ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup อินโดนีเซียผ่านกรอบความตกลงการค้าเสรีกับออสเตรเลีย ลาวขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 145%

ASEAN Roundup อินโดนีเซียผ่านกรอบความตกลงการค้าเสรีกับออสเตรเลีย ลาวขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 145%

9 กุมภาพันธ์ 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 2-8 กุมภาพันธ์ 2563

  • อินโดนีเซียผ่านกรอบความตกลงการค้าเสรีกับออสเตรเลีย
  • ลาวขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 145% ใน 5 ปี
  • ลาวติดตั้ง QR Code จ่ายภาษีค่าธรรมเนียมผ่านแดนจุดที่ 4
  • กัมพูชาจะยกระดับสีหนุวิลล์เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ
  • กัมพูชาเปิดโครงการนำร่องอีคอมเมิร์ซสำหรับ SME
  • ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ลดดอกเบี้ย 0.25%
  • อินโดนีเซียผ่านกรอบความตกลงการค้าเสรีกับออสเตรเลีย

    ที่มาภาพ: https://www.thejakartapost.com/news/2020/02/06/indonesia-ratifies-long-awaited-free-trade-deal-with-australia.html

    สภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซียได้ลงมติด้วยคะแนน 374 เสียง อนุมัติกรอบความตกลงการค้าที่มีความครอบคลุมสูงกับออสเตรเลีย (Indonesia-Australia Comprehensive Economic Partnership Agreement: IA-CEPA) ซึ่งเป็นการเปิดฉากความร่วมมือใหม่ของทั้งสองประเทศ

    ข้อตกลงนี้จะช่วยส่งเสริมการส่งออกของอินโดนีเซียและจะมีผลดีต่อดุลการค้าของประเทศ จากความเห็นของ นายมาร์ติน มานูรัง ประธานคณะกรรมาธิการชุดที่ 4

    ข้อตกลง IA-CEPA จะมีผลให้มีการลดภาษีอย่างมากสำหรับการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ระหว่างสองประเทศ และยังให้สิทธิทางการลงทุนที่หลากหลาย ซึ่งอินโดนีเซียเองก็ต้องการที่จะกระตุ้นการส่งออกและดึงการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

    ในปีที่แล้วอินโดนีเซียขาดดุลการค้า 3.2 พันล้านดอลลาร์ ดีขึ้นจากที่ขาดดุลการค้า 8.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2018

    ทางด้านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Investment Coordinating Board: BKPM) ได้ตั้งเป้าหมายดึงการลงทุน 886 ล้านล้านรูปียะฮ์หรือ 64.9 พันล้านดอลลาร์ สูงขึ้น 9.4% จากปีก่อน

    นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย มีกำหนดจะพบปะกับนายสก็อตต์ มอริสสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ในสุดสัปดาห์นี้เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อตกลง โดยทั้งสองประเทศจะกำหนดแผนปฏิบัติการในปี 2020-2024 เป็นแนวทางเพื่อดำเนินการตามข้อตกลง IA-CEPA

    ข้อตกลง IA-CEPA เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการดำเนินการของอินโดนีเซีย ขณะที่ออสเตรเลียได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว

    อินโดนีเซียและออสเตรเลียได้เห็นพ้องขยายความร่วมมือในการดำเนินการตามกรอบความตกลง Indonesia-Australia Comprehensive Economic Partnership Agreement (IA-CEPA) เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างกันตั้งแต่ปี 2017

    ลาวขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 145% ใน 5 ปี

    ที่มาภาพ: https://jclao.com/electricity-powers-up-exports-towards-a-better-trade-balance/

    ในช่วงปี 2016-2020 สปป.ลาวจะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 6,457 เมกะวัตต์เพื่อตลาดส่งออก หรือเพิ่มขึ้น 145% ในช่วง 5 ปี

    กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ของลาวทำรายได้กว่า 130 พันล้านกีบหรือมากกว่า 14 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 35% จากปี 2011-2015

    นายคำมนี อินทิลาด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ รายงานผลการดำเนินการด้านการพัฒนาพลังงานและบ่อแร่ตามแผน 5 ปีระหว่าง 2016-2020

    นายคำมนีกล่าวว่า ลาวได้ขยายสายส่งจนมีระยะทางมากกว่า 65,563 กิโลเมตรตาม 71 สถานี และกระทรวงฯ จะผลักดันยุทธศาสตร์พัฒนาพลังงานเพื่อเพิ่มปริมาณไฟฟ้าในประเทศและเพื่อการส่งออก

    รัฐบาลลาวและรัฐบาลไทยได้ลงนามในข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้า 9,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2030

    ปัจจุบันลาวจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้ไทยมากกว่า 5,620 เมกะวัตต์ ในปี 2022 กระทรวงพลังงานและบ่อแร่จะขยายการส่งออกมายังไทยผ่านโรงไฟฟ้า 2 แห่ง คือ จากโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 1 ในปริมาณ 520 เมกะวัตต์และโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 3 อีก 480 เมกะวัตต์

    ลาวยังขายไฟฟ้าให้เวียดนามมากกว่า 570 เมกะวัตต์ ปัจจุบันยังได้ขายไฟฟ้าให้เมียนมา 10 เมกะวัตต์ต่อปี และจะเพิ่มเป็น 20 เมกะวัตต์ภายในปี 2022 นอกจากนี้ รัฐบาลลาวและรัฐบาลเมียนมาได้ลงนามในสัญญาความร่วมมือโดยเมียนมาจะซื้อไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์ในปี 2023 และเพิ่มเป็น 300 เมกะวัตต์ในปี 2025

    รัฐบาลลาวคาดว่า จะเพิ่มการส่งไฟฟ้าเป็น 1,000 เมกะวัตต์ในปี 2020 เป็น 3,000 เมกะวัตต์ในปี 2025 และเพิ่มเป็น 5,000 เมกะวัตต์ในปี 2030

    ในปี 2019 ลาวและกัมพูชาทำข้อตกลงพัฒนาพลังงานร่วมกัน 6,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2030

    ขณะเดียวกัน ลาวได้ขายไฟฟ้าให้มาเลเซีย 100 เมกะวัตต์ผ่านไทย และรัฐบาลลาวคาดว่าจะขายไฟฟ้าเพิ่มเป็น 300 เมกะวัตต์ในปี 2020

    การจำหน่ายไฟฟ้าของลาวเพิ่มขึ้นตามกำลังการผลิตที่สูงขึ้นจากการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ปัจจุบันลาวมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 63 โรงซึ่งมีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 7,213 เมกะวัตต์ และทั้งหมดนี้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 37,035 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี

    นอกจากนี้ยังมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำอีก 37 แห่งที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ส่วนใหญ่คาดว่าจะเสร็จสิ้นในปี 2020-2021

    ปัจจุบัน 90% ของหมู่บ้านในลาวมีไฟฟ้าใช้ และ 95% ของครัวเรือนสามารถเข้าถึงโครงข่ายส่งไฟฟ้า

    ลาวติดตั้ง QR Code จ่ายภาษีค่าธรรมเนียม ผ่านแดนจุดที่ 4

    ด่านข้ามแดนไทยไปแขวงบ่อแก้วของสปป.ลาว
    สปป.ลาวได้ ติดตั้งระบบชำระเงินด้วย QR Codeเป็นจุดที่ 4 บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่เมืองห้วยไซย แขวงบ่อแก้ว เพื่อกระตุ้นการเก็บภาษีและจัดการกับรถยนต์ผ่านแดนได้ดีขึ้น

    ระบบชำระเงินนี้ใช้ชื่อว่า EasyPass ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

    ระบบอิเล็กทรอนิกส์นี้พัฒนาควบคู่กับระบบจัดการกับรถยนต์ท่องเที่ยวและรถบรรทุก โดยธนาคารพัฒนาลาว (Lao Development Bank: LDB) ซึ่งนอกจากจะช่วยให้รัฐบาลบริหารงบประมาณได้ดีขึ้นแล้วยังป้องกันการรั่วไหลอีกด้วย

    ระบบชำระเงินแบบใหม่มีการติดตั้งที่จุดผ่านแดนหลายจุด และคาดว่าจะช่วยให้กระบวนการข้ามแดนของนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปง่ายขึ้น ระบบนี้จะช่วยในเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นรวมทั้งจัดเก็บรายได้ได้สูงสุดและบริหารจัดการกับรถยนต์ข้ามแดนได้ดีขึ้น

    ระบบจัดเก็บภาษีอิเล็กทรอนิกส์พัฒนาจากความร่วมมือของกระทรวงการคลังและพันธมิตรตั้งแต่ปี 2018 กรมสรรพากร (Tax Revenue Management Information System: TAXRIS) ได้ร่วมกับธนาคารพาณิชย์นำแพลตฟอร์มการชำระเงินมาใช้ในชื่อ Easy Tax และ Smart Tax ซึ่งทยอยดำเนินการจนปัจจุบันมี 5 ธนาคารพาณิชย์เพื่อเป็นช่องทางชำระภาษีและจัดเก็บรายได้กับค่าธรรมเนียม ทั้งภาษีรถยนต์และที่ดิน

    ดร.อาคม ประเสิด กรรมการผู้จัดการ ธนาคาร LDB กล่าวว่า การพัฒนาระบบชำระเงินเพื่อตอบสนองเป้าหมายของกระทรวงการคลังที่จะสร้างระบบกลางของจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมผ่านคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งได้มีการพัฒนามาร่วมปีและได้บรรลุเป้าหมายการจัดเก็บภาษีระยะแรกไปแล้ว และระบบ EasyPass นี้เป็นการพัฒนาระยะที่สอง จะเสร็จสิ้นในเดือนเมษายนี้

    ระบบการจัดเก็บภาษีแบบใหม่ได้มีการติดตั้งที่บ่อเต็น ข้ามไปหลวงน้ำทา ซึ่งเป็นจุดผ่านแดนหลักกับจีน

    กัมพูชาจะยกระดับสีหนุวิลล์เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/50688097/masterplan-for-preah-sihanouk-province?utm_source=mailpoet&utm_medium=email&utm_campaign=khmer-times-friday-news-digest_59

    จังหวัดพระสีหนุวิลล์จะได้รับการยกระดับเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่สามารถใช้ประโยชน์ได้หลายด้านและมีศักยภาพที่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของประเทศ

    นายวงศ์ วิสธ ปลัดกระทรวงการคลังและเศรษฐกิจ เปิดเผยในการประชุมการบริหารเศรษฐกิจมหภาคและงบประมาณ 2020 แต่ยอมรับว่ายังมีหลายประเด็นที่รัฐบาลต้องแก้ไข เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคก่อสร้าง

    “เรารู้ว่าสีหนุวิลล์มีปัญหา แต่ก็มีทางออก ภาคก่อสร้างที่สีหณุวิลล์เกิดฟองสบู่เพราะขยายตัวเร็วเกินไป ดังนั้นเมื่อมีมาตรการ เช่น การห้ามการพนันออนไลน์ จึงหดตัวลงเร็ว” นายวงศ์กล่าว

    นายวงศ์กล่าวว่า ได้มีหลายมาตรการเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สีหนุวิลล์ เพื่อดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยว รัฐบาลเตรียมแผนแม่ทบทการพัฒนาสีหนุวิลล์ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในลักษณะเดียวกับเสิ่นเจิ้นของจีน ซึ่งขนานนามว่าเป็นซิลิคอนแวลลีย์ของจีน

    “หากเราสามารถเปลี่ยนโฉมสีหนุวิลล์ให้เป็นแบบเดียวกับเสิ่นเจิ้นได้ สีหนุวิลล์จะไม่มีเพียงคาสิโน แต่จะเป็นเมืองอุตสาหกรรมทั้งภาคบริการ เทคโนโลยี และการท่องเที่ยว”

    รัฐบาลได้จ้างผู้เชี่ยวชาญที่ได้จัดทำแผนแม่บทให้กับเสิ่นเจิ้นมาจัดทำแผนแม่บทให้กับสีหนุวิลล์ โดยมีจุดประสงค์ที่จะพัฒนาสีหนุวิลล์ให้เป็นเขตเศรษฐกิจอเนกประสงค์ที่สามารถรองรับสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อการส่งออกของประเทศได้ และแผนแม่บทนี้จะเป็นพิมพ์เขียวที่กำหนดทิศทางการพัฒนาสีหนุวิลล์

    ทั้งนี้ แผนนี้ริเริ่มโดยนายกรัฐมนตรีฮุนเซนและสนับสนุนโดยรองนายกรัฐมนตรีทั้งสองคน

    กัมพูชาเปิดโครงการนำร่องอีคอมเมิร์ซสำหรับ SME

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/50686950/pilot-project-to-boost-e-commerce-for-kingdoms-smes?utm_source=mailpoet&utm_medium=email&utm_campaign=khmer-times-tuesday-news-digest_56
    กระทรวงพาณิชย์ได้เปิดตัวโครงการ Go4eCam โครงการนำร่องเพื่อให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศ ได้ประโยชน์จากอีคอมเมิร์ซ

    โครงการนี้มีมูลค่า 2.5 ล้านดอลลาร์ และจะเริ่มขึ้นในกลางเดือนนี้ เป็นการร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศซึ่งมีชื่อว่า Enhanced Integrated Framework (EIF) กองทุนที่ให้ความช่วยเหลือทางการเงินและทางด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนความสามารถทางการค้าให้กับประเทศที่มีการพัฒนาต่ำ 48 ประเทศซึ่งรวมกัมพูชา EIF สนับสนุนเงินให้โครงการนี้ 1.5 ล้านดอลลาร์ ขณะที่สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) และรัฐบาลกัมพูชาสนับสนุนเงินส่วนที่เหลือ

    นายพัน สรสัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการริเริ่มใหม่ที่มีเป้าหมายให้ธุรกิจ SME ได้ประโยชน์ ส่งเสริมให้สามารถตามทันตลาดโลกและตอบสนองผู้บริโภคหลายกลุ่มผ่านการใช้เทคโนโลยี ซึ่งการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ จะช่วยเพิ่มยอดขายและช่วยให้ธุรกิจขยายตัว และนำไปสู่การจ้างงาน

    โครงการ Go4eCame เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การรวมตัวทางการค้า (Trade Integration Strategy: CTIS) ปี 2019-2023 ซึ่งจะช่วยให้ประเทศเปลี่ยนโฉมไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0

    “โครงการ Go4eCAM เปิดตัวในเวลาที่เหมาะสม ประจวบเหมาะกับการผ่านร่างกฎหมายอีคอมเมิร์ซ และถือเป็นโครงการที่ได้ประโยชน์หลายด้านทั้งการเพิ่มผลิตภาพ นวัตกรรม การขยายธุรกิจ และการสร้างงานในประเทศ” นายพันกล่าว

    กัมพูชามีธุรกิจ SME กว่า 500,000 ราย โดยที่ 150,000 รายทำธุรกิจแปรรูปวัตถุดิบเกษตรเป็นสินค้าอาหาร และสภาธุรกิจ SMEs แห่งกัมพูชา ประเมินว่า ราว 10% มีการส่งออกวัตถุดิบเกษตรไปต่างประเทศ

    ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ลดดอกเบี้ย 0.25%

    ที่มาภาพ: https://www.philstar.com/business/2019/12/04/1973997/bsp-further-rrr-cut-hinges-credit-growth

    ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (Bangko Sentral ng Pilipinas: BSP) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายเชิงรุกภายใต้สภาวะแวดล้อมภายนอกและภาวะภายในประเทศที่ไม่เอื้อ

    ทั้งอัตราดอกเบี้ยข้ามคืน (reverse repurchase: RRP)ลดลงมาที่ 3.75% ดอกเบี้ยเงินกู้ข้ามคืน (overnight lending) ลดลงมาที่ 4.25% และดอกเบี้ยเงินฝากข้ามคืน (overnight deposit) ลดลงมาที่ 3.25%

    นายเบนจามิน ดิออกโน ผู้ว่าการ ธนาคารกลาง กล่าวว่า คาดว่าเงินเฟ้อที่ได้ปรับขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วจะทรงตัว และอยู่ในกรอบเป้าหมายไปจนถึงปีหน้า

    เงินเฟ้อมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้ จากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาที่มีผลต่อราคา รวมทั้งผลจากไต้ฝุ่นตีโซยและภูเขาไฟตาอัลปะทุ

    นายดิออกโนกล่าวว่า ความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าและเศรษฐกิจยังคงมีผลต่อความต้องการในตลาดโลกดังนั้นจึงมีแรงกดดันต่อสินค้าโภคภัณฑ์

    คณะกรรมการนโยบายการเงินตั้งข้อสังเกตว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อาจจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดในอีกหลายเดือนข้างหน้า

    ทั้งหมดคือความท้าทาย ดังนั้น นโยบายเชิงรุกด้วยการลดดอกเบี้ยจึงจำเป็น เพื่อสนับสนุนผลที่อาจจะส่งต่อมาจากสถานการณ์ภายนอก

    คณะกรรมการนโยบายการเงินปรับคาดการณ์เงินเฟ้อขึ้นเป็น 3% จาก 2.9% แต่คงคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2021 ไว้ที่ 2.9% ทั้งนี้คณะกรรมการนโยบายการเงินคาดว่าเงินเฟ้อจะปรับเพิ่มขึ้นแตะค่ากลางของกรอบเป้าหมาย 2.4% ในอีก 2-3 เดือนและเชื่อว่าจะไม่ทะลุกรอบบน