ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “Pick-up Counter” ของรักของหวง AOT : การต่อสู้ “เข้าข่ายเลือกปฏิบัติหรือไม่”(จบ)

“Pick-up Counter” ของรักของหวง AOT : การต่อสู้ “เข้าข่ายเลือกปฏิบัติหรือไม่”(จบ)

22 มกราคม 2020


เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 นางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านพล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาเสนอแนะมาตรการและกลไกในการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี สั่งการทอท.จัดหาพื้นที่ในอาคารสนามบินทำจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ

ปิดตำนานการต่อสู้ 3 ปี “สมาคมดิวตี้ฟรี – ผู้ตรวจการแผ่นดิน” จี้เปิดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ เริ่มดำเนินการได้หลังสัมปทานเดิมสิ้นสุด

ต่อจากตอนที่แล้ว นอกจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” จะมีความเห็นแตกต่างจากคำวินิจฉัย หรือ ข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ให้ ทอท.หาพื้นที่ใน หรือ นอก สัญญาสัมปทานเช่าพื้นที่ เปิดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ เพื่อให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองรายอื่นใช้ส่งสินค้าร่วมกันแล้ว กระทรวงคมนาคมยังได้รวบรวมความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ กรมศุลกากร, สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาเห็นชอบมีรายละเอียด ดังนี้

กรมศุลฯ ชี้ตั้งจุดส่งมอบสินค้าได้ แต่ต้องอยู่หลัง ตม.

เริ่มจากกรมศุลกากร หน่วยงานหลัก ซึ่งทำหน้าที่พิจารณาคำขออนุญาตจัดตั้งร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมือง โดยผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะขออนุญาตเปิดกิจการร้านค้าปลอดอากรในเมือง ต้องมีจุดส่งมอบสินค้าให้กับผู้เดินทางไปต่างประเทศที่ซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดอากร ตามประกาศกรมศุลกากร ที่ 44/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากรลงวันที่ 31 มกราคม 2561 ข้อ 3 ที่ระบุว่า “จุดส่งมอบของ ต้องตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่ผู้ซื้อจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งผ่านจุดตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรแล้ว” ทั้งนี้ เนื่องจากสินค้าที่ซื้อจากร้านค้าปลอดอากรในเมือง เป็นสินค้าที่ยังไม่ได้ชำระค่าอากร ดังนั้น กรมศุลกากรจึงได้กำหนดระเบียบดังกล่าวขึ้นมา เพื่อรับรองว่าสินค้านั้นได้มีการนำออกไปนอกราชอาณาจักรจริง

อย่างไรก็ดี หากจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรของตั้งอยู่ในพื้นที่อื่น ซึ่งมีระบบการควบคุมให้ผู้โดยสารนั้นเดินทางออกไปนอกประเทศ โดยไม่สามารถนำสินค้านั้นกลับเข้ามาบริโภคในประเทศได้ ก็ถือว่าสอดคล้องกับหลักการข้างต้น

อส.ปัดให้ความเห็น กรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน แนะตั้งจุดส่งมอบสินค้านอกพื้นที่สัมปทานฯ

อัยการสูงสุด (อส.) หน่วยงานที่มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและตรวจร่างสัญญา หรือ เอกสารทางกฎหมายให้กับรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ ได้ให้ความเห็นต่อกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีคำวินิจฉัย หรือ ข้อเสนอแนะ ให้ ทอท. จัดหาพื้นที่นอกสัญญาสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินนานาชาติ เปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรสาธารณะนั้น ทางอัยการสูงสุด เห็นว่า “ไม่มีประเด็นที่ อส. จะต้องพิจารณา เพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกสัญญาสัมปทานฯ หาก ทอท.จะนำพื้นที่นอกอาคารผู้โดยสารดังกล่าว ซึ่งเป็นพื้นที่นอกสัญญาสัมปทานฯไปให้บริการแก่ผู้ประกอบการรายอื่น ย่อมเป็นดุลพินิจในการดำเนินธุรกิจของ ทอท. ซึ่ง อส. ไม่อาจพิจารณาให้ความเห็นได้

CAAT ชี้ของเหลวเกิน 100 มล.ห้ามนำขึ้นเครื่องบิน

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล รักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่กิจการการบินพลเรือนให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานสากล CAAT ได้ให้ความเห็นต่อกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยให้ทอท.หาพื้นที่นอกสัญญาสัมปทานฯในสนามบินนานาชาติของทอท.ว่า “ICAO ไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับมาตรฐานการรักษาความปลอดภัย สำหรับจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรเป็นการเฉพาะ” แต่ในข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ 83 ว่าด้วยการตรวจคัน เพื่อรักษาความปลอดภัยในการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ ระบุว่า “สิ่งของ หรือ สัมภาระทุกชิ้นที่จะนำขึ้นบนอากาศยาน ต้องผ่านการตรวจค้น ตามมาตรการรักษาความปลอดภัยของสนามบิน ดังนั้น สินค้าปลอดอากรที่ผู้โดยสารได้รับมอบ ก่อนถึงจุดตรวจค้นของสนามบิน ต้องได้รับการตรวจค้น ตามข้อ 3 (1) หรือ (2) ของข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือนฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะนำขึ้นอากาศยานในลักษณะของสัมภาระ หรือ สิ่งของ

และในประกาศกรมการขนส่งทางอากาศ เรื่อง ข้อกำหนดเกี่ยวกับการนำของเหลว เจล สเปรย์ หรือวัตถุและสารอื่น ๆ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกันขึ้นในห้องโดยสารอากาศยาน ข้อ 5 ระบุว่า “ให้ของเหลว เจล สเปรย์ หรือ วัตถุ และสารอื่น ๆ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ซึ่งผู้โดยสาร ซื้อมาจากร้านค้าปลอดอากรภายในสนามบิน (ซึ่งอยู่ภายหลังจุดตรวจค้น) หรือ ซื้อบนเครื่องบิน สามารถนำขึ้นในห้องโดยสารในอากาศยานได้ โดยผู้โดยสารไม่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ หรือ วิธีการตามข้อ 2 (ห้ามนำของเหลว เจล สเปรย์ ขึ้นบนอากาศยาน)”

ดังนั้น ในกรณีที่ผู้โดยสารได้รับมอบสินค้าปลอดอากร ก่อนถึงจุดตรวจค้นของสนามบิน จึงต้องปฏิบัติตามข้อ 2 ของประกาศกรมการขนส่งทางอากาศฯ กล่าวคือ หากมีขนาด หรือ ภาชนะบรรจุ หรือ ปริมาณของเหลวที่บรรจุเกิน 100 มิลลิลิตร ไม่สามารถนำขึ้นเครื่องบินในลักษณะของสัมภาระติดตัวได้ จะต้องจัดเก็บเป็นสัมภาระลงทะเบียน และอยู่ภายใต้การตรวจค้น ตามข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ 83 ด้วย

หลังจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้พิจารณารายงานข้อเท็จจริงของกระทรวงคมนาคมแล้ว จึงทำสรุปความเห็นเสนอต่อที่ประชุม ครม. ว่า ในปัจจุบัน ทอท. ผูกพันในสัญญาอนุญาตเชิงพาณิชย์กับผู้ประกอบการ ณ ท่าอากาศยานสรรรณภูมิ และทำอากาศยานดอนเมือง ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  • ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
  • มีบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ เป็นคู่สัญญาสัมปทานบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ (สัญญาโครงการ) สัญญาที่ ทสภ 1-01/2548 มีอายุสัญญา นับตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2548 – 23 กันยายน 2563 และ สัญญาเช่าพื้นที่ (สัญญาเช่า) สัญญาที่ ทสภ 2-299/2549 มีอายุสัญญา นับตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2553 – 23 กันยายน 2563 โดยจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรนั้น อยู่ภายใต้สัญญาโครงการบริหารกิจกรรมเชิงพาณิชย์ และข้อกำหนดของโครงการ (TOR) โดย ทอท.อนุญาตให้บริษัท คิง เพาเวอร์ เข้าดำเนินการและบริหารจัดการโครงการนี้ตามเงื่อนไขแห่งสัญญานี้เพียงรายเดียว

  • ท่าอากาศยานดอนเมือง
  • มีบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี เป็นคู่สัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และส่งมอบสินค้าปลอดอากร สัญญาที่ 6-06/2555 มีอายุสัญญา นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 – 30 กันยายน 2565 โดยจุดส่งมอบสินค้า >อยู่ภายใต้สัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และส่งมอบสินค้าปลอดอากร โดย ทอท. สามารถอนุญาตให้ผู้ประกอบการรายอื่น เปิดให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรในพื้นที่นอกอาคารผู้โดยสารได้

    AOT แจงเหตุไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน

    ในกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีคำวินิจฉัย “ให้ ทอท. จัดหาพื้นที่นอกสัญญาสัมปทานฯเปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรสาธารณะให้ผู้ประกอบการรายอื่นใช้ส่งมอบสินค้าร่วมกัน หรือ ให้ ทอท. ประสานกับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ฯ เพื่อให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรแก่ผู้ประกอบการรายอื่นใช้ส่งมอบสินค้าปลอดอากรร่วมกัน โดยให้ ทอท.เป็นผู้ประสานกับบริษัททั้ง 2 แห่ง กับผู้ประกอบการรายอื่นที่ประสงค์จะใช้จุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร และให้กระทรวงคมนาคมกำกับดูแลให้ ทอท. ดำเนินการตามข้อสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน” กระทรวงคมนาคม โดย ทอท. พิจารณาข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว มีความเห็นให้ดำเนินการดังนี้

    1. ข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ให้ทอท. จัดหาพื้นที่ทำจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะแก่ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองรายอื่น ใช้ส่งมอบสินค้าปลอดอากรนั้น

    กระทรวงคมนาคม เห็นว่า กิจการส่งมอบสินค้าปลอดอากรของ ทอท. ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นกิจกรรมที่อยู่ในสัญญาสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ส่วนกิจการส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ก็เป็นไปตามสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรและส่งมอบสินค้าปลอดอากร โดยสัญญาสัมปทานดังกล่าวสิ้นสุดในวันที่ 29 กันยายน 2563 และวันที่ 30 กันยายน 2565 ตามลำดับ

    ทั้ง 2 โครงการผ่านการคัดเลือกผู้ประกอบการโดยวิธีการประมูลทั่วไป สามารถให้สิทธิแก่ผู้ประกอบการได้เพียงรายเดียว จึงไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือ ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะเป็นเอกชนรายเดียว แต่เป็นผู้ชนะประมูล ซึ่งถือเป็นสิทธิตามสัญญา ส่งผลให้ ทอท.ต้องพึงระมัดระวังไม่ให้เกิดการละเมิดสัญญาที่มีอยู่เดิม หรือ อาจนำไปสู่การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ได้รับสัมปทานได้ รวมถึงรัฐบาลไม่ได้มีนโยบายมอบหมายให้ ทอท. ดำเนินการในเรื่องนี้มาก่อน จึงทำให้ ทอท. ไม่สามารถดำเนินการตามข้อเสนอแนะของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ ในขณะที่สัญญาปัจจุบันยังมีผลอยู่

    ยันตั้ง “จุดส่งมอบสินค้า” นอกพื้นที่สัมปทานฯไม่ได้

    2. กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัย ให้ทอท.จัดหาพื้นที่นอกสัญญาสัมปทานฯ จัดทำจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรสาธารณะนั้น

    ประเด็นนี้ กระทรวงคมนาคม โดยทอท. พิจารณาแล้ว เห็นว่า ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากตามประกาศกรมศุลกากร ที่ 44/2561 ข้อ 3.5.1 กำหนดให้จุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ต้องอยู่ในบริเวณพื้นที่ผู้ซื้อจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งผ่านจุดตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรแล้ว เนื่องจากสินค้าที่จำหน่ายในร้านค้าปลอดอากร เป็นสินค้าที่ยังไม่ได้ชำระค่าอากร

    ในพื้นที่สัมปทานฯ “คิง เพาเวอร์” ไม่อนุญาต

    3.กรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน มีคำวินิจฉัย “ให้ ทอท. ประสานกับบริษัทกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ฯ เพื่อให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรกับผู้ประกอบการรายอื่นนั้น

    ประเด็นนี้ ทอท. ได้ดำเนินการประสานงานกับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ฯ แล้ว ทางกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ฯ แจ้งว่า ไม่สามารถให้ผู้ประกอบการรายอื่นเข้ามาประกอบกิจการจุดส่งมอบสินค้าในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ เนื่องจากบริษัทเป็นผู้ได้รับสิทธิในสัญญาสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งยังมีผลใช้บังคับอยู่และหากมีการดำเนินการใดๆ อันเป็นการละเมิดสัญญา หรือ ข้อตกลงดังกล่าว ทางกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ฯ ขอสงวนสิทธิดำนินการตามกฎหมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการใช้สิทธิทางศาล เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิของบริษัทฯโดยชอบ

    บอร์ด ทอท. ตัดสินใจเปิดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะคู่ขนาน 2 รูปแบบ

    ด้วยเหตุผลตามที่กล่าวข้างต้น คณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จึงมีมติเห็นขอบแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร กล่าวคือ ภายหลังจากสิ้นสุดอายุสัญญาฯ (ปื 2563 และปี 2565) ให้ทอท.เปิดให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรสาธารณะด้วยตนเอง คู่ขนานไปกับการให้สิทธิเอกชนเปิดให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรสาธารณะ เพื่อให้ผู้ประกอบการร้านปลอดอากรในเมืองทุกราย สามารถใช้ส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท. ได้

    ภายหลังสัญญาสัมปทานฯเดิมสิ้นสุดลง(ปื 2563 และปี 2565) การให้สิทธิประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ใน ณ ท่าอากาศยานนานาชาติของทอท.จะออกเป็น 3 สัญญาใหญ่ คือ สัญญาสัมปทานจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ,สัญญาสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ และ สัญญาให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร

    และก่อนที่สัญญาสัมปทานฯเดิมจะสิ้นสุดลง ทอท.ได้ดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการ เพื่อเข้ารับสิทธิในสัมปทานทั้ง 3 สัญญาแล้ว โดยคณะกรรมการ ทอท. ได้มีมติเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2562 อนุมัติให้ บริษัท คิง เพาเวอร์ดิวตี้ฟรี จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิในสัมปทานจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และให้ บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิในสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนกิจการให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรที่ท่าอากศยานสุวรรณภูมิ ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้ประกอบการ

    สำหรับกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร กิจกรรมบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ และกิจการให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการคัดเลือกเอกชนรายใหม่

    ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท.เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2562 ก็ได้มีมีมติอนุมัติผลการคัดเลือกตามที่คณะกรรมการพิจารณารายได้ของ ทอท.นำเสนอ โดยให้ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิในสัมปทานจำหน่ายสินค้าปลอดอากรที่ท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นเวลา 10 ปี 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 31 มีนาคม 2576

  • “คิง เพาเวอร์” คว้าดิวตี้ฟรีดอนเมือง การันตีรายได้ 1,500 ล้าน/ปี
  • ชงครม.ปลดล็อก ผู้ตรวจการแผ่นดินจี้เปิด “Pick up Counter”

    สุดท้าย สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ดำเนินการตามข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดินที่เคยขอนำกรณีทอท.ไม่ดำเนินการตามคำวินิจฉัย หรือ ข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาสั่งการ โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่เสนอตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการผู้ตรวจการแผ่นดิน 2560 มาตรา 33 วรรค 2 ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่ไม่อาจหาข้อยุติได้ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควร และให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ขอให้นายกรัฐมนตรี นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมรับไปพิจารณาแนวทางการดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งกระทรวงคมนาคมก็ได้ดำเนินการมาแล้ว จึงเข้าข่ายพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี 2548 มาตรา 4 (1) ที่บัญญัติว่า การเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีให้เสนอได้เฉพาะเรื่องที่กฎหมายกำหนดให้ต้องเสนอคณะรัฐมนตรี ดังนั้น จึงเห็นควรนำเรื่องนี้ เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

    ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ขอให้กระทรวงการคลัง , กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา , กระทรวงพาณิชย์ , สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา , สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ , สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานอัยการสูงสุด เสนอความเห็น เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้ว จึงส่งเรื่องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อนุมัติเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2562 เสนอที่ประชุม ครม. พิจารณาเห็นชอบเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563

    เป็นอันปิดตำนานการต่อสู้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ข้อเรียกร้องของสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยและผู้ตรวจการแผ่นดินที่ให้เปิด “จุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ” แต่จะเริ่มดำเนินการได้ ก็ต่อเมื่อสัญญาสัมปทานฯเดิมสิ้นสุดลงแล้ว ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาของทอท.ด้วยการเปิดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะคู่ขนานทั้ง 2 รูปแบบจะนำไปสู่การแข่งขันเสรีได้จริงหรือไม่ เกิดประโยชน์เศรษฐกิจโดยรวมมากน้อยเพียงใด หรือเป็นกลเกมเพื่อให้ประชาชนรับรู้ว่าได้ปฏิบัติตามการท้วงติงของผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว ส่วนการปฏิบัติจริงจะสนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมเศรษฐกิจที่ประเทศชาติได้ประโยชน์หรือไม่ AOT น่าจะรู้คำตอบ!!

  • “ผู้ตรวจการแผ่นดิน”จี้ AOT เปิด “จุดส่งมอบสินค้า” ให้ทางเลือก “ใน-นอก” พื้นที่สัมปทานดิวตี้ฟรีภายใน 30 วัน
  • “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ส่งหนังสือถึงนายกฯ เสนอครม. ชี้ขาด กรณี AOT ไม่เปิดจุดส่งมอบสินค้าดิวตี้ฟรี ตามคำวินิจฉัย
  • ทอท.ประกาศผลคะแนน – ซองราคา “คิง เพาเวอร์” จ่ายค่าตอบแทนปีแรก 2.35 หมื่นล้าน
  • “คิง เพาเวอร์” คว้าดิวตี้ฟรีดอนเมือง การันตีรายได้ 1,500 ล้าน/ปี
  • นายกฯ ชงครม.ปลดล็อก ผู้ตรวจการแผ่นดินจี้เปิด “Pick up Counter”