ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ร่วมภารกิจส่งต่อ-สืบสานพระราชปณิธานในหลวง ร.๙ สร้าง“ทุนชีวิตและโอกาส” ต้องไม่มุ่งแค่ “การเติบโตอย่างหยาบๆ”

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ร่วมภารกิจส่งต่อ-สืบสานพระราชปณิธานในหลวง ร.๙ สร้าง“ทุนชีวิตและโอกาส” ต้องไม่มุ่งแค่ “การเติบโตอย่างหยาบๆ”

2 มิถุนายน 2017


ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถา “สืบสานพระราชปณิธาน เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ในงานการประชุมวิชาการระดับชาติของนักเศรษฐศาสตร์ ครั้งที่ 11 วันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน 2560 ณ ห้องประชุมจีระ บุญมาก สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

“ผมขอขอบคุณท่านอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เจ้าภาพการจัดงานประชุมวิชาการระดับชาติของนักเศรษฐศาสตร์ครั้งนี้ ที่ให้เกียรติเชิญผมกล่าวปาฐกถาในเวทีที่น่าจะเป็นการชุมนุมนักเศรษฐศาสตร์ที่ใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศ”

เมื่อย้อนกลับไปดูที่มาของการจัดการประชุมวิชาการระดับชาติของนักเศรษฐศาสตร์ พบว่า มีวัตถุประสงค์ให้ “นักเศรษฐศาสตร์ไทย” ได้มีโอกาสพบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 11 แล้ว ที่สำคัญคือ หัวข้อการสัมมนาแต่ละปีสะท้อนความเอาใจใส่ในปัญหาของบ้านเมือง เช่น การกำหนดนโยบายสาธารณะ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และหัวข้อหลักในวันนี้คือ เศรษฐกิจพอเพียง โดยส่วนที่ผมจะขอร่วมแสดงความเห็นในวันนี้ คือ สืบสานพระราชปณิธาน เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ผมขอแบ่งการบรรยายเป็น 3 ส่วน ดังนี้

    ส่วนที่ 1 เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
    ส่วนที่ 2 ทำไมต้องมีการสืบสานพระราชปณิธานเศรษฐกิจพอเพียง?
    ส่วนที่ 3 การขับเคลื่อนงานสืบสานพระราชปณิธานเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งในส่วนนี้ จะขอกล่าวถึงบทบาทนักเศรษฐศาสตร์ไทยต่อภารกิจนี้ด้วย

ส่วนที่ 1 เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศส่วนใหญ่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้หลักการค้าเสรี โดยแต่ละประเทศพยายามเร่งพัฒนาเศรษฐกิจเท่าที่ศักยภาพจะเอื้ออำนวย และนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ภายใต้หลักการนี้ “กลไกตลาด” หรือ “มือที่มองไม่เห็น” จะสามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนหลายประเทศประสบความสำเร็จ ขยับฐานะจากประเทศยากจนสู่ประเทศร่ำรวย

อย่างไรก็ดี “ข้อเท็จจริง” อีกด้านหนึ่ง คือ ผลของ “การค้าเสรี” ที่ไร้กติกา ที่แต่ละคนมี “ทุน” และ “โอกาส” ไม่เท่าเทียมกัน ทำให้ผลการพัฒนาออกมาในลักษณะ “ยิ่งเศรษฐกิจเติบโตเท่าไร ผู้มีทุนมากกว่าก็ยิ่งได้เปรียบมากขึ้น” จึงไม่ต่างกับ “ถนนการค้า” ที่ขาดกฎจราจร สุดท้ายพื้นผิวถนนถูกยึดครองโดย “รถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์” ขนาดใหญ่ที่คอยเบียด “รถขนาดเล็ก” หรือ “มอเตอร์ไซค์” ให้ต้องวิ่งตาม “ไหล่ทาง” อย่างไม่เป็นธรรม เพราะพาหนะเหล่านี้พร้อมจะตก “ขอบ” ถนนได้ตลอดเวลา ทำให้ผลการพัฒนาที่เกิดขึ้นห่างไกลจาก “ความยั่งยืน”

ในมิติระหว่างประเทศ ที่แต่ละประเทศมี “ทุน” ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม รวมถึงความคิดและทักษะของคนที่ต่างกัน ทำให้เห็นอานิสงส์ของการพัฒนาที่ต่างกัน “รายได้ประชากรต่อหัวต่อปี” ระหว่างประเทศที่รวยและจนที่สุดต่างกันอย่างสุดขั้ว และยังมี “คนยากจน” ในระดับที่ไม่มีอาหารเพียงพอในการประทังชีวิตที่ถูกทิ้งอยู่ข้างหลังอีกเป็นจำนวนมากคิดเป็นร้อยละ 11 ของประชากรโลก สิ่งเหล่านี้นอกจากจะสะท้อน “ความสิ้นไร้ไม้ตอก” ของคนจำนวนมากแล้วยังเพิ่มความเสี่ยงในการ “ปะทะ” กันเพื่อแย่งชิงทรัพยากรในทุกระดับตั้งแต่เผ่าพันธุ์จนถึงระดับชาติ ซึ่งท่านมหาตมะ คานธี เคยกล่าวไว้อย่างลึกซึ้งว่า “Poverty is the worst form of violence”

พูดง่ายๆ คือ “ความยากจน” เป็นรูปแบบความรุนแรงที่เลวร้ายที่สุด

ในมิติภายในของแต่ละประเทศ ที่แต่ละครัวเรือนมี “ทุนชีวิต” ไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นสถานะทางสังคม เศรษฐกิจ และ “โอกาส” ที่ไม่เท่ากันในการเข้าถึงปัจจัยการผลิตและการศึกษา จึงทำให้หลายประเทศในโลกเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีการแสดงออกมาในหลายรูปแบบ จากความไม่พึงพอใจในผลประโยชน์ที่ตนได้รับ ตัวอย่างเช่น

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือผล Brexit ที่พลิกความคาดหมาย ก็สะท้อนความไม่พอใจดังกล่าวด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ “การพัฒนาที่บ่อยครั้งมุ่งแค่ผลประโยชน์ในระยะสั้น” ทำให้เราต้องเผชิญกับปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหามลพิษทางน้ำหรืออากาศ ซึ่งมีผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในวงกว้าง ข้อมูลของ State of Global Air ปี 2017 ชี้ว่า 20 ปีที่ผ่านมา (ปี 1995-2015) ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากปัญหามลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 17 ซึ่งประเทศที่มีการปล่อยมลพิษเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญคือ “อินเดียและจีน” ซึ่งหลายพื้นที่ได้กลายเป็น “โรงงานของโลก” ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ หรือกลุ่มยูโร ปัญหานี้จะเบาบางลงบ้าง ส่วนหนึ่งเพราะกฎระเบียบเข้มงวดขึ้น และมีการย้ายโรงงานจำนวนหนึ่งไปประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งการแก้ปัญหาเช่นนี้ แม้จะช่วยประเทศกลุ่มหนึ่งดีขึ้น แต่อีกกลุ่มกลับแย่ลง สะท้อนวิธีการแก้ปัญหาแบบแยกส่วน จึงอาจจะไม่ใช่การ “แก้” แต่เป็นการ “โอน” ปัญหา สุดท้ายภาพรวมสิ่งแวดล้อมโลกยังคงแย่ลง ทั้งที่มีการรณรงค์กันมาหลายทศวรรษแล้ว

จากปัญหาต่างๆ ข้างต้นที่มีผลต่อความมั่นคงและคุณภาพชีวิต ซึ่งในที่สุดจะสามารถกลับมาเป็นตัวเหนี่ยวรั้งการพัฒนาและคุกคามสันติสุข ทั่วโลกจึงกำหนด “วิสัยทัศน์ร่วม” ในการมุ่งพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน และองค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) 17 ประการ ให้สำเร็จภายในปี 2030 ที่สำคัญ เป้าหมายเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกัน ตัวอย่างเช่น การขจัดความยากจน ความหิวโหย การส่งเสริมให้ประชาคมโลกมีสุขอนามัยและคุณภาพชีวิตที่ดี จะเกิดขึ้นได้ การดูแลสิ่งแวดล้อมทางน้ำและอากาศ การสร้างการเติบโตอย่างเหมาะสมและทั่วถึง รวมถึงการยกระดับคุณภาพการศึกษา ก็ต้องได้รับการพัฒนาให้มีความก้าวหน้าควบคู่กันไป

โจทย์สำคัญในเรื่องนี้ คือ “เราจะพัฒนาอย่างไร” เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความท้าทายของเรื่องนี้เป็นเรื่อง “How to”

สำหรับประเทศไทย นับว่า “โชคดีมาก” ที่เรามีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ท่านทรงเป็นเสาหลักในเรื่องนี้ นับตั้งแต่ขึ้นครองราชย์พระองค์ทรงอยากเห็นพสกนิกร “อยู่ดีกินดี มีสุขภาพที่ดี” และทรงมุ่งพัฒนาปัจจัยการผลิตสำคัญของเกษตรกรในมิติต่างๆ เช่น “คุณภาพดิน” และ “เพิ่มปริมาณน้ำ” ในแต่ละปีท่านจะใช้เวลาหลายเดือนเสด็จพระราชดำเนินไปยังถิ่นทุรกันดารทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย

ภาพที่พวกเราเห็นจนเจนตาคือ ภาพที่พระองค์ทรงสะพายกล้องเดินข้ามทุ่งนาป่าเขา และมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ติดตามไปด้วย

ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกล พระองค์ทรงตระหนักว่า การแก้ปัญหาด้านปัจจัยการผลิตเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ เพราะการพัฒนาจะยั่งยืนได้ สุดท้ายจำเป็นอย่างยิ่งที่ ประชาชน ทุกระดับตั้งแต่ปัจเจก ผู้บริหารองค์กรหรือภาครัฐ ต้องมี “ค่านิยมและทัศนคติที่ถูกต้อง” และทรงเริ่มมีพระราชดำรัสกับประชาชนกลุ่มต่างๆ ในเรื่องนี้ในช่วงทศวรรษ 1970 และต่อมาทรงเรียกแนวคิดนี้ว่า “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

ที่เห็นว่าปัจจัยสำคัญที่จะช่วยป้องกันตัวเองจากวิกฤติและให้การพัฒนาก้าวหน้าไปได้อย่างยั่งยืน คือ การที่คนในสังคมมี “ความพอเพียงในการดำรงชีวิต” และ “ยืนบนขา” ตัวเองได้ ซึ่งเปรียบเหมือน “เสาเข็ม” ที่ซ่อนอยู่ใต้พื้นดิน แม้จะ “มองไม่เห็น” แต่เป็น “รากฐาน” สำคัญของชีวิตดังพระราชดำรัสที่ว่า

“เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเสมือน “รากฐาน” ของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือน “เสาเข็ม” ที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็มแต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็มด้วยซ้ำไป”

ในวงการธุรกิจ “เสาเข็ม” ที่ว่าก็จะมีนัยคล้ายคำในหลักสูตรบริหารที่ว่า “Cultures eat strategies for breakfast” ซึ่งหมายความว่า ไม่ว่าจะมีกลยุทธ์ที่ดีเพียงใด สิ่งที่มีความสำคัญมากในเบื้องแรกคือ “วัฒนธรรม” (Culture) หรือ “กรอบความคิด” (Mindset) ของพนักงานในองค์กรผู้ขับเคลื่อนกลยุทธ์ไปสู่เป้าหมาย

ปัจจุบันหลักปรัชญานี้ เริ่มได้รับความสนใจแพร่หลายมากขึ้น “องค์การสหประชาชาติ” เห็นว่า หลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยทำให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังที่อดีตเลขาธิการสหประชาชาตินายโคฟี อันนัน (Former UN Secretary-General Kofi Annan) กล่าวในโอกาสทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์แด่พระองค์ ความตอนหนึ่งว่า

“ด้วยวิสัยทัศน์และการเป็นนักคิดของพระองค์ ทำให้นานาประเทศตื่นตัวในการปรับรูปแบบการพัฒนาภายใต้แนวคิดใหม่ ปรัชญา ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ได้แนะแนวทางการพัฒนาที่มุ่งเน้นหลักการ ‘ทางสายกลาง’ ภายใต้ ‘ความพอประมาณ การบริโภคอย่างมีเหตุผล (การมีเหตุผล) และการมีภูมิคุ้มกันในตัว’ ที่มากพอที่จะรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์”

นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมให้มีการประยุกต์ใช้หลักการนี้กว้างขึ้นในระดับสากล ปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้นำ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ขึ้นมาเป็นประเด็นหลักในการประชุม G-77 โดยเน้นการประยุกต์ใช้ตั้งแต่การบริหารเศรษฐกิจในระดับมหภาคจนถึงการดำเนินธุรกิจซึ่งเป็นมิติที่มีการกล่าวถึงค่อนข้างจำกัด นอกเหนือจากการใช้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตที่พวกเราพอรู้อยู่แล้ว

ส่วนที่ 2 ทำไมต้องมีการสืบสานพระราชปณิธานเศรษฐกิจพอเพียง?

มาถึงส่วนที่ 2 ของปาฐกถา ทำไมต้องมีการสืบสานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง?

หลายท่านในที่นี้คงรู้สึกไม่ต่างจากผมว่า เราโชคดีที่ในช่วงหนึ่งของชีวิตได้เกิดมาในรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงถือเป็นแนวคิดที่กลั่นมาจากพระอัจฉริยภาพ และเป็นมรดกทางความคิดที่พระองค์ได้ทรงฝากไว้ให้กับประชาชนชาวไทย ซึ่งผมเห็นว่ายังทันสมัย และสามารถนำมาปรับใช้ได้แม้ในยุคในปัจจุบัน ด้วยหลักคิดหรือมุมมองที่สำคัญ 4 ด้านดังต่อไปนี้

    1. มองกว้าง – ครอบคลุมไม่เฉพาะมิติเศรษฐกิจ แต่รวมถึงสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม
    2. มองไกล – ให้ความสำคัญกับพลวัตของสิ่งต่างๆ และความจำเป็นที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ให้เท่าทันโลก
    3. มองลึกไปข้างใน – ให้ความสำคัญกับคน และการสร้างทัศนคติที่ถูกต้อง
    4. มองอย่างไร – คือมีตัวอย่างจริงให้ศึกษาว่าทำอย่างไร ไม่ว่าจะในส่วนของโครงการตามพระราชดำริในด้านต่างๆ กว่า 4 พันโครงการ รวมถึง หลักทรงงาน 23 ข้อ ที่จะเป็นเสมือนกุญแจที่จะช่วยบอก “ทาง” แก่ผู้สนใจว่าจะขับเคลื่อนงานด้านพัฒนาอย่างไร

ในฐานะที่เราเคยได้ประโยชน์และอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะต้องช่วยกันสืบสานและส่งต่อมรดกทางความคิดที่ทรงคุณค่าให้คนรุ่นใหม่ต่อไป และมีความท้าทายอยู่ไม่น้อย เนื่องจาก “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นเรื่องการปรับ “ค่านิยมและทัศนคติ” ในเรื่องความพอประมาณ การมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันในตัว เปรียบเสมือนการ “เปลี่ยนนิสัย” ของ “จิตใจ” ซึ่งต้อง “ฝืน” จากความเคยชินปกติ จึงต้องอาศัยความอดทนและมีวินัยอย่างต่อเนื่อง

ผู้น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็น “หลัก” ในการดำเนินชีวิตต้องสามารถ “มองเห็นการณ์ไกล” และ “มองลึกถึงแก่น” ในประโยชน์ของวิถี “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่จะนำมาสู่ “ความยั่งยืน” ได้อย่างแท้จริง อย่างไรก็ดี ปกติคนโดยทั่วไปมักไม่อดทนในการ “รอคอย” ความสำเร็จ หรือวัดความสำเร็จในระดับ “เปลือกผิว” เมื่อประกอบกับวิถีชีวิตแบบไทยๆ ที่ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” จึงสุขสบายกว่าประเทศอื่นมาก โอกาสที่จะตัดสินใจแบบ “สิบเบี้ยใกล้มือคว้าไว้ก่อน” ย่อมมีมากกว่าการรอคอยผลชนิด “ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม”

ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนวิถีชีวิตไปสู่ความพอเพียงก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันแบบ “สุดโต่ง” ชนิดจากที่เคยใช้กระเป๋ามียี่ห้อแล้วให้เปลี่ยนมาใช้ถุงผ้า ผมคิดว่าพระองค์ท่านทรงตระหนักถึงความจริงในข้อนี้ ดังทรงมีพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า

“เศรษฐกิจพอเพียงนี้ … ถ้าทำได้ “เศษหนึ่งส่วนสี่” ของประเทศก็จะ “พอ” … ไม่ได้แปลว่าเศษหนึ่งส่วนสี่ของพื้นที่ แต่ เศษหนึ่งส่วนสี่ของการกระทำ”

ซึ่งมีนัยว่า ถ้าคนไทยสามารถน้อมนำหลักปรัชญานี้มาปรับใช้ในชีวิตได้ “หนึ่งในสี่” ของการกระทำ เปรียบเหมือนกับการตอก “เสาเข็ม” ลงได้ลึกในระดับที่จะสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตของแต่ละคน และสร้างความมั่นคงให้กับประเทศได้

อย่างไรก็ดี แม้ปัจจุบันแนวคิดนี้ได้รับการยอมรับแพร่หลายมากขึ้น แต่ก็จำเป็นที่เราต้องช่วยกันสืบสาน สร้างความเข้าใจ กระตุ้นย้ำเตือนกันและกันบ่อยๆ เพราะนานไปย่อมมีโอกาสที่ “คนไทย” จะมีวิถีชีวิตที่ห่างไกลจาก “ความพอเพียง” จนนำไปสู่การดำเนินชีวิตอย่างประมาทได้ โดยเฉพาะในบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ซับซ้อน และผันผวนสูง วิกฤติสามารถเกิดขึ้นได้ตลอด และเข้ามาโจมตีได้ในหลายทิศทาง “การสร้างภูมิคุ้มกัน” จึงเป็นสิ่งสำคัญกว่า “การแก้ปัญหา” ในภายหลัง เมื่อเป็นเช่นนั้น การขับเคลื่อนงานสืบสานพระราชปณิธานเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

จึงเป็นภารกิจร่วมของพวกเราที่จะปลูกฝังความตระหนักรู้แก่คนรุ่นใหม่ต่อกันไปเรื่อยๆ อย่างไม่ย่อท้อ ซึ่งพวกเราคงยอมรับว่า พระองค์ทรงใช้เวลาในการเตือนสติพวกเราเกือบ 30 ปี และกว่าจะตื่นตัวและมีการนำแนวคิดนี้มาใช้อย่างจริงจังก็เมื่อประเทศเผชิญกับวิกฤติปี 1997 แล้ว

ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ

แม้ที่ผ่านมาเราจะเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นของประเทศในหลายๆ ด้าน แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศยังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างในหลายเรื่อง ซึ่งผมคิดว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยเอื้อให้การแก้ปัญหาเหล่านี้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม ถ้าปัญหาเหล่านี้หากไม่ได้รับการแก้ไข ก็ยากที่การพัฒนาจะยั่งยืนในระยะยาว โดยปัญหาเชิงโครงสร้างสำคัญที่เรากำลังเผชิญอยู่มีหลายเรื่อง เช่น

หนึ่ง ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง ส่วนหนึ่งจากทิศทางการพัฒนาที่มุ่งเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ ตัวอย่างเช่น การศึกษาที่แม้ในแต่ละปีเราจะใช้งบประมาณในเรื่องนี้กว่า 5 แสนล้านบาท แต่เงินที่ใช้มักจะให้น้ำหนักไปในด้านการสร้างสาธารณูปโภค เราเห็นโรงเรียนและมหาวิทยาลัยจำนวนมากมาย ในขณะที่คุณภาพของการศึกษาของไทยตกต่ำอย่างน่าใจหาย จากข้อมูลของ PISA ปี 2015 (ปี พ.ศ. 2558) ชี้ว่า ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่านของเด็กไทยอยู่ในกลุ่มรั้งท้ายประเทศเพื่อนบ้าน

สอง ปัญหาความ “เหลื่อมล้ำ” ที่สูงจนติดอันดับต้นๆ ของโลก จากงานวิจัยของ TDRI ชี้ว่า กลุ่มคนรวย 10% แรกของประเทศไทยถือครองที่ดินถึง 90% ของที่ดินทั้งหมด และที่ดินจำนวนมากปล่อยรกร้างไว้ ขณะที่เกษตรกรเกือบ 8 แสนคน ไม่มีที่ดินทำกิน ซึ่งห่างไกลจากคำว่า “ยั่งยืน”

สาม ปัญหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน แม้จะมีความพยายามแก้ไข แต่ระดับของปัญหายังถือว่าอยู่ในขั้นรุนแรง ดัชนีการจัดอันดับความโปร่งใส(Corruption Perceptions Index) ปี 2016 ของไทยอยู่อันดับที่ 101 จาก 176 ประเทศ หลายท่านอาจตกใจว่า คะแนนของไทยในเรื่องนี้เท่ากับฟิลิปปินส์ และต่ำกว่าอาร์เจนตินาที่ “ขึ้นชื่อ” เรื่อง “คอร์รัปชัน” ของโลก

ผมคิดว่าปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ของประเทศ ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไข ผมเชื่อว่า การบริหารเศรษฐกิจและสังคมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะค่อยๆ บรรเทาความรุนแรงของปัญหาและนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้ในที่สุด

ส่วนที่ 3 การขับเคลื่อนงานสืบสานพระราชปณิธานเศรษฐกิจพอเพียง

มาถึงส่วนสุดท้าย คือ เราจะขับเคลื่อนงานสืบสานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร

ในโลกนี้มีหลักการไม่กี่อย่างที่สามารถสืบสานได้ยาวนานนับร้อยนับพันปี หนึ่งในนั้นคือ “พุทธธรรม” ที่สามารถสืบสานได้ยาวนานถึง 2,600 ปี ทั้งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนในหลัก “กาลามสูตร” ว่า “ใครจะพูดก็พูดไปเราก็ฟังไป แต่อย่าเพิ่งเชื่อ” แม้ว่า “ผู้พูดควรเชื่อได้หรือผู้พูดนั้นเป็นครูของเรา” แต่ให้พิจารณาด้วยเหตุและผลว่า สิ่งที่พูดถูกหรือผิด เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ และลองนำมาทดลองหรือปฏิบัติเพื่อพิสูจน์ด้วยตนเอง จะได้แยกแยะได้ว่า ควรจะเชื่อและปฏิบัติแบบใด จึงจะเหมาะกับตัวเอง

ผมคิดว่า การที่ “พุทธธรรม” สามารถดำรงและสามารถสืบสานอย่างต่อเนื่อง เกิดการปฏิบัติใน 3 ส่วนสำคัญ กล่าวคือ

  • หนึ่ง ปริยัติ คือ การศึกษาคำสอนที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ ให้เข้าใจอย่างท่องแท้
  • สอง ปฏิบัติ คือ การลงมือทำจริง ปฏิบัติธรรม และ
  • สาม ปฏิเวธ คือ เมื่อปฏิบัติแล้ว เกิดความรู้สึกขึ้นภายในใจ ถึงผลดีจากการปฏิบัตินั้น ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะในระดับแต่ละบุคคล

    กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เมื่อผู้ที่ศึกษา “พุทธธรรม” เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ แล้วนำธรรมะไปปฏิบัติ จนเห็นผลดีประจักษ์ในใจตน ก็จะเกิดการสืบสานส่งต่อหลักธรรมนั้นต่อไป

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็เช่นกัน แม้จะเป็น “ศาสตร์พระราชา” ที่พระองค์ทรงปฏิบัติตนและทรงงานตามวิถีนี้จนเป็นที่ประจักษ์ก็ตาม แต่การสืบสานพระราชปณิธานเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เรื่องการ “โฆษณา” หรือชวนให้ “ปฏิบัติ” ตามความรักและศรัทธาในพระองค์ เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดจาก “ฐานของอารมณ์” ที่ไม่ยั่งยืน ดังนั้น การจะสืบสานให้พระราชปณิธานเศรษฐกิจพอเพียงให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ต้องมีการดำเนินการในหลายระดับ กล่าวคือ

ในระดับ “ท่องจำ” สร้างความเข้าใจในเบื้องต้นว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร มีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง สัมพันธ์กันอย่างไร

ในระดับ “ปฏิบัติ” คือ การแปลงความคิดมาสู่การปฏิบัติจริง เป็นการเรียนรู้ด้วยชีวิตจริง

ในระดับ “พิจารณาด้วยเหตุผล” คือ การพิจารณาว่าเมื่อปฏิบัติแล้วพบปัญหา หรือมีข้อจำกัดอะไรบ้าง รวมถึงได้รับผลดีอะไรบ้าง แล้วนำมาปรับปรุงความคิดให้เกิดความเหมาะสมอย่างมีพลวัตที่ต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาจนเกิดการตระหนักรู้ภายในตนเองแล้ว ก็จะสามารถเผยแพร่ความคิดนี้ให้กับผู้อื่นได้ในวงกว้างขึ้นต่อไป

ก่อนที่จะจบผมอยากใช้เวลาสักเล็กน้อยพูดถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในมุมของ “เศรษฐศาสตร์” เคยมีผู้กล่าวว่า “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” คือ “เศรษฐศาสตร์วิถีพุทธ” (Buddhist Economics) หรือ “เศรษฐศาสตร์สายกลาง” และที่เรียกว่า “สายกลาง” เนื่องจากให้ความสำคัญกับ “ความพอดี พอประมาณ ได้ดุลยภาพ” แต่ “ความพอดี หรือทางสายกลาง” อยู่ที่ไหน?

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์หรือที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในนาม “พระประยุทธ์” ทรงเคยขยายความไว้อย่างลึกซึ้งว่า “ความพอดี” คือจุดที่คุณภาพชีวิตกับความพึงพอใจมาบรรจบกัน กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ความรู้จักประมาณ รู้จักพอดีในการบริโภค ที่ทำให้คุณภาพของชีวิตมาบรรจบกับความพึงพอใจ “กิจกรรมทางเศรษฐกิจ” เป็น “Means” หรือ “มรรคา” ส่วน “Ends” หรือจุดหมายที่แท้จริงอยู่ที่ “การพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนามนุษย์” ในระยะยาว

จึงมีผู้กล่าวว่า “เศรษฐศาสตร์วิถีพุทธ” ได้นำมิติของ “ความยั่งยืน” เข้ามาในวิชาเศรษฐศาสตร์ เช่นเดียวกับ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวทางที่จะช่วยปรับปรุงการพัฒนาในปัจจุบันในหลายมิติให้เข้าใกล้กับเป้าหมาย “ความยั่งยืน” ได้ดีขึ้น

ผมคิดว่า นักเศรษฐศาสตร์ในฐานะที่จะเป็นผู้กำหนดนโยบายและขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนสามารถมีบทบาทได้ในหลายมิติ กล่าวคือ

นักเศรษฐศาสตร์ ต้อง “มองกว้าง” การกำหนดเป้าหมายไม่ใช่แค่เศรษฐกิจเติบโตมากๆ หากต้องคำนึงถึงคุณภาพด้วย ต้องคำนึงถึงมิติของ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ในด้านหนึ่งจุดหมายของการพัฒนาจึงไม่ใช่แค่ Maximization แต่เป็น Optimization ที่ในการดำเนินการต้องคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นองค์รวม และสอดคล้องกับวิถีชีวิตประชาชน

นักเศรษฐศาสตร์ ต้อง “มองไกล” คำนึงถึงการสร้างภูมิคุ้มกันให้เศรษฐกิจอย่างเหมาะสม และคำนึงถึงผลในระยะยาว โดยเฉพาะในยามที่เส้นทางข้างหน้ายากจะคาดเดา นอกจากนี้ การพัฒนาต้องกระจายไปสู่ “คนจน” ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศให้ทั่วถึงมากขึ้น ที่จะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน และช่วยลดความขัดแย้งในสังคมได้ในตัวด้วย

นักเศรษฐศาสตร์ ต้อง “มองลึกให้ถึงแก่น” ว่า เศรษฐศาสตร์เกี่ยวข้องกับการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การทำให้สำเร็จตาม “แก่น” ของศาสตร์จำเป็นต้องอาศัยศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบความสัมพันธ์ของชีวิตและสังคม ไม่ว่าจะเป็นมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ จึงจำเป็นต้อง “ทำงานร่วม” กับผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์อื่นที่จะช่วยให้การแก้ปัญหาของประชาชนได้ผลยิ่งขึ้น และจะช่วยยกระดับศักยภาพประชาชนให้เกิดประโยชน์ขึ้นอย่างแท้จริง

ผมนึกถึงครั้งที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อกราบบังคมทูลลาไปศึกษาต่อ ซึ่งท่านทรงรับสั่งว่า

“เมื่อได้ศึกษาก็อย่าเพิ่งสรุปว่าแนวคิดทฤษฎีหรือนโยบายเศรษฐกิจตามแบบตะวันตกจะดีไปทั้งหมด อย่าเพิ่งปักใจเชื่อโดยไม่ไตร่ตรอง”

ตอนนั้นผมอายุ 24 ปี ยอมรับว่า ยังไม่เข้าใจพระองค์เต็มที่ พอมาเรียนจบและมีโอกาสทำงานกว่า 30 ปี เพิ่งเริ่มที่จะซาบซึ้งต่อนัยในสิ่งที่พระองค์ทรง “รับสั่ง” ในครั้งนั้น กล่าวคือ ทฤษฎีหรือแนวคิดด้านเศรษฐกิจหรือทางด้านสังคมศาสตร์ไม่ว่าจะแขนงใด จะมีจุดอ่อน จุดแข็ง ไม่มีถูก ไม่มีผิด ไม่มีอะไรที่จะสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์

ดังนั้น ในการหยิบยกแนวคิดเพื่อมาเป็นกรอบในการพิจารณาข้อเสนอแนะนัยเชิงนโยบาย หรือตัดสินใจ ผู้เกี่ยวข้องควรมองแนวคิดเหล่านี้ให้เหมือน “สิ่งมีชีวิต” ที่มีพลวัต ไม่หยุดนิ่ง ต้องมองกว้าง มองไกล มองให้ลึกถึงแก่น และต้องทำงานร่วมกับผู้อื่นในการหาแนวทางที่เหมาะสมกับบริบทต่างๆ

ตรงนี้คือบทบาทที่สำคัญของนักเศรษฐศาสตร์ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งไม่ใช่มุ่งแค่ “การเติบโตอย่างหยาบๆ” แต่ควรเน้นรวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพของ “มนุษย์” ทำให้แต่ละคนสามารถที่จะดำรงชีวิตที่ดีงาม ทำให้สังคมมีสันติสุข ให้สมกับคำที่ว่า “เศรษฐศาสตร์ คือ ศาสตร์อันประเสริฐ” (ดูข้อมูลเพิ่มเติม)