ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เช็คระดับธรรมาภิบาลไทย ป.ป.ช. ระบุ “เด็ก” ติดสินบนตลอดชีวิต

เช็คระดับธรรมาภิบาลไทย ป.ป.ช. ระบุ “เด็ก” ติดสินบนตลอดชีวิต

20 มิถุนายน 2013


"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

สอบตกเกือบทุกปีสำหรับภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศไทย ที่จัดทำโดยองค์กรความโปร่งใสสากล (Transparency International หรือ TI)ซึ่งผลการจัดอันดับดัชนีภาพลักษณ์ (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ปี 2012 ประเทศไทยได้คะแนนด้านความโปร่งใส 37 คะแนน จาก 100 คะแนน ครองอันดับที่ 88 จากการจัดอันดับทั้งหมด 176 ประเทศทั่วโลกร่วมกับประเทศมาลาวี โมร็อกโก ซูรินาเม สวาซิแลนด์ และแซมเบีย

การประเมินดังกล่าว ในส่วนของประเทศไทยมุ่งเน้นไปที่การคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในระบบการเมือง การเรียกหรือรับสินบน และการเล่นพรรคเล่นพวกที่เกิดขึ้นในระบบอุปถัมภ์

จนมีการกล่าวกันว่าการ “คอร์รัปชัน” ไม่ต่างอะไรไปจาก “มะเร็ง” ที่คอยทำลายชาติ

งาน “กอบกู้ธรรมาภิบาล…ฐานรากประเทศไทย” หนึ่งในโครงการผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรพบประชาชน ได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาเป็น “หัวเรื่องสำคัญ” ในการพูดคุยและรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนของหอการค้าไทย และภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

“ปัญหาของการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นปัญหาที่เรื้อรัง สะสมมานาน เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย เกิดขึ้นทั่วโลก แต่สิ่งที่เราเห็นคือ บางประเทศ บางสังคม สามารถจัดการกับเรื่องพวกนี้ได้ บางประเทศเคยมีชื่อเสียงในฐานะประเทศที่เสียหาย เป็นประเทศที่มีการทุจริตคอร์รัปชันมาก ไปทำธุรกิจต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะ แต่เขาสามารถผลิกกลับมาแก้ปัญหาเหล่านี้จนได้รับการยอมรับในเรื่องของความโปร่งใส” นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรกล่าวกับผู้ร่วมงาน

นายอภิสิทธิ์ระบุว่า การคอร์รัปชันโดยการจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น มีเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยตัวเลขที่มีการพูดกันคือ 30-40 เปอร์เซ็นต์จากมูลค่าโครงการ ซึ่งถือเป็นความสูญเสียที่มีอัตราสูงมาก

จนทำให้ผู้ประกอบการระหว่างภูมิภาค และผู้ประกอบการระดับโลก ไม่ต้องการที่จะมาลงทุนในประเทศไทย

“อันนี้เป็นเหตุผลจำเป็นที่จะต้องแก้ไข เพราะความสูญเสียที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นในแง่ของตัวเงินและเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นตัวบ่อนทำลายสังคม และรวมไปถึงต้นเหตุหรือสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการขัดแย้งทางการเมือง”

หากย้อนดูวิวัฒนาการของการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ลักษณะการทุจริตคอร์รัปชันมีการเปลี่ยนแปลงไปจากการเบียดบังงบประมาณ มาเป็นการจัดซื้อจัดจ้าง และล่าสุดคือการทุจริตเชิงนโยบายที่ถือว่ามีความร้ายแรงมากที่สุด เพราะเริ่มตั้งแต่วงจรของการคิดนโยบายที่เปิดช่องที่ทำให้เกิดการทุจริต เช่น โครงการรับจำนำข้าว

โดยในส่วนของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง นายอภิสิทธิ์มองว่า สิ่งที่เป็นปัญหามีด้วยกัน 2 ส่วน คือ

1. ปัญหาเรื่องราคากลาง ที่ไม่ว่าจะเป็นการประมูลอิเล็กทรอนิกส์หรือไม่ มักจะเกิดข้อกล่าวหาว่ามีการ “ฮั้ว” ขึ้น โดยจะ “ฮั้ว” กันในอัตราใกล้กับราคากลาง ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีการเปิดเผยราคากลาง แต่มีเจ้าหน้าที่แอบนำราคากลางไปขายให้กับผู้ประมูล แล้วจึงให้เปิดเผยราคากลางในภายหลัง

เมื่อเปิดเผยราคากลาง การฮั้วประมูลจึงมีการอ้างอิงราคากลาง แต่การเกิดการทุจริตยังสามารถเกิดขึ้นได้ หากราคากลางที่ถูกกำหนดมีอัตราที่สูงกว่าความเป็นจริง เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาจึงมีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันปราบปรามการทุจริต โดยมีการแก้ไขในส่วนของ “ราคากลาง” ที่จะต้องเป็นไปอย่างเปิดเผยว่าการคำนวณจะต้องดำเนินการอย่างไร

2. การจ้างที่ปรึกษา โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ ที่ในระยะหลังเกิดความไม่แน่ใจว่าที่ปรึกษามาให้คำปรึกษารัฐ หรือกลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่จะเข้ามาทำงาน มาประมูลงานมาได้งานในที่สุด ถือเป็นปัญหาเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างที่จะต้องแก้ไขกันต่อไป

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่าการทุจริตคอร์รัปชันประกอบไปด้วยกลุ่มคน 3 กลุ่ม เรียกว่า 3 ขา คือ การเมือง ราชการ และธุรกิจเอกชน ซึ่งการเมืองเป็นประเด็นหนึ่งที่ถือเป็นจุดอ่อน เพราะตราบใดที่มีระบบธุรกิจการเมือง และการเมืองต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูง จนทำให้พรรคการเมืองและนักการเมืองต้องหาทุนเพื่อมาใช้ทางการเมืองนั้น ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันก็ยังคงอยู่

ในภาคของราชการก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่ส่งเสริมให้เกิดระบบคุณธรรมในระบบราชการ มีการซื้อขายตำแหน่ง หรือการเมืองเข้ามาแทรกแซง จะเกิดการแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกัน ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันก็แก้ยาก

แม้จะมีกลไกการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน อย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ตาม แต่หากสุดท้ายค่านิยมในสังคม การมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคธุรกิจ ไม่สามารถที่จะมารวมพลังกันต่อต้าน ก็ยากที่ปัญหานี้จะแก้ไขได้

ฉะนั้น การมีส่วนร่วมจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ และจะต้องเกิดขึ้นไปพร้อมกับการปรับปรุงกติกาของบ้านเมืองที่จะเอื้อต่อการเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การเปิดเผยข้อมูล ความเข้มแข็งเรื่องงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน และบทบาทของหน่วยงาน องค์กร สื่อมวลชน ที่จะมาตรวจสอบ

“จะเห็นว่าในต่างประเทศ หลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรา เช่น กรณีของซีทีเอ็กซ์ หรือผู้บริหารท่องเที่ยว บางทีข้อมูลการตรวจสอบคอร์รัปชันเกิดขึ้นในต่างประเทศ จากการตรวจสอบบัญชีจะมีการซื้อขายกิจการหรืออะไรก็ตาม เราจะเห็นว่าบางกรณีหน่วยงานที่ทำเรื่องการปราบปรามคอร์รัปชันเขาทำงานเชิงลึกกว่า สามารถบอกได้ว่าใครเอาเงินไปให้ใครอย่างไร”

อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญที่สุดคือจะต้องมีวิธีการคุ้มครองคนที่ทำงานต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชัน เพราะถ้าแก้ไม่ได้ คนที่มีข้อมูลจริงก็ไม่พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการต่อสู้กับการทุจริต

นายอภิสิทธิ์กล่าวทิ้งท้ายว่า การสู้เรื่องนี้ไกลกว่าการตรวจสอบนโยบาย ที่สำคัญจะต้องสามารถสร้างค่านิยมในสังคมให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ยากและเป็นเรื่องใหญ่

“สิ่งหนึ่งซึ่งเราจำเป็นที่จะต้องรณรงค์ด้วยในการทุจริตคอร์รัปชันคือ ทำอย่างไรให้คนมีความรู้สึกว่าตัวเองเสียหายจากการคอร์รัปชัน ซึ่งความจริงทุกคนเสียหาย เพราะทุกคนเสียภาษีอากร”

“อุทิศ บัวศรี” ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
“อุทิศ บัวศรี” ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

ขณะที่ นาย“อุทิศ บัวศรี” ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กล่าวถึงสถานการณ์ธรรมาภิบาลในประเทศไทยว่า สถานการณ์ธรรมาภิบาลในประเทศอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างหนักหน่วงและเป็นเช่นนี้มานานแล้ว แม้ว่าจะมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายหรือการสร้างกลไกขึ้นมา แต่สถานการณ์ไม่ดีขึ้น

“จุดสุดท้ายจึงอยู่ในเรื่องวิธีคิดของคนในประเทศ ตราบใดที่ผู้ประกอบธุรกิจมองว่าการพาข้าราชการที่มีส่วนในการจัดซื้อจัดจ้างไปเลี้ยงข้าวไปตีกอล์ฟเป็นเรื่องธรรมดา มันแก้ไขปัญหาไม่ได้ มันจะสองฝ่าย ถ้าได้งานมาพาข้าราชการไปเลี้ยงนี่คือวิธีคิด ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ในหลักสากลไม่ใช่เลย”

นายอุทิศระบุว่า ปัจจุบันคนยังไม่สามารถแยกออกระหว่าง “สินน้ำใจ” กับ “สินบน” โดยเฉพาะการคอร์รัปชันในระดับเบสิกอย่างการฝากลูกเข้าโรงเรียน

“ถามว่าเสียเงิน 20,000 บาท ฝากลูกเข้าโรงเรียนเป็นอะไร คิดว่าเป็นเงินบริจาค เสียเงิน 20,000 บาท ถ้าคิดว่าเป็นเงินบริจาคพังนะครับ เพราะไปกระทบสิทธิของคนอื่นที่เขาไม่มีเงิน เป็นการเบียดเบียนคนอื่น เป็นสินบน พ่อแม่ต้องหาวิธีการที่ถูกต้อง ถ้าฝากลูกเข้าโรงเรียนตั้งแต่ต้นแล้วต่อไปลูกมันก็ติดสินบนตลอดชีวิตของมัน เข้าทำงานก็เสียตังค์ไม่เห็นเสียหายตรงไหน เพราะเข้าโรงเรียนก็เสียตังค์แล้ว มันก็เป็นเรื่องธรรมดา”

หากยึดตามตัวบทกฎหมาย เจ้าหน้าที่ที่รับสินบนมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต และผู้ให้มีโทษจำคุก 5 ปี แต่ทว่าระบบของบ้านเมืองทำให้กฎหมายนี้ไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง เพราะคนให้และคนรับต่างเลือกที่จะเก็บเงียบด้วยกันทั้งคู่ เพราะได้ประโยชน์เหมือนกัน

นายอุทิศระบุว่า ที่น่าตกใจ มีการสำรวจว่าความคิดของนักธุรกิจที่ยินดีจ่ายให้เจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้ได้งานมานั้น มีมากถึง 76.9 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น การทุจริตคอร์รัปชันจึงไม่สามารถที่จะไปโทษฝ่ายการเมืองหรือข้าราชการแต่เพียงฝ่ายเดียวได้ ทางออกของเรื่องนี้คือ การเพิ่มโทษในส่วนของเอกชนจากเดิมที่กำหนดไว้ 5 ปี ให้เป็นประหารชีวิตสำหรับอัตราโทษสูงสุด

“ในบ้านเราการให้เงินเพื่ออำนวยความสะดวกไม่ผิดกฎหมายนะ เช่น กฎหมายอาญา มาตรา 143 จ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกไม่ผิด แต่จะผิดเมื่อจ่ายเงินให้รัฐทำผิดกฎหมาย อย่างนี้ติดคุก 5 ปี แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐรับถือว่าผิดหมดและโทษหนัก อันนี้คือข้อต่างของระบบกฎหมายที่เรามองว่าโทษมันไม่เหมือนกัน”

ในส่วนของการกำหนดราคากลางนั้น ในวันที่ 11 สิงหาคม นี้จะมีการบังคับใช้กฎหมาย ป.ป.ช. ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องวิธีการประเมินราคากลาง โดยต่อไปการจัดซื้อจัดจ้างทุกชนิดจะต้องประกาศวิธีการประมูลราคากลางลงในระบบอิเล็กทรอนิกส์

“เช่น หากสร้างตึกราคา 500 ล้าน จะคิดอย่างไร หรือการจัดอบรบคิดค่าอะไรได้บ้าง ถ้าหน่วยไหนไม่ทำจะมีความผิด ทั้งนี้ หากได้รับงานมาแล้ว ถ้ามีมูลค่า 2 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องมีบัญชีที่จะต้องรับเงินจากรัฐไป เช่น 5 ล้านบาท หรือ 100 ล้านบาท ถ้ารับไปแล้วนำไปใช้จ่ายอย่างไร และสิ้นปีจะต้องส่งบัญชีนี้ไปพร้อมกับต้นทุนที่สรรพากร”

แม้จะมีการออกกลไกเพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน แต่ถ้าตราบใดวิธีคิดของคนยังไม่เปลี่ยนก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะวิธีคิดจะโยงไปถึงพฤติกรรม