ThaiPublica > เกาะกระแส > แม้เครื่อง 737 Max จะยังไม่ได้กลับมาบินใหม่ แต่โบอิ้งพร้อมแล้ว ที่จะทำให้คนเชื่อในความปลอดภัยของเครื่องบินนี้

แม้เครื่อง 737 Max จะยังไม่ได้กลับมาบินใหม่ แต่โบอิ้งพร้อมแล้ว ที่จะทำให้คนเชื่อในความปลอดภัยของเครื่องบินนี้

28 ธันวาคม 2019


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

Boeing 737 MAX ที่มาภาพ :https://en.wikipedia.org/wiki/Boeing_737_MAX#/media/File:WS_YYC_737_MAX_1.jpg

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา The New York Times ทำรายงานเรื่อง Boeing Can’t Fly Its 737 Max, but It’s Ready to Sell Its Safety ว่า เครื่องบินโบอิ้ง 737 Max ถูกสั่งห้ามทำการบินเมื่อเดือนมีนาคม 2019 ที่ผ่านมา หลังจากเกิดอุบัติเหตุ 2 ครั้งที่มีคนเสียชีวิต 346 คน ทำให้โบอิ้งต้องเผชิญกับคำถามที่สำคัญว่า หากเครื่อง 737 Max กลับมาให้บริการบินใหม่ ผู้โดยสารจะยังมีหวาดกลัวอยู่หรือไม่ จนไม่กล้าที่จะบินกับเครื่องบินแบบนี้อีก

แม้โบอิ้งกำลังพยายามแก้ปัญหาทางเทคนิคของเครื่อง 737 Max เพื่อให้สามารถผ่านการอนุมัติของหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการบิน แต่โบอิ้งก็ได้ทำการสำรวจความเห็นของผู้โดยสารจำนวนหลายพันคนทั่วโลก เพื่อหาคำตอบว่าผู้โดยยังยินดีที่จะกลับมาบินกับเครื่อง 737 Max หรือไม่ ผลการสำรวจความเห็นครั้งล่าสุด ปรากฏว่า 40% ของคนที่นั่งเครื่องบินเป็นประจำ บอกว่า พวกเขาไม่เต็มใจที่จะบินกับเครื่อง 737 Max

กลยุทธ์ขายความปลอดภัย

The New York Times บอกว่า ในการประชุมกับสายการบินต่างๆ เอกสารนำเสนอ 40 หน้าของโบอิ้ง ได้วางกลยุทธ์ให้กับสายการบิน เพื่อที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของผู้โดยสารกลับคืนมา และชักจูงผู้โดยสารให้เห็นว่า เครื่องบินรุ่นนี้ เคยได้รับความนิยมมากที่สุดของโบอิ้ง เป็นเครื่องบินที่มีความปลอดภัย

ตัวอย่างคำแนะนำของโบอิ้งเช่น หลังจากซื้อบัตรโดยสารแล้ว หรือกำลังรอขึ้นเครื่อง แต่ผู้โดยสารเกิดไม่ต้องการจะบินกับเครื่อง 737 Max โบอิ้งแนะนำว่า สายการบินสามารถจองเที่ยวบินใหม่ให้ผู้โดยสาร หากว่าผู้โดยสารเข้าไปนั่งบนเครื่องแล้ว กัปตันหรือพนักงานต้อนรับ สามารถพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้โดยสาร หรือแจกเอกสารที่อธิบายว่า ทำไมเครื่อง 737 Max จึงปลอดภัย

The New York Times รายงานว่า นับจากเดือนพฤษภาคม 2019 เป็นต้นมา โบอิ้งได้สำรวจความเห็นของผู้โดยสารทั่วโลกหลายพันคนมาแล้ว 4 ครั้ง การสำรวจดังกล่าวได้ข้อมูลที่สำคัญหลายอย่าง เช่น การรับรู้ของคนทั่วโลกยังมีอยู่สูงในเรื่องเครื่องบิน 737 Max สำหรับผู้โดยสารชาวอเมริกัน ความเต็มใจที่จะบินกับเครื่อง 737 Max ดีขึ้น โดย 52% บอกว่าเต็มใจที่จะบินกับเครื่องบินนี้ แต่ 41% บอกว่าจะเลี่ยงที่จะบินกับเครื่องบินแบบนี้

ส่วนแหล่งข้อมูลที่ได้รับความเชื่อถือมากสุดเกี่ยวกับเครื่องบิน 737 Max นั้น 65% ของผู้โดยสารบอกว่าคือ หน่วยงานกำกับการบินของประเทศ เช่น FAA ของสหรัฐฯ และหน่วยงานดูแลการบินของประเทศ รองลงมา 41% บอกว่าข้อมูลที่น่าเชื่อถือ คือนักบินที่บินกับเครื่อง 737 Max

จุดผิดพลาดของโบอิ้ง

อุบัติเหตุของสายการบินเอธิโอเปีย ที่มาภาพ :https://slate.com/technology/2019/03/ethiopian-air-crash-where-did-boeing-go-wrong-with-the-737-max.html

Jeff Wise ผู้สื่อข่าวและผู้เชี่ยวชาญด้านการบินเขียนบทความชื่อ Where Did Boeing Go Wrong? ลงในเว็บไซด์ slate.com ว่า หลังจากเกิดอุบัติเหตุเครื่อง 737 Max ของสายการบินเอธิโอเปียตก ขณะกำลังบินขึ้นจากสนามบิน ราคาหุ้นของโบอิ้งก็ร่วงลงทันที 12% เพราะนักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่นต่อโบอิ้ง

อุบัติเหตุของสายการบินเอธิโอเปียเกิดขึ้น ภายในระยะเวลา 5 เดือน หลังจากที่เครื่อง 737 Max ของสายการบิน Lion Air ของอินโดนีเซีย เที่ยวบิน 610 เกิดอุบัติเหตุ ทำให้จีนและอินโดนีเซียสั่งไม่ให้เครื่อง 737 Max ทำการบิน และอีก 25 สายการบินทั่วโลกก็ระงับการให้บริการด้วยเครื่องบิน 737 Max

เครื่องบิน 737 Max เริ่มทำการบินครั้งแรกเมื่อปี 2017 และมีเครื่องแบบนี้จำนวน 350 ลำ ที่ทำการบินอยู่ การที่เครื่องบินแบบใหม่ประสบอุบัติเหตุ 2 ครั้งติดต่อกัน จนมีคนเสียชีวิต เป็นเรื่องผิดปกติ ไม่ว่าสาเหตุจะเกิดจากอะไรก็ตาม อุบัติเหตุดังกล่าว ทำให้เกิดคำถามเรื่อง ความน่าเชื่อถือของการผลิตเครื่องบินรุ่นนี้

ก่อนหน้านี้ โบอิ้งมีชื่อเสียงมากในเรื่องความน่าเชื่อถือของเครื่องบิน เช่น เครื่องบิน 787 ที่ออกแบบใหม่ทั้งหมด ไม่เคยประสบอุบัติที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตเลย รวมทั้งในระยะ 18 ปีแรก ในการทำการบินของเครื่องแบบ 777 ก็ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุลักษณะดังกล่าว

Jeff Wise กล่าวว่า เพราะเหตุนี้จึงเกิดคำถามว่า อะไรทำให้โบอิ้งตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ คำตอบก็คือเรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ โบอิ้งตกอยู่ในสภาพที่ต้องแข่งขันกับแอร์บัส ในตลาดเครื่องบินพาณิชย์ที่ปีหนึ่งมีมูลค่า 200 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างก็มีส่วนแบ่งพอๆกัน แต่ตลาดเครื่องบินพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุด คือตลาดเครื่องบินแบบลำตัวแคบ ใช้บินระยะใกล้และระยะกลาง ที่เครื่องบินมีความจุที่นั่ง 100-200 ที่นั่ง

เครื่องบินโบอิ้ง 737 ทำการบินครั้งแรกในปี 1967 ในระยะเวลาต่อๆมา โบอิ้งทำการปรับปรุงเครื่องบินรุ่นมาตลอด แต่ระบบบังคับการบินของเครื่อง 737 ยังเป็นแบบรุ่นเก่า คือระบบ mechanic ตัวเครื่องบินทำจากอะลูมิเนียม ไม่ใช่วัตถุน้ำหนักเบาแบบใหม่

ส่วนเครื่องบินแอร์บัสรุ่น A320 ทำการบินครั้งแรกในปี 1987 ระบบบังคับการบินเป็นแบบการส่งสัญญาณตามสายไฟ หรือ fly-by-wire ปี 2014 แอร์บัสพัฒนาเครื่อง A320 ออกมาเป็นรุ่นเรียกว่า A320 Neo ที่สามารถบินได้ประหยัดอย่างมาก เช่น ประหยัดน้ำมันได้ถึง 15% จากรุ่นเดิม ในงาน Paris Air Show ได้รับการสั่งซื้อถึง 667 ลำ แม้แต่สายการบิน American Airlines ที่เคยใช้เครื่องบินแบบโบอิ้งเท่านั้น ก็สั่งซื้อ A320 Neo 130 ลำ และ A320 รุ่นเก่าอีก 130 ลำ

การที่จะรักษาส่วนแบ่งตลาด โบอิ้งจะต้องหาทางตอบโต้การออกเครื่องบินรุ่นล่าสุดของแอร์บัส โบอิ้งมีทางเลือก 2 อย่าง คือ การออกแบบเครื่องบินแบบใหม่ทั้งหมด หรืออีกทางเลือกหนึ่งคือ การรักษาเครื่องรุ่น 737 นี้ไว้ และปรับปรุงใหม่ขึ้นมา ทางเลือกแรกจะมีต้นทุนมหาศาล และใช้เวลานับ 10 ปี อย่างเช่น การพัฒนาเครื่องบินใหม่รุ่น 787 ทางโบอิ้งต้องลงทุนถึง 32 พันล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ เครื่องแบบใหม่ ทั้งนักบินและช่างซ่อมเครื่องบินของสายการบินลูกค้า ก็จะต้องมีการเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Boeing_737_MAX#/media/File:Boeing_737_MAX_(23514088802).jpg

แต่โบอิ้งเลือกทางเลือกที่ 2 เพราะประหยัดเงินมากกว่า คือการปรับปรุงเครื่องแบบเดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โบอิ้งเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์แบบใหม่ ที่มีน้ำหนักขึ้น และโครงสร้างเครื่องบิน(airframe) แบบใหม่ ที่กล่าวว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำมันได้ 20% เนื่องจากใช้เครื่องยนต์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น วิศวกรของโบอิ้งจึงต้องย้ายจุดที่เครื่องยนต์เคยติดตั้งอยู่ที่ปีกในเครื่อง 737 แบบเดิม

นับจากสมัยพี่น้องตระกูลไรต์ (Wright Brother) เป็นต้นมา ที่เป็นคนออกแบบเครื่องบินเป็นครั้งแรก หัวใจสำคัญที่เครื่องบินจะบินได้ปลอดภัย อยู่ที่การควบคุมภาวะการเชิดขึ้นของตัวเครื่องในเวลาทำการบิน พลวัตการบิน (aerodynamics) จะทำหน้าที่ ไม่ให้เครื่องบินเชิดตัวในระดับที่สูงชัน จนเกิดภาวะที่เครื่องบินไร้แรงยก จุดนี้คือความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างปัจจัยต่างๆ ได้แก่ รูปทรงของมุมที่เป็นปีกเครื่องบิน การกระจายน้ำหนัก และกำลังแรงของเครื่องยนต์

การใช้เครื่องยนต์ที่หนักขึ้น ทำให้เกิดปัญหาทางเทคนิค ที่กระทบต่อการบินของเครื่องบิน โดยเครื่องมีแนวโน้มที่จะเชิดตัวให้สูงชันขึ้น จนเกิดภาวะอันตรายที่เครื่องจะสูญเสียแรงยก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสภาพแบบนี้ โบอิ้งจึงเพิ่มระบบการบินอัตโนมัติแบบใหม่ ที่เป็นระบบเซนเซอร์ติดตั้งไว้ที่ส่วนหัวของเครื่องบิน หากว่าเครื่องเกิดบินสูงชันมากเกินไป ก็จะทำการปรับการทำงานของปีกเครื่องบิน เพื่อให้การบินของเครื่องเกิดภาวะเสถียรภาพ

ในทางหลักการ การใช้ระบบเซนเซอร์ก็ไม่ใช่ความคิดที่ผิดแต่อย่างใด แต่ทว่าจะต้องเป็นระบบที่มีความแม่นยำสูง และในสถานการณ์ที่มีความจำเป็น นักบินสามารถที่จะเอาชนะระบบนี้ได้ แต่ถ้าโบอิ้งใช้วิธีการออกแบบเครื่องบินเป็นรุ่นใหม่ทั้งหมด โดยการนับหนึ่งใหม่ ก็สามารถออกแบบโครงสร้างเครื่องบินสำหรับเครื่องยนต์แบบใหม่ที่มีน้ำหนักมากขึ้น ปัญหาที่เครื่องบินจะเชิดตัวสูงชันเกินไป ก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ทว่า วิศวกรของโบอิ้งใช้ระบบการบินอัตโนมัติ มาแก้ปัญหาจุดอ่อนทางเทคนิคของตัวเครื่องบินแทน
Jeff Wise กล่าวว่า ไม่ว่าการสอบสวนอุบัติเหตุ 2 ครั้งของ 737 Max จะมีผลออกมาอย่างไร ชะตากรรมของ 737 Max คงจะคล้ายๆกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสายการบิน Malaysia Airlines ที่สูญเสียเครื่องบิน 777 ถึง 2 ลำภายในปี 2014 ลำหนึ่งหายไปอย่างลี้ลับ และอีกลำหนึ่งถูกรัสเซียยิงตก ทำให้ Malaysia Airlines ประสบปัญหาที่ตามมา คือยอดจองของผู้โดยสารหายไปมาก และสายการบินต้องปรับองค์กรครั้งใหญ่

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Boeing_737_MAX#/media/File:Boeing_737_MAX_grounded_aircraft_near_Boeing_Field,_April_2019.jpg

แต่โบอิ้งจะไม่ประสบปัญหาวิกฤติทางการเงิน เพราะโบอิ้งเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่และสำคัญอย่างมากต่อธุรกิจการบินของโลก เกินกว่าที่จะล้มเหลว แต่อนาคตของ 737 Max จะถูกสั่นคลอน เพราะคงจะไม่มีใครสั่งซื้อเครื่องแบบนี้อีก ในเมื่อยังมีเครื่องบินที่เป็นคู่แข่ง ที่เป็นทางเลือกอยู่ในตลาด

ทางออกของโบอิ้งคือ การแก้ปัญหาให้ได้รับความน่าเชื่อถือ ต่อสาเหตุของอุบัติเหตุ 2 ครั้งของเครื่อง 737 Max หรือทางออกที่ 2 คือ การออกแบบเครื่องบินใหม่ทั้งหมด โดยเริ่มจากการนับหนึ่งใหม่

เอกสารประกอบ

Boeing Can’t Fly Its 737 Max, but It’s Ready to Sell Its Safety, The New York Times, December 24, 2019.
Where Did Boeing Go Wrong? Jeff Wise, March 11, 2019, slate.com