ThaiPublica > เกาะกระแส > “ภัทร” รุกไพรเวตแบงกิง ตั้งเป้า “The best global private bank for Thais” นำลูกค้ากระจายการลงทุนทั่วโลก

“ภัทร” รุกไพรเวตแบงกิง ตั้งเป้า “The best global private bank for Thais” นำลูกค้ากระจายการลงทุนทั่วโลก

5 พฤศจิกายน 2019


นางกุลนันท์ ซานไทโว กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าสายงานลูกค้าบุคคล และนายณฤทธิ์ โกสาลาทิพย์ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2562 บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวถึงความพร้อมรุกศึกไพรเวตแบงกิง จัดเต็มบริการการลงทุนในทุกกลุ่มสินทรัพย์ทั่วโลก เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคลที่เรียกว่า Wealth Management หรือ Private Banking คือธุรกิจที่ทุกธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินกำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด เพื่อรองรับการเติบโตของกลุ่มลูกค้าผู้มีความมั่งคั่งระดับสูง (High Net Worth Individual, HNWI) หรือคนที่มีความมั่งคั่งมากกว่า 10 ล้านบาทที่ประเมินกันว่ายังคงถือครองสินทรัพย์ที่ไม่อยู่ภายใต้การบริหารของไพรเวตแบงก์อีกรวมกันกว่า 3 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าสินทรัพย์ที่อยู่ในระบบของไพรเวตแบงก์ในปัจจุบันทั้งหมด

นายณฤทธิ์ โกสาลาทิพย์ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า แม้สถานการณ์เศรษฐกิจของโลกจะดูเป็นขาลงอีกครั้งและไม่ได้สดใสนัก แต่ตลาดของการบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล หรือไพรเวตแบงกิงยังมีภาพของการเติบโตที่ดีอยู่จาก 3 ปัจจัย

ประการแรก สถานการณ์ดอกเบี้ยทั่วโลกเป็นขาลงมามากกว่า 10 ปีและคาดว่าจะเป็นขาลงไปอีกระยะตั้งแต่ 1-10 ปี ทำให้การฝากเงินไว้กับธนาคารเพียงอย่างเดียวเริ่มไม่ให้ผลตอบแทนที่เพียงพออีกต่อไปและมีคนเริ่มออกมาแสวงหาผลตอบแทนในตลาดการเงินอื่นๆ มากขึ้น โดยจากข้อมูลล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่ามีเงินฝากในระบบธนาคารอยู่ประมาณ 14 ล้านล้านบาท และครึ่งหนึ่งหรือ 7 ล้านล้านบาทเป็นเงินฝากที่มียอดเงินฝากต่อบัญชีมากกว่า 10 ล้านบาท หรือเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีความั่งคั่งระดับสูง

ประการที่สอง กลุ่มเป้าหมายธุรกิจครอบครัวเริ่มเติบโตมั่นคงมากขึ้นและมีสภาพคล่องเหลือเพียงพอ จากเดิมที่ในช่วงเริ่มต้นอาจจะต้องเน้นการนำผลกำไรกลับไปลงทุนขยายกิจการ แต่ในปัจจุบันเมื่อธุรกิจเติบโตมาในรุ่นที่ 2-3 และธุรกิจมีความแข็งแรงอยู่ตัวและไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มขึ้นมากอย่างในช่วงแรก อีกด้านธุรกิจยังสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างต่อเนื่องและพร้อมที่จะออกมาแสวงหาโอกาสลงทุนมากขึ้น

ประการสุดท้าย คือ การส่งผ่านธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นที่คาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่าประมาณ 8.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าประมาณ 1 ใน 4 ของเงินดังกล่าวจะมีการเปลี่ยนธนาคารหรือผู้ดูแลความมั่งคั่งตามความชอบของคนที่รับช่วงธุรกิจต่อมา ดังนั้นสิ่งนี้เป็นทั้งโอกาสของธนาคารใหม่และความท้าทายของธนาคารเก่าว่าจะรักษาฐานลูกค้าไว้อย่างไร

ขณะเดียวกัน กฎเกณฑ์การออกไปลงทุนในต่างประเทศของทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เริ่มผ่อนปรนและมีท่าทีจะผ่อนปรนมากขึ้นในอนาคต จะทำให้การลงทุนในระยะต่อไปไร้พรมแดน ตอนนี้ตลาดการลงทุนไพรเวตแบงกิงของไทยเริ่มเป็นที่สนใจจากบริษัทหลักทรัพย์หรือธนาคารระดับโลก เพราะเห็นโอกาสของเงินทุนที่ติดกับดักอยู่ในประเทศไทยจำนวนมากและพร้อมจะถูกลงทุนในอนาคตอันใกล้

“บางธนาคารในไทยเริ่มจับมือกับบริษัทระดับโลกเหล่านี้บ้างแล้ว แต่จากประสบการณ์ที่ภัทรเคยร่วมทุนกับ Merrill Lynch ก็ทำให้เห็นข้อดีข้อเสียหลายประการ แน่นอนว่าเราได้รับการถ่ายทอดความรู้ต่างๆ มาค่อนข้างมาก แต่อีกด้านต้นทุนของการบริการระดับโลกก็ถือว่าค่อนข้างสูงสำหรับไทย หรือการเข้าใจนิสัยหรือความชอบของคนไทยก็อาจจะกลายเป็นอุปสรรคที่บริษัทในไทยอาจจะได้เปรียบกว่า อย่างภัทรเองในช่วงปี 2542 ที่ร่วมทุนแล้วตามนโยบายของเขาคือไม่ต้องการให้เราจำกัดอยู่แค่หน้าที่นายหน้าขายหุ้น แต่ต้องให้บริการบริหารความมั่งคั่งของลูกค้า ซึ่งตอนนั้นตลาดการเงินไทยค่อนข้างแคบ มีสินค้าให้เลือกลงทุนไม่กี่อย่าง” นายณฤทธิ์กล่าว

นายณฤทธิ์ โกสาลาทิพย์

นายณฤทธิ์กล่าวต่อว่า รูปแบบธุรกิจตอนนั้นภัทร อาศัยงานวิจัยจากลูกค้าสถาบันที่มีอยู่และบุคลากร ก็ได้สร้างนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการหาผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของลูกค้า ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นผลิตภัณฑ์ของภัทรเพราะตอนนั้นไม่มีและภัทรเชื่อว่ารูปแบบนี้สามารถสร้างผลตอบแทนให้ลูกค้าได้เหมาะสมกว่า ตอนหลังก็กลายมาเป็นสิ่งที่เรียกว่า Open Architecture  หรือการทำ Consolidate Statement ที่ต้องสรุปการลงทุนให้ลูกค้าเป็นเจ้าแรกๆ เนื่องจากภัทรเลือกลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภทและหลากหลายเจ้าอยู่แล้ว หรือการเริ่มขอกับ ก.ล.ต.ให้สามารถซื้อขายกองทุนผ่านโทรศัพท์ได้เหมือนซื้อขายหุ้น หรือการย้ายเงินลงทุนไปมาระหว่างตลาดทุนและตลาดเงิน เพื่อไม่ให้ลูกค้าเสียโอกาส เป็นต้น

นอกจากนี้ ในช่วงหลังจากการควบรวมกับธนาคารเกียรตินาคินเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ทำให้ภัทรสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างไร้รอยต่อกับพนักงานเพียงคนเดียว ไม่ว่าจะเป็นตลาดทุนตลาดเงิน เนื่องจากมีใบอนุญาตครบทุกประเภทของตลาดการเงิน ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับการให้บริการบริหารความมั่งคั่งของต่างประเทศ แตกต่างจากธนาคารที่อาจจะให้บริการได้เพียงตลาดเงิน แต่พอจะย้ายไปลงทุนในตลาดทุนก็ต้องติดต่อกับพนักงานอีกคน

“จากวันนั้นมาถึงตอนนี้เราเชื่อว่าภัทรมีผลิตภัณฑ์ให้ลงทุนสมบูรณ์ที่สุดในตลาดการเงินไทยแล้ว ความแตกต่างของภัทรหากดูจากสัดส่วนของสินทรัพย์ภายใต้การจัดการของภัทรที่ 700,000 ล้านบาท ซึ่งเทียบเท่ากับธนาคารใหญ่ๆ หลายธนาคารแล้ว แต่ในส่วนนี้ประมาณ 80% เป็นสินทรัพย์ที่ลงทุนและอีก 20% เป็นลักษณะของเงินฝาก แสดงให้เห็น แต่ของธนาคารหลายแห่งสัดส่วนก็จะครึ่งๆ ดังนั้นหากนับเฉพาะสินทรัพย์ลงทุนของเราอาจจะเป็นที่หนึ่งของตลาดด้วยซ้ำ เราเชื่อว่าเราเป็น The best local private banking แต่ต่อไปนี้เราตั้งใจว่าจะเป็น The best global private bank for Thais” นายณฤทธิ์กล่าว

นายณฤทธิ์กล่าวต่อไปว่า ในระยะต่อไปภัทรได้เตรียมพร้อมที่จะก้าวต่อไป ไม่ว่าจะเป็น Global Investment Service ที่เป็นแพลตฟอร์มการลงทุนที่ร่วมมือกับสถาบันการเงินระดับโลกที่ตอบโจทย์เรื่องการลงทุนทั่วโลกได้ด้วยราคาที่ดีที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุด หรือจะเป็นการพาลูกค้าไปลงทุนกับกองทุนที่หลากหลายต่างๆ ในโลก หรือแม้แต่ตลาดเงินส่วนบุคคลอย่าง private equity fund ต่างๆ ซึ่งส่วนต่างของการลงทุนในการลงทุนในตลาดเงินสาธารณะอาจจะมากขึ้น 5% ดูเหมือนจะไม่มากแต่หากลงทุนแบบนี้ไป 16 ปีส่วนต่างของเงินจะสูงถึง 2 เท่า และหากมองระยะยาวว่าเป็นการส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น ความแตกต่างนี้ในระยะเวลา 50 ปีจะหมายถึงเงินที่ต่างกันถึง 10 เท่า ซึ่งคนไทยก็ควรจะมีโอกาสได้ไปลงทุนหาผลตอบแทนอะไรแบบนี้ได้ด้วย

นางกุลนันท์ ซานไทโว

ด้านนางกุลนันท์ ซานไทโว กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานลูกค้าบุคคล กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวเสริมถึงกรณีที่หลายธนาคารเริ่มหันมาสนใจลูกค้ากลุ่มนี้เหมือนกันและเสนอบริการที่คล้ายๆ กันว่า สิ่งที่แตกต่างของภัทรคือพนักงานที่ดูแลลูกค้ามีความเชี่ยวชาญมากและสามารถดูแลได้จบในคนเดียว บางคนมีความรู้ความสามารถในการลงทุนเพียงพอที่จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาการลงทุนได้ด้วยซ้ำ บุคลากรที่มีประสบการณ์อย่างยาวนานและมีความรู้ความสามารถก็ช่วยสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าที่จะฝากเงินหลายล้านบาทเอาไว้ได้

“การไปลงทุนในต่างประเทศไม่ใช่ว่าจะให้ไปลงทุนในตลาดที่เสี่ยงมาก ได้ผลตอบแทนสูงๆ ทันที แต่เราจะเดินไปด้วยกันกับลูกค้า บางคนย้ายออกมาจากเงินฝาก ไม่ใช่ให้ไปลงในตลาดจีนหรืออินเดียเลย ถ้าเกิดรับความเสี่ยงไม่ได้เสียหายขึ้นมาเขาก็ไม่อยู่กับเราแล้ว เราก็ค่อยๆ เรียนรู้ไปด้วยกันว่ารับความเสี่ยงได้แค่ไหน จะได้ผลตอบแทนประมาณไหน อาจจะเริ่มจากไปที่ตลาดเงินก่อน ซื้อพันธบัตรก่อน แล้วพอเรียนรู้แล้วว่าความเสี่ยงเป็นแบบนี้ผลตอบแทนเป็นแบบนี้ อาจะย้ายไปตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ซึ่งก็จะมีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาเพิ่ม อะไรแบบนี้” นางกุลนันท์กล่าว