ThaiPublica > เกาะกระแส > ทำความเข้าใจ Class action พร้อม 4 คดีตัวอย่าง (ตอนที่ 3): คำสั่งศาลคดีเหมืองทองคำ อัคราฯ กับสิทธิของผู้ไม่เห็นด้วย

ทำความเข้าใจ Class action พร้อม 4 คดีตัวอย่าง (ตอนที่ 3): คำสั่งศาลคดีเหมืองทองคำ อัคราฯ กับสิทธิของผู้ไม่เห็นด้วย

10 กรกฎาคม 2019


ทำความเข้าใจถึงความสำคัญ และกระบวนการเบื้องต้นของการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ในตอนที่ 1 และตอนที่ 2 กันไปแล้ว ซึ่งกรณีต่อไปนี้เป็นกรณีที่จำเลยใช้สิทธิในการคัดค้านคำสั่งรับฟ้องคดีแบบกลุ่มของศาลด้วยการยื่นขออุทธรณ์คำสั่งฯ ซึ่งในทางกลับกันหากศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับเป็นคดีแบบกลุ่มฝ่ายโจทก์ก็สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งได้เช่นกัน

คำสั่งศาลคดีเหมืองทองคำกับสิทธิของผู้ไม่เห็นด้วย

หลายคนอาจกำลังจับตาประเด็นพิพาทจากปมคำสั่ง ตามมาตรา 44 ให้ระงับกิจการเหมืองทองคำชาตรี จนนำไปสู่การยื่นฟ้องรัฐบาลไทยเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) แต่กรณีที่จะกล่าวต่อไปเป็นเรื่องระหว่างเหมืองฯ กับชุมชน คือ คดีที่ตัวแทนกลุ่มของชาวบ้านในพื้นที่รอบสัมปทานเหมืองทองคำชาตรี ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จํากัด (มหาชน) ยื่นฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายต่อบริษัท อัคราฯ ในการประกอบธุรกิจเหมืองแร่ทองคำที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ต่อศาลแพ่ง

ในคีดนี้ใช้โจทก์ 1 คนเป็นตัวแทนกลุ่ม ส่วนสมาชิกกลุ่ม คือ คนที่อยู่ทำกินอยู่รายรอบเหมือง ใน 2 จังหวัด ได้แก่ จ.พิจิตร และ จ.เพชรบูรณ์ รวมแล้วมีประชากรประมาณ 6,000 คน ที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งความคืบหน้าของคดีในปัจจุบัน หลังจากมีการไต่สวนคำฟ้องคดีแบบกลุ่ม ศาลได้มีคำสั่งรับเป็นคดีแบบกลุ่มแล้ว

อย่างไรก็ตาม คดีนี้ฝ่ายจำเลยได้ใช้สิทธิขอยื่นอุทธรณ์คำสั่งฯ เนื่องกฎหมายเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย หรือไม่พอใจกับคำสั่งฯ สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ได้ภายใน 7 วัน ทำให้คดีนี้จึงอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์อยู่ว่าจะรับเป็นคดีแบบกลุ่มหรือไม่ โดยที่ยังไม่มีการพิจารณาในเนื้อหาของคดี

ปัญหาของคดีนี้คือ การที่ใช้เวลาในการไต่สวนค่อนข้างมาก โดยมีการยื่นฟ้องไปตั้งแต่ปี 2560 ศาลใช้เวลาการไต่ส่วนจนมีคำสั่งรับฟ้องคดีแบบกลุ่มประมาณ 2 ปี สาเหตุที่มีการไต่สวนค่อนข้างนาน เนื่องจากเป็นคดีสิ่งแวดล้อมแบบกลุ่มคดีแรกของประเทศไทย ศาลจึงปล่อยให้มีการไต่สวนค่อนข้างที่จะละเอียด ซึ่งการไต่ส่วนคดีแบบกลุ่มจริงๆ แล้วมีประเด็นต้องไต่สวนไม่กี่ประเด็น เช่น ผู้เสียหายเป็นกลุ่มหรือไม่ หากได้รับการดำเนินคดีแบบกลุ่มจะเป็นประโยชน์หรือไม่ ทนายความโจทก์ของกลุ่มมีความสามารถหรือไม่ เท่านั้น

ว่าที่ร้อยตรี สมชาย อามีน นายกสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สิ่งนี้คืออีกปัญหาที่ต้องไปปรับกันต่อไปว่า ในการไต่สวนคดีแบบกลุ่มนั้น คงจะต้องเน้นเฉพาะเรื่องของคดีแบบกลุ่มหรือไม่เท่านั้น การเปิดประเด็นด้านอื่นมากเกินไป จะทำให้ทางฝ่ายจำเลยสามารถที่จะยื้อคดีออกไปได้อีก

นอกจากนี้ ในการดำเนินคดีแบบกลุ่มจำเป็นต้องมี “สมาชิกกลุ่มบางส่วนที่ทราบชื่อแน่นอน” ระบุไว้ในคำฟ้อง อาจเป็นจำนวนในหลักสิบคน หรือหลักร้อยคนก็ได้ โดยต้องมีรายละเอียดสำคัญ คือ 1) มีชื่อที่อยู่ของบุคคลดังกล่าวแน่นอน 2) บุคคลดังกล่าวต้องมีลักษณะความเสียหายอย่างเดียวกับโจทก์ ก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องมีหนังสือมอบอำนาจจากบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในสมาชิกกลุ่มบางส่วนนั้นให้มาฟ้องคดีแต่อย่างใด

ว่าที่ร้อยตรี สมชาย ระบุว่า ที่ผ่านสมาชิกกลุ่มบางส่วนที่ทราบชื่อแน่นอน อาจถูกล็อบบี้จากฝ่ายตรงข้ามให้ทำการถอนชื่อออกได้ แต่หากจำนวนรายชื่อของสมาชิกกลุ่มที่ระบุไว้ยังมีจำนวนมากพอศาลก็อาจรับวินิจฉัยต่อไป ถ้ารายชื่อถูกถอนไปทั้งหมดอาจส่งผลให้ศาลไม่รับฟ้องของโจทก์เป็นคดีแบบกลุ่ม ทั้งนี้ โจทก์และผู้เสียหายแต่ละคนยังสามารถฟ้องคดีเป็นส่วนตัวได้

ที่มาภาพ: กระทรวงยุติธรรม