ThaiPublica > เกาะกระแส > สนพ. โชว์โมเดล “Smart-Micro Grid” แก้ปัญหาไฟตก-ไฟดับอย่างยั่งยืน

สนพ. โชว์โมเดล “Smart-Micro Grid” แก้ปัญหาไฟตก-ไฟดับอย่างยั่งยืน

26 ธันวาคม 2016


ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)

ปัจจุบัน ปัญหาผลิตไฟฟ้าไม่พอใช้ในหลายพื้นที่ยังคงส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในคุณภาพของระบบไฟฟ้าไทย และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมทั้งการลงทุนของประเทศ เช่น อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปี 2557 มีปัญหาไฟตก ไฟดับ (SAIFI) เกิดขึ้น 27 ครั้งต่อรายต่อปี หรือคิดเป็นระยะเวลาที่เกิดปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง (SAIDI) เฉลี่ย 755 นาทีต่อรายต่อปี ขณะที่การลงทุนขยายระบบสายส่งไฟฟ้า ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ครั้นจะไปพึ่งพาพลังงานลมและแสงอาทิตย์ก็มีความผันผวน ส่วนพลังงานฟอสซิลนับวันก็มีแต่จะหมดไป และยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ทั้งนี้เพื่อความมั่นคงในเรื่องของการใช้ไฟฟ้าอย่างยั่งยืน กระทรวงพลังงานจึงค้นหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ทดแทนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อลดแรงต่อต้านจากประชาชน หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 มีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินการติดตั้งระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (microgrid) ที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นโครงการนำร่องภายใต้กรอบวงเงิน 265 ล้านบาท วันที่ 16 ธันวาคม 2559 ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการติดตั้งโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก และโครงการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (smart grid)

saidi

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สนพ. กล่าวว่า โครงการติดตั้งโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมากอยู่ในความรับผิดชอบของ กฟภ. ส่วนโครงการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะอยู่ในความดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถึงแม้ทั้ง 2 โครงการจะมีชื่อเรียกแตกต่างกัน แต่มีหลักการและองค์ประกอบเหมือนกัน คือ จะต้องมีการบริหารจัดการแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก โรงไฟฟ้าดีเซล จากนั้นก็เพิ่มขนาดของโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอร์รี่ (Energy Storage) เข้าไปพร้อมกับติดตั้งระบบควบคุมการผลิตและการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าที่มีอยู่ในพื้นที่ทั้งหมดไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถือเป็นโมเดลต้นแบบของบริหารจัดการไฟฟ้าอย่างยั่งยืน หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ก็จะนำโมเดลนี้ไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

เมื่อถามว่า ทำไมต้องเลือกแม่ฮ่องสอนเป็นโครงการนำร่อง ดร.ทวารัฐ กล่าวว่า เนื่องจากสภาพภูมิประเทศของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่วนใหญ่เป็นเขตพื้นที่ป่าสงวน มีต้นไม้หนาแน่น เส้นทางการสัญจรไปมามีลักษณะคดเลี้ยวหลายพันโค้ง และยังเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่ระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. เข้าไม่ถึง แหล่งพลังงานไฟฟ้าที่กันอยู่ทุกวันนี้ส่วนใหญ่ได้มาจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็ก โรงไฟฟ้าพลังงานงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าดีเซล ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผสมผสานกับระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 115 กิโลวัตต์ จากจังหวัดเชียงใหม่ เดินสายส่งยาวเป็นระยะทางถึง 192 กิโลเมตร ประกอบกับสภาพภูมิอากาศ ช่วงฤดูฝนมีฝนตกชุก เกิดปัญหาดินโคลนถล่ม ต้นไม้ล้มพาดสายไฟ ช่วงฤดูแล้งมีปัญหาไฟป่า การเดินทางเข้าไปยังจุดเกิดเหตุมีความล่าช้า เนื่องจากเป็นพื้นที่ลาดชัน และนี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาไฟตก ไฟดับ อยู่บ่อยครั้ง

Smart Grid

ดร.ทวารัฐ กล่าวว่า ระบบไฟฟ้าอัจฉริยะของ กฟผ. ที่นำมาทดลองใช้ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นระบบไฟฟ้าที่มีความฉลาด 3 อย่าง คือ

ฉลาดที่ 1 เลือกแหล่งผลิตไฟฟ้าได้หลายแห่ง ยกตัวอย่าง อำเภอแม่สะเรียงในอดีตพึ่งพาโรงไฟฟ้าดีเซลและระบบสายส่งไฟฟ้าของ กฟภ. เป็นหลัก ปัจจุบันมีผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยเข้ามาลงทุนทำโซลาร์ฟาร์ม และยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็กของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พ.พ.) ในอนาคตอาจจะเปิดให้ประชาชนยื่นคำขอเพื่อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา หรือโซลาร์รูฟทอป (solar rooftop) พลังงานทั้งหมดจะถูกนำมาบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากเลือกแหล่งผลิตไฟฟ้าแล้ว ระบบไฟฟ้าอัจฉริยะยังสามารถเลือกเวลาให้การสั่งจ่ายไฟฟ้าให้สอดคล้องกับความต้องการใช้จริงได้ด้วย เช่น ช่วงกลางวันมีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อยก็จ่ายกระแสไฟน้อย ช่วงกลางคืนมีความต้องการใช้ไฟมากก็จ่ายกระแสไฟเพิ่มขึ้น รวมทั้งส่งสัญญาณให้ลดการใช้พลังงานชั่วคราวได้ด้วย

ฉลาดที่ 2 สำรองพลังงานพอใช้ หมายความว่าระบบไฟฟ้าอัจฉริยะจะมีระบบสำรองพลังงานในตัว โดยเพิ่มแบตเตอร์รี่ (energy storage) ช่วงกลางวันมีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อย กำลังการผลิตหรือกระแสไฟส่วนที่เกินจากความต้องการใช้ก็จะถูกนำมาเก็บไว้ในแบตเตอร์รี่ หากสร้างระบบนี้สำเร็จ ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องไปก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม

ฉลาดที่ 3 มีระบบทำนายอนาคต กล่าวคือ ลม น้ำ แดด ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสำคัญที่ใช้ผลิตไฟฟ้า แต่มีความผันผวน การบริหารจัดการเชื้อเพลิงประเภทนี้ไม่สามารถควบคุมได้ จึงจำเป็นที่จะต้องติดตั้งระบบทำนายอนาคตที่มีความแม่นยำสูง สามารถพยากรณ์ ลมจะแรง แสงแดดจะอ่อน น้ำจะไหลล่วงหน้า ได้อย่างน้อย 15 นาที เพื่อให้เจ้าหน้าที่ กฟผ. สามารถเตรียมการเลือกแหล่งผลิตพลังงานสำรอง เช่น เรียกพลังงานไฟฟ้าสำรองมาจาก energy storage หรือเรียกไฟฟ้าพลังน้ำมาช่วยสนับสนุน หากยังไม่พออีก ก็ต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซลมาช่วย โดยทั้ง 3 ฉลาดจะมีอุปกรณ์ควบคุมกำลังผลิตไฟฟ้าจากแหล่งต่างๆ และการจ่ายไฟฟ้าที่ทันสมัย ช่วยลดปัญหาไฟตก ไฟดับ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Micro Grid
smart micro grid

ดร.ทวารัฐ กล่าวต่อว่า สำหรับระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมากของ กฟภ. คือระบบไฟฟ้าที่สามารถจ่ายไฟได้อย่างอิสระ อาจไม่ต้องเชื่อมโยงกับระบบหรือทำงานโดยขนานกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าเดิม ระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมากมีองค์ประกอบสำคัญ 3 อย่างเช่นกัน คือ ระบบผลิตไฟฟ้า (DG), ระบบกักเก็บไฟฟ้า (energy storage) และระบบควบคุม (microgrid controller) และโหลด (load) ทั้ง 2 ระบบจะถูกบรรจุอยู่ในแผนแม่บทพลังงานไทย 20 ปี วงเงินลงทุน 2 แสนล้านบาท โดยในช่วง 5 ปีแรกจะเป็นโครงการนำร่องวงเงิน 5,000 ล้านบาท ดำเนินการโดย กฟผ., กฟภ., และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เฉพาะที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทาง กฟผ. ดำเนินการติดตั้งโครงข่ายระบบไฟฟ้าอัจฉริยะในเขตอำเภอเมือง วงเงินลงทุนเฟสแรก 192 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จาก 0.5 เมกะวัตต์ เป็น 3 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ 11 เมกะวัตต์ ติดตั้งระบบกักเก็บประจุไฟฟ้าขนาด 4 เมกะวัตต์ สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ 1 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง ส่วน กฟภ. จะดำเนินการติดตั้งระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมากที่อำเภอแม่สะเรียง โดยจะเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ขนาด 4 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ 1 เมกะวัตต์ ติดตั้งระบบกักเก็บประจุไฟฟ้าขนาด 3 เมกะวัตต์ สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ 1.5 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง รวมเม็ดเงินลงทุน 265 ล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการ คาดว่าดำเนินการเสร็จภายใน 3 ปี

นอกจากที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนแล้ว ทาง กฟภ. ก็มีแผนงานที่จะไปลงทุนติดตั้งระบบระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมากที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ส่วน กฟน. จะดำเนินการติดตั้งโครงข่ายระบบไฟฟ้าอัจฉริยะที่นิคมอุตสาหกรรมบางแห่งในเขตปริมณฑล

โครงการ Micro Grid
โครงการ Smart Grid