วันนี้( 17 ตุลาคม 2562) ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี ลงทุนในหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อม (green bond) มูลค่า 3 พันล้านบาท หรือ 98.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งออกโดยบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัทฯ จะนำเงินจากการระดมทุนดังกล่าวไปลงทุนในโครงการระยะยาว ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมหนุมานในประเทศไทย ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงถึง 260 เมกะวัตต์ การลงทุนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพลังงานทดแทนและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
การลงนามข้อตกลงซื้อขายหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อมระหว่างนายคริสโตเฟอร์ ธีม รองผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการภาคเอกชน เอดีบี และ นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ฯ มีขึ้นระหว่างการสัมมนา Capital Market Research Forum ในหัวข้อเรื่อง การพัฒนาตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย โดยเป็นความร่วมมือระหว่างเอดีบี และสถาบันวิจัยตลาดทุนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
การออกหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อม มูลค่ารวมทั้งสิ้น 10 พันล้านบาท เป็นการออกหุ้นกู้ครั้งที่ 2 ของบริษัทพลังงานในประเทศไทยที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจาก Climate Bond Standard และเป็นการออกหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อมสำหรับการลงทุนในพลังงานลมเป็นครั้งแรกของประเทศไทยอีกด้วย การออกหุ้นกู้ดังกล่าวจะใช้เพื่อการลงทุนในโครงการใหม่ หรือโครงการที่ดำเนินการอยู่ และอาจเป็นการลงทุนบางส่วน หรือเป็นการลงทุนทั้งหมดของโครงการเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ
“ประเทศไทยมีศักยภาพที่ดีสำหรับการส่งเสริมการลงทุนในตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากประเทศไทยมีแหล่งพลังงานทดแทนที่เหมาะสม” นายธีมกล่าว
นอกจากนั้น การออกหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อมของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ฯ ในครั้งนี้ จะสนับสนุนการวิวัฒนาการของตลาดพันธบัตร ในขณะเดียวกัน เป็นการส่งเสริมการไปถึงเป้าหมายพลังงานสะอาดโดยการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมให้เติบโตขึ้นภายใต้แผนพัฒนาพลังงานของประเทศไทย
นายอมรกล่าวเสริมว่า”การออกหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้จะทำให้บริษัทของเราสามารถลดต้นทุนทางการเงินและยังแสดงความมุ่งมั่นของเราเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในมิติด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม หลังจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมหนุมาน ซึ่งมีกำลังไฟฟ้า 260 เมกะวัตต์ ประสบความสำเร็จ เราได้ก้าวต่อไปอีกขั้นในการเป็นธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาสิทธิบัตรและนวัตกรรมในการผลิตพลังงานสะอาดและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ระบบการเก็บกักพลังงาน ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยมอร์เตอร์ไฟฟ้า (electric vehicles) สถานีอัดมอร์เตอร์ไฟฟ้า เรือข้ามฟากที่ขับเคลื่อนด้วยมอร์เตอร์ไฟฟ้า นอกจากนั้น บริษัทฯ กำลังเตรียมเปิดตัวแพลตฟอร์มการค้าขายพลังงาน ซึ่งเป็นผลจากการศึกษา และการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีของเราเอง”
ประเทศไทยคาดว่าจะมีการผลิตพลังงานทดแทนมากถึง 15 – 20% ของการผลิตพลังงานรวมทั้งหมด ภายในปี 2579 จากที่ปัจจุบันสามารถผลิตได้เพียง 10% เท่านั้น ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมหนุมานในจังหวัดชัยภูมินับว่าเป็นฟาร์มกังหันลมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และคาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในแต่ละปีได้มากถึง 200,000 ตัน ภายในปี 2563
แผนงานของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ฯ สอดคล้องกับแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมและเป้าหมายการอนุรักษ์สภาพภูมิอากาศของประเทศไทย นอกจากนั้น ยังสอดคล้องกับ ADB’s Strategy 2030 ที่ตั้งเป้าว่า 75% ของโครงการที่เอดีบีสนับสนุน จะเป็นการช่วยบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและช่วยในการปรับตัวเพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง โดยเอดีบีตั้งเป้าจะสนับสนุนโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมให้ได้ถึง 80 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2562-2573 อีกด้วย
บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ ได้รับการจัดตั้งขึ้นในปี 2549 และเป็นหนึ่งในที่บริษัทพลังงานทดแทนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 4 แห่ง และโรงไฟฟ้าพลังงานลมอีก 2 แห่ง ที่มีกำลังการผลิตสูงถึง 664 เมกะวัตต์
Climate Bond Standard เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศโดยอ้างอิงสมมติฐานทางวิทยาศาสตร์ สำหรับใช้ในการประเมินการลงทุนในตราสารหนี้ โดยมีผู้ออกตราสารหนี้ รัฐบาล นักลงทุน เป็นผู้ใช้มาตรฐานดังกล่าวเพื่อช่วยแก้ปัญหาลดโลกร้อน
เอดีบีมุ่งมั่นในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้เจริญรุ่งเรือง มีการพัฒนาอย่างทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีความยั่งยืน ในขณะเดียวกัน เอดีบียังคงพยายามในการขจัดปัญหาความยากจนต่อไป โดยในปี 2561 เอดีบี ได้ให้เงินกู้และเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจำนวน 21.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ เอดีบีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 68 ประเทศ โดย 49 ประเทศ มาจากประเทศในภูมิภาค