ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > Thailand SDGs Forum 2017#3: โรดแมป SDGs in Action เทสโก้ โลตัส – ประยุกต์การพัฒนาอย่างยั่งยืนมาใช้กับ Value Chain

Thailand SDGs Forum 2017#3: โรดแมป SDGs in Action เทสโก้ โลตัส – ประยุกต์การพัฒนาอย่างยั่งยืนมาใช้กับ Value Chain

13 กันยายน 2017


มูลนิธิมั่นพัฒนาและสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดงานสัมมนา “Thailand SDGs Forum 2017#3: Positioning Thailand on SDG Map” เมื่อวันพฤหัสที่ 7 กันยายน 2560 ณ ห้องประชุมบอลรูม 2-3 โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ

นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ รองประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้โลตัส

ในงานสัมมนา “Thailand SDGs Forum 2017#3: Positioning Thailand on SDG Map” มีปาฐกถาหัวข้อ “Creating Value in Global Business Chain” โดย นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ รองประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้โลตัส ได้กล่าวว่า “วันนี้ได้รับเชิญมาพูดเรื่อง Value Chain ของธุรกิจ หัวข้อที่ได้รับโจทย์มาคือให้นำเสนอตัวอย่างจริงๆว่า ในการลงมือทำจริงในภาคธุรกิจ เรานำเรื่อง SDGs มาใช้เพื่อความยั่งยืนขององค์กรได้อย่างไรบ้าง จริงๆ ใน SDGs มี 17 ข้อ ที่พูดเรื่องสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเทสโก้กรุ๊ปมองว่าในทุกขั้นตอนการทำธุรกิจของเราจะแตะในทั้ง 3 เรื่อง ทุกการกระทำที่เราทำลงไปจะมีผลกระทบทั้ง 3 เรื่องไปพร้อมๆ กัน”

สำหรับเทสโก้โลตัสเป็นธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มค้าปลีกที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2-3 ของโลก ก็คือเทสโก้กรุ๊ป เป็นธุรกิจที่ให้บริการลูกค้า 79 ล้านครั้งต่อสัปดาห์ ถือว่าเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่มากพอสมควร และทุกครั้งที่เราแตะลูกค้า ทุกครั้งที่นำสินค้ามาขายในร้าน และทุกครั้งที่ลูกค้าเดินจากเราไป มันมีผลกระทบที่เกิดขึ้นในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม เรามองว่าในฐานะที่เราเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ สิ่งที่เราทำในการสร้างธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ย่อมส่งผลกระทบต่อโลกที่จะยั่งยืนหรือไม่ยั่งยืนเช่นกัน จึงอยากนำเสนอให้เห็นภาพว่าเราขับเคลื่อนจาก Value Chain ในการทำธุรกิจของเราในแต่ละขั้นตอนอย่างไรบ้าง

Value Chain ของเทสโก้โลตัส

สำหรับเป้าประสงค์ในการทำธุรกิจในประเทศไทย เทสโก้โลตัสต้องการเน้นในเรื่องการจำหน่ายอาหารที่มีคุณภาพสูงในราคาที่เข้าถึงได้ และทำสิ่งที่ดีเพื่อลูกค้า เพื่อพนักงาน และชุมชน เป็นวิสัยทัศน์ที่เราสรุปมาสั้นๆ ว่านี่คือสิ่งที่เราต้องการจะขับเคลื่อนธุรกิจของเรา

ด้วยเป้าประสงค์นี้ อยากจะให้เห็นเป็น 3 ขั้นตอนง่ายๆว่าเป็น Value Chain ของเรา หรือขั้นตอนการทำธุรกิจของเรา เมื่อเป็นค้าปลีก แน่นอนว่าสิ่งที่เราทำคือไปหาซื้อสินค้าหรือเสาะหาสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นอาหารหรือสินค้าเกษตรซึ่งเป็นหัวใจหลักของเรา ก็คือ ผัก ผลไม้

เมื่อไปซื้อสินค้ามา เรานำสินค้ามาที่ร้านเพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้า จากนั้นลูกค้ารับสินค้าจากเราไปบริโภคที่บ้าน นี่คือ Value Chain ของเทสโก้โลตัส ฟังดูง่ายๆ ซื้อมา ขายไป แต่ทุกขั้นตอนมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จะยกตัวอย่างสั้นๆ ของแต่ละขั้นตอนให้เห็นว่าเราจะสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจ (Creating Value) ของเรา และสร้างคุณค่าให้กับโลกได้อย่างไรบ้าง

ในส่วนแรกคือในเชิงการ “ซื้อสินค้า” โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตร เราได้ชมหนังโฆษณาตอนต้นไปแล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าเราสามารถมีส่วนในการผลักดันที่จะสร้างคุณค่าให้กับสังคมหรือชุมชน ด้วยการเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้ที่ยั่งยืนได้

ถามว่าเราได้อะไร วิทยากรท่านหนึ่งบอกว่า เป็นขั้นตอนของการทำเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน เริ่มจากขั้นตอนเพียงแค่ว่าจะทำตามกฎหมาย ทำเพราะว่ารู้สึกดี จนกระทั่งทำไปถึงการสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจ ตอนนี้เทสโก้โลตัสมองว่า เราต้องการทำไปสู่จุดที่สร้างคุณค่าให้กับธุรกิจด้วย คือการ “Win-Win”

Sustainability ที่ดีคือทุกคน Win ธุรกิจของเทสโก้โลตัสต้อง Win ในขณะที่โลกก็ต้อง Win ด้วย ในกรณีนี้ย้อนกลับไปถึงวิสัยทัศน์ของเทสโก้โลตัส เราต้องการจำหน่ายอาหารคุณภาพดี ราคาเข้าถึงได้

ดังนั้น การที่เราไปเสาะหาอาหารที่มีคุณภาพดี คือทำงานกับเกษตรกรโดยตรง นั่นคือการที่เราตอบโจทย์ธุรกิจเราเช่นกัน เราสามารถมีอาหารคุณภาพดีในราคาที่เข้าถึงได้มาจำหน่ายให้กับผู้บริโภค จะเห็นว่าการที่เราทำ Sustainability ต้องมีประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เกษตรกรได้ เทสโก้โลตัสก็ได้ มันถึงจะเป็นเรื่องของความยั่งยืน

ตัวอย่างง่ายๆ ที่เราทำงานกับเกษตรกร เรานำนโยบายภาครัฐเรื่อง “ประชารัฐ” เข้ามาใช้ เพราะเรามองว่าการที่เราเข้าไปคนเดียวเกษตรกรก็คงจะสงสัยว่ามาทำไม ฉะนั้นเป็นเรื่องของ Partnership ที่ต้องเข้ามา

เมื่อ 10 ปีที่แล้วเทสโก้กรุ๊ปได้มีการตั้งเป้าหมายว่าต้องการจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในบริษัทให้ได้อย่างน้อย 50% ภายในปี 2020 และเราเชื่อว่าภายในปี 2020 เราจะไปถึงจุดนั้น

โรดแมป SDGs in Action

ถ้าทุกคนจำได้ ข้อ 17 ของ SDGs คือเรื่อง Partnership ในกรณีนี้คือการนำหน่วยงานภาครัฐหรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญมาทำงานด้วยกัน เพื่อเข้าไปให้ความรู้กับเกษตรกร ไปช่วยกันวางแผน เพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตที่ดีและมีการสั่งซื้อกันได้อย่างยั่งยืน นี่คือตัวอย่างในจุดแรกของ Value Chain ของเรา

มาถึงจุดที่ 2 เมื่อสินค้าเข้ามาถึงในร้านของเรา เราทราบดีว่าการที่มีร้านค้าและมีศูนย์กระจายสินค้าอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีร้านค้าประมาณ 2,000 แห่ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เราสร้างมากมายพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นไฟ ตู้เย็น แอร์ ฯลฯ

ฉะนั้น ตั้งแต่ก่อนที่จะมี SDGs เมื่อปี 2016 เมื่อ 10 ปีที่แล้วเทสโก้กรุ๊ปได้มีการตั้งเป้าหมายว่าต้องการจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในบริษัทให้ได้อย่างน้อย 50% ภายในปี 2020 และเราเชื่อว่าภายในปี 2020 เราจะไปถึงจุดนั้น

ถามว่าเราจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร วิทยากรหลายท่านพูดว่า SDGs in Action อันดับแรกคือต้องวัดได้ ตั้งเป้าหมายให้ได้ เมื่อได้เป้าหมายแล้วต้องมีแผนปฏิบัติที่ชัดเจน

สิ่งที่เราทำชัดเจนก็คือ ร้านค้าของเราใช้ “พลังงานทดแทน” (Renewable Energy) เยอะมาก เริ่มตั้งแต่ปี 2004 ทำโซลาร์เซลล์ ,โซลาร์ฟาร์ม ,ร้านค้าสีเขียว, สโตร์ปลอดคาร์บอนไดออกไซด์ (Zero Carbon Store) ซึ่งเป็นส่วนที่ภูมิใจและอยากนำเสนอ

Zero Carbon Store ก็คือการที่เราสามารถใช้พลังงานทดแทนเพื่อผลิตพลังงานไว้ใช้กับสาขา ซึ่งเทสโก้โลตัสเป็นร้านค้าแห่งแรกในเอเชียที่สามารถทำ Zero Carbon Store ได้

นอกจากนี้เรายังมีการลงทุนเปลี่ยนหลอดไฟแอลอีดี ไม่ว่าจะเป็นป้ายใหญ่หน้าร้าน หรือตู้เย็นก็เปลี่ยนน้ำยาทำความเย็น มีการลงทุนหลายร้อยล้านบาท

ทั้งหมดทั้งปวงคือโรดแมปที่ทำให้เราสามารถทำเป้าหมายการลดคาร์บอนของเราได้ แล้วเมื่อไม่นานมานี้ที่มีสนธิสัญญาปารีส (Paris Agreement) พูดกันเรื่อง Climate Change ทางเทสโก้กรุ๊ปเองก็ตั้งเป้าว่าภายในปี 2030 เราจะเป็นพลังงานทดแทน 100%

ฉะนั้น เราตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย แล้วทำให้ตัวเองไปให้ถึงเป้าหมายนั้น เพราะเรามองว่าถ้าตั้งเป้าหมายเล็กๆ เราก็จะไปถึงจุดเล็กๆ ถ้าเราตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย เราก็จะพยายามผลักดันตัวเองและขับเคลื่อนทุกคนในองค์กรให้ไปถึงเป้าหมายตรงนั้น นี่คือส่วนที่สอง ที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม

ส่วนสุดท้าย คือผลกระทบทางสังคม เมื่อลูกค้ามาซื้อสินค้าเราไปแล้วเกิดอะไรขึ้น ที่จะพูดวันนี้คือ “ขยะอาหาร” (Food Waste) ซึ่งทุกวันนี้ โดยเฉพาะในประเทศไทย เรามีสังคมที่เรียกว่ากินทิ้งกินขว้าง ในขณะที่คนประมาณ 1 ใน 9 คนบนโลกนี้ไม่มีจะกิน แต่อาหาร 1 ใน 3 ที่โลกผลิตได้ถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์

อาหารเหล่านี้ไม่ได้สร้างแค่ปัญหาสังคมที่ทำให้คนไม่มีจะกิน เราคิดว่าอาหารย่อยได้ ไม่ใช่ขยะพลาสติก แต่อาจจะลืมไปว่าอาหารเหล่านี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมา แล้วไปกระทบกับ Climate Change ต่อไป

มีข้อมูลว่า ก๊าซเรือนกระจก ถ้าวัดจากอาหารทั้งหมดจะมีขนาดเป็นประเทศที่สามที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญที่สุดในโลก ฉะนั้นผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของขยะอาหารมันมากมายมหาศาล จึงเป็นที่มาที่เทสโก้กรุ๊ปจับเรื่องนี้ขึ้นมา

เรื่องของขยะอาหาร ถ้าดูใน SDGs คือข้อ 12 (Responsible Consumption and Production) คือต้องการให้มีการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ และเมื่อเจาะลงไปในข้อ 12.3 ยูเอ็นมีการตั้งเป้าไว้ว่าต้องการลดขยะอาหารที่เกิดที่ร้านขายอาหารและที่บ้านให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 ซึ่งอีกไม่ไกล 10 กว่าปี ก็เป็นเป้าหมายที่ท้าทายเช่นกัน ถ้ายูเอ็นท้ามา เราก็ต้องช่วยกันทำให้ได้

เนื่องจากเทสโก้ขายอาหาร ทุกวันนี้ขยะอาหารที่เราทิ้งไม่เยอะแค่ประมาณ 1% แต่ถ้านับอาหารที่เทสโก้ทิ้งทั่วโลก มีถึง 46,000 ตันต่อปี ฉะนั้นถ้าคิดสภาพว่าจะกลายไปเป็นก๊าซเรือนกระจกมันจะมีปริมาณเท่าไหร่

ไม่ทิ้งอาหารที่ยังทานได้

ในเมืองไทยเรามีลูกค้าที่มาซื้อสินค้าที่ร้าน 15 ล้านครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงเรามองว่าจะทำอย่างไรที่จะไปเป็นส่วนร่วมในการเข้าถึงเป้าหมายข้อ 12.3 คือลดขยะอาหารให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2030

วิทยากรพูดก่อนหน้านี้พูดว่า ถ้าผู้นำองค์กรต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นจริง มันก็จะเกิดขึ้นจริง คุณเดฟ ลูอิส (Dave Lewis) ซีอีโอของเราที่อังกฤษ ก็ไปประกาศในการประชุมที่ยูเอ็นว่าเราจะ “ไม่ทิ้งอาหารที่ยังทานได้” ฟังดูเหมือนง่าย แต่ไม่ง่ายเลยเวลาปฏิบัติ

แต่เราก็ตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย ต้องวัดผลได้ทั้งก่อนและหลัง และสุดท้ายคือต้องลงมือทำอย่างจริงจัง ซึ่งการลงมือทำข้อแรกที่เราได้ลงมือทำไปแล้วในระดับนานาชาติคือ เทสโก้กรุ๊ปได้เป็นหัวหน้าทีมและตั้งทีมขึ้นมาเรียกว่า “แชมเปี้ยน 12.3” คือทีมที่จะมาช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายข้อ 12.3 โดยเฉพาะ เทสโก้อาสาขอเป็นหัวหน้าทีมงานนี้เพื่อจะขับเคลื่อนการลดขยะอาหารให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2030

เรื่องที่ 2 เราตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปีนี้จะไม่มีการทิ้งอาหารที่ทานได้ ต้องเป็น “ศูนย์” ร้านของเรามีอยู่ทั่วและมีหลายขนาด ซึ่งเป็นเรื่องยากในการเก็บอาหารที่เหลือขายในแต่ละวันเพื่อไปแจกจ่ายคนทั่วเกาะอังกฤษ โลจิสติกส์ในการแจกจ่ายอาหารก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราก็พยายาม

ที่เมืองไทยเราเริ่มแล้วในกรุงเทพฯ คือร้านค้าขนาดใหญ่ที่ขายอาหารสดเยอะในแต่ละวันมีประมาณ 24 แห่ง เรามีกระบวนการในการแยกสินค้าในแต่ละวันตอนจบวัน ว่าอันไหนยังทานได้ อันไหนทานไม่ได้ และร่วมกับองค์กรที่จะช่วยเราในการนำอาหารเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ต่อ เป้าหมายของเราก็คือ

ภายในสิ้นปีหน้า สาขาขนาดใหญ่ทั่วประเทศไทยจะต้องบริจาคอาหารที่ยังทานได้ทั้งหมด นี่คือส่วนของการตั้งเป้าหมาย

ในส่วนการวัดผลหรือวัดตัวเลข สิ่งที่ท้าทายสำหรับประเทศไทยต้องเรียนตรงๆ ว่า ไม่ค่อยมีเรื่องตัวเลข เราไม่ทราบว่าประเทศไทยมีอาหารสูญเสียเท่าไหร่ ที่ยุโรปหรืออังกฤษมีการวัดตัวเลขกันอย่างจริงจัง แต่ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่ากรมควบคุมมลพิษได้เริ่มทำงานเรื่องนี้แล้ว พยายามศึกษาเพื่อวัดตัวเลขว่าในประเทศไทยมีการสูญเสียอาหารหรือขยะอาหารเท่าไหร่ โดยที่เทสโก้โลตัสได้เข้าไปเป็นหนึ่งในคณะทำงานในการช่วยวัดตัวเลขเรื่องนี้

ชาร์ตที่เราโชว์ (ดูภาพประกอบ) จากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UN FAO) พบว่าการสูญเสียอาหารโดยเฉลี่ยทั่วโลกจะเกิดขึ้นใน 3 ช่วง ช่วงแรกคือตอนเพาะปลูก แต่สุดท้ายก็ทิ้งไปมีประมาณ 15%

เมื่อปลูกเสร็จเข้ามาถึงร้านค้า ขายไม่หมดก็ทิ้งไป 1% อย่างที่บอกข้างต้น สุดท้ายเมื่อไปถึงมือ ที่บ้าน หรือไปถึงโต๊ะอาหารอีก 15% ก็ทิ้งตรงนั้น ทั้งหมดทั้งปวงจะเห็นว่า 1 ใน 3 อาหารของโลกที่เราทิ้งไป ส่วนต้นทางกับส่วนปลายทางเป็นส่วนที่สร้างการสูญเสียจำนวนมาก

ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างเรา ภาคการเกษตรที่ยังเป็นเกษตร 1.0 ก็จะมีการทิ้งขว้างในต้นทางเยอะมาก ถ้าเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว เขาเป็นเกษตรแบบอุตสาหกรรมที่ไม่ค่อยทิ้งอาหารกันตอนต้นทาง เพราะเขาปลูกโดยใช้เทคโนโลยี เพราะฉะนั้น การสูญเสียตอนต้นทางของเขาจึงไม่เยอะ

แต่ในประเทศพัฒนาแล้วก็พบว่าทิ้งขยะอาหารที่บ้านกันเยอะ กินทิ้งกินขว้างเหมือนกัน อย่างอเมริกาหรือยุโรป ทิ้งขว้างที่บ้านเยอะ แต่ประเทศที่ยากจนจะไม่ค่อยทิ้งที่บ้าน แต่ไปทิ้งในช่วงเพาะปลูก นี่คือตัวเลขที่ฉายให้เห็นว่า ปัญหามันเกิดตรงจุดไหนเพื่อให้แต่ละคนจัดการกับปัญหาให้ถูกจุด

เมื่อถึงพูดแผนปฏิบัติ เรามองเป็น Value Chain ตั้งแต่ต้นน้ำ ก็คือเราสามารถเข้าไปวางแผนการเพาะปลูกตั้งแต่ต้นทางร่วมกับเกษตรกร การไปวางแผนเพาะปลูกล่วงหน้าทำให้ปลูกในปริมาณที่พอดี ในแบบที่ร้านค้าต้องการ ไม่มีการทิ้งขว้างที่แหล่งเพาะปลูก

เมื่อเคลื่อนมาที่การกระจายสินค้า เราใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ใช้การลดอุณหภูมิ ใช้วิทยาการต่างๆ เพื่อรักษาความสดใหม่ของสินค้า ทำให้ไม่เกิดการสูญเสีย

และเมื่อสินค้าเคลื่อนมาถึงสาขา เรามีนโยบายในการลดสินค้าระหว่างวัน พอสินค้าเริ่มดูท่าทางจะขายไม่หมด ใครที่เป็นลูกค้าเทสโก้จะเห็นป้ายสีเหลือง เราก็ลดราคา ของบางอย่างยังสวยอยู่ และยังเป็นของที่ทานได้ทั้งหมด เราลดราคาเพราะไม่ต้องการทิ้ง

แต่ถ้าลดราคาแล้วมันยังเหลือ ในอดีตที่ผ่านมาเราก็ทิ้ง เพราะกลัวจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ตอนนี้สิ่งที่เราทำใหม่ก็คือ แยกว่าสินค้าที่ลดราคาจนหมดวันแล้ว อันไหนยังดี อันไหนไม่ดี สินค้าที่ยังดีอยู่ก็เก็บไว้ให้คนทาน อันที่ไม่ดีก็กำลังคิดว่าจะนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ เพราะฉะนั้นในขั้นตอนที่สาขา ก็คือเรื่องการสร้างขั้นตอน สร้างกระบวนการ

และสุดท้าย เมื่ออาหารมาถึงบ้านลูกค้าแล้ว เราไม่สามารถเข้าไปควบคุมได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือให้ความรู้ลูกค้าว่าถ้าไม่ช่วยกันแก้เรื่องนี้ มันก็จะเป็นปัญหาที่ใหญ่และทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ เราทำโฆษณา “ไม่มีใครอยากโดนเท” อาหารก็ไม่อยากโดนเท

นอกจากนี้ เรายังมองเรื่องมูลค่าของอาหารด้วย คือวิธีการที่เราจะบริจาคอาหาร โดยมองเป็น 3 ลำดับความสำคัญ คือ อาหารดีกินได้เราให้คนกินก่อน นั่นคือ Chain แรก ถัดมาคืออาหารที่ไม่ใช่อาหารคน เรามีการบริจาคอาหารให้กับสัตว์ สุดท้ายถ้ายังเหลืออีก ทานไม่ได้แล้วจริงๆ ก็คิดว่าจะไปทำปุ๋ย นี่คือ Value Chain ของเราเช่นกัน ปีที่แล้วเราบริจาคอาหารไปเยอะพอสมควร และมีการทำงานกับองค์กรเล็กๆ ในการลองนำไปทำปุ๋ยด้วยเช่นกัน

เรามีการตั้งชื่อโครงการ “กินได้ ไม่ทิ้งกัน” ก็คืออาหารที่ยังดีอยู่อย่าทิ้ง และเริ่มมีการทำงานเป็นพาร์ทเนอร์กับองกรค์การกุศลหลายแห่งในการที่จะมาช่วยเราแจกจ่ายอาหารให้กับผู้ที่ต้องการอาหารหรือผู้ด้อยโอกาส และในสาขาต่างจังหวัดเรากำลังพยายามหาเพื่อนหรือองค์กรที่จะมาช่วยเราในการจัดการอาหารเหล่านี้

ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องหนึ่ง คือ ไม่มี “ฟู้ดแบงก์” (Food Bank) ในต่างประเทศจะมีคนที่ไม่มีที่อยู่อาศัย (Homeless) มาเข้าแถวรออาหาร โดยมีคนที่จัดการเรื่องนี้คือฟู้ดแบงก์ เป็นเอ็นจีโอที่นำอาหารมาแจกคนไม่มีบ้าน แต่เมืองไทยไม่มีแบบนั้น ไม่มีคนรวบรวมอาหารให้เรา นั่นคือความท้าทายของเทสโก้โลตัสในการหาพาร์ทเนอร์ในการจัดสรรหาอาหารด้วยเช่นกัน

แต่ปัจจุบันเราก็ใช้เทคโนโลยีเป็นพาร์ทเนอร์ “ออลไทยแท็กซี่” (ALL THAI TAXI) เรียกแท็กซี่มารับอาหารจากที่ร้านเรา เพื่อนำไปส่งให้กับเอ็นจีโอที่เราพาร์ทเนอร์อยู่ด้วย ฉะนั้นเทคโนโลยีก็เป็นเรื่องสำคัญในการทำให้เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ง่ายขึ้นในโลกปัจจุบัน

นี่คือสิ่งที่อยากให้เห็นตัวอย่างว่า เรานำเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาประยุกต์ใช้ในแต่ละส่วนของ Value Chain ของเราอย่างไรบ้าง สร้างผลกระทบให้กับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้อย่างไรบ้าง ดังนั้นเวลารับทานอาหารแล้ว อย่าทิ้ง อย่าเหลือ