เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีการเผยแพร่เอกสารแถลงการณ์สำนักพระราชวังปลอมในโลกออนไลน์ว่า ต้องรีบตามหาคนตัวคนทำผิด แต่ต้องใช้เวลา คิดว่าคนทำเรื่องนี้จิตใจใช้ไม่ได้ ขอให้คนไทยอย่าเชื่ออะไรผลีผลาม
ส่วนกรณีเหตุคนร้ายวางระเบิดบริเวณทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยามกับห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อค่ำวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานั้น พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า เกิดจากคนบางพวกมุ่งหวังจะให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรงเกิดขึ้น สร้างผลกระทบต่อการท่องเที่ยว การค้า การลงทุน ซึ่งต้องดำเนินการตามกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ยังให้คณะรักษาความปลอดภัยเพิ่มการวางกำลังในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง แต่ก็ระมัดระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วยในกรณีที่ทหารใช้กำลังในพื้นที่
“สถานการณ์ขณะนี้กำลังเป็นไปด้วยดี แต่ไม่ใช่ว่ามีกฎหมายความมั่นคงแล้วทุกคนจะกลัวหมด ก็มีการใช้ความรุนแรงกับรัฐบาลในปี 2553 และในปี 2556-2557 แต่เกิดจากใครนั้นขอให้ไปคิดกัน อย่าไปให้ความสำคัญมาก โชคดีที่ไม่มีใครบาดเจ็บหรือสูญเสีย ถือเป็นบทเรียนที่ต้องไปหามาตรการป้องกัน มันจะอันตรายมากขึ้นในช่วงที่เปิดการค้าเสรีกับเออีซี มีการเคลื่อนย้ายแรงงาน เมื่อมีการลงทุนมากขึ้น ผลประโยชน์ก็มากขึ้น คนจนก็มากขึ้น นี่ต้องระมัดระวัง”
ด้านการประเมิณสถานการณ์จากเหตุระเบิด พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า คนที่วิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลสร้างสถานการณ์ขึ้นเองเพื่อต่ออายุกฎอัยการศึกนั้น “พวกนี้สมองเสีย เขียนอย่างนี้ได้อย่างไร ไม่มีใครเขาลงทุนขนาดนั้นหรอก สอง มีการแย่งชิงจ่าฝูงกองทัพบก ไม่มีการปรับอีกแล้ว จะมีการปรับย้ายในเดือนตุลาคมโน่น ตอนนี้กำลังตรวจสอบเรื่องราวทั้งหมดอยู่ อย่าไปให้ความสำคัญมากนัก ไปหามาตรการในการป้องกันดีกว่า”
ส่วนจะกระทบการท่องเที่ยวหรือไม่นั้น พล.อ. ประยุทธ์ยืนยันว่า ไม่กระทบอย่างแน่นอน แต่ถ้ามีการขยายข่าวออกไป ผลกระทบก็จะเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการ ใครเกี่ยวข้องต้องจับให้หมด
ในประเด็นเรื่องการปราบปรามยาเสพติด ได้ให้กระทรวงยุติธรรมขอความร่วมมือกลับไปยังลาว เมียนมาร์ และจีน ว่าจะร่วมมือกันอย่างไรในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ โดยให้กระทรวงมหาดไทยและฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ทหาร ร่วมมือกันในการลาดตระเวนลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ระบุว่ารัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องยาเสพติด อาชญากรรม และการใช้อาวุธสงครามได้ดีกว่าก่อนหน้านี้มาก
ส่วนมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยาง ขณะนี้ก็ได้อนุมัติจ่ายเงินไปมากกว่าร้อยละ 90 ของวงเงินที่ตั้งเอาไว้แล้ว แต่ก็ต้องเข้าใจว่าเงินอาจจะไม่ถึงมือเกษตรกรทันที เพราะต้องผ่านหลายขั้นตอนในการตรวจสอบให้ถูกต้อง รวมถึงก็จะมีการดูแลจัดระเบียบทะเบียนสหกรณ์ทั้งหมดใหม่ โดยอาจอนุโลมให้คนที่อยู่มาก่อนเป็นเวลานาน
ด้านการแก้ปัญหาระยะยาวจะสนับสนุนให้ใช้กลไกสหกรณ์ช่วยรับซื้อและต่อรองราคาขาย โดยที่ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง และรัฐก็จะไม่ไปแทรกแซงกลไกตลาดซึ่งทำให้ราคาไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยรัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนกลุ่มสหกรณ์ใหญ่ เพื่อนำไปกระจายสู่สหกรณ์ย่อยต่อไป
ร.อ. ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และพล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมและมติคณะรัฐมนตรี ที่ได้อนุมัติแผนงาน นโยบายและงบประมาณที่สำคัญ ดังนี้
ดึงญี่ปุ่นลงทุนทวาย-ร่วมทุนรถไฟทางคู่
คณะรัฐมนตรี รับทราบกำหนดการของ พล.อ. ประยุทธ์ ซึ่งมีกำหนดเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2558 เพื่อหารือทวิภาคีกับนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในเรื่องระบบรางของไทย และความร่วมมือเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย การร่วมมือด้านการค้าและการส่งเสริมการค้าลงทุนให้เกิดความคืบหน้าเป็นรูปธรรม ตลอดจนเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคส่วนต่างๆ ของญี่ปุ่นและต่อประชาคมระหว่างประเทศ
นอกเหนือจากการพบหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น พล.อ. ประยุทธ์ยังมีกำหนดหารือกับบุคคลสำคัญของรัฐบาลและภาคเอกชน ได้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่น ประธานสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรเศรษฐกิจที่สำคัญทั้ง 5 แห่ง ในเขตคันไซ ประธาน Japan-Thailand Business Forum และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย
โดยทั้ง 2 ฝ่ายมีกำหนดในการลงนามบันทึกแสดงเจตจำนง หรือ MOI (Memorandum of Intend) ว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาระบบรางระหว่างกระทรวงคมนาคมไทยกับญี่ปุ่น และบันทึกความร่วมมือส่งเสริมธุรกิจไทยในญี่ปุ่นระหว่างโครงการส่งเสริมการค้าต่างประเทศในญี่ปุ่น (The Japan External Trade Organization: JETRO) กับคณะกรรมการร่วมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย (สรท.)
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น รับทราบด้วยความสนใจถึงข้อริเริ่มของไทยที่จะจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ชายแดนที่เชื่อมกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และมาเลเซีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ชายแดนสนับสนุนการรวมตัวของอาเซียน
ทั้งสองประเทศยืนยันว่าการพัฒนาระบบรางในไทยมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยและการส่งเสริมการเชื่อมโยงในภูมิภาค ในบริบทนี้ ทั้งสองฝ่ายยินดีที่มีการลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนงระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน คมนาคม และท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น ว่าด้วยความร่วมมือระบบราง และยืนยันว่าทั้งสองประเทศจะส่งเสริมความร่วมมือให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต
อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีได้รับทราบการแก้ไข MOI ตามที่นายกรัฐมนตรีแนะนำ โดยให้ระบุใน MOI ว่า ฝ่ายรัฐบาลญี่ปุ่นจะสนับสนุนการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และให้นักลงทุนญี่ปุ่นเชิญชวนนักลงทุนฝ่ายญี่ปุ่นเข้าร่วมลงทุนด้วย พร้อมทั้งให้ระบุว่า “ในการลงทุนด้านพื้นฐาน ระบบโครงสร้าง ไม่ใช่ฝ่ายญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุน แต่เป็นผู้สนับสนุน ร่วมมือด้านการลงทุน ส่วนการดำเนินการสร้างเป็นความรับผิดชอบของไทยเอง”
ในส่วนของความสำคัญในการร่วมมือทางเศรษฐกิจ ได้แก่
1. สองฝ่ายย้ำถึงความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจซึ่งพึ่งพาอาศัยกันและเห็นพ้องถึงความสำคัญของการกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีด้านเศรษฐกิจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ผ่านการดำเนินการตามกลไกความตกลงทางหุ้นเศรษฐกิจไทย–ญี่ปุ่น (Japan–Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA) อย่างราบรื่น สาขาหลักที่จะกระชับความร่วมมือมากขึ้น ได้แก่ สินค้าและบริการ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในการนี้ทั้งสองฝ่ายได้ยืนยันความพร้อมที่จะจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม ภายใต้กลไก JTEPA ในวันเวลาที่สองฝ่ายสะดวก
2. ทั้งสองฝ่ายยืนยันพันธสัญญาของทั้งสองประเทศที่จะร่วมมือกันในการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนและจะร่วมมือกันให้สามารถสรุปผลการเจรจาความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (RCEP) ภายในปี 2558 ตามเป้าหมาย
3. ทั้งสองฝ่ายยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและมีศักยภาพอย่างยิ่ง โดยย้ำว่าการลงทุนของญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตยิ่งขึ้น ไทยยืนยันว่าจะรักษาและปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเพื่ออำนวยความสะดวกในการลงทุนในไทยของบริษัทของญี่ปุ่นในระยะยาว
4. นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นแสดงความพร้อมที่จะร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภาพรวมของไทยต่อไป โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง องค์ความรู้ และประสบการณ์ของบริษัทญี่ปุ่น
5. ทั้งสองประเทศตระหนักร่วมกันว่าการส่งเสริมและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยในภาพรวมจะช่วยส่งเสริมบทบาทไทยในฐานะศูนย์กลางการเชื่อมโยงของอาเซียนและการกระตุ้นการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
6. นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นรับทราบด้วยความสนใจถึงข้อริเริ่มของไทยที่จะจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ชายแดนที่เชื่อมต่อกับกัมพูชา สปป.ลาว พม่า และมาเลเซีย เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ชายแดนและสนับสนุนการรวมตัวกันของอาเซียน
7. ทั้งสองฝ่ายยืนยันว่าการพัฒนาระบบรางในไทยมีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยและการส่งเสริมการเชื่อมโยงในภูมิภาค ในบริบทนี้ ทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะมีการลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนงระหว่างกระทรวงคมนาคมไทยและกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน คมนาคม และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น ว่าด้วยความร่วมมือกันด้านระบบรางและยืนยันว่าทั้งสองประเทศจะส่งเสริมความร่วมมือให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต
8. ทั้งสองฝ่ายยืนยันความสำคัญของกระบวนการประชุมสามฝ่ายระหว่างญี่ปุ่น ไทย และพม่า เกี่ยวกับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยยินดีที่ญี่ปุ่นจะจัดส่งผู้เชี่ยวชาญไปประจำนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) เบื้องต้นจะเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ เบื้องต้นของการก่อสร้างถนนสายหลักเต็มระยะโดยไทยจะเป็นผู้ลงทุนโดยญี่ปุ่นจะเข้าร่วมลงทุน
9. นายกรัฐมนตรีอาเบะชื่นชมความพยายามของไทยในการยกเลิกมาตรการการจำกัดการนำเข้าอาหารญี่ปุ่น ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวของญี่ปุ่น ทั้งสองฝ่ายจะตั้งใจที่ยกเลิกมาตรการดังกล่าวอย่างรวดเร็วและสมบูรณ์
10. ทั้งสองฝ่ายยืนยันถึงความร่วมมือทวิภาคีในสาขาพลังงาน เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน พลังงานหมุนเวียน การอนุรักษ์พลังงาน และยุทธศาสตร์พลังงานที่ครอบคลุม และทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะจัดประชุมความร่วมมือพลังงานไทย-ญี่ปุ่น เพื่อสนับสนุนความร่วมมือและความรู้ด้านต่างๆ โดยเฉพาะความร่วมมือด้านถ่านหินคุณภาพสูง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานและลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกต่อไป
แก้กฏหมายแพ่ง-ให้เจ้าหนี้บี้ผู้ค้ำประกันเสมือนลูกหนี้
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ 20 พ.ศ. 2557 (แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการค้ำประกันและจำนอง) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ ซึ่งมีหลักการในการคุ้มครองสิทธิและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกัน และผู้จำนองซึ่งมิใช่ลูกหนี้ชั้นต้น และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2557 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558
ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 9 ธันวาคม 2557 ให้คณะกรรมการพัฒนากฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รับไปพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับดังกล่าว โดยได้เชิญผู้แทนจากธนาคารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณาด้วย และเห็นควรที่จะแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวกับการค้ำประกันและการจำนอง และร้องเรียนว่าการแก้ไขดังกล่าวจะทำให้การทำธุรกรรมไม่สะดวก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จึงรับมาแก้ไขเพิ่มเติม
โดยกำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่เป็นนิติบุคคลสามารถผูกพันตนเพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมได้ และไม่มีสิทธิเกี่ยงให้เจ้าหนี้ไปทวงหนี้จากลูกหนี้ก่อน ในประเด็นการผ่อนเวลาชำระหนี้ให้ผู้ค้ำประกันที่เป็นสถาบันการเงินหรือตัวแทนสามารทำข้อตกลงกับเจ้าหนี้ล่วงหน้าเพื่อผ่อนเวลาชำระหนี้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อโครงการต่างๆ ของรัฐที่มีสถาบันการเงินเป็นผู้ค้ำประกัน และกำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่เป็นสถาบันการเงินหรือค้ำประกันเพื่อสินจ้างเป็นปกติธุระสามารถทำข้อตกลงไว้ล่วงหน้ายินยอมให้มีการผ่อนเวลาได้
อนุมัติขยายเพดานเงินเดือน 35 รัฐวิสาหกิจ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ให้มีการขยายเพดานอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2557 เรื่อง การปรับปรุงบัญชีโครงสร้างอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ (โครงสร้าง 58 ขั้น) 35 แห่ง ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เนื่องจากเป็นการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจและสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมถึงเป็นการสร้างแรงจูงใจในการทำงานของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ และเป็นการลดความเหลื่อมล้ำด้วย โดยจะมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2557
จากเดิมทีมีอัตราจ้างขั้นต่ำ 5,780-9,040 บาท ให้เริ่มมีอัตราขั้นต่ำที่ 9,040 บาท พร้อมปรับอัตราขั้นสูงสุด จากเดิมได้รับ 113,520 บาท ให้เพิ่มขั้นอีก 6.5 ขั้น โดยมีค่าจ้างอัตรา 142,830 บาท เป็นขั้นเงินเดือนสูงสุด ทั้งนี้ โครงสร้างอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ระหว่าง 9,040–113,520 บาท ยังคงเดิม
กรณีที่รัฐวิสาหกิจใดจะขยายเพดานอัตราค่าจ้างขั้นสูงขึ้นไปสูงกว่าอัตราขั้นสูงที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน จะต้องขอความเห็นชอบจากกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หรือ ครส. และคณะรัฐมนตรีเป็นรายกรณีไป ทั้งนี้ การพิจารณาขยายเพดานอัตราค่าจ้างขั้นสูงต้องสอดคล้องกับขนาด ภาระหน้าที่ และความรับผิดชอบ ของรัฐวิสาหกิจที่มีความแตกต่างกันตามความเหมาะสมตลอดจนความสามารถในการรองรับภาระค่าใช้จ่ายบุคลากรที่เพิ่มขึ้นของรัฐวิสาหกิจแห่งนั้น
แก้แบบรถไฟฟ้าสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ค่าก่อสร้างพุ่ง 8,140 ล้าน
คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้มีการแก้ไขแบบรายละเอียดและปรับปรุงกรอบวงเงินค่าจ้างของโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ซึ่งประกอบด้วยสัญญาการก่อสร้าง 3 สัญญา มีค่าก่อเพิ่มขึ้น 8,140 ล้านบาท แยกเป็นค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นภายใต้สัญญาที่ 1 จำนวน 4,315 ล้านบาท สัญญาที่ 2 จำนวน 3,352 ล้านบาท และสัญญาที่ 3 จำนวน 473 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ครม. ได้อนุมัติเฉพาะการแก้ไขสัญญา แต่ส่วนที่กระทรวงการคลังเสนอให้มีการขยายวงกรอบวงเงินกู้ให้ครอบคลุมค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นนั้น ครม. ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลางไปจัดทำรายละเอียดให้รอบคอบก่อนนำเข้าให้ ครม. อนุมัติอีกครั้ง
สำหรับรายละเอียดของสัญญาที่มีการแก้ไขนั้น ในส่วนของ สัญญาที่ 1 ประกอบด้วยการแก้ไข 3 ส่วน ได้แก่ 1. สัญญางานก่อสร้างงานโยธาสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง ซึ่งมีการปรับในส่วนช่องทางวิ่งจากเดิมที่มี 3 ช่องทาง ให้ปรับเป็น 4 ช่องทาง 2. งานแก้ไขแบบโครงสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าสายสีแดง เพื่อรองรับโครงสร้างทางวิ่งของรถไฟความเร็วสูงบริเวณสถานีกลางบางซื่อ จึงให้ปรับชานชาลาชั้น 2 ให้รองรับการเดินรถไฟขนาดราง 1 เมตร แยกเป็นขบวนทางไกล 8 ขบวน และขบวนรถไฟระหว่างเมือง 4 ขบวน และให้ชานชาลาชั้น 3 รองรับการเดินรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร 3. แก้ไขความยาวของชานชาลาบนชั้นที่ 3 ให้มีความยาวเพิ่มจาก 230 เมตร เป็น 600 เมตร เพื่อให้เหมาะสมกับการที่มีรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร เพิ่มเข้ามา
สำหรับสัญญาที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นงานโยธาระหว่างสถานีบางซื่อถึงรังสิต และงานระบบราง อาณัติสัญญาญ และขบวนรถไฟฟ้า ให้แก้ไขให้สอดคล้องกับสัญญาที่ 1
ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการเสนอให้มีการแก้ไขสัญญาทั้ง 3 สัญญานี้ กรอบวงเงินทั้ง 3 สัญญาซึ่งได้รับการอนุมัติโดยมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2552 อยู่ที่ 73,077 ล้านบาท ส่วนที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ลงนามไปนั้น แยกเป็น สัญญาที่1 รฟท. ลงนามในสัญญาก่อสร้างกับกิจการร่วมค้าเอสยู ไปแล้ว มูลค่า 29,827 ล้านบาท สัญญาที่ 2 ได้ลงนามกับบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ มูลค่า 21,235 ล้านบาท ส่วนสัญญาที่ 3 รฟท. ยังอยู่ระหว่างการประกวดราคาคัดเลือก แต่กรอบวงเงินที่สัญญาที่ 3 ได้รับอนุมัติตามมติ ครม. เดิม คือ 26,272 ล้านบาท
อนุมัติ 1,215 ล้าน ขยายไฟฟ้าพื้นที่ห่างไกล 11,600 ครัวเรือน
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ โดยอนุมัติให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินโครงการขยายเขตระบบไฟฟ้าให้ครัวเรือนที่ห่างไกล (คฟก.) หรือ Remote Rural Household Electrification Project (RHEP) วงเงินลงทุนทั้งสิ้นรวม 1,215 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ในประเทศจำนวน 910 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินลงทุนของโครงการดังกล่าว โดย กฟภ. จะทยอยดำเนินการกู้เงินตามความจำเป็นจนกว่างานจะแล้วเสร็จ และเงินลงทุนอีกส่วนหนึ่งมาจากเงินรายได้ กฟภ. จำนวน 305 ล้านบาท
โดยโครงการดังกล่าวเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล และแผนยุทธศาสตร์ของ มท. ในการก่อสร้างขยายเขตบริการไฟฟ้าให้ครัวเรือนที่ห่างไกล ซึ่งจะครอบคลุมครัวเรือนประมาณ 11,600 ครัวเรือน อีกทั้งช่วยเพิ่มผลผลิต สนับสนุนธุรกิจ อุตสาหกรรมในชนบท ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง ซึ่งจะก่อให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพิ่มการจ้างงานลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ กระจายความเจริญไปสู่ส่วนภูมิภาคและชนบท รวมถึงช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ลดอัตราการโยกย้ายเข้าสู่เมือง
ไทยเสนอเป็นเจ้าภาพจัดงาน “ท่องเที่ยวโลก 59”
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานวันท่องเที่ยวโลกปี พ.ศ. 2559
เนื่องจากประเทศไทยเป็นสมาชิกขององค์การการท่องเที่ยวโลก (United Nation World Tourism Oranization : UNWTO) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 และมีบทบาทในการดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ขององค์การการท่องเที่ยวโลก
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเล็งเห็นว่า การรับเป็นเจ้าภาพจัดงานวันท่องเที่ยวโลกนั้น เป็นการแสดงถึงศักยภาพและภาพลักษณ์ของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพการจัดงานและการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว ทั้งด้านคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงความปลอดภัยจากการท่องเที่ยว
เนื่องจากมีสถานที่ท่องเที่ยวและอารยธรรมที่ควรค่าแก่การศึกษา ซึ่งประเทศไทยสามารถใช้การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Cultural Tourism) เพื่อเผยแพร่ภาพลักษณ์อันงดงามของประเทศในการดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพ (Quality Tourist) เข้าสู่ประเทศโดยการประชาสัมพันธ์และร่วมงานดังกล่าว
การจัดงานดังกล่าวจะใช้งบประมาณจากงบรายจ่ายอื่นประจำปี 2559 จากสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท ทั้งนี้ไม่รวมค่าตั๋วเครื่องบินของผู้เข้าร่วมการประชุม ส่วนไทยจะได้รับการคัดเลือกเป็นเจ้าภาพในการจัดงานวันท่องเที่ยวโลกหรือไม่นั้น จะต้องผ่านการรับรองจากที่ประชุมร่วมจากคณะกรรมาธิการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และคณะกรรมาธิการภูมิภาคเอเชียใต้ในช่วงเดือนมิถุนายน 2558 ที่สาธารณรัฐมัลดีฟ และผลการรับรองดังกล่าวจะต้องนำเข้าที่ประชุมสมัชชาใหญ่ของ UNWTO อีกครั้งหนึ่งเพื่ออนุมัติรับรองในช่วงเดือนกันยายน 2558 ณ ประเทศโคลัมเบีย
ที่ผ่านมา ประเทศไทยโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้รับการเสนอให้เป็นประธาน พ.ศ. 2550–2552 และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอีกสมัยหนึ่งระหว่างปี พ.ศ. 2553-2554 และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมร่วมคณะกรรมาธิการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกและคณะกรรมาธิการภูมิภาคเอเชียใต้ ครั้งที่ 24 ณ จังหวัดเชียงใหม่
อนุมัติงบ 198.49 ล้าน ป้องกันอีโบลา
การขอรับงบกลางโครงการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ระยะเร่งด่วนประจำปีงบประมาณ 2558 ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบอนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินเป็นจำนวนเงิน 198.49 ล้านบาท และมอบให้สำนักงบประมาณดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ คสช. มีมติเมื่อเดือนสิงหาคม 2557 ในการอนุมัติงบกลางเบื้องต้นจำนวน 116.80 ล้านบาท เพื่อดำเนินความพร้อมในโครงการดังกล่าว ซึ่งทางสำนักงบประมาณได้ปรับลดวงเงินเหลือจำนวน 99.74 ล้านบาท และได้ทำการเบิกจ่ายแล้ว 10.15 ล้านบาท
อนึ่ง กระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งว่า สถานการณ์การติดเชื้อของโรคไวรัสอีโบลายังคงมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง จึงต้องดำเนินการเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วน ร่วมทั้งเพิ่มศักยภาพของห้องปฏิบัติการ รวมไปถึงห้องแยกผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพ โดยงบประมาณจำนวน 198.49 ล้านบาทนั้น แบ่งเป็น ค่าตอบแทนในการเสี่ยงภัย 59 ล้านบาทเศษ ค่าทดแทนค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลได้ทดลองยา 56.2 ล้านบาทเศษงบลงทุนเป็นค่าลงทุนก่อสร้าง 46.9 ล้านบาทเศษ และค่าครุภัณฑ์ 29.2 ล้านบาทเศษ