ThaiPublica > เกาะกระแส > “ผู้ว่าธปท.” แจงศก.ยังไม่วิกฤต แต่ติดหล่ม “กระจายรายได้” – เล็งออกมาตรการดูแลค่าเงินบาท-พร้อมใช้ดบ.ต่ำกว่า 1.25%

“ผู้ว่าธปท.” แจงศก.ยังไม่วิกฤต แต่ติดหล่ม “กระจายรายได้” – เล็งออกมาตรการดูแลค่าเงินบาท-พร้อมใช้ดบ.ต่ำกว่า 1.25%

10 ตุลาคม 2019


ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงานประชุมนักวิเคราะห์ หรือ Analyst Meeting ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 6 ของปีและเป็นครั้งที่ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจใหม่อีกครั้ง เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 ซึ่งเป็นการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน เพื่อสื่อสารและตอบข้อสงสัยกับนักวิเคราะห์และสื่อมวลชนในการตัดสินใจนโยบายการเงินและการปรับประมาณการณ์ที่ผ่านมา

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าในช่วงหลังมักจะมีคำถามว่าเศรษฐกิจไทยกำลังถดถอยหรือไม่ เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตหรือไม่ ชัดเจนว่าจากประมาณการเศรษฐกิจของธปท. เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ปีนี้ขยายตัวได้ 2.8% ปีหน้าได้ 3.3% แต่เป็นการขยายตัวที่ชะลอลงจากปีที่แล้วและอาจจะต่ำกว่าศักยภาพของเศรษฐกิจไทย แต่ไม่ใช่ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือมีวิกฤต

“เรายังขยายตัวได้ในระดับที่ใช้ได้ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกผันผวนและชะลอตัวลงค่อนข้างมากจากบรรยากาศด้านการค้าระหว่างประเทศ อัตราการขยายตัวประมาณ 2.8-3.3% ที่เรามองอาจจะสอดคล้องกับสภาวะถอยหลังไปประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว ปีที่แล้วเราขยายตัวขึ้นไปสูงที่ 4.1% แต่ก่อนหน้านั้นก็อยู่ในระดับ 2% ปลายๆ”

แต่แน่นอนว่าสำหรับประชาชนหรือธุรกิจบางกลุ่มจะรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดีเลย ประเด็นนี้คิดว่ามีคำอธิบายได้อยู่ 2 เรื่องที่สำคัญ โดยปัจจัยแรกคือปัจจัยเชิงโครงสร้างและอีกปัจจัยคือปัจจัยเฉพาะช่วงเวลาที่เราเผชิญอยู่ อย่างที่ทราบกันว่าโจทย์ของเศรษฐกิจไทยคือโจทย์เรื่องการกระจายตัวมากกว่าโจทย์การเติบโตของเศรษฐกิจในทางมหภาค ภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคยังขยายตัวได้ แต่พอไปดูรายอุตสาหกรรมรายธุรกิจรายบริษัทอาจจะเจอการหดตัวรุนแรงได้ เพราะการกระจายการเติบโตที่ไม่สอดคล้องกัน

สำหรับปัจจัยเชิงโครงสร้างอันแรกคือการเข้ามาของเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญมากในปัจจุบัน ใครก็ตามที่ทำธุรกิจแบบเดิมไม่ได้เชื่อมต่อไปโลกสมัยใหม่ที่เป็นแพลตฟอร์ม ก็จะถูกแย่งสัดส่วนการตลาดไป เราเห็นผู้ให้บริการที่ทำเรื่องโลจิสติกส์ พวก e-Commerce ทำสถิติใหม่เพิ่มขึ้นทุกเดือน ยอดการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นทุกเดือน บางเจ้าเพิ่มจาก 70,000 กล่องต่อวันเมื่อ 4 ปีที่แล้วมาเป็น 2 ล้านกล่องต่อวัน เห็นชัดว่าอำนาจซ์้อมันเปลี่ยนไปจากการค้าขายแบบเดิมเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เป็น e-Commerce อยู่บนแพลตฟอร์มมากขึ้น

“เราเห็นธุรกิจที่รับส่งอาหารในกทม.มีเจ้าใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลาและมีการขยายตัวสูงมากทั้งจำนวนคนที่เข้ามาอยู่ในธุรกิจนี้ รายได้ก็ค่อนข้างดี คนขี่จักรยานยนต์รับส่งอาหารรายได้ต่อเดือนหลายหมื่นบาท ฉะนั้นมันเป็นภาคเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่องและมาทดแทนรูปแบบการทำการค้าแบบเดิม อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่เห็นได้ชัดเจน ใครปรับเข้าสู่โลกนี้ได้ก็จะเห็นภาพเศรษฐกิจกำลังขยายตัวเพราะอำนาจซื้ออยู่ตรงนั้น ใครที่อยู่แบบเดิมก็จะรู้สึกว่าเศรษฐกิจหดตัวไปด้วย”

ปัญหาเชิงโครงสร้างอันต่อไปคือเรื่องของสังคมผู้สูงอายุ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้จ่ายของเศรษฐกิจ เวลาผู้สูงอายุมากขึ้นการซื้อสินค้าคงทนหรือสินค้าฟุ่มเฟือยก็จะลดลง แต่ค่าใช้จ่ายจะไปอยู่กับค่ารักษาพยาบาล อาหาร หรือเรื่องสุขภาพมากขึ้น อีกด้านหนึ่งคนที่เด็กกว่าก็มีภาระที่ต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุมากขึ้นในทุกครัวเรือนเลย พฤติกรรมการออมการใช้จ่ายจะเปลี่ยนแปลงไปด้วย ฉะนั้นใครอยู่กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุก็จะเห็นมีการเติบโต แต่ใครที่อยู่นอกกลุ่มนี้ก็จะรู้สึกว่าเศรษฐกิจหดตัว

ประเด็นสุดท้ายคือเรื่องการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจไทยที่ไม่เท่าเทียมกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจขนาดใหญ่ค่อนข้างจะได้เปรียบค่อนข้างมาก ทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางหรือเล็กที่แข่งอยู่ในธุรกิจเดียวกันจะถูกกระทบมากจนไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเท่าทัน ตัวเลขสินเชื่อหรือคุณภาพสินเชื่อของคนที่อยู่ในธุรกิจเดียวกันแต่มีวงเงินต่างกัน ขนาดต่างกัน ก็จะเห็นได้ชัดว่าธุรกิจขนาดใหญ่มีการขยายตัวของสินเชื่อมากขึ้น คุณภาพสินเชื่อทยอยปรับดีขึ้น แต่ธุรกิจเอสเอ็มอีคุณภาพของสินเชื่อกลับแย่ลง การขยายตัวของสินเชื่อก็แย่ลงตาม

เหล่านี้เป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ทำให้เวลามองเศรษฐกิจในภาพรวมไม่ได้ถดถอย ยังขยายตัวได้ แต่ทำไมผู้ประกอบการบางคนรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดีมีภาวะถดถอยแรง และต้องแก้ไขด้วยมาตรการเชิงโครงสร้าง จะเห็นได้ชัดว่าธปท.ทำงานศึกษาเรื่องเชิงโครงสร้างมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าการแก้ปัญหาด้วยนโยบายเศรษฐกิจมหภาคอย่างเดียวอย่างที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ความท้าทายของเศรษฐกิจไทยแบบนี้

ปัจจัยที่ 2 ที่เป็นปัจจัยเฉพาะช่วงเวลาที่กำลังกระทบเศรษฐกิจไทยอยู่ บรรยากาศการกีดกันทางการค้าเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนว่ามากระทบกับห่วงโซ่อุปทานการผลิตในหลายธุรกิจเลย และเวลาที่ห่วงโซ่ดังกล่าวกำลังเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงไม่แน่ใจว่าจะจบอย่างไร ก็ทำให้ทุกคนที่ต้นทุนสูงขึ้น แล้วผู้ประกอบการที่มีอำนาจต่อรองน้อย ธุรกิจขนาดกลางหรือเล็ก ธุรกิจที่มูลค่าเพิ่มต่ำ หรืออยู่ตรงกลางของห่วงโซ่ ก็จะรู้สึกว่ากำไรจะถูกบีบออกไปมากขึ้น ซึ่งสะท้อนปัญหาเรื่องโจทย์การกระจายการเติบโตอีกเช่นเดียวกัน

อีกประเด็นคือเรื่องของเงินเฟ้อที่มีการกระจายตัวของแต่ละสินค้าไม่เท่าเทียมกัน ไม่แปลกที่ประชาชนจะบ่นว่าทำไมเงินเฟ้อต่ำแต่ของแพง อาหารสำเร็จรูป ของอุปโภคที่ใช้เป็นประจำ ไม่ปฏิเสธว่าราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ด้วยพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีทำให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอย่างทีวี ตู้เย็น โทรศัพย์มือถือ คอมพิวเตอร์ ราคาถูกลงมาก แต่ในตระกร้าของการคำนวณเงินเฟ้อสินค้าเหล่านี้จะมาถ่วงน้ำหนักราคาที่ใช้จ่ายเป็นประจำจนในภาพรวมเงินเฟ้อลดลงไป

“อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่ว่าการมองภาพเศรษฐกิจและการทำนโยบายก็ไม่ง่าย เพราะเวลามีประเด็นเรื่องโครงสร้างเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้เราต้องมองหลากหลายมิติ ที่สำคัญคือต้องให้ความสำคัญกับการคัดเลือกนโยบายในเรื่องของการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างต้องมีบทบาทมากขึ้น ต้องประสานนโยบายเชิงโครงสร้างกับนโยบายเศรษฐกิจมหภาคตามปกติด้วย” ดร.วิรไท กล่าว

เล็งออกมาตรการแก้เงินบาทแข็ง

นอกจากนี้ ดร.วิรไท ยังกล่าวถึงการดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปีว่าในปัจจุบันมีอยู่หลายปัจจัยที่เข้ามากระทบค่าเงินบาท ประการแรกคือสถานการณ์ของเศรษฐกิจต่างประเทศ เนื่องจากค่าเงินเป็นเหมือนเหรียญสองด้านที่นอกจากเศรษฐกิจของไทยแล้ว เศรษฐกิจของต่างประเทศก็กระทบกับค่าเงินได้เช่นกันและเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ตัวอย่างเช่น ที่ผ่านมาผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าทำให้ไทยที่อยู่ในตระกร้าเงินของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ร่วมกับจีนก็ได้รับผลกระทบไปด้วย หรือประเด็นการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษที่ทำให้ค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงอ่อนค่าลงเทียบกับทุกสกุลเงินในโลก

ประการที่สองคือการเกิดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งในช่วง 8 เดือนแรกที่ผ่านมาเกินดุลไปแล้วกว่า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าภาคส่งออกจะชะลอตัวลงมาก แต่การนำเข้าของไทยเองก็ชะลอตัวลงมากกว่า สะท้อนการลงทุนของไทยที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากต้องนำเข้าสินค้าทุน

ประการที่สามคือการส่งออกทองคำ ซึ่งไทยลงทุนเอาไว้ก่อนหน้านี้ พอราคาทองคำสูงขึ้นตามความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ไทยก็มีการขายออกไปต่างประเทศและทำให้ประเทศต้องรับเงินต่างประเทศเข้ามากดดันให้ค่าเงินแข็งขึ้น โดยจนถึงปัจจุบันคิดเป็นมูลค่ากว่า 4,000-5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ประการสุดท้ายคือการลงทุนโดนตรงจากต่างประเทศในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาที่เข้ามาซื้อกิจการในไทยเพื่อขยายการลงทุน

“ที่ผ่านมาในเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม 2562 เราจะเห็นว่าค่าตราต่างประเทศจะเข้ามาในกลุ่มของการลงทุนในหลักทรัพย์ เป็นการพักเงินสั้นๆ เป็นการปรับน้ำหนักการลงทุนใหม่ตามภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ตรงนี้ธปท.ก็ออกมาตรการปรับเกณฑ์ต่างๆ เช่นการถือครองเงินต่างประเทศของชาวต่างชาติลงไม่ให้เข้ามาพักเงินในประเทศไทยได้ ซึ่งในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ปัจจัยนี้ที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าก็หายไปคือมีสถานะเงินทุนไหลออกจากลงหลักทรัพย์ด้วยซ้ำ”

ในระยะต่อไปมาตรการที่เกี่ยวข้องกับค่าเงินก็ต้องกลับมาดูแลในลักษณะเชิงโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับบัญชีเดินสะพัดแทน เพื่อให้การเงินทุนที่ไหลเข้าและออกสมดุลกันมากขึ้น โดยมาตรการแรกจะเป็นการเปิดเสรีการลงทุนของนักลงทุนไทยออกไปต่างประเทศมากขึ้น การยอมให้ผู้ส่งออกพักเงินที่ได้จากการค้าขายไว้ในสกุลเงินต่างประเทศได้โดยไม่ต้องแลกกลับมาเป็นเงินบาททันที และเพิ่มการแข่งขันในธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินจะช่วยลดความผันผวนและการแข็งค่าของค่าเงินได้ โดยมาตรการกลุ่มนี้คาดว่าจะออกมาได้ในอีก 1-2 เดือน

มาตรการที่ 2 จะเป็นมาตรการที่อาศัยการเกินดุลในการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อการลงทุนที่จำเป็นสำหรับการยกระดับศักยภาพของประเทศและเอกชนสนใจจะลงทุน อย่างเช่นโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล สมาร์ทซิตี้ เป็ฯต้น ซึ่งจะช่วยลดการเกินดุลเดินสะพัดของไทยลงและทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้

และสุดท้ายจะเป็นมาตรการที่เกี่ยวกับลดการไหลเข้าออกของทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์กลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาคเศรษฐกิจของประเทศ แต่กลับส่งผลต่อค่าเงินบาทค่อนข้างมาก โดยมาตรการนี้จะไม่ใช่การควบคุมการซื้อขายทองคำ แต่อาจจะมีลักษณะของการเปิดช่องทางการพักเงินไว้ในต่างประเทศของผู้ส่งออก ซึ่งจะช่วยดูดซับไม่ให้การทำธุรกรรมต่างๆมากระทบกับเศรษฐกิจไทยโดยตรงมากกว่า

“มาตรการเหล่านี้จะช่วยให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงได้ แต่ถามว่าตัวเลขที่เหมาะสมเป็นเท่าไหร่คงตอบได้ยาก แต่ควรจะอาศัยจังหวะนี้ที่มีโอกาสที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจากการนำเข้าสินค้าทุนต่างๆดีกว่า ต่างจากบางประเทศที่อยู่ในสถานะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด แม้ว่าจะอยากลงทุนแต่ก็ทำไม่ได้ เพราะจะยิ่งทำให้ขาดดุลมากขึ้น” ดร.วิรไท กล่าว

เศรษฐกิจโลกชะลอ เริ่มกระทบการจ้างงาน

ด้านนายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวถึงเศรษฐกิจในช่วงการประชุมกนง.ที่ผ่านมาว่าเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณชะลอตัวลงต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้จากการประชุมครั้งก่อนหน้าเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2562 และต่ำกว่าศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ขณะที่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อคาดว่าจะต่ำกว่ากรอบที่ 1% แต่คาดว่าจะกลับมาเข้ากรอบได้ในปีหน้า ส่วนความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยโน้มไปในด้านต่ำมากกว่าจากความเสี่ยงด้านต่างประเทศเป็นสำคัญ

“หากดูเป้าหมายของนโยบายการเงิน 3 ด้านคือเสถียรภาพราคา การเติบโตของเศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงิน จะเห็นสัญญาณที่ชะลอตัวลง เริ่มจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่จากประมาณการณ์ช่วงเดือนมีนาคม 2562 ช่องว่างการผลิตที่สะท้อนการเติบโตตามศักยภาพของเศรษฐกิจยังเติบโตได้มากกว่าศักยภาพ หรือมีค่าเป็นบวก แต่พอเข้าสู่ช่วงเดือนมิถุนายน 2562 ช่องว่างการผลิตกลับมาอยู่ที่ศูนย์หรือเติบโตได้ตามศักยภาพของเศรษฐกิจ จนกระทั้งล่าสุดเดือนกันยายนที่ผ่านมาช่องว่างการผลิตดังกล่าวกลับมาติดลบอีกครั้งหรือสะท้อนว่าเศรษฐกิจเริ่มเติบโตได้ต่ำกว่าศักยภาพตลอดช่วงเวลาที่ประมาณการณ์)

ทั้งนี้ สาเหตุหลักของการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยมาจากเศรษฐกิจการค้าโลกที่ชะลอตัวลงจนกระทบภาคส่งออกของไทยเป็นหลัก โดยหากหักการส่งออกทองคำออกจะพบว่าการส่งออกของไทยค่อนข้างมากและกระจายตัวไปในทุกกลุ่มประเทศคู่ค้า ยกเว้นเพียงสหรัฐอเมริกาที่ไทยได้รับผลดีจากการย้ายฐานการค้า หรือ Trade Diversion มายังไทยมากขึ้น ขณะที่การส่งออกภาคบริการหรือการท่องเที่ยวก็ส่งสัญญาณขยายตัวได้ต่ำลงเช่นกัน การชะลอตัวของภาคต่างประเทศไทยเริ่มส่งผลกระทบไปสู่อุปสงค์ภายในประเทศอย่างชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระดับการจ้างงานภาคการผลิตและชั่วโมงการจ้างงาน ซึ่งการปรับลดลงของการจ้างครั้งนี้เป็นไปค่อนข้างเร็วแตกต่างจากหลายครั้งที่ผ่านมาที่การปรับตัวของภาคแรงงานจะล่าช้าไปกว่าภาวะเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นขาขึ้นหรือลงก็ตาม

ขณะที่รัฐบาลเริ่มออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นเงินโอนให้ภาคครัวเรือนและธุรกิจโดยตรง อย่างไรก็ตาม การลงทุนของภาครัฐยังคงล่าช้าออกไป ทั้งจากการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ล่าช้าและการผ่านพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ล่าช้า โดยล่าสุดมีการปรับสัดส่วนโครงสร้างงบประมาณที่ให้น้ำหนักกับงบรายจ่ายประจำมากขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มการลงทุนภาครัฐน่าจะชะลอตัวลงต่อเนื่อง

สำหรับด้านเสถียรภาพราคา การประมาณเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2562 คาดว่าจะต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย ซึ่งลดลงจากต่อเนื่องตั้งแต่การประมาณการในเดือนมีนาคมและเดือนกันยายน 2562 ที่คาดว่าจะอยู่ที่กรอบล่างของเป้าหมายพอดี แต่ในอนาคตคาดว่าจะกลับมาเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้อีกครั้งจากแนวโน้มเศรษฐกิจและแรงกดดันด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปีหน้า

สุดท้ายสำหรับเสถียรภาพระบบการเงินจากตัวชี้วัดวัฎจักรการเงิน (Financial Cycle) พบว่าในช่วงที่ผ่านมาความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ภายหลังการออกมาตรการที่เกี่ยวข้องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกำกับดูแลภาคอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ความเสี่ยงมีแนวโน้มปรับลดลงแต่ยังมีความเสี่ยงอยู่ ได้แก่ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่แม้ว่ามาตรการที่ออกมาจะทำให้ความเสี่ยงลดลงบ้างแล้ว ยังต้องติดตามภาวะอุปทานคงค้างต่อไป, กลุ่มเปราะบางที่อาจจะได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ปรับลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง เช่นกลุ่มที่มีหนี้ครัวเรือนในระดับสูง มีฐานการเงินที่อ่อนแออย่างกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี และกลุ่มที่มีความเสี่ยงจากดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นระยะเวลานานจนประเมินความเสี่ยงทางการเงินต่ำกว่าที่ควรจะเป็นและพยายามแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น รวมไปถึงพฤติกรรมการออมที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นเวลานาน

พร้อมใช้ดอกเบี้ยต่ำกว่า 1.25%

สำหรับการตัดสินใจนโยบายที่ผ่านมา นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่าการคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ล่าสุดไม่ใช่ว่าจะสบายใจได้แล้ว เพราะในการประชุมที่ผ่านมาก็เห็นตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงต่ำกว่าที่คาด แต่อยากจะประเมินผลของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ทยอยออกมาค่อนข้างมาก รวมไปถึงนโยบายการเงินที่ได้ปรับลดดอกเบี้ยไปในช่วงเดือนสิงหาคม

“แต่ถามว่าดอกเบี้ยนโยบายยังมีพื้นที่เหลืออยู่หรือไม่ กนง.ดำเนินนโยบายแบบขึ้นอยู่กับข้อมูล หรือ data dependent ส่วนตัวเลข 1.25% ซึ่งเป็นดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำสุดของธปท.ก็ไม่ใช่ magic number อะไร แต่ขึ้นอยู่ภาวะเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งมีความเสี่ยงค่อนข้างเยอะและพื้นที่นโยบายที่มี กนง.ก็พร้อมจะใช้หากจำเป็น แต่ขณะเดียวกันต้องดูสมดุลของเป้าหมายนโยบายการเงินในภาพรวมด้วย การคงดอกเบี้ยด้วยมติเอกฉันท์ไม่ได้แปลว่าในอนาคตจะไม่เปลี่ยนแปลง” นายเมธี กล่าว