เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2561 นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าธปท.กำลังจะออกประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์การบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินและหลักเกณฑ์ธรรมาภิบาลของสถาบันการเงินให้มีความรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและเทคโนโลยีการเงินในปัจจุบัน จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอประกาศลงราชกิจจานุเบกษา โดยฉบับแรกเป็นหลักเกณฑ์ธรรมาภิบาลของสถาบันการเงิน มีรายละเอียดใน 3 ประเด็น
-
1) การยกระดับคุณสมบัติและความเหมาะสมของกรรมการและผู้บริหารระดับสูง เช่น กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งต่อเนื่องของกรรมการอิสระจากเดิมที่ไม่ได้กำหนด เป็นดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 9 ปี โดยหากครบกำหนดทุก 9 ปีจะต้องเว้นวรรคจากตำแหน่ง 2 ปีก่อนจะกลับมาดำรงตำแหน่งใหม่ได้, เพิ่มกระบวนการทบทวนคุณสมบัติของกรรมการสถาบันการเงินให้มีการประกาศให้ชัดเจน รวมทั้งต้องนำประวัติการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายฟอกเงินมาพิจารณาด้วย, กำหนดให้ต้องทบทวนคุณสมบัติของผู้จัดการสถาบันการเงินทุก 4 ปี คือทุกครั้งที่ครบวาระ แต่สามารถพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งต่อได้หากมีความเหมาะสม
2) ปรับโครงสร้างคณะกรรมการด้านความเสี่ยงให้มีความอิสระมากขึ้น กำหนดให้ต้องมีกรรมการอย่างน้อย 1 คน มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีและภัยไซเบอร, ต้องสนับสนุนการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรที่คำนึงถึงความเสี่ยง รวมทั้งให้ช่วยกันตรวจสอบและแจ้งเบาะแสในด้านต่างๆ
3) กำหนดให้สถาบันการเงินต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการถูกเปรียบเทียบปรับจากการทำผิดตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยธปท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
“ภายหลังจากประกาศลงราชกิจจานุเบกษา กรรมการด้านเทคโนโลยีก็จะเริ่มใช้ในปี 2562 ส่วนเรื่องกรรมการอิสระจะเริ่มใช้ในปี 2565 เนื่องจากอาจจะต้องใช้เวลาในการหาตัวกรรมการที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยก็มีผู้บริหารอยู่ รวมไปถึงกรรมการท่านเก่าๆก็ยังมีวาระอยู่ แต่ยังยืนยันว่าระบบสถาบันการเงินไทยยังคงเข้มแข็ง แต่มาตรการเหล่านี้เป็นการยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้นในช่วงที่ธนาคารยังมีความเข้มแข็ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี” นางฤชุกร กล่าว
ด้านนายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่าสำหรับฉบับที่ 2 จะเกี่ยวข้องกับการยกระดับการจัดการและบริหารความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ โดยให้ธนาคารพาณิชย์จัดทำแผนล่วงหน้ารองรับการจัดการดูแลแก้ปัญหา (Recovery Plan) ซึ่งเป็นเหมือนแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ที่ธนาคารพาณิชย์เตรียมเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาทางการเงิน โดยจะต้องกำหนดให้ครอบคลุมความเสี่ยงในมิติต่างๆตามมาตรฐานสากล เช่นเงินกองทุน สภาพคล่อง คุณภาพสินทรัพย์ ภัยไซเบอร์ เป็นต้น โดยแต่ละธนาคารจะมีแผนที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะและความเสี่ยงของธุรกิจ โดยภายหลังจากที่มีแผนแล้วจะต้องมีการสื่อสารและซักซ้อมการปฏิบัติการกันภายใน
“ถามว่าซ้ำซ้อนกับหลักเกณฑ์กำกับดูแลขอ.ธปท.หรือไม่ แผนนี้เป็นมุมมองของการบริหารความเสี่ยงที่ธปท.อยากส่งเสริมให้ธนาคารมีวัฒนธรรมองค์กรร่วมกัน ผู้บริหารต้องร่วมกันคิด อย่างเช่นเงินกองทุนธปท.ก็มีเกณฑ์อยู่ แต่แผนของธนาคารก็จะเหมือนเป็นการดูแลว่าพอระดับเงินกองทุนหากลดลงไปถึงจุดหนึ่ง แต่ยังไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ จะต้องทำอะไรบ้าง ให้ธนาคารกลับมามีความเข้มแข็งเหมือนเดิม ซึ่งแต่ละธนาคารจะมีจุดนั้นไม่เหมือนกัน แต่ในกรณีที่ต่ำกว่าเกณฑ์ของธปท.เมื่อไรจะผิดกฎแล้วต้องไปสู่ช่วงแก้ไข นอกจากนี้ แผนนี้ที่ส่งมาที่ธปท.ก็จะช่วยให้มีการสื่อสารกันได้ระหว่างผู้กำกับและธนาคารว่ามีส่วนไหนที่มองว่ามากน้อยเกินไปอย่างไร” นายสมบูรณ์ กล่าว
นางฤชุกร กล่าวต่อไปว่าแผนดังกล่าวเป็นการสนับสนุนให้องค์กรเห็นความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงและมีความพร้อมที่จะดำเนินการทั้งองค์กร ต่างจากเดิมที่อาจจะมีเพียงผู้บริหารที่สนใจมิติการบริหารความเสี่ยง ส่วนการกำกับดูแลของธปท. เช่นการทำ Stress Test ก็ยังทำเป็นปกติต่อเนื่องเหมือนเดิม ขณะที่เรื่องการสร้างต้นทุนแก่สถาบันการเงินหรือไม่ ต้องดูในหลายมิติและหาความสมดุลของทั้งด้านระบบสถาบันการเงิน ประโยชน์ของประชาชนผู้บริโภค และความยั่งยืนของธุรกิจสถาบันกาเงิน ซึ่งหลายครั้งมาตรการก็เป็นการช่วงลดต้นทุนให้กับสถาบันการเงินด้วย