ThaiPublica > คอลัมน์ > ถุงผ้าในถุงผ้า และเป้ เพื่อสิ่งแวดล้อม

ถุงผ้าในถุงผ้า และเป้ เพื่อสิ่งแวดล้อม

6 ธันวาคม 2019


ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ศ.กิตติคุณ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดนยภรณ์ พรรณสวัสดิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรามคำแหง

วันที่ 1 มกราคม 2563 หรืออีกไม่กี่สิบวันแล้วสินะที่ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้ารวมท้งร้านสะดวกซื้อในไทยจะไม่ให้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (หรือ SUP ที่ย่อมาจากคำว่า single use plastic) มาตรการนี้ริเริ่มโดยคุณวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีหนุ่มจากพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ประกาศชัดเจนว่า “หมดเวลาพูด ถึงเวลาทำ” แต่ในการ “ถึงเวลาทำ” นี้ก็มีคนเห็นต่าง บอกว่าเร็วไป ต้องมีเวลาเตรียมตัว รวมทั้งต้องมีมาตรการรองรับแบบค่อยเป็นค่อยไป ตลอดจนมีบางส่วนวิจารณ์ด้วยว่าวิธีนี้ได้ผลเพียงแค่บางส่วน เพราะพ่อค้าแม่ขายในตลาดชาวบ้านยังคงใช้ SUP กันต่อไปดังเดิม หากไม่แก้ไขตรงนี้ไปพร้อมกับมาตรการดังกล่าว ผลสัมฤทธิ์ก็อาจไม่ได้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ

คำท้วงติงนี้มีเหตุผล รับฟังได้ แต่ในส่วนของเราเราออกจะเห็นด้วยกับมาตรการ “ทำตอนนี้ และทำทันที” ของรัฐมนตรีวราวุธ เพราะปัญหามลพิษจากพลาสติกมันรุนแรงกว่าที่เราเคยเข้าใจกันมาในอดีต เดี๋ยวนี้เรารู้แล้วว่าเศษไมโครพลาสติกอยู่ทั้งในน้ำดื่มบรรจุขวด ในอุจจาระคน ในทะเล ในปลาทู ในพื้นที่ห่างไกลจากชุมชนเป็นร้อยๆ กิโลเมตร ฯลฯ เราจึงต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของเราเพื่อลดหรือขจัดปัญหานี้

ใครๆ ก็อยากไปสวรรค์ แต่ไม่มีใครอยากตาย ก็ถ้าไม่ตายก่อนแล้วจะไปสวรรค์ได้อย่างไร นี่ก็เช่นกัน ใครๆ ก็อยากได้คุณภาพสิ่งแวดล้อมดีๆ ไม่มีมลพิษ แต่ถ้าไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ลดขยะ ไม่ลดการใช้ SUP แล้วมลพิษพลาสติกจะหายไปได้อย่างไร

วิธีการหนึ่งที่ทุกคนรู้ คือ การพกถุงผ้าไปรับสินค้าที่จะซื้อ แทนการใช้ถุง SUP ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่ทางเลือกแล้วหากจะไปซื้อของในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และร้านสะดวกซื้อ เพราะเขาจะไม่ให้ถุง SUP กันแล้ว มันจึงเป็นมาตรการบังคับให้เปลี่ยน ไม่ใช่เปลี่ยนด้วยความสมัครใจ และเมื่อถูกบังคับให้เปลี่ยนด้วยมาตรการทางสังคมและกฎหมายเช่นว่านี้ไปสักพัก มันก็จะเป็นนิสัยและพฤติกรรมประจำของสังคมไปโดยปริยาย ซึ่งหลายคนก็อาจถือโอกาสนี้ต่อยอดไปถึงการนำถุงผ้าไปจ่ายตลาดในตลาดของชุมชนด้วย โดยหวังที่จะลดถุง SUP ในตลาดชาวบ้าน (ที่ยังมีการใช้ถุง SUP กันอยู่อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน) ซึ่งแน่นอนเป็นความคิดที่ดี มีประโยชน์ และส่งผลกระทบทางบวกได้ต่อเนื่อง

แต่สิ่งที่หลายคนในกลุ่มนี้คงยังคิดไม่ถึง และจะทำดีโดยเพียงพกถุงผ้าใบใหญ่ไปช็อปปิ้งที่ร้านค้าในตลาดชาวบ้าน ซึ่งวิธีการนี้จะแก้ปัญหาไม่ได้เบ็ดเสร็จ เพราะในการจับจ่ายซื้อของในตลาดชาวบ้านหรือร้านค้าริมถนนเหล่านี้ เราอาจจะซื้อของหลายอย่างหลายชิ้นในการไปตลาดแต่ละครั้ง เช่น ซื้อมะเขือหนึ่งกอง ซื้อผัก 3 ขีด ซื้อกระเทียม 10 บาท ซึ่งแม่ค้าก็จะเอาสินค้าเหล่านั้นใส่ในถุงพลาสติกใบเล็กให้เรา ถ้าซื้อของ 4 อย่าง ก็ได้ถุงพลาสติกเล็ก 4 ใบ ถ้าซื้อ 5 อย่างก็ได้ 5 ใบ แล้วเราจึงค่อยเอาถุง SUP เล็กๆ นั้นใส่ใน “ถุงผ้า” ใบใหญ่ที่ถือมาจ่ายตลาดอีกที

นั่นคือลดถุง SUP ไปได้เพียง 1 ใบ จากเดิมที่ต้องใช้ 5 ใบ หรือ 6 ใบ

วิธีการที่จะแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งแน่นอนว่าจะเกิดความไม่สะดวกเพิ่มอยู่บ้าง คือ การพกถุงผ้าใบเล็กไปด้วยหลายใบ แล้วเอาของที่ซื้อใส่ในถุงผ้าเล็กก่อนนำลงบรรจุในถุงผ้าใหญ่ จึงเป็นมาตรการที่เรียกว่า “ถุงผ้าในถุงผ้า” ตามหัวข้อเรื่องนั่นเอง ส่วนสินค้าที่ต้องใส่ถุงพลาสติก เช่น ปลาสด เนื้อดิบ ของสดอื่นๆ และสินค้าที่มีพลาสติกห่อสำเร็จมาจากโรงงาน เช่น แซนด์วิช ถั่วทอด มันฝรั่งทอด ขวดน้ำดื่ม ฯลฯ อันนี้คงต้องยอมอนุโลมใช้ไปก่อน จนกว่าจะมีวิธีการอื่นที่ดีกว่านี้มารองรับ ซึ่งก็ต้องฝากความหวังไปยังผู้ผลิตที่จะมีนวัตกรรมรักษ์โลกออกมาให้เราใช้ในอนาคต

มีอีกเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน คือ เรื่องของผู้ชาย

ผู้ชายโดยปกติแล้วจะไม่สะพายกระเป๋าและจะไม่ถือถุง ชะรอยว่าดูไม่แมน ไม่สมกับเป็นชายแท้ ดังนั้นชายแท้เหล่านี้จะมีปัญหามากหากไปซื้อของตามร้านค้าริมทาง และในกรณีนี้แม้กระทั่งในศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อ ก็จะเจอปัญหาเช่นกัน เพราะที่นั่นเขาจะไม่แจกถุงกันแล้วเริ่มตั้งแต่วันปีใหม่ 2563 ที่จะถึงนี้ ปัญหานี้ดูจะไม่หนักหนาสำหรับชายรุ่นใหม่ เพราะพวกเขามักสะพายเป้หลังกันทุกคนอยู่เป็นปกติ และพวกเขาสามารถใช้เป้หลังนี้ใส่สิ่งของเหล่านั้นได้อย่างไม่ขัดเขิน

แต่กับชายรุ่นเบบี้บูมหรือแม้กระทั่ง Gen X ก็อาจจะมีปัญหาขึ้นมาได้ จากประสบการณ์ที่เราประสบ เราพบว่าคนสองกลุ่มหลังนี้เขาไม่สะพายเป้กันนัก โดยเฉพาะหากเป็นคนทำงานประเภทนั่งโต๊ะ หรือในแต่ละวันต้องไปประชุมที่โน่นนี่นั่นอยู่บ่อยๆ แต่ทั้งหมดทั้งปวงนี้มันก็เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอีกนั่นแหละ ที่สักพักสุดท้ายแล้วคนรุ่นเก่านี้จะเรียนรู้จากความยากลำบากที่ไม่สามารถถือของ 4-5 ชิ้นได้โดยไม่มีถุงใบใหญ่หรือกระเป๋าสะพายมาใส่ของ และจะต้องหันมาสะพายเป้โดยภาวะจำยอม และก็อย่าลืมนะครับ(คะ)ว่า แม้จะใช้เป้หลังแล้วก็ยังต้องมีถุงผ้าเล็กๆ ใส่ในเป้เผื่อไว้ด้วย แบบ “ถุงผ้าในถุงผ้า” นั่นแหละมันถึงจะเวิร์ก

เรามีภาพฉายในใจด้วยความหวังมากว่าหลังจากวันที่ 1 มกราคม 2563 ไปอีก 6 เดือนหรือ 1 ปี เราอาจเห็นชายไทยทุกวัย ทุกรุ่น สะพายเป้ไปซื้อของกันเป็นปกติ และเมื่อถึงวันนั้น…ชายไทยสะพายเป้เป็นชายเท่ก็ได้นะ