ThaiPublica > เกาะกระแส > การรถไฟยื่นหนังสือพร้อมหลักฐานใหม่ให้ 4 หน่วยงาน เสนอ ครม. งดจ่ายค่าโง่ – สู้คดีโฮปเวลล์?

การรถไฟยื่นหนังสือพร้อมหลักฐานใหม่ให้ 4 หน่วยงาน เสนอ ครม. งดจ่ายค่าโง่ – สู้คดีโฮปเวลล์?

22 พฤศจิกายน 2019


นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ ในฐานะคณะทำงานคดีโฮปเวลล์

การรถไฟยื่นหนังสือพร้อมหลักฐานใหม่ให้ 4 หน่วยงาน เสนอ ครม. งดจ่ายค่าโง่ สู้คดีโฮปเวลล์?

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 เวลา 13.30 น. นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ รับมอบอำนาจจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมตัวแทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ยื่นหนังสือถึง 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการคลัง , สำนักงบประมาณ , สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกรมบัญชีกลาง โดยขอให้ควบคุมดูแลการใช้จ่ายของเงินแผ่นดิน และหน่วยงานภาครัฐในคดีโฮปเวลล์

นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ รฟท. กล่าวว่า ความจริงโครงการโฮปเวลล์นั้น เป็นโครงการลงทุนของรัฐบาล ไม่ใช่โครงการของกระทรวงคมนาคม ที่มาของโครงการนี้ เกิดจากที่ประชุม ครม.มีมติ มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปลงนามในสัญญาสัมปทานก่อสร้างทางรถไฟ และทางรถยนต์ยกระดับในกรุงเทพมหานครแทน แต่หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา ให้กระทรวงคมนาคม และรฟท. ร่วมกันจ่ายชดเชยค่าเสียหายแก่บริษัทโฮปเวลล์(ประเทศไทย)จำกัด 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี แต่ก่อนจ่ายเงินกระทรวงคมนาคมได้แต่งตั้งคณะทำงานคดีโฮปเวลล์ชุดใหญ่ มาตรวจสอบความถูกต้อง ซึ่งตนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะทำงานชุดนี้ ได้เรียกเอกสารมาตรวจสอบ พบว่ามีการดำเนินการที่อาจไม่เป็นไปตามกฎหมายหลายเรื่อง

  • โฮปเวลล์(ตอน 1) : ตำนานคดีค่าโง่ จากรัฐบาลชาติชาย ชุณหวัณ ถึง ประยุทธ์ จันทร์โอชา… “จบแบบไม่จบ” อ้างโฮปเวลล์ขอเจรจา
  • โฮปเวลล์ (ตอน 2): หลักฐานใหม่คดีค่าโง่…การรถไฟพลิกปมเด็ด “โฮปเวลล์” ขอเจรจาด่วน
  • “ศักดิ์สยาม” พร้อมสู้คดีค่าโง่โฮปเวลล์ถึงที่สุด ส่งหลักฐาน 4 หน่วยงาน ร่วมตรวจสอบ
  • เริ่มตั้งแต่ประเด็นที่มาของโครงการโฮปเวลล์นั้น ที่ประชุม ครม.มีมติมอบอำนาจให้กระทรวงคมนาคมลงนามในสัญญาสัมปทานฯ กับบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด ไม่ใช่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งตามหลักการของกฎหมายที่ถูกต้อง คู่สัญญาควรต้องเป็นกระทรวงคมนาคมลงนามกับบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) ใช่หรือไม่

    ประเด็นต่อมา เมื่อถึงวันที่ลงนามในสัญญาสัมปทานฯ ปรากฏว่ามีกระทรวงคมนาคม และรฟท. ร่วมลงนามในสัญญาฯกับบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตนไม่แน่ใจว่า รฟท.เข้าไปลงนามในสัญญาสัมปทานฯได้อย่างไร จากนั้นได้มีการขยายผลการตรวจสอบเอกสารต่อไป พบว่าบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด มีผู้ถือหุ้นเป็นคนต่างด้าว หรือ นิติบุคคลต่างด้าว เกินกว่า 50% ตามที่ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 (ปว.281) ที่มีผลบังคับใช้ในขณะนั้น กำหนดว่า หากผู้ประกอบการต่างด้าวมีความประสงค์จะจัดตั้งบริษัท เพื่อประกอบกิจการขนส่งทางบก บริหารการเดินรถ ก็สามารถทำได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลเป็นกรณีเฉพาะ หรือ ออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ยกเว้นการบังคับใช้ตาม ปว. 281 ให้แก่ผู้ประกอบการต่างด้าวรายอื่นๆเป็นการทั่วไป ซึ่งกระทรวงคมนาคม ก็ได้มีการทำเรื่องเสนอที่ประชุมครม. ขอสิทธิประโยชน์ ยกเว้น ปว. 281 ให้กับบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด แต่เมื่อไปตรวจสอบมติ ครม. ดังกล่าวแล้ว ปรากฎว่า ครม.ไม่ได้มีมติอนุมัติ ให้ยกเว้น ปว. 281 ให้บริษัท โฮปเวลล์ฯ แต่ประการใด ดังนั้น กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ จะไปรับจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ได้

    จากนั้นก็มีประเด็นคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ไปให้สิทธิส่งเสริมการลงทุนแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด หากการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ไม่มีสถานะภาพของการเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย แต่ BOI ได้ให้สิทธิส่งเสริมการลงทุนแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปี 2542 ซึ่งปัจจุบัน BOI ก็ยังไม่ได้เพิกถอนสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ซึ่งตนคงจะต้องนำหลักฐานใหม่ที่ตรวจพบไปยื่นคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนให้รับทราบในเร็วๆนี้

    นายนิติธร กล่าวต่อว่า “นอกจากนี้คณะทำงาน ฯ ยังได้ตรวจพบในช่วงปี 2548 บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ได้ทำการขายหุ้นบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้กับบริษัท ยูไนเต็ด ซัคเซส จำกัด ที่จดทะเบียนในประเทศสาธารณรัฐมอริเชียส ซึ่งตนไม่ยืนยันตัวเลขการซื้อขายหุ้นว่ามีมูลค่า 500 ล้านบาท จริงหรือไม่ แต่จากการตรวจสอบข้อมูลของบริษัท ยูไนเต็ด ซัคเซส ปัจจุบันก็ไม่ปรากฎว่ามีการประกอบกิจการใดๆ จึงมีข้อสงสัยบริษัทยูไนเต็ด ซัคเซส ใช้เงินจำนวนมาก เข้ามาซื้อหุ้นบริษัทที่มีความเสี่ยงทางคดีความ โดยที่ยังไม่รู้ผลแพ้ หรือ ชนะ การเข้ามาซื้อหุ้นลักษณะนี้ไม่แน่ใจมีเจตนาเข้ามา เพื่อค้าความหรือไม่ ขอย้ำว่าประเด็นนี้เป็นเพียงข้อสงสัย ไม่ได้กล่าวหา ซึ่งคณะทำงานฯต้องหาหลักฐานกันต่อไป”

    “จากหลักฐานใหม่ที่คณะทำงานคดีโฮปเวลล์ตรวจพบทั้งหมดนี้ จะมีผลต่อคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดด้วย เพราะหากจุดเริ่มต้น หรือ ที่มาของโครงการไม่ถูกต้องแล้ว สัญญาที่ลงนามกันไว้รวมไปถึงประเด็นอำนาจฟ้องจะมีผลผูกพันหรือไม่ วันนี้คณะทำงานคดีโฮปเวลล์ จึงนำหลักฐานใหม่ที่ตรวจพบมามอบให้ 4 หน่วยงาน โดยเฉพาะกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณที่มีหน้าที่จัดสรรงบประมาณมาจ่ายค่าเสียหายให้บริษัทโฮปเวลล์ฯ คณะทำงานฯ ขอให้หน่วยงานเหล่านี้ช่วยกันพิจารณา สามารถจ่ายเงินค่าเสียหายให้กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้หรือไม่ หากทั้ง 4 หน่วยงาน เห็นพร้องกับคณะทำงานฯ ว่าจ่ายเงินให้ไม่ได้ ขอให้รายงานความเห็นต่อรัฐมนตรีต้นสังกัด เพื่อนำเสนอที่ประชุม ครม.พิจารณา และไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ของดการบังคับคดีตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ หรือ ทั้ง 4 หน่วยงาน อาจใช้สิทธิยื่นฟ้องคดีเข้าไปใหม่ก็ได้ เพื่อให้สัญญาเป็นโมฆะ นี่คือวัตถุประสงค์ของผมในวันนี้ นายนิติธร กล่าว

    ถามว่าทำไมกระทรวงคมนาคมเพิ่งมาตรวจพบหลักฐานใหม่ ที่ผ่านมาเคยหยิบยกประเด็นนี้ต่อสู้ในชั้นศาล หรือ อนุญาโตตุลาการหรือไม่ นายนิติธร กล่าวว่า การต่อสู้คดีก่อนหน้านี้ ผมไม่ทราบ แต่หลังจากศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้จ่ายค่าเสียหายให้บริษัท โฮปเวลล์ ฯ ตนได้รับการติดต่อจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้มาช่วยตรวจสอบความถูกต้อง ตนในฐานะคณะทำงานจึงเรียกเอกสารมาตรวจสอบ จึงพบประเด็นใหม่ตามที่กล่าวข้างต้น