ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “15 มิ.ย. คลายล็อกระยะ 4 เลิกเคอร์ฟิวแต่คง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” และ “นิวซีแลนด์ประกาศปลอดโควิดแล้ว”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “15 มิ.ย. คลายล็อกระยะ 4 เลิกเคอร์ฟิวแต่คง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” และ “นิวซีแลนด์ประกาศปลอดโควิดแล้ว”

13 มิถุนายน 2020


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 6-12 มิ.ย. 2563

  • 15 มิ.ย. คลายล็อกระยะ 4 เลิกเคอร์ฟิวแต่ยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
  • ศาล รธน. รับคำร้องตีความ ประยุทธ์อยู่บ้านพักทหารขัด รธน. หรือไม่
  • งดภาษีสรรพาสามิตแลกห้ามเลิกจ้าง ส่งผลเลื่อนขึ้นภาษีบุหรี่ 40% ไปอีก 1 ปี
  • อาลัย ศรัณยู วงศ์กระจ่าง – ไกรศักดิ์ ชุณหะวัน
  • นิวซีแลนด์ประกาศปลอดโควิดแล้ว

  • 15 มิ.ย. คลายล็อกระยะ 4 เลิกเคอร์ฟิวแต่คง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

    นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)

    ในที่สุดการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 มาตลอด 2 เดือน ก็ได้เดินทางมาถึงระยะที่ 4 ซึ่งไฮไลต์สำคัญของการผ่อนคลายในครั้งนี้คงไม่พ้นการยกเลิกเคอร์ฟิว ไม่มีกำหนดเวลาห้ามออกนอกเคหสถานอีกต่อไป และที่เป็นไฮไลต์เช่นกันก็คือ แม้จะยกเลิกเคอร์ฟิวแล้ว แต่ยังคงการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไป ด้วยเหตุผลว่า เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

    ในทุกครั้งที่มีการผ่อนคลาย นอกจากเรื่องเวลาเคอร์ฟิวที่ประชาชนต้องลุ้นว่าจะลดลงหรือไม่หรือจะลดแค่ไหน เพราะตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ภายในประเทศตามการรายงานของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ก็ดูดีขึ้นทุกวัน อีกสิ่งหนึ่งที่ทุกภาคส่วนต่างรอคอยจะได้รู้ก็คือ ในการผ่อนคลายระยะนั้นๆ สิ่งใดจะได้เปิด และสิ่งใดยังต้องปิดต่อไป เพราะการเปิด-ปิดดังกล่าวนั้นไม่ใช่เพียงความคาดหวังว่าจะได้กลัมาดำเนินการอีกครั้งของผู้ประกอบธุรกิจ แต่ยังหมายถึงการกลับคืนสู่การดำเนินชีวิตปกติของประชาชนทั่วไป รวมทั้งเป็นนัยว่าเรากับโควิด-19 นั้นอยู่ห่างกันไกลเพียงพอแล้ว

    สำหรับการคลายล็อกระยะที่ 4 ที่จะเริ่มในวันที่ 15 มิ.ย. 2563 สามารถสรุปว่าสิ่งใดอยู่ สิ่งใดไป ได้ดังนี้

    1. ขายการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563
    2. ยกเลิกเคอร์ฟิวตั้งแต่เวลา 23.00 น. ของวันที่ 14 มิ.ย. 2563
    3. สามารถบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในภัตตาคาร สวนอาหาร โรงแรม ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มทั่วไป ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นสถานบันเทิง แต่ห้ามมีกิจกรรมส่งเสริมการขาย ส่วนผับ บาร์ คาราโอเกะ ยังไม่อนุญาตให้เปิด
    4. จัดกิจกรรมในโรงแรม โรงมหรสพ ห้องประชุม ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า โรงภาพยนตร์ หรือในสถานที่อื่นๆ ได้แล้ว
    5. สถานดูแลเด็ก-ผู้สูงอายุ เปิดบริการแบบรายวันได้แล้ว
    6. เปิดกองถ่ายได้แล้ว แต่คนทำงานรวมกันต้องไม่เกิน 150 คน และผู้ชม ณ สถานที่ถ่ายทอกต้องไม่เกิน 50 คน
    7. สถานบริการที่มีการอบร่างกายแบบรวม นวดหน้า สปา นวดแผนไทย เปิดให้บริการได้แล้ว แต่อิบอบนวดยังไม่เปิด
    8. เปิดสวนน้ำ สวนสนุก สนามเด็กเล่นได้ แต่งดเครื่องเล่นบางอย่าง
    9. เปิดสนามกีฬาหรือสถานที่ออกกำลังได้แล้ว แต่หากเป็นการแข่งขัน ต้องไม่มีผู้ชมในสนามแข่ง และกีฬาประเภทไก่ชน วัวชน กัดปลา ยังห้ามเปิด
    10. ตู้เกม เครื่องเล่นยอดเหรียญ เปิดบริการได้ขนส่งสาธารณะข้ามจังหวัดต้องมีการเว้นที่นั่งและจำกัดจำนวนผู้โดยสารแต่ละเที่ยว
    11. โรงเรียนนานาชาติ สถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรนานาชาติ โรงเรียนกวดวิชา โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนที่นักเรียนไม่เกิน 140 คน เปิดได้แล้ว
    12. ออกกำลังกายเป็นกลุ่มในสวนสาธารณะหรือสถานที่สำหรับทำกิจกรรมได้แล้ว
    13. สนามบินยังไม่เปิดให้เที่ยวบินจากต่างประเทศลงจอด
    14. อ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ที่นี่

    ศาล รธน. รับคำร้องตีความ ประยุทธ์อยู่บ้านพักทหารขัด รธน. หรือไม่

    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
    ที่มาภาพ www.thaigov.go.th

    เว็บไซต์ VOICE online รายงานว่า นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องพิจารณาวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2561 มาตรา 7 (9)

    การยื่นคำร้องดังกล่าว ดำเนินการโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กับคณะ โดยสายสมพงษ์และคณะเสนอให้พิจารณาตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3)

    ทั้งนี้ เหตุที่ทำให้เกิดการยื่นคำร้องนี้ขึ้นมาก็คือ การที่ พล.อ. ประยุทธ์ ยังคงอยู่อาศัยในบ้านพักทหารทั้งที่เกษียณอายุราชการไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ซึ่งเรื่องนี้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส. นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ได้เคยเปิดประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใน พล.อ. ประยุทธ์มาแล้วเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2563 (อ่านรายละเอียดที่นี่)

    งดภาษีสรรพาสามิตแลกห้ามเลิกจ้าง ส่งผลเลื่อนขึ้นภาษีบุหรี่ 40% ไปอีก 1 ปี

    เมื่อปี พ.ศ. 2561 กรมสรรพสามิตได้ปรับโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ โดยเปลี่ยนมาเก็บภาษีบุหรี่ด้วยรูปแบบผสม โดยเก็บทั้งตามปริมาณและมูลค่าขายปลีก คือ นอกจากจะเก็บภาษีต่อมวนในอัตราคงที่ที่มวนละ 1.2 บาท หรือเท่ากับ 24 บาทต่อ 1 ซองแล้ว บุหรี่ที่ราคาขายปลีกเกิน 60 บาทจะต้องเสียภาษีอีก 40% ของราคาขายปลีกด้วย แต่ถ้าราคาขายปลีกไม่เกิน 60 บาท ก็จะเสียภาษีอีก 20% ของราคาปลีก ซึ่งการกำหนดเช่นนี้ไม่ได้ทำให้บุหรี่ทุกยี่ห้อมีราคาแพงขึ้น เพราะบุหรี่นอกบางเจ้าก็ลดราคาของตัวเองจากซองละเกือบ 100 บาทลงมาเหลือ 60 บาท เพราะเมื่อคิดเบ็ดเสร็จแล้วก็ยังเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าราคาขายเดิม บุหรี่นอกเจ้าที่ลดราคาได้จึงมาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดบุหรี่ไทย ทำให้โรงงานยาสูบได้รับผลกระทบสองต่อ ทั้งจากบุหรี่ไทยที่ราคาสูงขึ้นและบุหรี่นอกบางเจ้าที่ราคาลดลง (อ่านรายละเอียดได้ที่นี่)

    ต่อมา จึงได้มีการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตที่เก็บกับบุหรี่อีกครั้ง โดยอัตราภาษีส่วนที่เก็บจากมูลค่าขายปลีกไม่ว่าจะราคามากหรือน้อยกว่า 60 บาทจะเป็น 40% เท่ากันหมด โดยจะมีผลในวันที่ 1 ต.ค. 2563 ทว่า เมื่อมาถึงปี พ.ศ. 2563 วิกฤติเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ภาครัฐต้องออกมาตรการหลายอย่างมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่งมาตรการหนึ่งก็คือการงดเว้นไม่เก็บภาษีสรรพสามิตจากสินค้าและบริการต่างๆ เป็นเวลาหนึ่งปี โดยแลกกับการที่ผู้ประกอบการจะต้องไม่เลิกจ้างพนักงาน

    การงดเก็บภาษีครั้งนี้ จึงทำให้การเก็บภาษีจากบุหรี่ด้วยอัตราใหม่เลื่อนจากวันที่ 1 ต.ค. 2563 ไปเป็น 1 ต.ค. 2564 ซึ่งจะทำให้บุหรี่ในท้องตลาดจะมีราคาต่ำสุดอยู่ที่ 60 บาทต่อไปอีก 1 ปี ยังไม่ขึ้นไปเป็น 100 บาทจนกว่าจะถึงเวลาที่กำหนด หากไม่มีการเลื่อนอีก

    อาลัย ศรัณยู วงษ์กระจ่าง – ไกรศักดิ์ ชุณหะวัน

    กลายเป็นสัปดาห์แห่งการสูญเสียบุคคลที่มีชื่อเสียง เมื่อศรัณยู วงษ์กระจ่าง และไกรศักดิ์ ชุณหะวัน ต้องมาเสียชีวิตจากโรคร้ายไปในสัปดาห์เดียวกัน

    วันที่ 10 มิ.ย. 2563 ศรัณยู วงษ์กระจ่าง นักแสดงชื่อดังและผู้กำกับมากความสามารถ ในวัย 59 ปีเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับระยะสุดท้ายหลังจากเข้ารับการรักษาตัวอยู่ 6 วัน

    ปลายปี พ.ศ. 2562 ศรัณยูหกล้มในกองถ่ายและเกิดอาการปวดหลังจากการที่กระดูกสันหลังข้อที่ 3 ยุบ แม้อาการดังกล่าวจะไม่ถึงกับต้องผ่าตัด แต่การที่มีลิ่มเลือดออกมาทำให้แพทย์ต้องตรวจลิ่มเลือดเพื่อหาสาเหตุ ก่อนจะพบว่าศรัณยูมีค่าตับสูงเนื่องจากเป็นไวรัสตับอักเสบบีมาตั้งแต่ก่อนแต่งงาน (คู่สมรสคือ หัทยา วงศ์กระจ่าง) และต่อมาไวรัสตับเอกเสบบีได้กลายเป็นมะเร็ง ซึ่งลามตามกระดูกสันหลังไปจนถึงปอด ศรัณยูรับการรักษาจนดีขึ้นและสามารถกลับไปทำงานได้มาครั้งหนึ่งแล้ว แต่อาการก็กลับทรุดลงจนต้องเข้ารักษาตัวอีกครั้งเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2563 และเสียชีวิตในเวลาต่อมา (อ่านไทม์ไลน์โดยละเอียดได้จากเว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์)

    อนึ่ง ศรัณยูเข้าสู่ววงการบันเทิงในปี พ.ศ. 2524 มีผลงานละครอันโดดเด่น เช่น เก้าอี้ขาวในห้องแดง (พ.ศ. 2527), บ้านทรายทอง และ พจมาน สว่างวงศ์ (พ.ศ. 2530), เจ้าสาวของอานนท์ (พ.ศ. 2531), น้ำเซาะทราย (พ.ศ. 2536), ทวิภพ (พ.ศ. 2537), มนต์รักลูกทุ่ง (พ.ศ. 2538) และยังมีผลงานละครอีกมากมาย รวมทั้งภาพยนตร์ ละครเวที พิธีกร เพลง และกำกับการแสดง (ดูได้ที่นี่)

    วันที่ 11 มิ.ย. 2563 เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดนครราชสีมา และ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบสัดส่วน ได้เสียชีวิตแล้วในวัย 72 ปี จากโรคมะเร็งโคนลิ้น หลังจากทำการรักษาตัวมานานกว่า 4 ปี

    ทั้งนี้ นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เกิดวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2490 เป็นบุตรชายคนเดียวของ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี และ ท่านผู้หญิง บุญเรือน ชุณหะวัณ นายไกรศักดิ์ เคยมีบทบาทเป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก ซึ่งเป็นทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ รวมถึงเป็น ส.ส.ในนามพรรคประชาธิปัตย์ มีบทบาทสำคัญในการรื้อฟื้นคดีฆ่าตัดตอน 2,500 ราย ที่เกิดขึ้นในระหว่างการประกาศทำสงครามยาเสพติด ในสมัยรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร

    นิวซีแลนด์ประกาศปลอดโควิดแล้ว

    เว็บไซต์บีบีซีไทยรายงานว่า รัฐบาลนิวซีแลนด์ยกเลิกข้อจำกัดต่าง ๆ เกือบทั้งหมดที่เคยประกาศใช้เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากไม่พบผู้ป่วยโรคนี้ติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์

    นับจากนี้คนในนิวซีแลนด์ไม่ต้องทำตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และสามารถออกไปรวมตัวกันในที่สาธารณะได้โดยไม่มีข้อจำกัด อย่างไรก็ดี นิวซีแลนด์จะยังไม่เปิดด่านพรมแดนสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ

    นายกรัฐมนตรี จาซินดา อาร์เดิร์น บอกกับนักข่าวว่าเธอ “เต้นระบำเล็ก ๆ” เมื่อได้รับรายงานว่าไม่มีผู้ป่วยโรคโควิด-19 อีกแล้วในประเทศ

    “ในขณะที่เราอยู่ในจุดที่ปลอดภัยและแข็งแรงกว่าเดิม แต่การจะกลับไปใช้ชีวิตเหมือนในช่วงก่อนเกิดโรคโควิด-19 นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ความตั้งใจและทุ่มเทที่เคยมุ่งเน้นไปที่การดูแลด้านสาธารณสุข จะถ่ายโอนไปใช้ในการสร้างเสริมเศรษฐกิจของประเทศ” นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ระบุ