ThaiPublica > คอลัมน์ > บทเรียนรู้จากคนตกบ่อน้ำเสียตาย

บทเรียนรู้จากคนตกบ่อน้ำเสียตาย

26 มิถุนายน 2017


ดนยภรณ์ พรรณสวัสดิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยรามคำแหง
ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่มาภาพ : http://www.posttoday.com/biz/gov/499970

เพิ่งกลับมาจากต่างประเทศ กลับมาก็เห็นข่าวอันน่าสลดใจที่มีคนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ตกลงไปในบ่อน้ำเสียและสูดเอาแก๊สพิษเข้าไปจนหมดสติและเสียชีวิตในที่สุด จึงคิดว่าน่าจะเขียนอะไรเป็นข้อสังเกตให้แก่สังคม โดยเฉพาะผู้ประกอบการ เอาไว้เป็นบทเรียนในการทำงานในโอกาสต่อๆไป

แต่สิ่งที่จะเขียนนี้จะไม่ใช่เป็นเรื่องว่าต้องเตรียมตัวอย่างไรหากจะลงไปช่วยคนที่ตกลงไปในบ่อน้ำเสียที่เป็นที่อับอากาศ หรือ confined space เพราะความรู้พวกนั้นเป็นเรื่องทางเทคนิคที่หาได้ในอินเตอร์เน็ตทั่วไป แต่อยากจะเขียนถึงวิธีคิดว่าเราควรต้องเตรียมตัวอย่างไรในภาพใหญ่กว่านั้น โดยจะขอเรียบเรียงเป็นข้อๆดังนี้

1. เรื่องคนตกบ่อน้ำเสียรวมทั้งคนที่ลงไปซ่อมท่อน้ำเสียแล้วตายนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในไทยเลย เหตุการณ์ที่ว่านี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยจนอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมคนไทย โดยเฉพาะคนที่ต้องทำงานกับสภาพอับอากาศแบบบ่อน้ำเสีย เช่น คนที่โรงงานซีพีเอฟนี้จึงไม่เข้าใจและไม่ตระหนักรู้ถึงอันตรายของมัน สมควรที่สถาบันการศึกษาที่สอนวิชาเหล่านี้จะต้องเข้มงวดกับนิสิตนักศึกษามากกว่านี้ รวมถึงคณาจารย์อาจจะต้องกวดขันกับตัวเองด้วยไม่ให้ตกเข้าไปอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ เพราะมิฉะนั้นคงดูไม่จืดหากมีข่าวหน้าหนึ่งว่าอาจารย์ ก. ตกบ่อน้ำเสียตาย

2. ในตำราว่าด้วยความปลอดภัย หากมีคนพลัดตกลงไปในบ่อหรือท่อหรือถังที่อับอากาศ คนที่จะลงไปช่วยนอกจากจะต้องใส่อุปกรณ์ช่วยหายใจเพื่อไม่ต้องสูดดมแก๊สพิษแล้ว ยังจะต้องสวม‘สาแหรก’ไว้ให้คนที่อยู่ข้างบนหิ้วหรือดึงคนที่ลงไปช่วยขึ้นมาหากพบเหตุการณ์ผิดปกติขึ้น ซึ่งจากประสบการณ์ของผู้เขียนและขีดจำกัดของเจ้าของสถานที่ พบว่าน่าจะร้อยละ 100 ที่ไม่มีอุปกรณ์ความปลอดภัยนี้ในบริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียในประเทศไทย และที่ว่าเป็นขีดจำกัดก็เพราะสถานที่อับอากาศในบริเวณบ่อน้ำเสีย ซึ่งรวมไปถึงท่อระบายน้ำเสียด้วย นั้นมีอยู่หลายจุดหลายบริเวณ การที่จะมี ‘สามขา’ หรือ tripod หรือโครงเหล็กไว้สำหรับติดรอกดึงคนพวกนั้นขึ้นมาให้ครอบคลุมทุกจุดย่อมเป็นไปไม่ได้ และเมื่อมีเหตุการณ์หรืออุบัติเหตุคนพลัดตกลงไปในบ่อ การที่จะลากเอาสามขาหรือโครงเหล็กไปที่จุดนั้นๆได้ทันการณ์ย่อมเป็นไปไม่ได้เช่นกัน

3. ถ้าเช่นนั้นจะทำเช่นไรไม่ให้เกิดอันตราย วิธีการคือไม่ใช่การแก้ปัญหาเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว แต่ต้องเป็นการป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิด นั่นคือการมีราวกันตก การใช้พื้นกันลื่น การมีบันไดไต่ขึ้นจากบ่อ การมีกริ่งสัญญาณอันตรายเรียกขอความช่วยเหลือ การมีประตูปิดกั้นไม่ให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องเช้าบริเวณ ฯลฯ ซึ่งส่วนนี้จะต้องเตรียมตั้งแต่การออกแบบอย่างละเอียดมาแต่ต้น ปัญหาสืบเนื่องที่มาจากการคิดแบบนี้คือปัจจุบันการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียมีอยู่บ่อยครั้งที่ใช้วิธีการที่เรียกว่า Turnkey คือ ผู้ว่าจ้างหรือเจ้าของโรงงานให้บริษัทเอกชนรับไปทำทั้งกระบวนการ ทั้งการสำรวจ การออกแบบ การก่อสร้าง การเดินระบบจนผ่านมาตรฐานน้ำทิ้ง หากไม่ผ่านมาตรฐานก็จะไม่ชำระเงินงวดสุดท้าย ตรงนี้แหละที่อาจก่อให้เกิดปัญหาเพราะเจ้าของงานมักไม่ตระหนักถึงความสำคัญในรายละเอียดและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นอย่างเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้ และมักเลือกผู้รับจ้างที่เสนอราคาต่ำสุด เพราะจะเลือกคนที่เสนอราคาแพงกว่าไปทำไมในเมื่อต้องเดินระบบจนน้ำทิ้งผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรมไม่งั้นก็ไม่จ่ายเงินอยู่แล้ว

4. เมื่อวิธีคิดเป็นเช่นนี้ ผู้รับจ้างหรือผู้รับเหมาก็ต้องหาวิธีลดราคาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อที่จะประมูลให้ได้งาน และรู้ไหมว่าเขาจะตัดอุปกรณ์ส่วนไหนออก เขาจะตัดส่วนที่ ‘ไม่จำเป็น’ ต่อการเดินระบบให้ได้น้ำทิ้งได้ตามมาตรฐานออก และอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็นพวกนั้นก็คือราวกันตก พื้นกันลื่น ประตูล็อก ฯลฯ พวกนี้

และอุบัติเหตุก็จะเกิดขึ้นตามทฤษฎีของเมอร์ฟีย์ที่ว่า ‘สิ่งที่สามารถเกิดผิดพลาดได้ จะเกิดขึ้นแน่’ Anything that can go wrong will go wrong.

5. วิธีแก้ไขหรือป้องกันปัญหาตามข้อ 4 คือ เจ้าของงานต้องทำความเข้าใจกับความสำคัญของอุปกรณ์ความปลอดภัย และกำหนดไว้ในขอบเขตงานว่าจ้างว่าต้องมีอุปกรณ์พวกนี้ครบ และอาจแยกราคาส่วนนี้ออกมาต่างหากในการประมูล เพื่อที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในการเสนอราคาของผู้เข้าประมูลแต่ละเจ้า

6. สำหรับโรงงานที่ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียไปแล้ว และปรากฏว่าไม่มีราวกันตกและอุปกรณ์ความปลอดภัยอื่นๆมาแต่แรก เช่น ก๊อกน้ำล้างตาอัตโนมัติในบริเวณที่อาจมีแก๊สพิษพุ่งกระจายออกมาเข้าตา หรือหน้ากากป้องกันไอพิษ หรืออุปกรณ์ดับเพลิง ฯลฯ สิ่งนี้ก็สามารถจัดหาเพิ่มเติมได้ในภายหลัง โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุการณ์น่าสลดเช่นนี้เกิดขึ้นใหม่ๆ การของบประมาณจัดหาก็คงทำได้ง่ายขึ้นกว่าภาวะปกติ

7. ที่แน่ๆคือ โรงงานและสถานประกอบการที่มีสถานที่หรือบริเวณอันตรายแบบบ่อน้ำเสียหรือบ่ออับอากาศ เช่นว่านี้ ไม่ควรจะเอากรณีมาเป็นตัวสร้างอุปสรรคในการให้นิสิตนักศึกษาหรือประชาชนผู้สนใจเข้าไปเรียนรู้หาประสบการณ์จริง โดยการปิดบริเวณและประกาศมิให้เป็นพื้นที่ดูงาน เพราะการทำเช่นนี้มิใช่การแก้ปัญหา และเป็นการไม่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างเสริมประสบการณ์แก่ผู้สนใจและผู้มาศึกษาดูงานอันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในภาพรวม

8. สิ่งที่น่าแปลกใจ แต่เป็นจริงหรือเปล่าไม่รู้ รู้แต่ว่าอ่านข่าวแล้วงง คือข่าวออกมาตรงกันในหลายสื่อว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ออกคำสั่งปิดโรงงานเฉพาะส่วนที่เป็นบ่อบำบัดน้ำเสีย แต่ส่วนที่เป็นส่วนผลิตของโรงงานยังสามารถดำเนินการต่อได้ เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริงก็เป็นสิ่งที่เรียกว่าตรรกะวิบัติ เพราะโรงงานจะผลิตต่อไปได้อย่างไรในเมื่อไม่มีบ่อบำบัดน้ำเสียมารองรับที่จะปรับสภาพน้ำเสียที่สกปรกให้เป็นน้ำทิ้งที่ได้คุณภาพก่อนปล่อยทิ้งสู่สิ่งแวดล้อม

ขอให้เป็นความผิดพลาดของการสื่อสารระหว่างกันเถิด เพี้ยง!

หมายเหตุ: ที่เอ่ยชื่อซีพีเอฟนี่จริงๆแล้วไม่ได้หมายถึงเฉพาะโรงงานซีพีเอฟเพียงแห่งเดียว แต่หมายถึงทุกโรงงานหรือทุกกิจการที่มีความเสี่ยงจากสภาพอับอากาศเช่นเดียวกัน เพียงแต่ยกตัวอย่างซีพีเอฟเพราะเป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นและกำลังได้รับความสนใจจากประชาชนเท่านั้น