ThaiPublica > คอลัมน์ > ตกลงระบบอีไอเอเมืองไทยนี้…ใช้ได้หรือไม่ได้ (ตอน 3) : ประโยชน์และอุปสรรค

ตกลงระบบอีไอเอเมืองไทยนี้…ใช้ได้หรือไม่ได้ (ตอน 3) : ประโยชน์และอุปสรรค

24 เมษายน 2019


โสภา ชินเวชกิจวานิชย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ธงชัย พรรณสวัสดิ์ นักวิชาการอิสระ

ในสองตอนแรก(ตอนที่ 1,ตอนที่ 2)เราได้เอ่ยถึงระบบอีไอเอในไทยและบทบาทของภาคีที่เกี่ยวข้องว่าเป็นเช่นไร มาในตอนนี้เราจะพูดถึงประโยชน์ที่พึงได้จากการใช้ระบบอีไอเอ และปัญหาอุปสรรคบางอย่างที่เราพบได้เสมอในบ้านเรา

ประโยชน์สำคัญของระบบอีไอเอ

จุดเด่นที่สำคัญของระบบอีไอเอ ได้แก่ การกำหนดมาตรการการลดผลกระทบที่เกิดจากโครงการ และการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง นี่คือหัวใจหลักอย่างหนึ่งของระบบอีไอเอ เพราะการทำรายงานอีไอเอ การตรวจรายงานฯ การเห็นชอบรายงานฯ ล้วนแต่จบลงในห้วงเวลาหนึ่งๆ แต่กระบวนการการเฝ้าระวังและติดตามตรวจสอบไม่ให้สิ่งแวดล้อมเลวลงเป็นมาตรการที่ต่อเนื่องและยืนยาวไปตลอดอายุของโครงการ ถ้าไม่ทำส่วนนี้ หรือทำไม่ดีพอ ระบบอีไอเอก็แทบจะไร้ประโยชน์เลยก็ว่าได้

นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติจุดเด่นดังกล่าวยังไม่ยังประโยชน์อย่างเต็มที่และไม่เข้มข้นจริงจัง โครงการใดไม่ดำเนินการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามมาตรการฯ ดังกล่าว หรือละเลยไม่ดำเนินการตามกำหนดเวลา ซึ่งจากประสบการณ์ที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน พบว่าหน่วยงานกำกับและควบคุมก็ยังไม่สามารถควบคุมหรือลงโทษเอาผิดผู้รับผิดชอบโครงการได้ทันกาล

นี่คือปัญหาใหญ่สุดของระบบอีไอเอบ้านเรา แต่กฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ล่าสุด (พ.ศ. 2561) ได้กำหนดค่าปรับให้สูงขึ้นหากไม่ดำเนินการจัดทำหรือจัดส่งรายงานการติดตามตรวจสอบฯ ให้ครบตามกำหนด จึงคาดหวังว่าจะสามารถเพิ่มความเข้มข้นและจริงจังของการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องได้มากขึ้น

คนไม่พอและ Big Data

ถึงแม้ว่าบางโครงการจะมีการดำเนินการและจัดทำรายงานครบถ้วนเพื่อเสนอต่อหน่วยงานอนุมัติ/อนุญาตและหน่วยงานกำกับควบคุม แต่การตรวจสอบความครบถ้วนของรายงานทุกประเภททุกโครงการ หรือตรวจสอบว่าข้อมูลในรายงานเป็นข้อมูลที่มีการเก็บตัวอย่างจริง วิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการจริง และข้อมูลถูกต้องแม่นยำจริง เป็นเรื่องที่ต้องใช้งบประมาณมาก แรงงานสูง รวมทั้งความรู้เชิงลึกในงานสิ่งแวดล้อมมากกว่าหนึ่งสาขา ปัญหาที่พบคือ หน่วยงานอนุมัติ/อนุญาต รวมทั้ง สผ. เอง ยังมีบุคลากรที่เหมาะสมไม่เพียงพอกับการกำกับควบคุม กรณีเลวร้ายที่สุดคือ เคยมีการกล่าวหาว่าไม่มีใครอ่านรายงานดังกล่าวเลยด้วยซ้ำ

แม้ในกรณีที่มีข้อมูลคุณภาพสิ่งแวดล้อมจากการติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง การณ์ก็กลับปรากฏว่าไร้ประโยชน์อยู่มาก เพราะเท่าที่ปรากฏเห็นในปัจจุบันยังขาดการนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์แปลผลจากข้อมูล (data) ให้เป็นสารสนเทศ (information)

ทั้งนี้ โครงการที่ต้องจัดทำรายงานอีไอเอและผ่านการเห็นชอบแล้วจนถึงปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 8 พันโครงการ ภายในปี 2561 มีโครงการที่ส่งรายงานการติดตามตรวจสอบฯ และสามารถเผยแพร่รายงานได้จำนวน 2,430 โครงการ ซึ่งถือเป็นข้อมูลด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมจำนวนไม่น้อย และนี่เป็นตัวเลขเพียงแค่เฉพาะในแต่ละปีเท่านั้น หากนับรวมสะสมจะมีมากกว่านี้อีกเหลือคณานับ ทั้งในแง่ของตำแหน่งจุดเก็บตัวอย่างทางสิ่งแวดล้อมที่กระจายทั่วประเทศตามที่ตั้งของโครงการ (ที่ต้องจัดทำรายงานอีไอเอและต้องกำหนดมาตรการการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม) และในแง่ของการติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่องตามฤดูกาล

ดังนั้น ถ้าโครงการของผู้ประกอบการมีการตรวจติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังและถูกต้องสม่ำเสมอทุกปีและนำส่งจริง รวมทั้งหน่วยงานของรัฐนำมาบูรณาการกับข้อมูลส่วนอื่นๆ ก็เท่ากับรัฐสามารถลดภาระด้านงบประมาณและเวลาในการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่กรมควบคุมมลพิษต้องดำเนินการเป็นประจำทุกปีด้วยเงินค่าใช้จ่ายมหาศาล ทั้งนี้ ข้อมูลจำนวนมากเหล่านี้ถ้าไม่มีการรวบรวมและวิเคราะห์นำไปใช้ประโยชน์ในภาพรวม ข้อมูลเหล่านั้นก็เป็นเพียง lots of data หาใช่ big data ไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

ชาวบ้านกับกระบวนการการติดตามตรวจสอบ

กระบวนการการติดตามตรวจสอบเป็นความรับผิดชอบของเจ้าของโครงการ ชาวบ้านมักไม่มีส่วนร่วมในระหว่างการเก็บ/วิเคราะห์ตัวอย่าง รวมทั้งอาจไม่สามารถเข้าถึงเล่มรายงานการติดตามตรวจสอบดังกล่าวด้วยซ้ำ ในทางกลับกัน แม้ว่าเจ้าของโครงการบางคนจะพยายามให้ชาวบ้านหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการ แต่ถ้าชาวบ้านกลับรู้สึกว่าเสียเวลาทำกิน ไม่อยากมาเข้าร่วม หรือมาเข้าร่วมแต่ไม่มีความรู้มากพอที่จะเข้าใจกระบวนการ หรือไม่เข้าใจการแปลผลข้อมูลที่เก็บได้ ก็ยากที่จะได้รับการยอมรับ

ทั้งนี้ ข้อมูลทางวิชาการเองบ่อยครั้งไม่สามารถฟันธงให้เป็นขาวหรือดำได้ชัดๆ การวิเคราะห์ข้อมูลจึงจำเป็นต้องใช้ความรู้และใจที่เป็นกลางในการตีความ ทำให้การเลือกวิธีแก้ปัญหาบ่อยครั้งกลายเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและฟันธงไม่ได้ชัดๆ ว่าต้องทำเช่นไรจึงได้ประโยชน์สูงสุดต่อสังคม บางครั้งจึงเกิดปรากฏการณ์ที่ชาวบ้านสับสนจนทำให้ไปเชื่อในสิ่งที่อยากเชื่อหรือเชื่อคนที่อยากเชื่อเท่านั้น

ไออีอี อีไอเอ และอีเอชไอเอ

ประเทศไทยมีการจำแนกประเภทโครงการบางโครงการตามระดับของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เฉกเช่นเดียวกับอารยประเทศ กล่าวคือ ให้บางโครงการจัดทำเฉพาะเพียงรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมขั้นต้น (Initial Environmental Evaluation – IEE) บ้างก็ให้ทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมแบบปกติ (Environmental Impact Assessment – EIA) และบ้างต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับลึก คือ รวมประเด็นสุขภาพเข้าไปด้วย (Environment and Health Impact Assessment – EHIA)

ทั้ง 3 ประเภทรายงานนี้มีขอบเขตของเนื้อหาความลึกซึ้งและรายละเอียดปลีกย่อยหลายอย่างที่แตกต่างกัน แต่ คชก.บางคนบางกลุ่มรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของ สผ.เองบางคน กลับพิจารณารายงานทั้ง 3 ประเภทด้วยระดับความเข้มข้นของการประเมินเกือบจะแบบเดียวกัน ซึ่งทั้งไม่ถูกต้องในหลักคิดและไม่เหมาะสมในทางปฏิบัติ คือ โครงการที่กำหนดให้จัดทำเพียงแค่ IEE นั้นเป็นโครงการที่เล็ก หรือรู้อยู่แล้วว่ามีผลกระทบน้อย แต่กลับไปพิจารณารายงานลงลึกและเรียกร้องให้บริษัทที่ปรึกษาจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมจนรายงาน IEE เหมือนกับเป็นรายงาน EIA และรายงาน EIA ของโครงการบางประเภทก็ให้จัดทำราวกับเป็นโครงการที่ต้องจัดทำรายงาน EHIA

การกำหนดประเภทโครงการใดควรทำรายงานรูปแบบใดนั้นมีเหตุผลในการรองรับมาตั้งแต่แรกแล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อให้เหมาะสมและมีประสิทธิผลคุ้มค่า สผ.ผู้ถือระเบียบปฏิบัติในมือ ถึงแม้ว่ามีความจำเป็นต้องพึ่งและอาศัยความรู้ทางวิชาการของ คชก.จนอาจทำให้เกิดความเกรงใจและไม่ได้ควบคุมระเบียบปฏิบัตินี้อย่างจริงจัง ควรจะต้องชี้แจงกับ คชก.ให้ชัดเจนและทำความตกลงกันแต่แรกทุกครั้งที่มีการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ เพื่อให้มีความถูกต้องและเหมาะสมตามหลักของกระบวนการ

กิริยากับปฏิกิริยา

ในภาษาทางวิทยาศาสตร์มีคำกล่าวว่า หากมี action ก็จะมี reaction ด้วยภาพลักษณ์ของ NGO บางกลุ่ม (เน้นว่าบางกลุ่ม) ที่มีเป้าหมายพยายามล้มเลิกโครงการในทุกกระบวนท่า ส่งผลให้ภาคเจ้าของโครงการต้องมีปฏิกิริยาหาทางต่อสู้ รวมไปถึงทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้โครงการเดินหน้าได้ เช่น จัดหามวลชนเพื่อเผชิญหน้ากับมวลชนของอีกฝ่าย จัดหากลุ่มคนของตนเองไปแย่งพื้นที่ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้ข้อสรุปเป็นไปในแนวทางที่ตนต้องการ กลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่ต่างฝ่ายต่างบิดเบือนเจตนารมณ์ของระบบอีไอเอ จนบางครั้งได้กลายเป็นเรื่องส่วนบุคคล และทำให้รายงานอีไอเอกลายเป็นเอกสารทางกฎหมาย ไม่ใช่เอกสารทางวิชาการที่หาคำตอบให้แก่บ้านเมือง

เรื่องของระบบอีไอเอในไทยที่เขียนมายืดยาวได้ 3 ตอนแล้วนี้ ถึงอย่างไรก็ยังไม่จบ เราจะพูดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายใหม่กับสาระและเรื่องเศรษฐกิจกับสิ่งแวดล้อมและเอสอีเอ ในตอนที่ 4 และ 5