นายโธมัส รัมบวก หัวหน้าคณะผู้แทนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่มาประเมินเศรษฐกิจไทยเมื่อสองอาทิตย์ก่อน ยอมรับว่าขณะนี้วิกฤติหนี้ในกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร เป็นปัญหาเศรษฐกิจโลกที่สำคัญที่สุด
ความเห็นของเขาไม่ต่างจากของนักลงทุนและผู้นำทั่วโลก ที่ต้องปรับตัวและเตรียมตัวรับมือกับผลกระทบที่จะตามมา
ความกังวลอย่างมากในขณะนี้มีต่อสิ่งที่ยังมาไม่ถึง แต่ทุกคนเข้าใจตรงกันว่าโอกาสที่ปัญหาจะบานปลาย และส่งผลกระทบทั่วโลกมีสูง หากสามหน่วยงานที่รับมือกับเรื่องนี้ นั่นคือธนาคารกลางยุโรป สหภาพยุโรป และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ไม่สามารถสกัดปัญหาไม่ให้ลุกลามได้
ความคาดหวังนี้สอดคล้องกับรายงานฉบับหนึ่ง ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่เปิดเผยเมื่อปลายปี 2011
ในรายงานชี้ว่า หากวิกฤติหนี้ลุกลามจากประเทศกรีซไปทั่วกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ต่อเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะต่อระบบการเงิน
รายงานกองทุนการเงินระหว่างประเทศมีการกล่าวถึง ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส รวมทั้งสามประเทศ ขนาดธุรกิจมีขนาดที่เล็กมากแค่ร้อยละ 6 ของขนาดเศรษฐกิจของทั้งโซนที่ครอบคลุมทั้งหมด 17 ประเทศ การปล่อยกู้จากสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในโซนก็แค่ร้อยละ 12.6 ของการปล่อยกู้ในต่างประเทศ
ปัญหาอยู่ที่สินทรัพย์ที่ออกโดยทั้งสามประเทศ ที่สถาบันการเงินขนาดใหญ่ในโซนถืออยู่ มีจำนวนสูงถึงร้อยละ 32 ของสัดส่วนผู้ถือหุ้น ในรายงานชี้ว่าสิ่งนี้แสดงถึงความเสี่ยงที่สูงมาก และมีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปนอกเขตยูโร
ในรายงานยังชี้ว่า หากสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในโซนมีปัญหา โอกาสที่สถาบันการเงินนอกเขตยูโรจะได้รับผลกระทบจะมีมากถึงร้อยละ 40 ซึ่งอาจจะมากกว่าเมื่อครั้งที่เลห์แมน บราเธอรส์ล้มละลายเสียอีก
ผลการศึกษาผลกระทบหากมูลค่าพันธบัตรรัฐบาล และที่ออกโดยสถาบันการเงินในสามประเทศ ตกลงร้อยละ 60 พบว่าทั่วทั้งทวีปยุโรปและบางส่วนในทวีปอเมริกาเหนือ จะได้รับผลกระทบโดยตรง ผลกระทบทางตรงอาจจะสูงกว่านี้ได้หากมีเหตุการณ์ที่ทำให้มูลค่าพันธบัตรต้องลดต่ำลงมากกว่านี้ เช่น การหดตัวของการให้กู้ต่อภาคธุรกิจอื่นอันจะส่งผลต่อผลกำไรของภาคธุรกิจ
ความเสี่ยงในเรื่องนี้ลดลงมาก หลังจากธนาคารกลางยุโรป ได้เสริมสภาพคล่องในระบบสถาบันการเงิน นับถึงวันนี้สภาพคล่องที่ใส่เข้าไปในระบบสูงถึง 1 ล้านล้านยูโร รวมจำนวน 489 พันล้านยูโรที่ใส่เข้าไปเมื่อเดือนธันวาคม 2554 และยังมีการคาดว่าจะมีการเสริมสภาพคล่องอีกสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ เนื่องจากมีการพบว่าสถาบันการเงินยังกังวลในการปล่อยกู้ต่อภาคธุรกิจ
ปัญหาสภาพคล่องน่าจะคงอยู่สักระยะหนึ่ง เนื่องจากมีธนาคารจำนวนมากได้ประกาศแผนปรับลดหนี้ออกมา ตามแผนคือจะมีการขายสินทรัพย์ในยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศพัฒนาอื่นๆ รวมทั้งในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ขบวนการนี้น่าจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่างมีปัญหา ตั้งแต่การค้า การให้เงินกู้กับโครงการขนาดใหญ่ จนถึงการทำธุรกรรมข้ามประเทศ
ตามรายงานอีกฉบับของกองทุนการเงินระหว่างประเทศชื่อ ความมั่นคงของระบบการเงินโลก (Global Financial Stability Report: GFSR Market Update) ออกมาเมื่อวันที่ 24 มกราคม หากธนาคารเหล่านี้ เลือกปรับงบดุลด้วยการขายสินทรัพย์ ที่หามาได้ในช่วงวิกฤติก่อนหน้า (โดยมากแล้วเป็นธนาคารในเยอรมนี ไอร์แลนด์ และอังกฤษ) หรือขายธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก สภาพคล่องในตลาดจะไม่ถูกกระทบ แม้ว่าราคาสินทรัพย์ที่ต่ำลงจะมีผลต่อเงินกองทุน แต่ภาคธุรกิจจะได้รับผลเสียหายมาก หากธนาคารเลือกลดการปล่อยเงินกู้ใหม่
ในกรณีนี้ แน่นอนว่าประเทศเกิดใหม่ในยุโรปจะได้รับผลกระทบอย่างมาก การที่ธนาคารจากฝั่งตะวันตกหยุดปล่อยกู้เป็นเหตุผลสำคัญของ ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำปี 2009 ในกลุ่มประเทศเหล่านี้
ประเทศเกิดใหม่ในทวีปอื่นเอง ก็น่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้ในหลายทาง แม้ว่าโดยรวมพวกเขาจะแข็งแกร่งและสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆได้ดีขึ้น ผลกระทบอันหนึ่งน่าจะมาจากตลาดเงินกู้ที่ขนาดน่าจะลดลง ถ้าธนาคารในยุโรปดึงเงินกลับประเทศ
เงินกู้เพื่อการค้าและโครงการขนาดใหญ่ ของธนาคารในยุโรปในเอเชีย มีประมาณร้อยละ 30 ของทั้งหมด (แต่ทั้งจำนวนมีมูลค่าแค่ร้อยละ 5 ของสินทรัพย์รวม) ความเสี่ยงจะเกิดหากธนาคารในเอเชีย ไม่สามารถให้บริการแทนที่ธนาคารยุโรปได้ ธนาคารในเอเชียมีความสามารถทางการเงิน แต่ในการให้เงินกู้ทางการค้า มีเรื่องที่ต้องทำหลายอย่าง เช่น การหาเงินดอลลาร์ให้ได้มากพอในภาวะไม่ปกติเช่นนี้ นอกจากนั้นธนาคารท้องถิ่นอาจจะพบปัญหาในการปล่อยเงินกู้ระยะยาว เช่น เงินกู้ทางการค้ากับธุรกิจเดินเรือและสายการบิน หรือการปล่อยเงินกู้ในโครงการสาธรณูปโภค
อีกปัญหาหนึ่งที่จะเกิดคือปัญหากับตลาดการเงินในประเทศ เมื่อมีการไหลออกของเงิน และสภาพคล่องที่ลดลง ประเทศที่พึ่งพากับโลกภายนอกมาก(เช่น ประเทศไทยที่การส่งออกมีมูลค่าสูงถึงร้อยละ70 ของ GDP) น่าจะประสบปัญหามาก
ในช่วงต้นปีที่ผ่านมามีเงินไหลเข้าตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทยทั้งหมดเกินห้าหมื่นล้านบาท(ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์) แต่ก็มีการคาดว่าจะมีการไหลออกหากเหตุการณ์เลวร้ายมากขึ้น
ธนาคารในประเทศเกิดใหม่จำนวนมาก มีสภาพคล่องสูงมาก หลังวิกฤติเลห์แมน แต่ไม่รวมธนาคารในยุโรปตะวันออกที่พึ่งพาเศรษฐกิจยุโรปตะวันออกสูง
น่าจะเป็นจริงตามที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่าวิกฤติยูโรส่งผลกระทบทางตรงที่จำกัดต่อประเทศไทย แต่ผลกระทบทางอ้อมนั้นยังประเมินไม่ได้