ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > อ่านเทรนด์ความยั่งยืนจากเวทีSET Awards 2019 เปลี่ยนผ่านวัฒนธรรมองค์กร-ปรับโมเดลธุรกิจใหม่โจทย์ใหญ่รับมือ Digital Disruption

อ่านเทรนด์ความยั่งยืนจากเวทีSET Awards 2019 เปลี่ยนผ่านวัฒนธรรมองค์กร-ปรับโมเดลธุรกิจใหม่โจทย์ใหญ่รับมือ Digital Disruption

27 พฤศจิกายน 2019


วันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกาศผลมอบรางวัล SET Awards 2019 ประเภท Sustainability Excellence ให้กับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืน ให้ความสำคัญกับสังคม สิ่งแวดล้อม เป็นบรรษัทภิบาลที่ดี (ESG)  โดยปีนี้มีบริษัทได้รับรางวัลทั้งสิ้น 34 บริษัท

สำหรับผลรางวัลมี 4 ประเภท ประกอบด้วย รางวัลเกียรติยศ สำหรับ บจ. ที่ได้รับรางวัลด้านความยั่งยืนยอดเยี่ยมติดต่อกัน 3 ปีขึ้นไปมี  8 บริษัท ได้แก่ บริษัท ไออาร์พีซี (IRPC), บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC), บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (SCC), บริษัท ไทยออยล์ (TOP), บริษัท บ้านปู (BANPU), บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP), บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี (SAT), และ บริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี (CFRESH)

รางวัล บจ. ด้านความยั่งยืนยอดเยี่ยม มี 6 บริษัท ได้แก่ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา (CPN), บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT), บริษัท ปตท. (PTT), บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP), บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (DELTA), และบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU)

รางวัล บจ. ด้านความยั่งยืนดีเด่น มี 11 บริษัท จาก SET 9 บริษัท และ mai 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท ซีพี ออลล์ (CPALL), บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF), บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น (AMATA), บริษัท เอสซี แอสเซท คอร์ปอเรชั่น (SC), บริษัท เอส แอนด์ เจ อินเตอร์เนชั่นแนล เอนเตอร์ไพรส์ (S&J), บริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ (SNC), บริษัท ศูนย์บริการเหล็กสยาม (SSSC), บริษัท บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ (FPI), และบริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส (PPS)

รางวัล บจ.Rising Star มี 9 บริษัท จาก SET 8 บริษัท และ mai 1 บริษัท ได้แก่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC), บริษัท ราช กรุ๊ป (RATCH), บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW), บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ (TASCO), บริษัท หาดทิพย์ (HTC), บริษัท อินเตอร์ลิงค์ คอมมิวนิเคชั่น (ILINK), บริษัท นำสินประกันภัย (NSI), บริษัท ทีบีเอสพี (TBSP), และบริษัท ยูเอซี โกลบอล (UAC)

พร้อมกันนี้ภายในงานยังมีการมอบรางวัลให้กับ บจ. กลุ่มรางวัล Business Excellence 7 ประเภทรางวัล โดยมี 71 บริษัทและผู้บริหารสูงสุด 12 ท่านที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล  ในจำนวนนี้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม 28 บริษัท และรางวัล SET Award of Honor 1 บริษัท

ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การมอบรางวัล SET Awards และ SET Sustainability Awards ในปีนี้มีการปรับปรุงให้แตกต่างจากปีที่ผ่านมา โดยมีการมอบรางวัลทั้งด้าน Business Excellence และ Sustainability Excellence ร่วมกัน ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งหวังของตลาดหลักทรัพย์ฯในการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนและผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนมีความแข็งแกร่งและเติบโตทางธุรกิจพร้อมกับมีกลยุทธ์และการปฏิบัติเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ การพัฒนาความยั่งยืนของตลาดทุนไทยได้เริ่มต้นที่การพัฒนาความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน ตั้งแต่การพัฒนาด้ายบรรษัทภิบาลจนถึงการพัฒนาความยั่งยืนขององค์กรและสังคม ในปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นบริษัทที่มีการพัฒนาด้านความยั่งยืนโดดเด่นและเป็นที่ต้องการลงทุน โดยเฉพาะผู้ลงทุนสถาบันชั้นนำในต่างประเทศที่ต้องการขยายการลงทุนมายังประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่

การลงทุนอย่างรับผิดชอบกำลังจะกลายเป็นการลงทุนกระแสหลัก

ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ในอนาคตอันใกล้การลงทุนอย่างรับผิดชอบหรืออย่างยั่งยืนจะเข้ามาเป็นการลงทุนกระแสหลัก หรือ Mainstream Investment โดยจากข้อมูลผลสํารวจของ Global Sustainable Investment Alliance (GSIA) ประจำปี 2561 ระบุว่าการลงทุนอย่างยั่งยืนทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 23 ล้านล้านเหรียญในปี 2559 มาอยู่ที่ 31 ล้านล้านเหรียญในปี 2561 คิดเป็น 33% ของขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร

สำหรับตลาดทุนไทยขณะนี้ กลุ่มผู้ลงทุนสถาบันในประเทศได้ให้ความสำคัญในด้านการอย่างยั่งยืนมากขึ้นตามลำดับ นำโดยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ร่วมกับกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันชั้นนำของประเทศรวม 32 แห่ง ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารร่วมกันกว่า 10.8 ล้านล้านบาท ทั้งจากสำนักงานประกันสังคม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และบริษัทประกันชีวิต ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ลงนามแนวปฏิบัติ “การระงับลงทุน” (Negative List Guideline) เพื่อยกระดับการลงทุนของประเทศสู่การลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ

“สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้เห็นว่าการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงผลประกอบการและคำนึงถึงความยั่งยืนของสังคมและโลก ไม่สามารถแยกจากกันได้อีกต่อไป เป็นเรื่องที่องค์กรต่างๆจะต้องดำเนินการในด้าน Sustainability ให้มากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจเติบโตและปรับตัวต่อปัญหาและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใหม่อยู่ตลอดเวลา” ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว

ดร.ชัยวัฒน์ ระบุว่า การมอบรางวัลกลุ่ม Sustainability Excellence ปีนี้มีบริษัทจดทะเบียนผ่านการคัดเลือกอยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืนถึง 98 บริษัท และได้รับรางวัล 34 บริษัท แสดงให้เห็นว่ามีพัฒนาการด้านความยั่งยืนที่โดดเด่น นอกจากนี้ยังได้เห็นพัฒนาการที่สำคัญขององค์กรต่างๆในการกำหนดวิสัยทัศน์และนโยบายเพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นภายในองค์กร

รวมทั้งการมีส่วนในการแก้ปัญหา Climate Change โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในกระบวนการทางธุรกิจ ตลอดจนการเปิดเผยนโยบายและการดาเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับการพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

“ผมขอแสดงความยินดีและชื่นชมทุกบริษัทที่ได้รับรางวัล SET Awards ตลอดจนผู้ที่อยู่ในกลุ่มบริษัทที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลและบริษัทที่อยู่ใน THSI และขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าเพื่อยกระดับและพัฒนาศักยภาพของบริษัทให้เติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน” ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว

นายปรีชา เอกคุณากูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)เข้ารับรางวัล บจ. ด้านความยั่งยืนยอดเยี่ยม โดยถือเป็น 1 ใน 6 บริษัทที่ได้รับรางวัลในปีนี้

ความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านขององค์กรขนาดใหญ่

นายปรีชา เอกคุณากูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป บริบทผู้บริโภคมีความต้องการหลากหลายขึ้นเป็นที่มาของการปรับแนวคิดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในการเปลี่ยน “ศูนย์การค้า” ให้เป็น “ศูนย์กลางชุมชน”และศูนย์กลางของการใช้ชีวิต “Center of life” เป็นมากกว่าที่ขายสินค้า แต่เป็นที่ที่ลูกค้าสามารถมาใช้บริการ มาใช้ชีวิต มีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกับผู้คนในสังคมมากขึ้น โดยแนวคิดธุกิจสอดคล้องไปกับทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainability ประกอบไปด้วย 3 ด้าน ได้แก่

    1. Business Transformation การปรับตัวเองให้เป็นไปตามความต้องการและตอบโจทย์ลูกค้า   

    2.Diversification การขยายสู่โมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น มีการพัฒนาพื้นที่แบบผสมผสาน เช่น การลงทุนในโครงการบ้านควบคู่กับศูนย์การค้า การลงทุนในธุรกิจโรงแรมที่ขณะนี้มี 2 แห่งและมีแผนที่จะขยายการลงทุนในอนาคตอีก 10 แห่ง รวมไปถึงการลงทุนใหม่ๆในรูปแบบใหม่ๆตามแนวคิด sharing economy โดยร่วมกับพันธมิตร เช่น แกร็บ ฯลฯ รวมถึงการขยายการลงทุนไปต่างประเทศ

    3.Sustainable Solution การพัฒนาและดำเนินการธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ โดยลดการใช่้ทรัพยากรและมีการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ปัจจุบันมีการติดตั้งโซสาร์ รูปท็อป ไปแล้ว 9 แห่งจาก 13 แห่ง และประหยัดพลังงานรวมแล้วถึง 40 % ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

“สมัยก่อนเราทำธุรกิจในฐานะองค์กรมืออาชีพ (Professional Organization) และเรื่องประสิทธิภาพ เพราะธุรกิจที่เราทำมันเป็นการลงทุนระยะยาวต้องอยู่ไปชั่วชีวิต หลายโครงการอยู่มา 30-40 ปีเพราะฉะนั้นเรื่องนี้อยู่ใน DNA ในธุรกิจแบบเราความยั่งยืนจึงมีความสำคัญมาก เพราะเราทำโครงการใดโครงการหนึ่ง ไม่ได้ทำแล้วจบ แต่เราพัฒนาพื้นที่และโครงการจะอยู่กับเราไปในระยะยาว ”

จากรากฐานธุรกิจและแนวคิดแบบ win-win ในอดีต นายปรีชา ขยายความว่า 20-30 ปีแรกเราเน้นการเป็นพลเมืองที่ดี และตอบโจทย์ลูกค้า พนักงาน แต่ก็ยังโฟกัสที่ผู้ถือหุ้น เป็นหลัก ในช่วง 10 ปีหลังเราเริ่มชัดเจนมากขึ้นในเรื่องของการสร้างประโยชน์ร่วม และให้ความสำคัญกับผู้ที่ส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ไม่ใช่แค่ประสบความสำเร็จเรื่องธุรกิจโดยต้องมองมิติอื่นๆด้านความยั่งยืนด้วย

“สิ่งที่ยากสำหรับบริษัทขนาดใหญ่คือความเป็นไซโล พอเราเริ่มใหญ่มากๆต่างคนต่างทำจนบางทีเราก็ลืมมองว่าทั้งหมดที่เราทำภาพใหญ่คืออะไร แต่พอเรากลับมาโฟกัส มีกลยุทธ์ ให้ความสำคัญกับ company of purpose การตัดสินใจก็จะดีขึ้น เพราะเรารู้ว่าเราจะทำอะไร และเรารู้ว่าเราทำไปเพื่อใคร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)กล่าว

นายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซี แอสเซท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รับรางวัล “บจ. ด้านความยั่งยืนดีเด่น” จาก ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

โมเดลธุรกิจ- วัฒนธรรมองค์กรโจทย์ใหญ่องค์กรยั่งยืน

นายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซี แอสเซท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สิ่งสำคัญของการพัฒนาองค์กรไปสู่ความยั่งยืนในยุคปัจจุบันคือ “การปรับตัว” และ “โฟกัส” โดยการปรับตัวคือการปรับวิธีคิดของตัวเองก่อนที่จะไปปรับคนอื่น ส่วนการโฟกัสคือการทำในสิ่งที่จำเป็น

“ก่อนเราจะไปปรับทีมเราหรือลูกน้องเรา เรากลับมาดูตัวเองก่อนว่าได้ปรับตัวปรับวิธีคิดหรือยัง ผมคิดว่า transformation สำคัญคือปรับวิธีคิดเราเองก่อนว่าวันนี้เราพร้อมจะเปิดความคิด เราเปิดใจจริงหรือเปล่าเวลาเราพูดว่าเช้นจ์กันเถอะ เราเช้นจ์ตัวเองหรือยัง”

“ส่วนเรื่องการโฟกัส  วันนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำกันในองค์กร แต่ที่ต้องทำคืออะไร ผมคิดว่าต้องโฟกัสสิ่งที่จำเป็นก่อน เหมือนที่บอกว่าธุรกิจก็ต้องรัน โลกก็ต้องรัก ทุกอย่างต้องไปได้ ผมว่าถ้าผู้บริหารแต่ละท่านอยู่กับตัวเองหรือ concentrateกับสิ่งที่ตัวเองต้องทำ เขาจะรู้เองว่าอะไรที่ต้องทำ เพราะฉะนั้นปรับตัว ปรับความคิดตัวเอง แล้วก็โฟกัสกับสิ่งจำเป็น ผมว่าไม่เกินสองเรื่องนี้ เราก็จะผ่านช่วงเวลาต่างๆไปได้ แล้วเราก็จะโตอย่างยั่งยืนได้จริงๆ”

นายณัฐพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สองปีที่ผ่านมาบริษัทมีการปรับตัวทั้งวิธีคิด โมเดลธุรกิจ และวัฒนธรรมองค์กร จากการเป็นดีเวลลอปเปอร์ไปสู่ “ลีฟวิ่งโซลูชั่นโพรไวเดอร์” (Living Solution Provider) ผสานนวัตกรรมให้เข้ากับที่อยู่อาศัยเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตในปัจจุบันและอนาคตอย่างยั่งยืน

“เราเริ่มจากการปรับวิธีคิด เปลี่ยนจากดีเวลลอปเปอร์เป็นลีฟวิ่งโซลูชั่นโพรไวเดอร์ คือพอเรามองลูกค้า  เขาต้องการโซลูชั่น เพราะฉะนั้นที่อยู่อาศัยมันเป็นแค่หนึ่งในโซลูชั่นของลีฟวิ่ง วันนี้เราจึงคิดว่าจะประสานที่อยู่อาศัยกับนวัตกรรมอย่างไรให้มันเป็นโซลูชั่นให้ลูกค้าของเรา ซึ่งถ้าพูดโดยรวมผมคิดว่าใจความสำคัญของความยั่งยืนคือการปรับตัว ปรับวิธีคิด ปรับบิสซิเนสโมเดล ปรับคัลเจอร์ เราถึงจะอยู่ยั่งยืนได้” นายณัฐพงศ์ กล่าว

​นายจงรัก รัตนเพียร (ขวา) รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เป็นตัวแทนจากธนาคารกสิกรไทยเข้ารับรางวัลบจ. ด้านความยั่งยืนดีเด่น โดยเป็น 1 ใน 11 องค์กรและเป็นธนาคารแห่งเดียวที่ได้รับรางวัลดังกล่าวสำหรับปีนี้

ความยั่งยืน ไม่ใช่ “เป้าหมาย” แต่คือ “กระบวนการ” ที่ไม่มีวันจบ

ดร. อดิศวร์ หลายชูไทย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความยั่งยืนถือเป็นปรัชญาขององค์กร หากมีความชัดเจนจะถูกแปลงออกมาในทางปฏิบัติ โดยธุรกิจธนาคารถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวม ดังนั้นธุรกิจธนาคารถ้าทำบนพื้นฐานของธรรมภิบาลและมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี ทำให้ครบถ้วนและครอบคลุมในทั้ง 3 ประเด็นด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม จะทำให้เกิดความยั่งยืนในระดับสากล

อย่างไรก็ตามหัวใจของความยั่งยืนธนาคารให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยง เพราะธุรกิจจะยั่งยืนหรือไม่ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดีหรือไม่ ประกอบด้วย

    1. ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนไปของพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเฉพาะในด้านความต้องการที่เปลี่ยนไป เช่น การต้องการทำธุรกิจผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่มากกว่าการไปทำธุรกิจที่สาขาธนาคาร

    2. ความเสี่ยงจากการความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคข้างต้น

    3.การเปลี่ยนแปลงของคู่แข่ง จากเดิมที่จำกัดอยู่ในกลุ่มธนาคารด้วยกันขยายสู่คู่แข่งที่ผู้ให้บริการทางการเงินอื่นๆ ที่มีความได้เปรียบด้านต้นทุน

    4.ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือมาตรฐานต่างๆ อาทิ มาตรฐานทางบัญชี เป็นต้น เป็นความเสี่ยงที่ทำให้องค์กรต้องวางแผนใหม่ในการจัดการแบบใหม่

    5.ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เกี่ยวข้องกับธนาคาร ที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการที่ลูกค้าได้รับผลกระทบจากากรเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การที่ลูกค้าไม่สามารถทำมาหากินได้จากเหตุการณ์น้ำท่วม ผลผลิตจากภาคเกษตร เป็นต้น

ทั้งนี้ในการดำเนินกลยุทธ์ความยั่งยืน พัฒนามาจากความสามารถในการปรับตัวรับมือกับความเสี่ยง ที่ต้องมีความรวดเร็วพอและยืดหยุ่นพอ โดยเฉพาะในยุค Digital Disruption ในการปรับตัวจะนำมาสู่โมเดลธุรกิจใหม่ๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์ที่ธนาคารพยายามตอบโจทย์ทางสังคมอย่าง  KPlus ทำให้คนเข้าสู่ระบบธนาคารได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นโมเดลที่ทั้งตอบโจทย์พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกค้า การใช้ KPlus ยังเป็นการลดต้นทุนทั้งในฝั่งของธนาคารเองและลูกค้าเอง ทำให้คนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันผลกระทบในทางอ้อมยังสามารถลดการใช้ทรัพยากรจากการทำธุรกิจที่เป็นเอกสารและลดการเดินทาง ที่ส่งผลต่อการลดผลกระทบทางธุรกิจ

“ในภาพรวมการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนเป็นกระบวนการที่ไม่จบสิ้นและไม่ได้เป็นเป้า ถ้าเป็นเป้ามันก็เป็นเป้าที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องของกระบวนการและโปรเซสของการที่จะทำให้เรื่องนี้มันเกิดขึ้น”ดร.อดิศวร์กล่าวในที่สุด