ThaiPublica > เกาะกระแส > “กรณ์”แนะ “บิ๊กตู่” ขึ้นภาษีนิติบุคคล 4% เพิ่มรายได้ 2 แสนล้าน ดูแลผู้สูงอายุ – ลดภาษีบุคคลธรรมดา

“กรณ์”แนะ “บิ๊กตู่” ขึ้นภาษีนิติบุคคล 4% เพิ่มรายได้ 2 แสนล้าน ดูแลผู้สูงอายุ – ลดภาษีบุคคลธรรมดา

18 ตุลาคม 2019


นายกรณ์ จาติกวณิช สส.พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

“กรณ์”แนะ “บิ๊กตู่” ขึ้นภาษีนิติบุคคล 4% เพิ่มรายได้ 2 แสนล้าน ดูแลผู้สูงอายุ – ลดภาษีบุคคลธรรมดา

วันที่ 2 ของการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายปี 2563 วงเงิน 3,200,000 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้รัฐบาลคาดการณ์จะมีรายได้สุทธิอยู่ที่ 2,731,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือใช้วิธีกู้เงิน เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 469,000 ล้านบาท โดยในวันนี้นายกรณ์ จาติกวณิช สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวอภิปราย พร้อมข้อเสนอแนะเชิงสร้างสรรค์เกี่ยวกับการปฏิรูประบบภาษีต่อรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล

นายกรณ์ กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีของรัฐบาลในปีนี้มีสัดส่วนประมาณ 90% ของประมาณการรายได้ทั้งหมดของรัฐบาล หากพิจารณาจากเอกสารงบประมาณปี 2563 คาดการณ์ว่าปีนี้รัฐบาลจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษี คิดเป็นสัดส่วน 15.3% ของ GDP หากเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 35% ของ GDP ยกตัวอย่าง กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียมีสัดส่วนการจัดเก็บภาษีอยู่ที่ 55% ส่วนกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 14% ซึ่งประเทศไทยมีสัดส่วนสูงกว่าเล็กน้อย หากย้อนหลังกลับไปในปี 2558 รัฐบาลไทยก็มีสัดส่วนการจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 15% ปี 2553 เกือบ 16%

สรุปภาพรวมการจัดเก็บรายได้ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีสัดส่วนการจัดเก็บภาษีเทียบกับ GDP ไม่ได้ลดลง แต่ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น จึงมีคำถามตามมาว่าการเก็บภาษีในสัดส่วนแค่ 15% ของรายได้ทั้งประเทศนั้น เพียงพอกับรายจ่ายของรัฐบาลหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้นายกรณ์ ได้ยกตัวอย่างนำเสนอต่อที่ประชุมสภาเพียงเรื่องเดียวคือ การดูแลผู้สูงอายุ เพราะขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสูง “สังคมผู้สูงอายุ” แล้ว โดยในปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลตั้งงบประมาณดูแลผู้สูงอายุ 11 ล้านคน ไว้ที่ 460,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ประมาณ 70% ของงบประมาณ 460,000 ล้านบาท ใช้สำหรับดูแลข้าราชการเกษียณ 2 ล้านคน ซึ่งได้รับเงินจากรัฐบาลเฉลี่ยคนละ 20,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมค่ารักษาพยาบาล ส่วนงบฯที่เหลืออีก 30% ใช้ดูแลประชาชนทั่วไปอีก 10 ล้านคน ที่เกษียณจากการทำงาน ผ่านเบี้ยยังชีพคนชรา หรือ กองทุนเงินออมแห่งชาติเฉลี่ยคนละ 1,000 บาทต่อเดือน คาดว่าในปี 2578 จะมีผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 20 ล้านคน ถึงตอนนั้นรัฐบาล ต้องจัดงบประมาณมาดูแลผู้สูงอายุสูงถึง 1.16 ล้านล้านบาท

“หากเรามีแนวคิดที่จะยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของประชานทั่วไปในวัยชรา ให้มีมาตรฐานเดียวกันกับข้าราชการเกษียณ คือมีรายได้ 20,000 บาทต่อเดือน ต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น 2.5 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับตัวเลขประมาณการรายได้ของรัฐบาลในปีนี้ ขณะที่รัฐบาลมีความสามารถในการจัดเก็บภาษีแค่ 15.3% ของ GDP หากต้องการยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้เทียบเท่ากับข้าราชการ ก็ต้องเพิ่มสัดส่วนการจัดเก็บภาษีขึ้นไปเป็น 30% ของ GDP ซึ่งยังถือว่ามีสัดส่วนต่ำกว่าหลายประเทศ ถามว่าเราควรตั้งเป้าหมายที่จะเดินไปสู่จุดนั้นหรือไม่ และต้องทำอย่างไร”

นายกรณ์ กล่าวว่า ประเด็นที่เป็นปัญหาคือ โครงสร้างภาษีของไทย 98% เป็นภาษีที่เก็บจากประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม และอีก 2% เป็นภาษีที่เก็บจากทรัพย์สิน จากผลการสำรวจของกลุ่มธุรกิจการเงินภูมิภาคเอเชีย ได้ไปสอบถามความคิดเห็นของชาวเกาหลีว่า “ใครมีหน้าที่ดูแลคุณ เมื่อยามเกษียณ” ในจำนวนนี้ประมาณ 60% ตอบว่าดูแลตนเอง , 20% ฝากความหวังไว้กับรัฐบาล และอีก 10% บอกว่าให้ลูกหลานดูแล ส่วนคนไทย 60% ตอบว่าฝากความหวังไว้กับรัฐบาล , 20% ให้ลูกหลานเลี้ยง และอีก 10% พึ่งพาตนเอง ดังนั้น รัฐบาลจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมนโยบาย เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ถามว่าในระดับนโยบายควรทำอย่างไร

จากรายงานของ The Credit Suisse Globa Wealth Report 2018 ระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางด้านทรัพย์สินมากที่สุดในโลก กล่าวคือ คนไทยเพียง 1% ครอบครองทรัพย์สิน 66.9% ของทรัพย์สินทั้งหมดของประเทศ ซึ่งรัฐบาลแทบจะไม่ได้เก็บภาษีกับคนกลุ่มนี้เลย แม้ว่าที่ผ่านมา รัฐบาล คสช. จะสามารถผลักดันให้มีการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินได้สำเร็จถึง 2 รายการ คือภาษีมรดก และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในฉบับในวันที่ 1 มกราคม 2563 ก็ตาม

หากเข้าไปดูที่ประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีมรดกในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าจัดเก็บได้แค่ 200 คน คิดเป็นเงิน 770 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 200 คนที่เสียภาษี คือ ผู้รับมรดก ไม่ใช่ผู้เสียชีวิต แต่ถ้าไปดูรายชื่อผู้เสียชีวิต ซึ่งมีประมาณ 40 คน ปรากฎว่าไม่มีรายชื่ออภิมหาเศรษฐีที่เสียชีวิตในช่วงนั้นเลย ความหมายคือ คนรวยจริงๆแล้วมีช่องโหว่ให้หลบเลี่ยงภาษีได้ ส่วนคนที่ไม่ได้ร่ำรวย ก็ต้องเสียภาษีมรดก แทนที่มาตรการมรดกภาษีจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่กลับเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำของสังคม ส่วนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปีหน้า ตอนนี้ตนยังไม่แน่ใจว่าทั้งประชาชนและส่วนราชการมีความพร้อมแค่ไหน โดยเฉพาะการประเมินราคาที่ดินมีความถูกต้องครบถ้วน และเป็นธรรมหรือไม่ อย่างไร หากดูจากเอกสารงบประมาณรายจ่ายปี 2563 รัฐบาลได้ประมาณการรายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไว้แค่ 40,000 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่ารายได้จากภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่จัดเก็บก่อนหน้านี้เสียอีก สรปุคือรัฐบาลยังมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินน้อยมาก และยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศในระยะยาว

นอกจากนั้นยังมีเรื่องการปฏิรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามที่พรรคร่วมรัฐบาลเคยหาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐที่ว่าจะลดภาระภาษีให้กับ “คนชั้นกลาง” หากรัฐบาลดำเนินการตามที่เคยหาเสียงไว้จริง คาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม ในร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ก็ยังไม่ได้ระบุว่ารัฐบาลจะนำรายได้จากส่วนไหนมาชดเชยกับรายได้ที่คาดว่าจะสูญเสียไปจากการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

“หากจะช่วยลดภาระให้กับคนชั้นกลาง ผมขอแนะนำให้ปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคล กล่าวคือ หลังจากมีการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 20% ของกำไรสุทธิ หากไปดูข้อมูลการเสียภาษีของบริษัทชั้นนำที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จ่ายภาษีกันจริงๆไม่ถึง 20% โดยอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่แท้จริง (Effective Rate) มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 17.6% ของกำไรสุทธิ แต่ก็มีบางกลุ่มจ่ายภาษีเกิน 20% อย่างเช่น หมวดพลังงานเสียภาษี 26.5% ซึ่งส่วนที่เกินมานั้นเป็นการเสียภาษีให้กับต่างประเทศ ไม่ได้เสียให้กับรัฐบาลไทย หากตัดหมวดพลังงานออกไป บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เสียภาษีในอัตราเฉลี่ย 16.3% ดังนั้น หากมีการปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้มีอัตราเทียบเท่ากับอัตรา Effective Rate ทุก ๆ 1% จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น 50,000 ล้านบาท หากปรับขึ้น 4% รัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 2 แสนล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่นับรวมการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลกับกิจการผูกขาด หรือ กิจการที่ได้รับการปกป้องโดยรัฐ หรือ นโยบาย” นายกรณ์ กล่าว

นายกรณ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ตนยังทราบว่ารัฐบาลชุดก่อน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนปัจจุบัน พยายามแก้ไขปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีให้เกิดความเป็นธรรม แต่ก็พบอุปสรรคมากมาย อย่างเช่น การจัดเก็บภาษีส่วนต่างของกำไร (Capital Gain Tax) จากการซื้อ-ขายที่พูดกันมานาน ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เศรษฐีที่ดิน ควรจะเสียภาษีกำไรจากการขายที่ดิน โดยใช้ราคาซื้อขายที่แท้จริงหักราคาต้นทุน ซึ่งปัจจุบันเก็บภาษีจากราคาประเมิน ซึ่งประเมินไว้ต่ำกว่าราคาตลาดมาก ส่วนเรื่องการจัดเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น ควรจะทบทวนด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ขอฝากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปพิจารณา นอกเหนือจากนี้ตนยังได้ฟังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอภิปราย โดยกล่าวถึงแผนการจัดเก็บภาษีกับธุรกิจแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ซึ่งก็พูดกันมานาน แต่ยังไม่เห็นในประมาณการรายได้จากการจัดเก็บภาษีในปีงบประมาณ 2563 เลย

“สิ่งที่ผมอยากเห็น คือ การผลักดันในมีการปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพื่อจัดเก็บรายได้จากแหล่งเงินได้อื่นๆ เพื่อสร้างความเป็นธรรม และตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในอนาคตมากยิ่งขึ้น” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าว