ThaiPublica > คอลัมน์ > ตกลงระบบอีไอเอเมืองไทยนี้…. ใช้ได้หรือไม่ได้ (ตอน 1)

ตกลงระบบอีไอเอเมืองไทยนี้…. ใช้ได้หรือไม่ได้ (ตอน 1)

29 มีนาคม 2019


โสภา ชินเวชกิจวานิชย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และธงชัย พรรณสวัสดิ์ นักวิชาการอิสระ

ระบบอีไอเอใช้ได้จริงหรือไม่

ตอบตรงๆ สั้นๆ เลยนะว่า ใช้ได้ถ้าใช้เป็น การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (หรืออีไอเอ, EIA) เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่ใช้จัดการสิ่งแวดล้อมได้ โดยได้มีการพัฒนาและเริ่มนำมาใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) จากนั้นหลายประเทศก็ได้เริ่มตื่นตัวและพัฒนาระบบอีไอเอขึ้นมาใช้ภายในประเทศเป็นของตนเอง

ประเทศไทยเองก็ได้มีการบังคับใช้ระบบอีไอเอตามกฎหมายเป็นครั้งแรกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2518 (ซึ่งต่อไปนี้จะขอเรียกสั้นๆ ว่า พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม) ทั้งนี้ ด้วยระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันระบบอีไอเอได้รับความเชื่อถือในต่างประเทศและทั่วโลก กล่าวคือ ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันและแก้ปัญหาตลอดจนการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อให้โครงการ กิจกรรม หรือการประกอบการหนึ่งๆ สามารถดำเนินต่อไปได้ภายใต้แนวความคิดของการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งหมายถึงการที่ต้องมีดุลยภาพของการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หรือเรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่าการพัฒนาแบบเก้าอี้ 3 ขา (Triple Bottom Lines, TBL) นั่นคือ โดยปรัชญาของมันแล้ว ระบบอีไอเอไม่ใช่กระบวนการที่จงใจสร้างขึ้นมาเพื่อจะมาเตะตัดขาให้เก้าอี้ล้ม ซึ่งหากทำเช่นนั้นก็จะไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะของใครก็ตาม

ระบบอีไอเอในไทยเป็นอย่างไร

ในต่างประเทศ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเคยทำให้ผู้พัฒนาโครงการต้องทบทวนการออกแบบโครงการใหม่ หรือแม้แต่ย้ายพื้นที่ตั้งใหม่ เพื่อให้มีความรอบคอบและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้จริง กล่าวคือ คงต้องย้ำอีกครั้งว่า ระบบอีไอเอนี้ ถ้าใช้เป็น จะใช้ได้จริง ยกตัวอย่างเช่น โรงงานฟอกหนังแห่งหนึ่งในเมือง Thika ประเทศเคนยา ต้องพิจารณาเรื่องที่ตั้งของโรงงานใหม่เนื่องด้วยผลกระทบจากการระบายน้ำทิ้ง และระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานต้องออกแบบให้สามารถผลิตน้ำทิ้งที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามกฎหมาย เพื่อลดผลกระทบกับแหล่งน้ำในพื้นที่ (Hirji and Ortolano, 1991) ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการพิจารณาในระบบอีไอเอ

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง กรณีโรงงานเยื่อกระดาษ Alberta-Pacific (Al-Pac) ในประเทศแคนาดา ที่กระบวนการอีไอเอได้ทำให้เกิดการประเมินผลกระทบจากแหล่งกำเนิดบีโอดี (ค่าวัดความสกปรกของน้ำเสีย) ทุกแหล่งรวมกัน แล้วยังส่งผลให้เกิดความร่วมมือระหว่างหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการจัดทำข้อมูลพื้นฐานของแหล่งน้ำและการพัฒนาแบบจำลอง สุดท้ายจึงสามารถช่วยสนับสนุนการพิจารณาตามหลักวิชาการในการตัดสินใจอนุมัติ/ไม่อนุมัติให้ทำโครงการ (Hegmann et al., 1999)

อีกกรณี ได้แก่ โครงการฟาร์มกังหันลม (The Beinn an Tuirc (BaT) windfarm) ในประเทศสกอตแลนด์ ที่กระบวนการอีไอเอได้ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่สำคัญ คือ พื้นที่โครงการนั้นตั้งอยู่ใกล้บริเวณที่เป็นแหล่งอาศัยของนกอินทรีพันธุ์หนึ่ง (Aquila chrysaetos) และมีโอกาสที่นกอินทรีย์จะบินชนใบกังหันได้ ดังนั้น กระบวนการอีไอเอจึงได้กำหนดให้เจ้าของโครงการจัดทำมาตรการการจัดหาแหล่งอาหารใหม่ให้นกอินทรี เพื่อนกนั้นจะได้ย้ายเส้นทางหาอาหารไปทางอื่น (Marshall, 2005) ตรงนี้มีข้อสังเกตว่า โครงการเหล่านี้ได้ใช้กระบวนการอีไอเอมาช่วยหาคำตอบให้แก่สังคมตั้งแต่ 15 ถึงเกือบ 30 ปีมาแล้ว

ปัญหาคือ แล้วเราคนไทยใช้มันเป็นหรือไม่ เป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศไทยใช้หลักการการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเดียวกันกับที่ใช้กันทั่วโลก และระบบอีไอเอในไทยนี้มีส่วนผลักดันให้เกิดผลที่ดีๆ ตามมา อย่างน้อยก็

    1) เกิดการเลือกใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดในการป้องกันและลดมลพิษ เช่น ระบบเตาเผาเชื้อเพลิงต้องมีเทคโนโลยีในการควบคุมอุณหภูมิเพื่อลดการเกิดออกไซด์ของไนโตรเจนที่เป็นมลพิษ
    2) เชื้อเพลิงที่เลือกใช้ในกระบวนการเผาไหม้ต้องมีความสปกรกน้อย จะได้ระบายมลพิษน้อย
    3) โครงการต้องจัดให้มีระบบควบคุม/บำบัด/กำจัดมลพิษที่มีประสิทธิภาพ สามารถระบายของเสียได้ตามเกณฑ์หรือมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
    4) การจัดวางผังพื้นที่โครงการ ที่สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และจัดให้มีพื้นที่สีเขียวโดยรอบ
    5) การมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
    6) มาตรการการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม
    7) ระบบการติดตามตรวจสอบเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การดำเนินโครงการไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือหากมีก็ทำให้กระทบน้อยที่สุด รวมทั้งไม่เกินขีดความสามารถในการรองรับมลพิษของสิ่งแวดล้อมนั้นๆ

หรือว่าระบบอีไอเอในไทยจะเก่าเกินไป ไม่ทันสมัย

ประเทศไทยเริ่มใช้ระบบอีไอเอเป็นเครื่องมือในการดูแลสิ่งแวดล้อมหลังจากประเทศสหรัฐอเมริกาไม่นานนัก เรียกได้ว่าเราตามติดหน่วยงานทางด้านสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (US EPA) ชนิดที่แทบจะกินฝุ่นจนเต็มปอด (ไม่ใช่ทิ้งห่างกันจนไม่เห็นฝุ่น) นั่นคือ พัฒนาการของระบบอีไอเอในประเทศไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าต่างประเทศ เรามีเทคนิคการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่รอบคอบมากขึ้น การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมแบบเดิมที่เป็นการประเมินรายโครงการ และพิจารณาเฉพาะมลพิษที่ระบายมาจากแต่ละโครงการนั้นๆ เพื่อเปรียบเทียบเพียงกับค่ามาตรฐานการระบายมลพิษ แต่ไม่ได้รวมแหล่งกำเนิดมลพิษทั้งหมดในพื้นที่เดียวกันในเวลาเดียวกันมาคิดร่วมกัน ก็ได้พัฒนามาเป็นการประเมินขีดความสามารถในการรองรับมลพิษ (carrying capacity) ของพื้นที่

เทคนิคการประเมินผลกระทบแบบใหม่นี้ช่วยทำให้ข้าราชการและนักวิชาการสามารถมองเห็นภาพรวมของผลกระทบจากหลายโครงการในพื้นที่นั้นๆ ได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดปัญหาวิกฤติกับพื้นที่มาบตาพุดซึ่งมีแหล่งกำเนิดมลพิษหลายประเภทและหลายแหล่ง ก็ได้เกิดมีคำถามตามมาว่าแล้วพื้นที่นี้ยังสามารถรองรับโครงการหรือกิจกรรมใหม่ๆ ได้อีกหรือไม่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ (คชก.) ได้ร่วมกับนักวิชาการพัฒนาเทคนิคการประเมินขีดความสามารถในการรองรับมลพิษของพื้นที่มาบตาพุด ทำให้การพัฒนาหรือขยายโครงการ/กิจกรรมในพื้นที่มาบตาพุดมีความรอบคอบมากขึ้น มีความเสี่ยงน้อยลง รวมทั้งการพัฒนาแนวทางการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) และการเก็บข้อมูลสุขภาพที่จำเป็นโดยนักวิชาการทางด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นี้ก็มีความก้าวหน้ามากขึ้นกว่าเดิมมากมาย

นอกจากนี้ จากการดำเนินการทางวิชาการหลากหลายรูปแบบในพื้นที่มาบตาพุด ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เช่น กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) มากขึ้น สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ได้มีการริเริ่มจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Registers: PRTR) เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับชนิดและปริมาณของสารมลพิษเป้าหมาย (หมายถึงเจาะจงเฉพาะบางสารที่มีผลกระทบมากกว่าสารอื่นๆ ในพื้นที่) ที่มีการปลดปล่อยจากแหล่งกำเนิดเป้าหมาย (หมายถึงแหล่งกำเนิดบางประเภทที่ปล่อยสารมลพิษเป้าหมาย) อันนำไปสู่การจัดการและแก้ไขปัญหาการปลดปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และแม้ว่าความรับรู้ของประชาชนทั่วไปอาจจะรู้สึกว่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมยังมีอยู่ รวมทั้งไม่ได้ลดทอนลง แต่ประโยชน์เหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง จับต้องได้

ถ้าอย่างนั้น ทำไมระบบอีไอเอในประเทศไทยจึงถูกมองว่าเป็นแค่ระบบเอกสาร มีไว้เพียงเพื่อให้โครงการผ่านขั้นตอนตามความจำเป็นทางกฎหมาย แต่ใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมไม่ได้จริง สำหรับคำถามนี้คงต้องมองไปที่ทุกฝ่ายที่มีส่วนในกระบวนการนี้ ซึ่งมีอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน และหลายกลุ่มนี้ก็ได้มีส่วนช่วยทำให้ระบบอีไอเอบ้านเราได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นในหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่เราจะขอละข้อดีนั้นไว้ ไม่กล่าวในที่นี้ จะขอพูดถึงเฉพาะส่วนที่ยังเป็นปัญหา เพื่อหาทางแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งจะได้พูดถึงเรื่องนี้ในตอน 2-5 ต่อไป

เอกสารอ้างอิง

Hirji, R. and Ortolano, L. (1991). Controlling Industrial Pollution Using EIA: Case Study of a Kenyan Tannery Project. Environmentalist. 11: 255-266. https://doi.org/10.1007/BF01266559
Hegmann, G., C. Cocklin, R. Creasey, S. Dupuis, A. Kennedy, L. Kingsley, W. Ross, H. Spaling and D. Stalker. (1999). Cumulative Effects Assessment Practitioners Guide. Prepared by AXYS Environmental Consulting Ltd. and the CEA Working Group for the Canadian Environmental Assessment Agency, Hull, Quebec.
Marshall, R. (2005). Environmental impact assessment follow-up and its benefits for industry. Impact Assessment and Project Appraisal, 23:3, 191-196,