นักวิชาการเตือนอันตรายจากคำสั่งปิดไซต์งานก่อสร้างกะทันหัน ชี้วิศวกรไม่ได้คำนวณแนวป้องกันแรงดันน้ำ-ดิน เผื่อไว้ 30 วัน หวั่นโครงสร้าง “ค้ำยัน-บ่อขุด” ยุบพัง
หลังจากที่กรุงเทพมหานคร ได้ออก ประกาศ กทม.ฉบับที่ 34 สั่งปิดไซต์งานก่อสร้าง ในทุกเขตพื้นที่ของกรุงเทพมหานครเป็นเวลา 30 วัน รวมทั้งงดเคลื่อนย้ายแรงงาน เพื่อแก้ไขและระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ตามแนวทางที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กำหนดนั้น โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไปนั้น
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา สาขาวิศวกรรมปฐพี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Suttisak Soralump” แสดงความคิดเห็นส่วนเชิงวิชาการ เรื่องความอันตรายของการประกาศปิด Site งานก่อสร้างในโครงการที่มีงานขุดระดับลึกในกรุงเทพ ฯว่า การประกาศปิด Site งานของ ศบค.อย่างกระทันหัน อาจจะทำให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นได้โดยไม่ตั้งใจ
งานขุดระดับลึกในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นงานที่ยากและอันตรายระดับต้น ๆในงานด้านโยธาในโลกนี้ เพราะพื้นดินกรุงเทพ ฯเป็นดินอ่อน แถมปัจจุบันตั้งเเต่เราหยุดใช้น้ำบาดาล น้ำใต้ดินใน กทม.ก็ยกระดับสูงขึ้นมาก
การขุดระดับลึก คือลึกลงไปตั้งเเต่ 5 เมตร จนบางที่ถึง 30 เมตร จึงต้องการการควบคุมน้ำใต้ดินตลอดเวลา และต้องมีโครงสร้างกันดินทั้งชั่วคราวและถาวรที่เเข็งแรง รวมถึงต้องทำการตรวจวัดการเคลื่อนตัว ฯลฯ เพื่อปรับมาตราการความปลอดภัยระหว่างก่อสร้าง
ความอันตรายที่สุดคือช่วงที่ขุดถึงระดับลึกสุด ที่แรงดันดินและแรงดันน้ำมหาศาลสามารถจะทะลุก้นบ่อขุดขึ้นมาเเล้วทำลายทุกสิ่งอย่างจนค้ำยันต่าง ๆพังลงเเล้ว ทำให้บ่อขุดยุบพัง ส่งผลให้บ้านข้างเคียงได้รับผลกระทบ
ในสภาวะการก่อสร้างปกติ ความอันตรายดังกล่าวได้ถูกควบคุมด้วยวิศวกร ทำให้ปลอดภัย โดยการสูบน้ำใต้ดิน หรือ การรีบเทคอนกรีตพื้นล่างสุด เมื่อขุดถึงระดับลึกสุด (base slab) และเราก็ไม่เคยได้ยินข่าวที่รุนแรงดังกล่าวใน กทม.มากนัก
เเต่ในสถานการณ์ที่งานขุดกำลังลงไปในระดับลึกและอันตราย เเต่ Site ต้องถูกปิดอย่างกระทันหัน ทำให้ไม่มีใครที่จะทำการป้องกันอันตรายดังกล่าว โดยเฉพาอย่างยิ่ง site ที่กำลังขุดในระดับลึกสุดและยังไม่ได้เท base slab ประเด็นนี้อันตรายยิ่งนัก
ข้อเสนอ: อยากขอเสนอให้ ศบค.ออกประกาศเพิ่มเติมเกี่ยวกับการหยุด site งาน ให้มีข้อยกเว้นด้านเวลาสำหรับ site ที่ต้องการเวลาในการจัดการด้านความปลอดภัยต่างๆ จริงๆไม่ใช่เเค่งานขุดที่ผมว่า เเต่เรื่องอื่นเช่น อัคคีภัย สารเคมี ฯลฯ โดยน่าจะมีช่วงเวลาหรือให้ทาง site ทำเเผนด้านความปลอดภัยสาธารณะ เผื่อให้เวลาเพิ่มเติม เพื่อจัดการเรื่องความปลอดภัยดังกล่าว ก่อนจะปิด Site ยาวๆ
เพราะถ้าปล่อยให้เกิดเหตุขึ้น ใครจะรับผิดชอบ ถ้าไม่ใช่ผู้ประกอบการเอง
รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ให้สัมภาษณ์กับไทยพับลิก้าว่า “การนำเสนอบทความเรื่องความอันตรายจากการสั่งปิด Site งานก่อสร้างในโครงการที่มีงานขุดระดับลึกในกรุงเทพฯนั้น ผมขอย้ำว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นในเชิงวิชาการเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้เกิดความตื่นตระหนกแต่อย่างใด ประเด็นที่ผมนำเสนอ คือ อยากจะให้ รัฐบาลคำนึงถึงเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยด้วย”
รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ กล่าวต่อว่า การทำงานใน Site งานก่อสร้างที่มีการขุดดินในระดับลึกนั้น วิศวกรผู้ออกแบบส่วนใหญ่ก็ไม่ได้คำนวณ หรือ ออกแบบแนวป้องกันแรงดันของน้ำและดิน เผื่อเอาไว้ 1 เดือน เพราะไม่รู้มาก่อนว่าจะมีคำสั่งปิดไซต์งานก่อสร้าง และปกติในไซต์งานก็จะมีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้า และวิศวกรเข้าไปตรวจวัดแรงดันน้ำและแรงดันดินอยู่ตลอดเวลา ก่อนที่จะถึงจุดที่เป็นอันตราย ก็จะเข้าไปแก้ไขทันที ที่ผ่านมาจึงแทบจะไม่เคยมีข่าวไซต์งานก่อสร้างยุบพังลงมา
“ล่าสุด ผมได้รับแจ้งจาก ศบค.อย่างไม่เป็นทางการ หากโครงการไหนเกรงว่าจะมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยให้ทำเรื่องเสนอไปที่ ศบค. เพื่อพิจารณาผ่อนผันให้เป็นรายกรณีได้ และขอให้รอฟัง ประกาศของ ศบค.เกี่ยวกับการสั่งปิดไซต์งานก่อสร้าง ซึ่งจะมีรายละเอียดออกมาเร็วๆนี้ ผมในฐานะประธานสมาคมวิศวกรรมปฐพีของอาเซียน ก็ได้แจ้งเพื่อนๆที่เป็นสมาชิกสมาคมไปแล้ว” รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ กล่าว