ตรวจสอบพบ โดยเป็นดุลพินิจของจำเลยที่ 1 ว่าจะแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์มากน้อยเพียงใด
จากข้อเท็จจริงนั้น จะเห็นได้ว่า นายธาริต จำเลยที่ 1 ในฐานะอธิบดีดีเอสไอ มีอำนาจจะแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์ใด ๆ เกี่ยวกับคดีความที่อยู่ระหว่างทำการสืบสวนสอบสวนให้ประชาชนและสื่อมวลชนทราบว่าคดีดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนใด ข้อเท็จจริงจากการศึกสวนสอบสวนได้ความว่าอย่างไร มีใครบ้างที่เกี่ยวข้อง และจากข่าวที่ปรากฏล้วนแต่เป็นการแสดงให้ความเห็นเป็นไปของข้อกล่าวหาที่ดีเอสไอได้มาจากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ
เป็นการแสดงความเห็นของจำเลยที่ 1 ประกอบเอกสารที่กระทำในฐานะอธิบดีดีเอสไอ จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการสืบสวนถึงการกระทำของโจทก์ว่าเข้าข่ายความผิดใดบ้าง ส่วนรายละเอียดของคดีในสำนวนจะเป็นอย่างไรก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้ข่าวหรือให้สัมภาษณ์เข้าไปในรายละเอียดของสำนวนอันเป็นดุลพินิจของจำเลยที่ 1 ที่จะพึงพิจารณาว่าจะให้ข้อเท็จจริงได้เพียงใดที่จะไม่กระทบต่อรูปคดีที่จะเกิดความเสียหายคดี
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำที่หวังผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็เป็นการกล่าวอ้างลอยลอยไม่มีพยานหลักฐานใดมาสืบยืนยันให้เห็นเจตนาที่แท้ของจำเลยที่ 1 ที่แถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างที่ทำการสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่งด้วยหวังผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อีกทั้งโจทก์ไม่ได้ดำเนินการใดเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ดำเนินการกับจำเลยที่ 1 ไม่ว่าจะเป็นทางวินัยหรือทางอาญาฐานเป็นข้าราชการที่ไม่วางตัวเป็นกลางทางการเมือง
จึงเป็นความเข้าใจโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียวว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 มีเจตนาหวังผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็เป็นไปได้ ดังนั้นการแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์ของจำเลยที่ 1 เชื่อว่าเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ที่ตนมี ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1-5 จึงเป็นการกระทำไปโดยสุจริตในกรอบของกฎหมาย เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (2)(3) จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืนให้ยกฟ้อง
“จีเอ็ม” ยุติ “ผลิต-ขาย” เชฟโรเลตในไทย ยัน มีอะไหล่สต็อก 5-10 ปี
วันที่ 17 ก.พ. 2563 เว็บไซต์ไทยรัฐรายงานว่า เจนเนอรัล มอเตอร์ส หรือจีเอ็ม (GM) ประกาศยุติการจัดจำหน่ายรถยนต์ “เชฟโรเลต” ในตลาดประเทศไทยภายในสิ้นปี 2563 โดยยืนยันว่าจะยังให้บริการหลังการขายแก่ลูกค้าผ่านเครือข่ายของศูนย์บริการ
นายแอนดี้ ดันสแตน ประธานกรรมการตลาดเชิงกลยุทธ์ พันธมิตรและผู้แทนจำหน่าย จีเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล โอเปอเรชั่นส์ กล่าวว่า การถอนเชฟโรเลตออกจากตลาดรถยนต์ประเทศไทยนั้นเป็นการตัดสินใจของจีเอ็ม หลังจากที่มีการขายศูนย์การผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ของจีเอ็ม ประเทศไทย ใน จ.ระยองให้แก่ เกรท วอล มอเตอร์ส
ทั้งนี้ จีเอ็มได้ประเมินทางเลือกหลายทางในการรักษาเชฟโรเลตไว้ในตลาดประเทศไทย แต่ความเป็นจริงก็คือ หากไม่มีฐานการผลิตในประเทศไทยแล้ว เชฟโรเลตก็ไม่อาจที่จะแข่งขันในตลาดรถยนต์ประเทศไทยได้เลย
จากการศึกษาและวิเคราะห์แผนธุรกิจที่จะจัดสรรโครงการรถยนต์รุ่นใหม่ให้แก่ศูนย์การผลิตใน จ.ระยอง แต่พบว่าจะมีอัตราการใช้กำลังการผลิตของศูนย์การผลิตแห่งนี้ได้อย่างไม่เต็มที่ ตลอดจนความต้องการสินค้าในตลาดประเทศไทยและตลาดส่งออกที่เราคาดการณ์ไว้นั้นจะมีจำนวนน้อย อีกทั้งยังมีปัจจัยทางเศรษฐกิจหลายประการที่ไม่เอื้อต่อแผนธุรกิจนี้ และการตัดสินใจในครั้งนี้ไม่ได้สะท้อนถึงศักยภาพและความสามารถของทีมงานในประเทศไทย รวมถึงผู้จัดจำหน่ายของเราแต่อย่างใด
นายแอนดี้กล่าวว่า จีเอ็ม และเกรท วอล มอเตอร์ส ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายศูนย์การผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ของจีเอ็ม ประเทศไทยใน จ.ระยอง คาดว่าทั้งสองบริษัทจะซื้อขายและส่งมอบศูนย์การผลิตทั้งสองจะเสร็จสิ้นในปลายปี 2563
ด้านนายเฮกตอร์ บีจาเรียล ประธานกรรมการ จีเอ็ม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า บริษัทให้คำมั่นสัญญาที่จะดูแลช่วยเหลือพนักงานและลูกค้า และจะปรับเปลี่ยนการดำเนินงานต่างๆ สำหรับลูกค้า พนักงาน ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลตและผู้จัดหาวัตถุดิบหรือบริการให้สำเร็จเป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย
“เราจะให้ความช่วยเหลือและมอบแพ็กเกจเงินชดเชยให้กับพนักงานที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดในจำนวนที่มากกว่ากฎหมายแรงงานไทยกำหนด ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลตจะได้รับการเสนอโปรแกรมการช่วยเหลือพิเศษในการปรับเปลี่ยนธุรกิจอย่างเหมาะสมหลังจากที่ร่วมเป็นคู่ค้ากับเรามาอย่างยาวนาน รวมถึงโอกาสในการเปลี่ยนธุรกิจของตนให้เป็นศูนย์บริการที่ได้รับการแต่งตั้งจากเชฟโรเลต
เราให้คำมั่นสัญญาว่าจะดูแลและให้บริการลูกค้าของเราต่อไป ท่านเจ้าของรถยนต์เชฟโรเลตมั่นใจได้ว่าเราจะยังคงปฏิบัติตามการรับประกันคุณภาพรถยนต์ทุกคันและให้บริการหลังการขายผ่านเครือข่ายของเราในประเทศไทย เชฟโรเลตจะร่วมมือกับผู้จัดจำหน่ายของเราอย่างใกล้ชิด โดยเราจะเสนอโอกาสในการปรับเปลี่ยนธุรกิจให้แก่ผู้จัดจำหน่าย ให้เปลี่ยนเป็นศูนย์บริการที่ได้รับการแต่งตั้งจากเชฟโรเลต”
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เริ่มสายการผลิตในปี 2543 ศูนย์การผลิตจีเอ็ม ประเทศไทยในจังหวัดระยองได้ผลิตรถกระบะ และรถอเนกประสงค์กว่า 1.4 ล้านคัน สำหรับตลาดประเทศไทยและตลาดส่งออกในฐานะศูนย์กลางการผลิตระดับภูมิภาคสำหรับรถกระบะขนาดกลาง รถอเนกประสงค์ และเครื่องยนต์ดีเซล
เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า ในระยะยาวนั้น ทางเชฟโรเลตยืนยันว่าการรับประกันต่างๆ ยังเหมือนเดิม ซึ่งทางบริษัทมีการสต็อกอะไหล่รองรับอย่างน้อย 5-10 ปี ฉะนั้นลูกค้าสามารถที่จะนำรถเข้าศูนย์มาซ่อมบำรุง เปลี่ยนอะไหล่ได้ตามปกติเหมือนเดิมทุกอย่าง ทางฝ่ายขายจะยังคงดูแลลูกค้ากระทั่งส่งมอบรถยนต์เชฟโรเลตคันสุดท้ายของศูนย์ ยืนยันจะไม่หนีหายไปไหนอย่างแน่นอน

โคโรนาระบาด สถานทูตไทยกรุงโซลแนะเลี่ยงเดินทางไปเกาหลีใต้
21 ก.พ. 2563 เว็บไซต์เนชั่นทีวีรายงานว่า สถานเอกอัคราชทูตไทย ณ กรุงโซล ออกประกาศ เรื่อง การแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ในสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) แนะหลีกเลี่ยงการเดินทางไปเกาหลีใต้ ความว่า
เรื่อง การแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ในสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)
ตามที่ปรากฏรายงานข่าวเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVD-19) ในเกาหลีไต้อย่างรวดเร็วในช่วงสัปตห์ที่ผม โดยส่สุดมีผู้ติดเชื้อในเกาหสึไต้แล้ว156 ราย โดยเฉพาะในเมืองแทกูและพื้นที่โดยรอบในจังหวัดคยองชังเหนือ พบผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 111 ราย (สถานะ ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563) นั้น
สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงขอประกาศเตือนชาวไทยในสาธารณรัฐเกาหลีทุกท่าน ให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ขอให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงหรือมีกิจกรรมการชุมนุมของคนจำนวนมาก ระมัดระวังดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นล้างมือให้สะอาด ใช้ข้อนกลาง สำหรับผู้ที่มีอาการไอ จาม มีไข้ หรือมีความผิดปกติบริเวณทางเดินหายใจ หรือสงสัยว่าบุคคลในครอบครัวของทนจะติดเชื้อดังกล่าว ให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย หรือหากพบกรณีการเจ็บป่วยต้องสงสัย ขอให้ติดต่อกรมควบคุมโรคสาธารณรัฐเกาหลี ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1339 หรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเปิดบริการให้คำปรึกษาและช่วยเหลือกรณีที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 แก่ชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในกาหลีใต้ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยสามารถติดต่อไปที่เบอร์โทรศัพท์ 1345 ต่อ 0*5* สำหรับภาษาไทย (เฉพาะวันจันทร์ -ศุกร์ เวลา 09.00-18.00 น.)
ทั้งนี้ เมื่อเดินทางไปยังสถานพยาบาลหรือหน่วยงานทางการแพทย์ ขอให้ใช้หน้ากากอนามัยปิดปากและจมูก และหากมีเหตุจำเป็น สามารถติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ที่หมายเลโทรศัพท์ hotline ของสถานเอกอัครราขทูตฯ +82 10 6747 0095 รวมทั้งขอให้โปรดติดตามข่าวสารการแพร่ระบาดของโรคผ่านซ่องทางทางการของรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลี อาทิ www.cdc.go.kr สื่อมวลชน และ/หรือสถานเอกอัครราชทูตฯอย่างใกล้ชิดต่อไป
จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน
ประกาศ ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล