ThaiPublica > Sustainability > Climate Action > กสิกรไทยเสวนาความยั่งยืนแห่งปี “Rethink Sustainability” หนุนการเปลี่ยนผ่านและลงมือทำเพื่อความยั่งยืน

กสิกรไทยเสวนาความยั่งยืนแห่งปี “Rethink Sustainability” หนุนการเปลี่ยนผ่านและลงมือทำเพื่อความยั่งยืน

23 มีนาคม 2024


ธนาคารกสิกรไทย โดย KBank Private Banking จัดงานเสวนาความยั่งยืนแห่งปี “Rethink Sustainability: A Call to Action for Thailand” หนุนการเปลี่ยนผ่านและลงมือทำเพื่อความยั่งยืน

สถาบันการเงิน โดยเฉพาะ ‘ธนาคาร’ นับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างและขับเคลื่อน ‘ความยั่งยืน’ หรือ ‘Sustainability’ รวมถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)
สถาบันการเงินชั้นนำของประเทศไทยอย่าง ‘ธนาคารกสิกรไทย’ อาสาเป็นตัวกลางขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนผ่านให้ประเทศมุ่งไปสู่ความยั่งยืน โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ลูกค้าของธนาคาร พันธมิตรทางธุรกิจ ภาคเอกชน ภาครัฐ รวมไปถึงประชาชนคนไทยทุกคน

จากความสำเร็จของงานสัมมนา “EARTH JUMP 2023 : New Frontier of Growth” ในปี 2566 ที่ได้รวมสุดยอดผู้บริหารชั้นนำระดับโลกกว่า 30 รายมาร่วมแสดงวิสัยทัศน์และแบ่งปันประสบการณ์ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักธุรกิจเข้าร่วมงานอย่างล้นหลามกว่า 2,000 คน มาสู่งานเสวนาด้านความยั่งยืนภายใต้หัวข้อ “Rethink Sustainability : A Call to Action for Thailand” ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ที่จัดโดยธนาคารกสิกรไทย เคแบงก์ ไพรเวทแบงก์กิ้ง (KBANK Private Banking) และลอมบาร์ด โอเดียร์ (Lombard Odier)

เป้าหมายของงานเสวนาด้านความยั่งยืนในครั้งนี้คือ การผลักดันและเร่งให้เกิดการลงมือทำ ตามแนวคิด ‘Rethink Sustainability’ โดยมีองค์ชั้นนำในประเทศรวมถึงระดับโลก มาแชร์ความรู้เพื่อผลักดันให้เกิดเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน ครอบคลุม 4 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อาหารและการเกษตร ปิโตรเคมี และพลังงานหมุนเวียน ซึ่งงานเสวนานี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานสำคัญทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมกันสร้างแรงขับเคลื่อนให้ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้จริง ไม่ว่าจะเป็น กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) รวมถึงหน่วยงานระดับโลกอย่าง Systemiq และ The Alliance to End Plastic Waste

สำนักข่าวออนไลน์ ThaiPublica รวบรวมประเด็นสำคัญในงาน “Rethink Sustainability : A Call to Action for Thailand” เพื่อตอกย้ำบทบาทสำคัญของธนาคารและนักลงทุนในการสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปสู่ความยั่งยืน และเป้าหมาย Net Zero

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย

กุญแจสู่ความยั่งยืน และมุมมองนักลงทุนต่อ Net Zero

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความท้าทายของเศรษฐกิจโลกหนีไม่พ้นเรื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะความพยายามลดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส รวมถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปีพ.ศ. 2593 ดังนั้นทุกภาคส่วนทั้งภาคธุรกิจและประชาชนจะต้องปรับตัวเพื่อมุ่งไปสู่ความยั่งยืนร่วมกัน

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวเปิดงานว่า ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืน ประกอบด้วย 4 แรงขับเคลื่อนสำคัญ คือ

    1.การกำหนดนโยบายและกฎเกณฑ์จากภาครัฐ
    2.การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค
    3.ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรม
    4.การเลือกลงทุนของนักลงทุน

“แต่ละภาคส่วนล้วนมีบทบาทที่แตกต่างกันในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และต้องอาศัยความร่วมมือจึงจะบรรลุเป้าหมายในการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง” นางสาวขัตติยากล่าว

นางสาวขัตติยา ย้ำว่าธนาคารกสิกรไทยมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยเพื่อก้าวสู่ Net Zero อย่างจริงจัง ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการจัดงานเสวนาในครั้งนี้ ที่เชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน เพื่อร่วมกันผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง

นางสาวขัตติยา กล่าวต่อว่า นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจเรื่องความยั่งยืนอย่างมาก มีนักลงทุนต่างชาติที่ตั้งคำถามกับธนาคารกสิกรไทยเรื่องความเสี่ยงของผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อธุรกิจ และคำถามสำคัญคือ “คุณได้สแกนพอร์ตโฟลิโอของคุณหรือยัง” ซึ่งประเด็นเหล่านี้ตอกย้ำให้เห็นว่า ถ้าไม่ปรับตัว จะเกิดความสูญเสียอย่างแน่นอน หมดโอกาสในการหาตลาดใหม่ๆ รวมถึงโอกาสที่เคยมีอยู่อาจจะหายไป

นายอูแบร์ เคลเลอร์  Senior Managing Partner, Lombard Odier

ด้านนายอูแบร์ เคลเลอร์ Senior Managing Partner, Lombard Odier กล่าวว่า “ลอมบาร์ด โอเดียร์ เชื่อว่าธรรมชาติเป็นสินทรัพย์ที่ถูกมองว่ามีมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริง ทั้งที่ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสินทรัพย์ที่มีความจำเป็นและสำคัญต่อเศรษฐกิจในการสร้างผลผลิตรวมถึงโอกาสการลงทุนได้อย่างมหาศาล

“ตอนนี้เรากำลังมองไปที่การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ครั้งใหม่ ที่วางให้ธรรมชาติเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจ ดังนั้น เราจึงต้องให้ความสำคัญและหันมาสร้างคุณค่าจากธรรมชาติให้มากขึ้นและยังต้องสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตที่ยั่งยืน” นายอูแบร์กล่าว

นอกจากนี้นายอูแบร์ เสริมว่า เราอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero ซึ่งมาพร้อมโอกาสในการลงทุนอย่างมหาศาล ดังนั้นนักลงทุนจึงต้องก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลง โดยหันมาให้ความสำคัญกับธรรมชาติ ซึ่งจากการประชุม COP28 เห็นได้ชัดว่าทรัพยากรมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจระดับโลก ระบบอาหาร ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ดังนั้นระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยใช้แนวทางการฟื้นฟูธรรมชาติจะสามารถช่วยให้เราก้าวข้ามระบบเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันได้

ไทยยั่งยืนที่ 1 ในอาเซียน แต่การลดก๊าซเรือนกระจกไม่ถึงเป้า

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญในการผลักดันและขับเคลื่อนให้เกิดการลงมือทำ เพื่อก้าวไปสู่ความยั่งยืน คือ ‘ภาครัฐ’ ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของไทย (SDGs Goal) ในหัวข้อ “โอกาสในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน” (Identify and Capture the Transitional Oppotunities in Thailand) ว่า ประเทศไทยได้คะแนนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนลำดับที่ 43 ของโลก และลำดับที่ 3 ของเอเชีย และอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน

แม้ประเทศไทยจะเป็นที่ 1 ของอาเซียน แต่ ดร.พิรุณ บอกว่า “การดำเนินการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกยังล่าช้า” เพราะเมื่อเทียบกับเป้าหมายระยะสั้นคือ ปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) ต้องลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 43% แต่ปัจจุบันยังทำได้แค่ 30% เท่านั้น ซึ่งในอีก 5 ปีต่อมาในปี พ.ศ. 2578 (ค.ศ. 2035) มีเป้าที่จะต้องลดให้ได้ถึง 60% ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065) ตามมาอีกด้วย

ดร.พิรุณ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันการดำเนินงานสู่ความยั่งยืนของไทยถือว่าเติบโตขึ้นมาก โดยเฉพาะเป้าหมายเรื่องการลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินที่มีแผนชัดเจน อย่างไรก็ตาม ยังมีการปฏิบัติอื่นๆ ที่ต้องทำควบคู่กันอีกมาก จึงนำมาสู่คำถามว่า “ทำอย่างไรให้แผนและความร่วมมือแปลงไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม”

“ผมยืนยันว่าภาครัฐ แม้นโยบายไม่สามารถจิ้มและชี้ได้เร็ว แต่ภาพรวมของแผนได้รับการยอมรับและความร่วมมือระหว่างประเทศมากพอสมควร…การทำงานในวันนี้ ทุกคนในภาพรวมของประเทศ ค่อนข้างเข้าใจและพร้อมขับเคลื่อนกับภาครัฐ ขณะที่ประชาชนแม้ยังไม่ได้เข้าใจมากพอก็พร้อมจะเปลี่ยนแปลงไปกับมาตรการและกฎหมาย ดังนั้นการสร้างความตระหนักรู้เป็นเรื่องสำคัญในการเร่งการขับเคลื่อนทุกมิติ” ดร.พิรุณกล่าว

เมื่อถามถึงอุปสรรคในการเปลี่ยนผ่าน ดร.พิรุณตอบว่าอุปสรรคคือกฎหมาย และกลไกสนับสนุนที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม สถาบันการเงินต้องลงทุนไปในทิศทางที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนต้นทุนเทคโนโลยีที่ประเทศไทยจ่ายยังมีราคาสูงอยู่

“เรามีต้นทุนที่ต้องจ่าย แต่ต้องเลือกว่าจะจ่ายวันนี้ หรือจะจ่ายแพงกว่าในวันหน้า” ดร.พิรุณ กล่าว

นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก จำกัด (มหาชน)

ในเวทีเสวนาหัวข้อเดียวกัน นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองว่า ประเทศไทยควรใช้ BCG Model (Bio, Circular และ Green) เป็นตัวขับเคลื่อนและเปลี่ยนผ่าน เนื่องจาก BCG เหมาะกับบริบทประเทศไทย

นายวิวรรธน์ ยกตัวอย่างเรื่อง Bio ซึ่งประเทศไทยมีผลผลิตการเกษตรที่ดี ประกอบกับมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ดังนั้นควรผลักดันองค์ความรู้ด้านสมุนไพร ทว่ายังติดข้อจำกัดเรื่องเทคโนโลยี

ขณะที่ประเด็น Circular และ Green เห็นได้ชัดว่าภาคธุรกิจจำนวนมากให้ความสนใจ และเริ่มปฏิบัติอย่างจริงจัง ซึ่งนับเป็นสัญญาณบวกที่ภาคธุรกิจและผู้บริโภคตื่นตัวมากขึ้น

นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

Carbon War : เกมที่ประเทศไทยแพ้ไม่ได้

นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในหัวข้อ “โอกาสแห่งการเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจ และศักยภาพในการแข่งขันระดับภูมิภาค” (Winning the Transition Opportunities – Connect the Regional Game) ว่า ธนาคารกสิกรไทยมุ่งสู่การเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน และเป็นผู้นำด้าน ESG ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สนับสนุนโครงการที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ปรับเปลี่ยนการดำเนินงานภายในของธนาคารเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกและยกระดับมาตรฐานสู่สากล
นายพิพิธ กล่าวต่อว่า “การเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนถือเป็นภารกิจระดับโลก ประเทศผู้นำที่มีความพร้อมสามารถกำหนดนโยบายด้านความยั่งยืนที่อาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อทุกประเทศ และเป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างความท้าทายเป็นอย่างมากต่อประเทศไทย ขณะที่ธนาคารกสิกรไทยมีบทบาทในการส่งเสริมเงินทุนเพื่อสนับสนุนธุรกิจที่ยั่งยืน โดยเชื่อมั่นในการร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น

นายพิพิธ กล่าวต่อว่า ในอดีตที่ผ่านมาประเทศมหาอำนาจมีการกีดกันผ่านกลไกต่างๆ ตั้งแต่สงครามการค้า (Trade War) ต่อมาเป็นสงครามเทคโนโลยี (Tech War) และในอนาคตถ้าหากว่ามีสงครามการกีดกันด้วยคาร์บอน หรือ Carbon War และในกรณีที่ประเทศไทยไม่ปรับตัว จะทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันและการเติบโต ตลอดจนมีการคาดการณ์ว่าจีดีพีอาจหายไปถึง 30%
สิ่งเหล่านี้คือ Global Game ที่นายพิพิธ ย้ำว่า ธนาคารกสิกรไทยต้องการให้ทุกคนเป็นผู้ชนะ (Winner) ในเกมนี้ และเพราะหากมีผู้แพ้ (Loser) เกิดขึ้น หมายความว่าธุรกิจที่ธนาคารกสิกรไทยปล่อยสินเชื่อจะไม่สามารถดำเนินการต่อได้ นั่นหมายถึงความพ่ายแพ้ของธนาคารกสิกรไทย

“ทำไมเราอยากให้ทุกคนชนะ เพราะถ้าทุกคนแพ้แปลว่าธนาคารก็แพ้ไปด้วย ธนาคารจึงต้องออกมาขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง…หลายคนคิดว่าธนาคารเป็นแค่คนรับเงินฝากและปล่อยเงินกู้ แต่ถ้าเราคิดอย่างนั้นเราคงไม่จัดงาน Rethink Sustainability : A Call to Action for Thailand” นายพิพิธกล่าว

เป้าหมายของธนาคารกสิกรไทยคือ Beyond Banking Solutions หรือเป็นธนาคารที่มากกว่าบริการทางการเงิน เพื่อช่วยให้ลูกค้าปรับตัวได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญ นำโซลูชันต่างๆ พร้อมทั้งแนวคิดที่ดีมาปรับใช้ รวมถึงการถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วน เพื่อหวังผลักดันให้ภาคธุรกิจและองค์กรต่างๆ ปรับตัวไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

นายพิพิธ ยังเสนอเรื่องการจัดทำมาตรการทางคาร์บอน โดยยกตัวอย่างเรื่องคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ว่า การใช้มาตรฐานของไทยเสียงดังไม่เท่ามาตรฐานโลก ดังนั้น ธนาคารกสิกรไทยจึงตอกย้ำความเป็น Beyond Banking และเสนอเรื่อง ความร่วมมือระดับภูมิภาค เพื่อสร้าง Regional Game โดยจับมือกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน และสร้างมาตรฐานใหม่ร่วมกัน

ท่องเที่ยว-อาหาร ยั่งยืนต้องคำนึงถึง ‘สิ่งแวดล้อม’

อีกหนึ่งเวทีสำคัญคือ “สร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ (Building Through a Sustainable Future in Tourism and Service Industry)” โดยผู้ให้ข้อมูลคือ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และอดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ เป็นต้นตอของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึงร้อยละ 8 จากจำนวนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และอดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

นายยุทธศักดิ์ บอกว่า การท่องเที่ยวต้องให้ความสำคัญกับ 2 คำคือ ‘Sustainability’ (ความยั่งยืน) และ ‘Resilience’ (ความสามารถในการปรับตัว) โดยเหตุผลที่เป็น 2 คำนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา การท่องเที่ยวไทยส่งผลกระทบหลายด้าน เช่น การกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงการขยายตัว-ลงทุนที่ทำลายวิถีชีวิต สังคมและสิ่งแวดล้อม

นายยุทธศักดิ์ กล่าวต่อว่า การพัฒนาการท่องเที่ยวต้องลดผลกระทบทางลบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (minimize) ขณะเดียวกันต้องเพิ่มผลกระทบทางบวกต่อชุมชนและสังคม (maximize)

“ความยั่งยืนต้องเป็น soft power และเป็น key driver ของ การสร้างความเติบโตให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการของไทยในอนาคต ถ้าเรายังไม่มองเรื่องเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน การเอาคนมาเที่ยวเฉยๆ ไม่พอ เราต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน”

นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)

ถัดมาเป็นเวทีหัวข้อ “ระบบอาหารแห่งอนาคต: บริโภคอย่างยั่งยืน เพื่อโลกที่ยั่งยืน (New Food System: Feeding the World, Nourishing the Planet)” โดยผู้ให้ข้อมูลคือ นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)

การเสวนาหัวข้อนี้เน้นเจาะลึกประเด็นด้านการเกษตร ห่วงโซ่อาหาร และแนวทางการผลิตรูปแบบใหม่ที่ใช้ทรัพยากรน้อยลง แต่สร้างผลิตผลที่เพิ่มขึ้นด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีการผลิตใหม่ที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น คาดว่าภายในปี พ.ศ. 2593 จะมีจำนวนประชากรเพิ่มราว 1 หมื่นล้านคน นำไปสู่ความต้องการด้านอุปโภค บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 60-100 ดังนั้น ความท้าทายของเบทาโกรคือ ผลิตอาหารอย่างไรให้เพียงพอต่อประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายวสิษฐ กล่าวว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องอยู่บนพื้นฐานของความซื่อสัตย์ (Integrity) พร้อมกับการนำพาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนไปร่วมกัน ฉะนั้น เบทาโกร จึงให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และความปลอดภัยทางอาหาร (Food Safety) ประกอบกับองค์ประกอบเรื่องคุณภาพ ความอร่อย และราคาที่เป็นธรรม

นายวสิษฐ กล่าวต่อว่า บริษัทนำความยั่งยืนเข้าไปเป็นส่วนสำคัญของการทำธุรกิจ ตั้งแต่กระบวนการจัดการ การผลิต การจัดจำหน่าย การขาย และแพคเกจจิ้ง ทุกกระบวนการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมตามแนวคิด “Sustainable Food”

นายวสิษฐ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันเบทาโกรผลิตพลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์ ได้ถึง 10% เมื่อเทียบกับการใช้งานของเครือ ส่วนแพคเกจจิ้งรูปแบบ Eco-Friendly คิดเป็น 97% ของสินค้าทั้งหมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของเบทาโกรคือ ‘เทคโนโลยี’ และ ‘ต้นทุน’ ทั้งเทคโนโลยีการผลิตอาหาร เทคโนโลยีด้านพลังงาน และเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน เพราะหากเอียงไปฝั่งใดมากเกินไป ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระราคาที่เพิ่มขึ้น

ทางออก พลาสติก-พลังงาน-ขนส่ง ตัวการโลกเดือด

นางสาวกรกมล กอไพศาล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกลยุทธ์ พัฒนาธุรกิจและพาณิชยกิจ กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีมูลค่าเพิ่ม บริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

อุตสาหกรรมที่ขึ้นชื่อเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคือ อุตสาหกรรมเคมีและพลาสติก กระทั่งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ กระแส Bio-Plastic เริ่มถูกพูดถึงมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีกรณีศึกษาการปรับตัวผ่านแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นแนวทางที่จะสร้างความยั่งยืนแก่สิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น และคาดว่าในอนาคตพลาสติกจะเป็นสินทรัพย์แห่งอนาคตโดยต้องอาศัยเม็ดเงินลงทุนด้านนี้ราว 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี พ.ศ.2583

นางสาวกรกมล กอไพศาล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกลยุทธ์ พัฒนาธุรกิจและพาณิชยกิจ กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีมูลค่าเพิ่ม บริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อ “พลาสติกหมุนเวียน อุตสาหกรรมเคมีแห่งอนาคต” (Plastic Circularity: Chemistry Shaping the Future) ว่า โจทย์ของ GC คือทำอย่างไรให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ดังนั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 บริษัทได้ให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูล และปรับกระบวนการผลิตโดยนำแนวคิด Circularity มาสร้างความยั่งยืนและความมั่นใจในการเติบโตที่รับผิดชอบต่อสังคม

“ในธุรกิจพลาสติก หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คนจะมองเราเป็นต้นตอของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เราจึงมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนทั้งองค์กร และที่สำคัญปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่สามารถทำคนเดียวได้ ทั้งองค์กรต้องมีความเชื่อไปด้วยกัน…ผีเสื้อตัวเล็กๆ กระพือปีกตัวเดียว อาจไม่พร้อมกับการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเรามีผีเสื้อที่ช่วยกันกระพือปีก เราจะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมและความเปลี่ยนแปลง” นางสาวกรกมล กล่าว
นางสาวกรกมล สรุปแผนของ GC 3 เป้าหมาย ได้แก่ (1) สร้างการแข่งขันในธุรกิจหลักให้มากขึ้น เน้นศักยภาพในการทำงานทำให้ต่อสู้กับคู่แข่งได้ (2) ปรับพอร์ตการลงทุน โดยเน้นลงทุนในธุรกิจที่สร้างความยั่งยืนให้โลก และ (3) เติบโตร่วมกับพันธมิตร และพัฒนาเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนไว้ใต้ดินและนำกลับมาใช้ เพื่อลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ยังมีเวที “อนาคตพลังงานทางเลือกของประเทศไทย กับโอกาสในการลงทุนด้านพลังงาน” (Carbon Oppotunities and Future Electrification) โดยนายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ก๊าซเรือนกระจกกว่าร้อยละ 70 มาจากการเผาไหม้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ดังนั้นการปรับเปลี่ยนรูปแบบของพลังงานดังกล่าวมาเป็นพลังงานไฟฟ้าจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

นายสมโภชน์ กล่าวว่า EA เน้นดำเนินธุรกิจไปที่ภาคพลังงาน (Energy) และภาคขนส่ง-การเดินทาง (Transportation) เพราะเป็นต้นเหตุหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะเดียวกันทั่วโลกก็พยาายามแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซจากทั้งสองอุตสาหกรรมข้างต้น

นายสมโภชน์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยจะมีนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40% ภายในปีพ.ศ. 2573 แต่ถ้าดูในกรอบนโยบายแล้วยังไม่ชัดเจน เหมือนมีวิสัยทัศน์ แต่ไม่มีกลยุทธ์และแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม

กลยุทธ์ของ EA ในฐานะผู้เล่นในอุตสาหกรรมพลังงาน จึงกระโดดเข้าไปในภาคการขนส่งและการเดินทาง โดยเข้าไปทำโปรเจครถเมล์ไฟฟ้า รวมถึงวางแผนขายคาร์บอนเครดิตให้กับต่างประเทศด้วย

“เราต้องรีบ transform ตัวเองโดยใช้โอกาสเรื่องเงินและคนให้เป็นประโยชน์ เราเลยไปเน้นที่รถบัส รสใหญ่ กระทั่งรถไฟและเรือ …เรื่องการเปลี่ยนผ่าน เปลี่ยนตอนนี้ดีกว่าโดนบังคับให้เปลี่ยน เราได้เงิน ทำให้ได้เปรียบในการแข่งขัน”

โอกาสลงทุนจากการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย

ปิดท้ายด้วยมุมมองที่น่าสนใจจาก นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย ที่ชี้ให้เห็นถึงโอกาสในการลงทุนเพื่อความยั่งยืนด้วยเม็ดเงินในการกระจายการลงทุนมูลค่ามหาศาลถึง 34 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (หรือกว่า 1.2 พันล้านล้านบาท) ภายในปีพ.ศ. 2573 ด้วยการยึดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ที่เรียกว่า CLIC® Economy คือเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular) ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า (Lean) ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ (Inclusive) และเป็นธุรกิจที่ช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่สะอาด (Clean)

“ขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เคแบงก์ ไพรเวท แบงก์กิ้ง ในฐานะผู้เชี่ยวชาญและผู้ให้คำแนะนำการลงทุน เล็งเห็นว่านักลงทุนคือหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างยั่งยืน ผ่านการลงทุนด้วยกลยุทธ์ที่เหมาะสม เน้นลงทุนในธุรกิจและสินทรัพย์ที่มีการสนับสนุนเศรษฐกิจที่สร้างความยั่งยืนแก่โลก ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาวที่มีมูลค่ามหาศาลเท่านั้น แต่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจแห่งอนาคตไปสู่ความยั่งยืนได้ด้วย” นายจิรวัฒน์ กล่าว

งานเสวนา “RETHINK SUSTAINABILITY: A Call to Action for Thailand” เป็นงานเสวนาด้านความยั่งยืนแห่งปี ภายใต้ความร่วมมือ ระหว่างธนาคารกสิกรไทย โดย เคแบงก์ ไพรเวทแบงก์กิ้ง บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด และลอมบาร์ด โอเดียร์ เพื่อร่วมกันผลักดันประเทศไทยให้เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมแห่งความยั่งยืนในอนาคต สามารถติดตามรับชมวิดีโอย้อนหลังได้ที่ www.youtube.com/@KBankPrivateBanking