ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > ADB ชี้การเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม-สังคม หนุนเอเชียแปซิฟิกฟื้นตัวยั่งยืน

ADB ชี้การเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม-สังคม หนุนเอเชียแปซิฟิกฟื้นตัวยั่งยืน

29 เมษายน 2021


การเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นหัวใจสำคัญ ในการฟื้นตัวที่ยั่งยืนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

มะนิลา ฟิลิปปินส์ (28 เมษายน 2564) – การเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมต้องได้รับการสนับสนุนเพื่อให้แน่ใจว่าการฟื้นตัวของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจากการแพร่ระบาดของโรคโคโรนาไวรัส (COVID-19) นั้น มีความครอบคลุม ยืดหยุ่นและยั่งยืน ตามรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียประจำปี 2564 (Asian Development Outlook (ADO) 2021) ซึ่งเผยแพร่โดยธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี ในวันนี้

รายงานพิเศษใน ADO ว่าด้วยเรื่อง Financing a Green and Inclusive Recoveryระบุว่า รัฐบาลควรใช้นโยบายหลากหลายในการสนับสนุนการพัฒนาการเงินเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งคู่มือทางการเงินนี้ได้ถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมและช่วยให้รัฐบาลบรรลุเป้าหมายทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และรายงานนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลใช้มาตรการทางการคลัง กฎหมายและกฎระเบียบเพื่อเร่งให้การเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมีความก้าวหน้า นอกจากนั้น การบังคับใช้กฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นมาตรฐานสำหรับการเปิดเผยข้อมูลและการวัดผลกระทบที่เกิดขึ้นสามารถช่วยให้มั่นใจได้ว่าการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมจะเกิดประสิทธิผลสูงสุด ยั่งยืน และน่าดึงดูดใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับภาคเอกชน

“โควิด-19 ได้ส่งกระทบต่อผู้ยากไร้ในสัดส่วนที่ไม่เหมาะสม แต่นำมาซึ่งโอกาสที่จะสร้างสิ่งต่างๆ ให้กลับมาดีขึ้นกว่าเดิมด้วย” นายยาซูยูกิ ซาวาดะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบี กล่าว “การเปลี่ยนใหม่ครั้งยิ่งใหญ่” นี้ต้องการการลงทุนมหาศาลในภาคสิ่งแวดล้อมและภาคสังคม เช่น ด้านสุขภาพและการศึกษา ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากความพยายามร่วมมือกันของภาครัฐบาลและภาคเอกชนในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรายได้ของรัฐบาลได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดใหญ่ ดังนั้น รัฐบาลควรเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานของตลาดและระบบนิเวศเพื่อการพัฒนาการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งจะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองและทำให้ประเทศเกิดการฟื้นตัวอย่างทั่วถึงและยั่งยืน”

การเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมได้เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเอกชน ซึ่งการเปลี่ยนความต้องการของนักลงทุนไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นมีบทบาทที่สำคัญอย่างมาก ขณะนี้ ทรัพย์สินกว่า 30 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1 ใน 3 ของทรัพย์สินทั่วโลกอยู่ภายใต้การบริหารจัดการที่มีการพิจารณาถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และระบบธรรมาภิบาล บริษัทต่างๆ กำลังใช้การเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในการป้องกันความเสี่ยงด้านความยั่งยืนทางการเงิน ดึงดูด“ นักลงทุนที่มีความอดทน” และสร้างความยืดหยุ่นต่อแรงสั่นสะเทือนทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น ในขณะที่ประเทศที่มีรายได้สูงยังคงครองตลาดส่วนใหญ่ แต่ภูมิภาคเอเชียกำลังพัฒนากลับเป็นผู้นำในตลาดเกิดใหม่ของพันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อม สังคมและความยั่งยืน

นอกจากนี้ รายงานยังแสดงให้เห็นว่า การเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน บริษัท และสังคมต่างๆ อย่างไรบ้าง ซึ่งหลักฐานแสดงให้เห็นว่า บริษัทที่ใช้การเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมนั้นมีผลตอบแทนจากหลักทรัพย์ที่ดีขึ้นและมีความยืดหยุ่นที่เพิ่มขึ้นอีกด้วยในช่วงการระบาดใหญ่ ผู้ออกพันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคเอเชียยังสามารถปรับปรุงคะแนนของผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมได้โดยเฉลี่ยร้อยละ 30 หลังจากที่ออกพันธบัตรมาแล้วสองปี และพบว่าเมืองต่างๆ ที่ออกพันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นจะมีคุณภาพของอากาศที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจะนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีขึ้นอีกด้วย

รายงานยังระบุถึงเครื่องมือทางการเงินอีกหลากหลายชนิดที่สามารถส่งเสริมการฟื้นฟูอย่างทั่วถึงและคำนึงถีงสิงแวดล้อม ได้แก่ แพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ การเงินสำหรับผู้มีรายได้น้อย และการกำหนดราคาคาร์บอน กลไกการจัดหาเงินทุนที่เป็นนวัตกรรมใหม่อย่างเช่นพันธบัตรเพื่อสร้างผลกระทบ (impact bond) นั้น มีส่วนช่วยในการเชื่อมโยงทุนของภาคเอกชนเข้ากับโครงการทางสังคมต่างๆ อาทิเช่น “Educate Girls” Development Bond Impact ซึ่งช่วยปรับปรุงการศึกษาของเด็กหญิงวัยเรียนหลายคนที่ถูกมองข้ามความสำคัญในประเทศอินเดีย

ธนาคารเพื่อการพัฒนาต่างๆ เช่น เอดีบี สามารถช่วยให้การเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเติบโตขึ้นได้เช่นกัน โดยผ่านการจัดหาเงินทุนโดยตรงและโดยการเร่งการระดมทุนจากแหล่งต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนผ่านการเงินแบบผสมผสาน การเพิ่มเครดิต การค้ำประกันเงินกู้ และการใช้เครื่องมืออื่นๆ ที่ทันสมัย นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาต่างๆ ยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานของตลาดและระบบนิเวศ ส่งเสริมนโยบายของรัฐบาล ให้ความรู้ และความสามารถในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในด้านต่างๆ อีกด้วย

เอดีบีมุ่งมั่นในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้เจริญรุ่งเรือง มีการพัฒนาอย่างทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีความยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ยังคงพยายามในการขจัดปัญหาความยากจนต่อไป เอดีบีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 68 ประเทศ โดย 49 ประเทศ มาจากประเทศในภูมิภาค