ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ชี้ 5 อาการน่าเป็นห่วง – 4 มิติท้าทายของประเทศไทย ระบุการเมืองในม่านหมอก “ทัศนวิสัยพร่ามัว”

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ชี้ 5 อาการน่าเป็นห่วง – 4 มิติท้าทายของประเทศไทย ระบุการเมืองในม่านหมอก “ทัศนวิสัยพร่ามัว”

22 ตุลาคม 2019


ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2562 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การเมือง การคลัง พลังนำประเทศ” จัดโดยสมาคมศิษย์เก่ารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีรายละเอียดดังนี้

“ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ทางสมาคมศิษย์เก่ารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ไว้ใจให้ผมกล่าวปาฐกถาเรื่อง “การเมือง การคลัง พลังนำประเทศ” ทั้งที่ผมมีประสบการณ์ในหัวข้อนี้จำกัด และเทียบไม่ได้กับศิษย์เก่า “สิงห์ทอง” ที่เป็นสายตรงด้านรัฐศาสตร์ นักการเมืองทั้งอดีตและปัจจุบันในที่นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องมาพูดในเวทีเดียวกับอาจารย์วิษณุ ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเมืองเกือบ 30 ปี และอดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในตำนาน นับเป็นโจทย์ยาก”

พวกเราคงมีความเห็นสอดคล้องกันว่า การเมืองและการคลังมีความเกี่ยวพันกันมาก ถ้าเปรียบประเทศเป็นร่างกายมนุษย์ การเมืองเป็นเหมือนสมองที่คอยคิด-สั่งการว่า จะเดินหน้าประเทศไปทิศไหน อย่างไร การคลังเหมือนแขนขาที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมายที่การเมืองวาดหวังไว้ ซึ่งเป็นไปได้ตั้งแต่การสร้างชาติ สร้างโอกาสให้ประชาชน แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงการวางอนาคตให้ประเทศ ผมขอร่วมแสดงความเห็นใน 3 ส่วน คือ

  • ส่วนแรก ย้อนรอยบทบาทการเมือง-การคลัง พลังนำประเทศ
  • ส่วนที่สอง 5 อาการน่าเป็นห่วงของประเทศไทย
  • ส่วนที่สาม การเมือง-การคลังกับการพัฒนาเพื่ออนาคต

1. ย้อนรอยบทบาทการเมือง-การคลัง พลังนำประเทศ

บทบาทการเมือง-การคลังในการเป็นพลังเพื่อพัฒนาประเทศ ทำให้ผมนึกถึงแนวคิดนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของโลกคือจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) ที่เห็นว่า การเมือง-การคลังควรทำหน้าที่ปรับสมดุลทางเศรษฐกิจ หมายความว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนตกงาน ธุรกิจปิดกิจการ การเมือง-การคลังควรเข้าไปแทรกแซงเพื่อให้คนมีงานทำ และมีมาตรการกระตุ้นให้เกิดแรงส่งให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ แต่ในกลับกัน ช่วงเศรษฐกิจดีเติบโตได้ตามศักยภาพ การเมือง-การคลังควรเตรียมเสบียงไว้ใช้ในยามคับขัน หรือเรามักเรียกบทบาทอย่างนี้ว่า counter cyclical หรือทวนวงจร

นอกจากนี้ การเมืองยังต้องทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดทิศทางและ agenda การพัฒนาที่จะตอบโจทย์ความจำเป็นของประเทศในแต่ละช่วงเวลาเพื่อให้เกิดผลดีต่อประชาชนในอนาคต และที่ผ่านมา การเมือง-การคลังไทยเป็นพลังนำประเทศในบทบาทต่างกัน ซึ่งผมขอพาทุกท่านย้อนอดีตในบทบาทต่างๆกันของการเมือง-การคลังสักเล็กน้อย

บทบาทสร้างชาติ-สร้างโอกาส

พวกเราเคยเรียนมาว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยเกือบอยู่ในสถานะผู้แพ้สงคราม แต่การต่อสู้จากหลายฝ่ายทำให้ไทยก้าวพ้นสถานะนั้นไปได้ แต่ใช่ว่าชีวิตของประเทศไทยจะราบรื่น ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เขียนเล่าถึงสถานการณ์ของประเทศไทยช่วงนั้นว่า USOM หรือ United States Overseas Missions เข้ามาประเมินประเทศก่อนให้ความช่วยเหลือ สรุปได้ว่า ประเทศไทย “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” จริง แต่นอกจากนั้นแล้ว “ไม่มีอะไรเลย” … ไม่มีทรัพย์สินที่จะทำอะไร ไม่มีเงิน ไม่มีสินค้าทุน เครื่องจักรอะไรทั้งนั้น … มีธนาคารพาณิชย์แต่ไม่มีเงินฝาก

ในช่วงนี้การเมืองการคลังจึงเป็นกลไกหลักในการสร้างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น

ตั้ง “รัฐวิสาหกิจ” เพื่อผลิตสินค้าที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคง

ตั้ง “สถาบันการเงินเฉพาะกิจ” เข้ามาให้บริการ “ในสิ่งที่ภาคเอกชนเห็นว่าไม่คุ้มค่า” เช่น การให้สินเชื่อภาคเกษตรของ ธกส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) สินเชื่อบ้านแก่ผู้มีรายได้น้อยของ ธอส. (ธนาคารอาคารสงเคราะห์)

รวมถึงกู้เงินเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ-การศึกษา-สาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นถนน ไฟฟ้า ประปา เขื่อน โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และเพื่อขยายฐานเศรษฐกิจ ภาครัฐยอมกู้เงินเพื่อขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่อย่างอีสเทิร์นซีบอร์ด (Eastern Seaboard)

แต่พวกเราคงยอมรับว่า นี่คือการลงทุนที่คุ้มค่ามาก แม้รัฐบาลต้องเผชิญกับปัญหาการขาดดุลการคลังต่อเนื่องก็ตาม เพราะทำให้พวกเรามีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีโอกาสในชีวิตอย่างไม่น่าเชื่อ ทำให้ภาคเอกชนไทยเข้มแข็งขึ้น คนไทยเกือบทุกคนมีงานทำและลืมตาอ้าปากได้

บทบาทวางอนาคตให้ประเทศ

จากความสำเร็จของ Eastern Seaboard ทำให้มีการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาอย่างคาดไม่ถึง ภาคอุตสาหกรรมไทยขยายตัวมาก ในช่วงนั้นรัฐบาลเน้นส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนและปลดล็อกศักยภาพอุตสาหกรรมไทยเป็นหลัก เช่น การปฏิรูปโครงสร้างพิกัดอัตราศุลกากรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย และที่สำคัญคือ การใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ทำให้ไทยมีศักยภาพเป็นประเทศผู้ส่งออก เพราะการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มทำให้ผู้ส่งออกสามารถรับคืนภาษีสำหรับวัตถุดิบของสินค้าที่ส่งออกเท่ากับที่คืนให้วัตถุดิบของสินค้าที่ขายในประเทศ จากเดิมไทยมักโดนประเทศต่างๆ หาว่าชดเชยให้ผู้ส่งออกมากไป ถือว่าเอาเปรียบผู้ผลิตในประเทศเขา1จึงถูกเรียกเก็บ countervailing duty หรือภาษีชดเชย

บทบาทปรับสมดุลให้เศรษฐกิจ

เมื่อภาคเอกชนไทยเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจเต็มที่ เศรษฐกิจดี ในช่วงปี 2531-2539 อัตราการขยายตัวเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 9 ทำให้ภาครัฐมีรายได้มากกว่ารายจ่ายหรือเกินดุลต่อเนื่อง จากที่เคยขาดดุลติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ตั้งแต่วิกฤติน้ำมันครั้งที่ 1 จึงทยอยใช้หนี้จนสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่เคยสูงถึงร้อยละ 52 ในปี 2530 ลดลงจนอยู่ร้อยละ 14 ในปี 2539 นับเป็นกันชนสำคัญทางเศรษฐกิจ

ต่อมาเมื่อเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งจากปัญหาความอ่อนแอของภาคการเงินและภาคธุรกิจ เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทุกตัวไม่ทำงาน โชคดีที่ภาคการคลังมีความพร้อม และเข้ามากอบกู้สถานการณ์เต็มตัว ตั้งแต่

“ลดรายจ่าย” ด้วยการชะลอการใช้จ่ายลงทุนใหม่ออกไปแบบไม่มีกำหนดในช่วงแรก

“ดำเนินนโยบายการคลังขยายตัวมาก” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อมา และ

เข้ามามีบทบาท “แก้ปัญหาและรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นในภาคการเงิน” ผ่านกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จนกระทั่งเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจกลับมาพร้อมเดินหน้าอีกครั้ง

ที่สำคัญ เมื่อประเทศกลับมาตั้งหลักได้อีกครั้งหลังวิกฤติ ภาคธุรกิจและสถาบันการเงินปฏิรูปตัวเองอย่างมาก จนทุกวันนี้เศรษฐกิจไทยนับว่ามีเสถียรภาพมาก โดย World Economic Forum ชี้ว่า เสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคเป็นจุดแข็งที่สำคัญที่สุดของไทย โดยได้ 90 คะแนนจาก 100 คะแนน ในการจัดอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันระดับโลกปีนี้

2. 5 อาการน่าเป็นห่วงของประเทศไทย

พวกเราคงยอมรับว่า ที่ผ่านมาการเมือง-การคลังทำให้ประเทศไทยเดินหน้ามาไกลพอสมควร แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ ซึ่งหลายอย่างนับเป็นความท้าทายทางการเมือง-การคลังไทยในระยะต่อไปอย่างยิ่ง โดยมี 5 อาการสำคัญ คือ

อาการแรก คือ ศักยภาพเศรษฐกิจถดถอย

เศรษฐกิจไทยเติบโตได้น้อยลงเหมือนคนแก่ที่เดินได้ช้าลง กล่าวคือ ทศวรรษก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 9 ต่อปี แต่ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา อัตราการเติบโตวนเวียนอยู่ในระดับร้อยละ 4 และหลายปีที่ผ่านมาการเติบโตเฉลี่ยเพียงร้อยละ 3 ที่สำคัญ หมอหลายคนเคยเตือนมาหลายครั้งว่า ต้องหมั่นออกกำลังเพิ่มพลังในตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยกระดับศักยภาพแรงงาน การวิจัยและพัฒนา การปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการแข่งขัน หรือการปรับบทบาทภาครัฐให้เป็นผู้สนับสนุนภาคเอกชน แต่กลับไม่ได้ทำต่อเนื่องจริงจัง

อาการที่สอง คือ ความเหลื่อมล้ำสุดโต่ง

ผมชอบคำบรรยายความสุดโต่งที่ ดร.เสกสรร ประเสริฐกุล พูดไว้อย่างเห็นภาพว่า “ระบบเศรษฐกิจที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งที่ไม่ต้องโกงก็สามารถที่จะรวยได้อย่างเหลือล้น ขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศจนได้อย่างเหลือเชื่อโดยไม่ได้เกียจคร้าน” ซึ่งคำกล่าวนี้คงไม่ผิดเมื่อดูจากข้อมูลและผลการศึกษาจากหลายหน่วยงาน พบว่า

  • คนไทย 10% ที่มีรายได้สูงสุดและต่ำสุด มีรายได้ห่างกันถึง 22 เท่า
  • คนไทยมากกว่า 75% ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ขณะที่โฉนดกว่า 61% อยู่ในมือคนแค่เพียง 10% โดยงานศึกษาชี้ว่า ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของคนไทยที่ว่ามากแล้ว ความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินยิ่งสูงกว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ตลอดช่วงเวลาที่ทำการศึกษา2 จนมีการกล่าวว่า ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ ระดับสาหัส

เมื่อความเป็นอยู่ของคนในประเทศแตกต่างกันมากเพียงนี้ หมายความว่า แม้เราอยู่ในประเทศเดียวกัน ย่อมเห็นประเทศนี้ในภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจและสังคมแตกต่างกันสิ้นเชิง และหากพวกเราสังเกตจะเห็นข่าวที่สะท้อนอาการ “หมั่นไส้คนรวย” มีให้เห็นมากขึ้น เช่น “คนขี่มอเตอร์ไซค์ด่าคนขับรถหรูที่จอดขวางถนน และต่อมาเอาหินขว้างกระจกหน้ารถจนแตก” และเราคงไม่อยากให้รอยแยกนี้บานปลายออกไปจนเรารู้สึกว่านี่ไม่ใช่เมืองไทยที่เราเคยรู้จัก ซึ่งความเหลื่อมล้ำสุดโต่งเช่นนี้ย่อมมีนัยครอบคลุมถึงเสถียรภาพการเมือง-การคลัง-เศรษฐกิจ-สังคม และชีวิตของคนไทยทุกคน

อาการที่สาม คือ การก้าวสู่สังคมคนชราเต็มรูปแบบ

สภาพัฒน์ฯ ชี้ว่า

ปี 2564 จะมีคนไทยอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปคิดเป็น 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมดและ

ปี 2574 คนกลุ่มนี้จะมีจำนวนมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด

ซึ่งอาจารย์วรเวศม์ สุวรรณระดา (อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ประเมินภาระการเลี้ยงดูคนแก่ไว้อย่างน่าสนใจว่า ปี 2558 คนวัยทำงานประมาณ 4.5 คน จะดูแลคนแก่ 1 คน หรือ 4.5 ต่อ 1 แต่ในปี 2574 สัดส่วนนี้จะเท่ากับ 2 ต่อ 1 นั่นหมายความว่า ถ้าต้องการรักษามาตรฐานการดำรงชีวิตไว้ ผลิตภาพที่คนวัยทำงานในอนาคตต้องเพิ่มขึ้น 2.25 เท่า จึงรับภาระนี้ได้ และด้วยความก้าวหน้าด้านสาธารณสุขทำให้อายุเฉลี่ยของคนไทยสูงขึ้น โดยการศึกษาของ TDRI พบว่า ตลอด 6 ทศวรรษที่ผ่านมา คนไทยมีอายุขัยเพิ่มขึ้น 4.4 เดือนต่อปี และเมื่อประมาณการอายุคนไทยตามปีเกิด เป็นไปได้ว่าคนไทยที่เกิดในปี 2559 จะมีอายุยืนเฉลี่ยถึง 80-98 ปี หรือเกือบ 100 ปี แน่นอนว่า เมื่อฐานกำลังคนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจน้อยลง จำนวนผู้เสียภาษีย่อมลดลง ขณะที่รายจ่ายด้านสาธารณสุขจะเร่งตัวขึ้นยาวนานอย่างมีนัยสำคัญ

อาการที่สี่ เทคโนโลยีป่วนโลก

กล่าวคือ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี มุมหนึ่งสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการคลังในหลายมิติ ซึ่งจะกล่าวถึงในส่วนต่อไป แต่อีกมุมหนึ่งก็ทำให้ภาคการคลังต้องเผชิญกับความท้าทายในการจัดเก็บภาษีไม่น้อย กล่าวคือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค รูปแบบการดำเนินธุรกิจที่อยู่บนแพลตฟอร์มมากขึ้น โอกาสเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยจะยากขึ้นมาก

ขณะเดียวกัน หลายธุรกิจที่ถูก disrupt จนต้องทยอยปิดตัวลง เช่น ร้านเช่าวิดีโอ ธุรกิจสิ่งพิมพ์ ธนาคารพาณิชย์ที่ทยอยปิดหรือควบรวมสาขา และมีการใช้หุ่นยนต์แทนคนในงานที่ “น่าเบื่อ-สกปรก-อันตราย” มากขึ้น นั่นหมายถึงคนตกงานมากขึ้น และรัฐต้องสูญเสียรายได้จำนวนมาก

อาการสุดท้าย คือ การเมืองในม่านหมอก

แม้ความขัดแย้งระหว่างสีจะลดลงบ้าง แต่มองไปข้างหน้าการเมืองไทยก็ยังเหมือน “เมืองในม่านหมอก” ทำให้ทัศนวิสัยการมองเห็นน้อย เราเห็นภาพแบบพร่ามัว ไม่สามารถที่จะบอกอะไรได้ชัดเจน มีความผันผวน แบ่งแยกเป็นฝักฝ่ายแตกแยก สภาพเช่นนี้ย่อมลดทอน “พลังการเมือง” ที่จะนำมาซึ่งเสถียรภาพของประเทศ

และในระดับโลก หลังจากเกิดปรากฏการณ์ Brexit หรือการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมา ก็ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับประชาธิปไตยว่าสิ้นมนต์ขลังแล้วหรือ

แต่ในม่านหมอกก็ยังมีแสงสว่าง การตื่นตัวทางการเมืองของคนไทยในหลากหลายวัย โดยเฉพาะเยาวชนที่เพิ่งมีโอกาสเลือกตั้งครั้งแรก ทำให้มีความหวังขึ้นมาว่า การตื่นตัวของประชาชนจะเป็นพลังที่ทำให้เมฆหมอกที่ปกคลุมการเมืองไทยจางคลายลงบ้าง และบางทีเราอาจเห็นอนาคตของการเมืองไทยที่ชัดเจนขึ้น

3. การเมือง-การคลังกับการพัฒนาเพื่ออนาคต

ในอนาคตที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ท้าทายในหลากหลายมิติ ผมคิดว่าการเมือง-การคลังจะยังสามารถเป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้สามารถเดินหน้าก้าวต่อไปได้อย่างราบรื่น โดยสิ่งที่รัฐบาลควรจะดำเนินการหรือคำนึงถึงมีอย่างน้อย 4 มิติสำคัญดังนี้

มิติแรก ประเทศไทยที่เท่าเทียม

การที่ประเทศไทยติดอันดับต้นๆ ของโลกที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ ส่วนหนึ่งเพราะการพัฒนาที่ผ่านมาจะเน้นแต่ให้โต หรือมี GDP สูงๆ ซึ่งนับว่าหยาบมาก เพราะไม่ได้ดูลึกไปถึงชีวิตคนไทยแต่ละคนว่าจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนามากน้อยเพียงใด ผลการพัฒนาที่ผ่านมาจึงมีลักษณะ “เศรษฐกิจยิ่งโต ผู้ที่มีทุนมากกว่ายิ่งได้เปรียบ” ผมคิดว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นต้นตอสำคัญของความขัดแย้งในโลก รวมถึงประเทศไทย ประวัติศาสตร์หลายช่วงก็เตือนเราอยู่เสมอว่า เมื่อความเป็นอยู่ของคนในสังคมแตกต่างกันมาก ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการปะทะแย่งชิงทรัพยากร และยากที่สังคมโดยรวมจะอยู่รวมกันอย่างผาสุก

การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องสำคัญในลำดับต้นที่รัฐบาลควรดำเนินการ โดยเฉพาะการกระจายผลประโยชน์จากการพัฒนาไปสู่ประชาชนแต่ละคนให้ทั่วถึงมากขึ้น ไม่กระจุกอยู่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง และจะต้องทำให้คนไทยสามารถที่จะอยู่ได้อย่างมีความหวังว่า “ชีวิตข้างหน้าจะดีขึ้น” มีความหวังว่า จะสามารถก้าวพ้นจากความยากจนได้ในช่วงชีวิตถ้ามุ่งมั่นในการทำงาน และดำรงชีวิตด้วยความสุจริต

ในภาพใหญ่ แนวทางสำคัญในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำคือ การกระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่นและพัฒนาหัวเมืองในภูมิภาคมากขึ้น ที่ผ่านมา การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นยังไม่คืบหน้า และเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ความเจริญกระจุกอยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑลไม่กี่เมือง เชื่อไหมครับ ทุกวันนี้กรุงเทพฯ และปริมณฑลใช้ไฟฟ้ามากกว่าภาคเหนือ-อีสาน-ใต้รวมกัน ถ้าท่านมีโอกาสดูภาพถ่ายของประเทศไทยจากดาวเทียมในช่วงกลางคืนจะเข้าใจถึงความเหลื่อมล้ำที่เป็นอยู่ในประเทศนี้อย่างชัดเจน และผมเชื่อว่าการกระจายอำนาจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รากฐานของสังคมแข็งแรง

ในระดับชุมชนและระดับปัจเจก จำเป็นต้องเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร แรงงานและประชาชนในฐานรากให้มีรายได้ที่เพียงพอที่จะดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ใช่ใช้ชีวิตแบบรายได้ชักหน้าไม่ถึงหลัง ต้องตากหน้าไปยืมเงินคนอื่น หรือยอมให้นายทุนรีดไถด้วยดอกเบี้ยสูง

ที่ผ่านมา เราพูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายโอกาส แต่จะเน้นผลที่เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็น “ปลายเหตุ” มากกว่าจะจัดการที่ “ต้นเหตุ”

การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้นในประเทศไทยจึงเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่ผมเชื่อว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ปัจจุบันแม้จะมีการใช้งบประมาณปีละกว่า 5 แสนล้านบาท แต่ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังพบเห็นได้ในแทบทุกพื้นที่ของประเทศ เชื่อไหมครับว่า ปัจจุบันเด็กไทยเกือบ 7 แสนคน หรือร้อยละ 5 ของประชากรต้องหลุดจากระบบการศึกษา จากที่ผมมีโอกาสลงพื้นที่ พบว่า

    – เด็กจำนวนมากที่เข้าเรียนช้า เพราะพ่อแม่ต้องหาเช้ากินค่ำ ไม่มีเวลาพาไปโรงเรียน
    – หลายคนถึงเกณฑ์เข้าเรียน แต่พ่อแม่กลับยังไม่ได้ไปแจ้งเกิด
    – หลายคนขาดเรียนบ่อย เพราะไม่มีค่ารถ ไม่มีเครื่องแบบครบที่จะใส่ไปเรียน
    – หลายคนแม้ตั้งใจและมีศักยภาพ แต่ต้องหยุดเรียนไปช่วยครอบครัวหาเงิน เพื่อเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้เรียน

ตัวอย่างเหล่านี้ถือเป็น “การเสียโอกาสชีวิต” อย่างน่าเสียดาย

“กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” ที่ถูกจัดตั้งขึ้นก็ด้วยความหวังว่าจะเป็นหนึ่งในกลไกที่จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาของไทย โดยหวังว่าที่เด็กไทยไม่ว่าจะเกิดในครอบครัวที่ร่ำรวยหรือยากจน อาศัยอยู่จังหวัดไหนของประเทศ จะต้องมีสิทธิเข้าถึงการศึกษาและได้รับการพัฒนาโดยปราศจากความเหลื่อมล้ำได้ เพื่อให้ชีวิตเขาสามารถก้าวหน้าไปได้ตามศักยภาพ

มิติที่สอง ประเทศไทยที่แข่งขันได้

ปัญหาศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่ลดลง เป็นอีกเรื่องสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข ปัจจุบันหลายประเทศที่เคยตามหลังเราชนิดไม่ติดฝุ่น ทุกวันนี้ไล่เรามาติดๆ ถ้าไม่ทำอะไรเราอาจเป็นประเทศที่ไม่สามารถแข่งขันกับใครได้ ที่สำคัญในอนาคตประเทศไทยกำลังจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว จะทำให้คนไทยในวัยทำงานมีภาระที่จะต้องดูแลผู้สูงอายุหลายคนขึ้น

ทางออกเดียวคือ คนไทย ธุรกิจไทย รวมทั้งภาครัฐไทย จะต้องเก่งขึ้น ทุกองค์กรในประเทศไทยจะต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะมีความสำคัญมากทั้งกับวันนี้และวันหน้า แนวทางที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจเคยเสนอมีหลายมิติ เช่น

    – การมุ่งพัฒนาในอุตสาหกรรมที่ไทยเก่ง เช่น เกษตรแปรรูป อาหาร ท่องเที่ยว สุขภาพ SMEs hospitality รวมทั้งอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในอนาคตและจะต่อยอดอุตสาหกรรมอื่น เช่น เทคโนโลยีดิจิทัล และเทคโนโลยีชีวภาพ

    – การขยายตลาดและสร้างฐานการลงทุนด้วยการสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน CLMV เมื่อรวมกับประเทศไทยจะมีขนาดตลาดถึง 230 ล้านคน และเมื่อรวมบังกลาเทศอีก 160 ล้านคน จะทำให้ตลาดมีขนาดถึง 400 ล้านคน ซึ่งประเทศกลุ่มนี้เติบโตร้อยละ 6-8 ต่อปี โดยแนวคิดสำคัญคือ ลดข้อจำกัดการรวมตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องlogistics หรือกฎระเบียบต่างๆ

    – การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในการพัฒนา โดยส่งเสริมให้มีการทำวิจัยและสร้างนวัตกรรม ปัจจุบันประเทศไทยมีการลงทุนในเรื่องนี้ต่ำ งบประมาณด้านวิจัยและพัฒนา (GERD) ของไทยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.8 ของ GDP ขณะที่ประเทศที่มีพัฒนาการในเรื่องนี้สูง เช่น จีน สิงคโปร์ เยอรมัน งบประมาณด้านนี้จะสูงถึงร้อยละ 2-3 ต่อ GDP

    – การปรับนโยบายด้านการศึกษาและแรงงาน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ในด้านหนึ่งก็ทำให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ๆ แต่ในอีกด้านก็ disrupt ทำให้หลายธุรกิจต้องปิดกิจการ และเรื่องที่จะเป็นโจทย์สำคัญ คือ คนไทยมากกว่า 30 ล้านคนที่ใช้แรงงาน ทักษะและความรู้ชุดเดิมที่ใช้อยู่ อาจจะล้าสมัยหรือใช้ไม่ได้ การพัฒนาทักษะใหม่ได้ทันกับบริบทโลกใหม่และรองรับงานในอนาคต และการสนับสนุนให้คนไทยสามารถที่จะเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิตเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

นอกจากนี้ เมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนวัยทำงานลดลง แรงงานจะไม่เพียงพอ ประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งแรงงานต่างชาติมากขึ้น การทบทวนนโยบายเพื่อสร้างแรงจูงใจให้แรงงานต่างชาติสนใจมาทำงานในเมืองไทยจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ดังที่เราเห็นประสบการณ์ของประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ จัดแพกเกจเพื่อดึงดูดให้คนต่างชาติเข้าไปช่วยทำงาน

มิติที่สาม ประเทศไทยที่ทันสมัย โปร่งใส และเป็นธรรม

คงยากจะปฏิเสธว่า สภาวะแวดล้อมทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ในปัจจุบันต่างจากในอดีตมาก และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่หยุดนิ่ง “ระบบสถาบัน” หลายส่วนที่เคยออกแบบไว้ในอดีตอาจไม่ตอบโจทย์ของประเทศในอนาคต “การปรับกลไกของภาครัฐ” ให้มีความทันสมัยเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะภาครัฐเป็นผู้กำหนดนโยบาย กฎหมาย กฎเกณฑ์ กติกา ซึ่งจะมีผลต่อการสร้างแรงจูงใจและระบบนิเวศน์ที่สำคัญของประเทศที่จะเอื้อให้การพัฒนาเรื่องต่างๆ เป็นไปได้อย่างราบรื่น ความสำเร็จของเรื่องนี้จะทำให้การปฏิรูปปรับปรุงเรื่องอื่นสำเร็จได้ง่ายขึ้นด้วย

ตัวอย่างเช่น กฎหมายด้านเศรษฐกิจ ควรจะได้รับการปรับปรุงให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ และจะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะ disrupt ทำให้บางธุรกิจหายไป ขณะที่เกิดธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมาแทน ภาครัฐจึงจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปได้คล่องตัว ธุรกิจที่ล้มต้องสามารถลุกเร็วได้ ดังเช่นกรณีประเทศอินเดีย เมื่อไม่นานมานี้ปรับปรุงกฎหมายล้มละลายทำให้กระบวนการสั้นลงจาก 4 ปี เป็น 9 เดือน

อีกเรื่องที่สำคัญคือ การสร้างวัฒนธรรมการเมืองและสังคมที่เสรีเปิดกว้าง เป็นรากฐานสำคัญ เพราะเสรีภาพและการเปิดกว้างทางความคิดจะทำให้คนในประเทศทันสมัยเท่าทันโลกตลอดเวลา และจะทำให้การเมืองไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น กล่าวคือ แม้การมีความเห็นที่แตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในทุกสังคม แต่การมีความเห็นแตกต่างกันในลักษณะฉันถูก เธอผิด และมุ่งที่จะหาจุดด้อยของอีกฝ่ายว่าร้ายกว่าของตนอย่างเช่นในปัจจุบันเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวล การสร้างวัฒนธรรมที่เสรีและเปิดกว้าง คนในสังคมมีความอดกลั้น สามารถรับฟังความเห็นที่แตกต่างอย่างปราศจากอคติ นับเป็นเรื่องสำคัญและเป็นรากฐานที่สำคัญของการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมและเป็นประชาธิปไตย ถ้าคนในสังคมใดทนรับฟังความคิดเห็นหรือตรวจสอบจากคนนอกไม่ได้ ก็เท่ากับสังคมนั้นจะไม่สามารถที่จะเห็น “ความเป็นไปได้อื่น” ที่อาจจะดีกว่าได้

ในด้านความเป็นธรรม ผมคิดว่า ภายใต้การเมืองในระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่เราต้องระมัดระวังคือเผด็จการโดยเสียงส่วนใหญ่ ที่ไม่ให้ความสำคัญกับความเห็นต่างของคนส่วนน้อย หลายปีก่อนโทนี แบลร์ (Tony Blair) อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ มากล่าวปาฐกถาที่เมืองไทย มีสาระชวนคิดแปลได้ว่า “ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การหย่อนบัตรลงคะแนน แต่หมายความรวมถึงวิธีคิดที่เปิดกว้าง และประชาธิปไตยที่มักมีปัญหาส่วนหนึ่งเพราะมีลักษณะผู้ชนะกินรวบ หรือ winner takes all หรือคนส่วนใหญ่เสียงดัง ในขณะที่คนส่วนน้อยในสังคมรู้สึกว่าพวกเขาถูกกันออกไป”3

นอกจากนี้ การทำให้ “หลักนิติธรรม” (rule of law) เกิดขึ้นในสังคม เป็นอีก agenda ที่สำคัญ กล่าวคือ การใช้และการตีความกฎหมายต้องเป็นไปเพื่อความผาสุกของประชาชนส่วนใหญ่ในสังคม ไม่ใช่แค่การตีความตามตัวอักษรอย่างด้านๆ และที่สำคัญไม่น้อยกว่ากัน คือจะต้องทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกันทุกคนไม่ว่าจะเป็นยาจกหรือเศรษฐี และต้องไม่ใช่ระบบยุติธรรมที่จับได้เฉพาะประชาชนรายเล็กรายน้อย แต่ไม่สามารถเอาผิดกับคนมีอิทธิพลหรือมีฐานะทางสังคมได้ เช่น “คดีเสือดำ” ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันทั่วประเทศ ส่งสัญญาณให้เราทราบอุณหภูมิของสังคมที่เริ่มตั้งคำถามกับระบบในปัจจุบัน

โดยสรุปแล้ว ผมเชื่อว่า ระบบสถาบันของภาครัฐที่มีความทันสมัยเท่าทันโลก การมีทัศนคติทางการเมืองที่เสรีเปิดกว้าง และความเป็นไปในสังคมเป็นไปอย่างเป็นธรรมจะเป็นปัจจัยรากฐานที่สำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

มิติที่สี่ ประเทศไทยที่ยั่งยืน

หนึ่งในเทรนด์สำคัญของโลกปัจจุบันคือ การให้ความสำคัญกับ “ความยั่งยืน” (sustainability) ที่กระตุ้นให้พวกเราต้องมองไกลไปข้างหน้า มองไปในอนาคต ที่ไม่ใช่นึกถึงแค่วันนี้ และสหประชาชาติ (United Nations) ผลักดันแนวคิดเรื่อง “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งหมายถึงการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ของคนในปัจจุบัน โดยไม่เบียดบังทรัพยากรหรือลดทอนคุณภาพชีวิตของคนในเจเนอเรชันหน้า

เหตุการณ์ที่เด็กสาวชาวสวีเดน เกรียตา ทุนแบย์ (Greta Thunberg)ลุกขึ้นเป็นผู้นำในการประท้วงหยุดเรียนเพื่อเรียกร้องให้ผู้ใหญ่คำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม จากจุดเริ่มต้นที่นั่งประท้วง 1 คน เป็นประท้วงพร้อมกันในหลายประเทศเป็นจำนวนถึง 8 ล้านคนในวันเดียว สะท้อนถึงความสำคัญของหลักคิดเรื่องความยั่งยืนที่จะมีมากขึ้นในอนาคต และในวันนี้ผมอยากร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความยั่งยืนด้านการคลังของไทย ที่แม้ในปัจจุบันเสถียรภาพโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่มองไปข้างหน้า เราจำเป็นต้องคำนึง “ความยั่งยืนทางการคลัง” อย่างน้อย 2-3 ประเด็น

ประเด็นแรก คือ ด้านรายจ่าย

นับตั้งแต่ปี 2540 ที่ผ่านมา ประเทศไทยจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล (รายจ่ายมากกว่ารายรับ) ต่อเนื่องแทบจะทุกปี มียกเว้นช่วงปี 2548-2549 เท่านั้น มองไปข้างหน้า รายจ่ายมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ไม่ว่าจากรายจ่ายด้านการดูแลสวัสดิการการรักษาพยาบาล รายจ่ายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และรายจ่ายในการสร้าง infrastructure ขนาดใหญ่ให้เพียงพอ แม้ปัจจุบันที่ตัวเลขหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ร้อยละ 41 จะยังอยู่ในระดับไม่สูงมาก แต่ด้วยภาระรายจ่ายหลายเรื่องที่จะมากขึ้น ผมคิดว่ามีความจำเป็นที่ผู้เกี่ยวข้องต้องมาช่วยกันคิดพิจารณาว่า จะลดรายจ่ายของรัฐบาลได้อย่างไรบ้าง ซึ่งผมคิดว่าอาจทำได้หลายวิธี เช่น

    – การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการช่วยลดรายจ่ายดำเนินการเรื่องต่างๆ

    – การสนับสนุนให้เกิดการร่วมทุนระหว่างภาครัฐ-เอกชน (PPP) ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณมาก

    – การให้ประชาชนที่เต็มใจและสามารถจ่ายเองร่วมจ่ายสมทบสำหรับรายจ่ายด้านสวัสดิการ

    – การตัดลดกฎหมาย กฎเกณฑ์ที่มากเกินความจำเป็นลง ตามแนวทาง regulatory guillotine ซึ่งนอกจากจะช่วยลดอุปสรรคการทำธุรกิจของภาคเอกชนแล้ว ผมเชื่อว่าจะช่วยลดรายจ่ายของภาครัฐด้วย หรือ

    – การนำองค์ความรู้ที่พิสูจน์แล้วมาใช้ออกแบบนโยบายสาธารณะ (evidence-based policy) จะช่วยทำให้การใช้งบประมาณตรงจุด มีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น งานของนักเศรษฐศาสตร์ 3 ท่านที่ได้รางวัลโนเบลปีนี้ก็เป็นผลมาจากการสร้างองค์ความรู้ที่นำไปออกแบบนโยบายลดความยากจน

ประเด็นต่อมาคือ ด้านรายได้

ปัจจุบันไทยจัดเก็บรายได้ในปี 2561 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 15 ของ GDP ซึ่งถือว่าไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วที่จัดเก็บรายได้เฉลี่ยประมาณร้อยละ 35 ของ GDP ในขณะที่ประเทศให้สวัสดิการเต็มรูปแบบเก็บยิ่งสูงกว่านั้น

เมื่อมองไปข้างหน้า รูปแบบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป อาจจะกระทบความสามารถในการจัดเก็บรายได้ภาษีบางประเภท เช่น

    – การค้าขายในระบบ e-commerce ที่จะกระทบการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังที่เห็นในช่วงไม่กี่ปีมานี้

    – การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติและอัตราภาษีที่ลดลงจะกระทบการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล

    – ข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA จะมีผลทำให้การจัดเก็บภาษีศุลกากรลดลง

ดังนั้น เพื่อให้ภาคการคลังมีความยั่งยืน การเพิ่มรายได้จะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจดำเนินการได้ในหลายมิติ เช่น การขยายฐานคนจ่ายภาษีให้กว้างขึ้น การปรับปรุงระบบภาษีในอัตราก้าวหน้าให้ผู้มีรายได้สูงร่วมจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น การลดหรือยกเลิกสิทธิประโยชน์ด้านภาษีบางส่วนและชดเชยด้วยสิทธิประโยชน์อื่นที่ไม่ใช่ภาษีแทน การขยายฐานการจัดเก็บไปสู่ทรัพย์สินรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ ซึ่งมีผู้รู้เสนอว่า ให้มีการตั้งหน่วยงานอิสระขึ้นมาทำหน้าที่นี้

นอกจากนี้ ช่องทางของรายได้ที่อาจจะมีเพิ่มเติมมาจาก

    (1) กิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ๆ เช่น platform economy ซึ่งบริษัทแม่ Big Tech ตั้งอยู่ในต่างประเทศ จึงทำให้ปัจจุบันไม่สามารถเก็บภาษีได้ ก็เป็นอีกส่วนที่ควรมีแนวทางจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมในอนาคต และ
    (2) การบริหารสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจที่เป็น strategic assets ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความถี่ ท่าเรือ สนามบิน หรือทางพิเศษ ถ้าสามารถบริหารให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ก็จะหมายถึงรายได้ของรัฐที่จะสูงขึ้นด้วย

แม้ที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นถึงคุณูปการและบทบาทของนโยบายการคลังที่นำความเจริญมาสู่ประเทศอย่างมากในหลากหลายด้าน แต่เราต้องไม่ลืมบทเรียนอันเจ็บปวดของหลายประเทศ เช่น กรีซ เวเนซุเอลา ที่ฝ่ายการเมืองใช้นโยบายการคลังอย่างไม่รับผิดชอบ สุดท้ายทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจและเกิดความเสียหายอย่างมาก ดังนั้นการดำเนินนโยบายการคลังในอนาคตจำเป็นต้องรักษาวินัยทางการคลังทั้งด้านรายรับรายจ่ายให้เคร่งครัด

สุดท้ายนี้ ผมขอสรุปอีกครั้งว่า มองไปในอนาคต ประเทศไทยจะเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ท้าทายในหลายมิติ แต่การเมือง-การคลังมีศักยภาพที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่นและมั่นคง โดยมิติที่สำคัญที่รัฐบาลควรดำเนินการหรือคำนึงถึงคือ 1.การสร้างความเท่าเทียมในสังคม 2.การเพิ่มศักยภาพของประเทศในทุกระดับ 3.การปรับกลไกภาครัฐให้ทันสมัย เปิดกว้าง เป็นธรรม และ4.มีกรอบการดำเนินการด้านการคลังที่คำนึงถึงคนในเจเนอเรชันต่อไปอย่างยั่งยืน

หมายเหตุ : 1. ก่อนมีภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ส่งออกจะรับคืนภาษีที่เสียไว้สำหรับวัตถุดิบที่ใช้ผลิตสินค้าที่ส่งออก ก็จะต้องขอคืนเงินให้ใกล้เคียงกับภาษีที่เสียไว้เท่าที่จะคำนวณได้ ปัญหาคือ ไทยก็จะโดนประเทศต่างๆ หาเรื่องว่า ชดเชยให้มากไปและลงโทษโดยเก็บ Countervailing Duty ตอนจะนำเข้าประเทศเขา และเพื่อไม่ให้ไทยเอาเปรียบผู้ผลิตประเทศเขา แต่การมีภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้ผู้ส่งออกสามารถรับคืนภาษีสำหรับวัตถุดิบของสินค้าส่งออกเท่ากับที่คืนให้วัตถุดิบของสินค้าที่ขายในประเทศ ต่างประเทศจึงไม่สามารถเก็บภาษี Countervailing Duty ได้ เพราะไม่มีการสนับสนุนการส่งออกเป็นพิเศษ … คำอธิบายโดย ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ในหนังสือสดุดี (คนอื่น)
2. ธนสักก์ เจนมานะ, ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ ระดับสาหัส: ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไทยในศตวรรษที่ 21
3.“democracy is not just a way of voting but a way of thinking … part of the trouble is when democracy is seen as a kind of winner takes all … and the minority feels as if they are kind of shut out and excluded.”