ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” ปฏิเสธหารือพรรคเล็ก ปัดตอบปมถวายสัตย์ฯ – มติ ครม. เรียกประชุม ครม.เศรษฐกิจนัดแรก 16 สค.นี้ ถก”มาตรการกระตุ้นฯ”

“บิ๊กตู่” ปฏิเสธหารือพรรคเล็ก ปัดตอบปมถวายสัตย์ฯ – มติ ครม. เรียกประชุม ครม.เศรษฐกิจนัดแรก 16 สค.นี้ ถก”มาตรการกระตุ้นฯ”

13 สิงหาคม 2019


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

เกาะติด “ม็อบฮ่องกง” 24 ชม. – สั่งคมนาคมวางแผนรับมือ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการดูแลคนไทยในฮ่องกงว่า เรื่องดังกล่าวได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ โดยสถานทูตและสถานกงสุลได้เตรียมแผนในการดูแลคนไทยที่ติดอยู่ในสนามบิน รวมถึงคนไทยที่อยู่ในฮ่องกงด้วย โดยยืนยันว่ามีมาตรการในการดูแลทุกขั้นตอน ในกรณีที่สถานการณ์รุนแรงขึ้นได้เตรียมพื้นที่รองรับแล้ว ซึ่งวันนี้สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ ตลอดจนถึงการเดินทางได้กลับสู่ภาวะปกติ

“วันนี้สถานกงสุลไทยในฮ่องกงได้ประกาศแจ้งความคืบหน้าเป็นระยะ มีการประเมินสถานการณ์เป็นรายวัน พื้นที่ใดที่มีการชุมนุมก็ได้ขอให้คนไทยหลีกเลี่ยง และวันนี้ได้มีการติดตามโดยให้กระทรวงคมนาคมวางแผนต่างๆ ในการดูแลหากมีความจำเป็น รวมไปถึงหน่วยงานอื่นๆ ด้วยเช่นกันในการติดตามดูแล ซึ่งผมก็รับรายงานตลอด 24 ชั่วโมง ก็อย่ากังวลตรงนี้ ทุกเรื่องเมื่อมีเหตุการณ์ในต่างประเทศก็มีวิธีปฏิบัติอยู่แล้วว่าจะต้องทำอะไรอย่างไร ใครรับผิดชอบตรงไหน”

“ห้วยเสนง” พ้นวิกฤตแล้ว – ยันผลิตน้ำประปาพอเลี้ยง “สุรินทร์”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถาม กรณีชลประทานสุรินทร์ยืนยันว่า น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปาให้คนในเมืองสุรินทร์ มีน้ำเพียงพอที่จะให้การประปาผลิตน้ำประปาในแต่ละวันได้คือ 30,000 ลูกบาศก์เมตร แต่เมื่อสำรวจในเมืองพบว่า บางแห่งน้ำประปายังไม่ไหลมา 2 สัปดาห์แล้ว ยังต้องรอน้ำจากรถบรรทุก ว่า ในช่วงที่ผ่านมาน้ำน้อยฝนไม่ตก ซึ่งตนก็ได้รับรายงานจากกรมชลประทานว่าลำน้ำห้วยเสนง เป็นแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปาให้คนในเมืองสุรินทร์ ซึ่งวันนี้ก็มีน้ำไหลเข้ามาต่อเนื่องเพียงพอที่จะทำให้การประปาผลิตน้ำประปาในแต่ละวันได้ถึง 30,000 ลูกบาศก์เมตรจริง ส่วนในพื้นที่บางแห่งที่น้ำประปายังไม่ไหลมาแล้ว 2 สัปดาห์นั้นก็ใช้น้ำจากรถบรรทุกไปพลางก่อน

“เมื่อวานนี้อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ และถ่ายรูปมาให้ผมดู ก็รายงานว่าวันนี้วิธีการแก้ปัญหาที่เร็วที่สุดคือการใช้รถน้ำขนส่งให้แก่ชาวบ้าน จนกระทั่งเมื่อวานนี้ได้รับรายงานว่าเพียงพอที่ต่อความต้องการของประชาชนแล้ว ซึ่งอะไรที่ยังไม่สามารถส่งน้ำทางท่อได้อย่างเต็มที่ก็ต้องแก้ปัญหากันต่อไป” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นอกจากนี้ตนยังได้รับรายงานว่า หน่วยงานพัฒนาต่างๆ ได้ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เพิ่มได้ถึง 8 บ่อแล้ว ร่วมกับการใช้รถน้ำของทุกหน่วยงานไปแจกจ่ายให้กับประชาชน

สั่ง กยท.ทบทวนรับซื้อน้ำยางทำถนน หลังถูกร้องเรียน จนท.หาประโยชน์

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีมีการร้องเรียนว่า พบข้าราชการของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นำนโยบายของรัฐบาล 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร มาหาประโยชน์เข้าตัวเอง ว่า เรื่องดังกล่าวตนได้ให้นโยบายไปแล้วว่าให้ทบทวนในเรื่องนี้ โดยให้ไปพิจารณาดูใหม่ว่าจะทำอย่างไรที่จะให้เกิดความเป็นธรรมอย่างทั่วถึง ตรงนี้ต้องหาวิธีการใหม่ในการใช้น้ำยางดิบ

“ไม่ต้องกังวลนะครับ ผมดูแลอยู่แล้ว ก็ต้องติดตามไปว่าอนุมัติอะไรไปแล้วอย่างไรเขาทำไปแล้วมีปัญหาหรือไม่ ถ้ามีข้อร้องเรียนว่ามีประโยชน์เข้าตัวเองอันนี้ก็ต้องแก้ไข แล้วก็หาผู้กระทำความผิดหากมีการทุจริตจริง ได้สั่งการไปแล้ววันนี้ให้ทบทวนเรื่องนี้ใหม่ก่อนดำเนินการ” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ปฏิเสธหารือพรรคเล็ก – ปัดตอบปมถวายสัตย์ฯ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีกระแสข่าวนัดหารือ กับพรรคเล็ก ในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ ว่า ยังไม่มี และไม่มีการนัดทานข้าวอะไรแต่อย่างใด พร้อมปฏิเสธที่จะตอบคำถาม กรณีปมถวายสัตย์ปฏิญาณและข้อสังเกตถึงความสมบูรณ์ของสถานะของรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความชัดเจนของการไปร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “โนคอมเมนต์”

เผยแก้ รธน.ยังอยู่ระหว่างศึกษา

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่ฝ่ายค้านรณรงค์ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ว่า ก็ต้องไปดูวิธีการ ขั้นตอน ตามกฎหมาย ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลานั้น แต่ก็อยู่ระหว่างการศึกษากันอยู่ว่าจะทำตรงไหน กรอบไหนบ้าง ก็ต้องไปว่ากันมา

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงต่อไปถึงการทำงานร่วมกับ ครม.ว่า ตนเชื่อมั่น จากการทำงานร่วมกับรัฐมนตรีและ ครม.ที่มาจากการเลือกตั้ง ยืนยันว่าบรรยากาศในการทำงานเป็นไปอย่างดี ด้วยมิตรไมตรี ด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกันในการทำงาน

“มีอะไรเขาก็มาถามผม อะไรทำได้ ไม่ได้ อย่างไร ผมก็ได้อธิบายไป ขั้นตอนการปฏิบัติในช่วงที่ผ่านมา วันนี้ก็มีกฎหมายอยู่หลายตัวทุกคนก็ต้องระมัดระวังอยู่แล้ว ส่วนเรื่องของในสภาก็เป็นเรื่องอีกเรื่องของในสภา ผมได้กราบเรียนไปแล้วว่า เรื่องใดก็ตามที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน ผมคิดว่าควรจะต้องพูดคุยกันให้ได้ หากเรามุ่งแต่จะเสียงข้างมากข้างน้อย ล้มกันไปมาผมว่าประเทศชาติเดินหน้าไม่ได้หรอก อันนี้ก็สุดแล้วแต่ท่านนะ ความมีเสถียรภาพของรัฐบาลนั้นก็จำเป็น แต่ประชาชนนั้นจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด ก็ขอร้องบรรดา ส.ส.ต่างๆ ให้เห็นแก่ประเทศชาติด้วย” นายกรัฐมตรีกล่าว

ชี้ ปชช.รู้อันไหนข่าวปลอม – ย้ำเรื่องไม่ผ่าน ครม.ทำไม่ได้

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีมีการตั้งข้อสังเกตเรื่องมีการใช้ข่าวลวงเป็นเครื่องมือทางการเมืองว่า ต้องไปดูสิ ว่าในข่าวเหล่านั้นเขียนจริงบ้างไม่จริงบ้างหรือไม่ บางอันดูก็รู้แล้วว่าไม่ใช่ข่าวจริง เรื่องจะขึ้นภาษีต่างๆ รัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการเลย โดยย้ำว่าหากเรื่องใดยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ทั้งสิ้น

“ไม่ว่าใครจะพูดอะไรก็ตามผมกราบเรียนว่า ถ้ายังไม่เข้า ครม.มันทำไม่ได้ทั้งนั้นแหละ และจะนำเข้า ครม.ก็ต้องผ่านการตรวจสอบของคณะทำงานนายกฯ และนายกรัฐมนตรีก่อน ถึงจะนำเข้า ครม.ได้ ไม่ใช่ว่าเสนอมาแล้วอนุมัติเลย ไม่ได้ มันไม่ปลอดภัย ต้องระมัดระวังข้อกฎหมาย ฉะนั้นหากประชาชนสงสัยอะไรก็สามารถสอบถามเข้ามาได้ มีช่องทางหลายช่องทางด้วยกัน วันนี้ผมได้ให้โฆษกฯ พยายามชี้แจงหลายๆ อย่างด้วยกัน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

เร่งเบิกจ่ายงบฯปี 62 ช่วง 2 เดือนสุดท้าย ก่อนปิดหีบ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า วันนี้ตนได้บอกเล่าแนวคิดของตนให้ที่ประชุม ครม.รับทราบในหลายเรื่องด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลในเรื่องภัยแล้ง การดูแลพืชเกษตร การดูแลเศรษฐกิจฐานราก และเรื่องของงบประมาณ ซึ่งวันนี้เป็นการใช้งบประมาณ 2562 ในไตรมาสสุดท้าย ซึ่งมีงบประมาณบางส่วนที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ไม่เช่นนั้นงบประมาณจะตกไป ก็ต้องไปทบทวนดูว่าใน 2 เดือนที่เหลือนี้จะสามารถจัดทำโครงการอะไรได้บ้างที่จะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบในภาคประชาชนได้มากน้อยเพียงใด ขณะเดียวกันก็ต้องดูเรื่องความถูกต้องด้วย

“การใช้จ่ายหลายแผนงานโครงการที่เสนอเข้ามานั้นบางอย่างทำไม่ได้ เพราะติดเรื่องของประชาชน ก็ต้องไปดูว่าจะไปปรับงบประมาณเหล่านี้ได้อย่างไร เพื่อให้เม็ดเงินลงไปสู่ชาวบ้านและประชาชนได้มากที่สุด และวันนี้สถานการณ์เศรษฐกิจโลก หากมองแค่ไทยก็เห็นว่าเศรษฐกิจไทยตกลง แต่รอบๆ บ้านก็ตก ตกมากกว่าไทยเสียด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ต้องยอมรับสภาพว่าโลกเป็นแบบนี้ ฉะนั้นต้องมาดูยุทธศาสตร์ชาติ ที่จะทำอย่างไรในการรองรับความเสี่ยงต่างๆ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า วันนี้ค่าเงินบาทอยู่ที่ประมาณ 30 บาทเศษๆ ก็อาจจะยังแข็งอยู่บ้าง ก็ต้องไปดูหลักเศรษฐศาสตร์มีหลายอย่างด้วยกัน เรามีเงินสะสมจำนวนมาก เงินเกินดุลจำนวนมาก เงินบัญชีเดินสะพัดก็เยอะ ตัวนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เงินเราเข้มแข็งที่สุด ฉะนั้นต้องไปดูว่าเราจะหาวิธีการอย่างไร ต้องไปหารือกันในคณะทำงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งตนยืนยันว่ารัฐบาลจะทำอย่างเต็มที่ในการที่จะทำให้ผ่านพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ไปให้ได้ ด้วยการทำงานร่วมกันของรัฐบาล ครม. และรัฐมนตรีทุกท่าน

“อนุทิน” ยัน สธ.ไม่เอา 3 สารพิษ หนุนยกเลิกนำเข้าสิ้นปีนี้

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตอบคำถามกรณีที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยตัวเลขผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตรายในภาคเกษตรกว่า 4,000 ราย ว่า ตนยังไม่ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการ แต่อะไรที่เกิดผลกระทบกับสุขภาพประชาชน เราไม่เอา

พร้อมระบุว่า ปัจจุบันได้พูดคุยกับบุคคลในแวดวงสาธารณสุข ยืนยันให้มีการยกเลิกการนำเข้าสารเคมีอันตราย เพราะมีผลการพิสูจน์แล้วว่ากระทบกับสุขภาพจริง ซึ่งที่ผ่านมาได้พูดคุยกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และทางกระทรวงเกษตรฯ ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจะยกเลิกการนำเข้า 3 สารพิษอันตรายได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ภายในสิ้นปี ซึ่งตอนนี้ต้องรอความชัดเจนจากกระทรวงเกษตรฯ ส่วนกระทรวงสาธารณสุขยืนยันแล้วว่าไม่เอาแน่นอน

ทั้งนี้ ต่อข้ออ้างว่ายังยกเลิกสารข้างต้นไม่ได้ เพราะไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่เพียงพอว่าสารดังกล่าวมีอันตรายต่อสุขภาพ นายอนุทินตั้งคำถามกลับว่า ต้องรอให้มีคนตายก่อนหรืออย่างไร ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่รักษาคนไข้ ที่ได้รับอันตรายจากสารพิษ และพยายามให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับประชาชน ให้สามารถรับมือกับภัยที่มาจากสารพิษอย่างถูกวิธี

“วันนี้พิสูจน์แล้วว่ามีผลกระทบกับประชาชน ต่อให้กระทบเพียง 0.01% ก็รับไม่ได้ จะบอกว่าข้อมูลไม่เพียงพอไม่ได้ เพราะบางคนมีความทนต่อโรคมากน้อยไม่เท่ากัน วันนี้ทุกคนเห็นโทษของย่าฆ่าหญ้ากันหมดแล้ว คงมีเพียงคนที่นำเข้าเท่านั้นที่บอกไม่เห็น ซึ่งอะไรที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนกระทรวงสาธารณสุขไม่เอาด้วย” นายอนุทินกล่าวว่า

“ภูมิใจไทย” ยืนยันเสนอชื่อ “ไตรศุลี” นั่งรองโฆษกรัฐบาล

ต่อคำถามถึงการเสนอตั้งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในสัดส่วนของพรรคภูมิใจไทย นายอนุทิน ยืนยันว่าพรรคภูมิใจไทยจะส่งรายชื่อรองโฆษกฯคนเดิมคือ นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล แต่ที่ยังไม่เข้า ครม.เนื่องจากยังรอขั้นตอนกรอกเอกสารเรื่องคุณสมบัติก่อน พร้อมยืนยันว่ารองโฆษกฯ ของพรรคยังเป็นคนเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ นายอนุทินยังกล่าวถึงเรื่องการขึ้นเงินเดือนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ว่า ไม่เคยมีแนวคิดเรื่องขึ้นเงินเดือนรวดเดียวให้กับ อสม.จำนวนล้านคน แต่การขึ้นค่าตอบแทน จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อ อสม.สามารถทำงานบรรลุวัตถุประสงค์ สามารถรักษาคนป่วยแบบปฐมภูมิได้ และมีศักยภาพในการลดจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาล การขึ้นเงินเดือน ขึ้นตามความสามารถ และเชื่อว่าไม่ต้องเพิ่มงบ เพราะประสิทธิภาพของ อสม.ที่มากขึ้น จะทำให้เราเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพคนไทยน้อยลง และเราจะนำงินตรงนั้น มาตอบแทน อสม. ดังนั้น หาก อสม.ต้องการค่าตอบแทนเพิ่ม ก็ต้องทำงานให้ดี เป็นที่ประจักษ์

มติ ครม. มีดังนี้

ศ.ดร.นฤมล โญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

เรียกประชุม ครม.เศรษฐกิจนัดแรก 16 สค.นี้ ถก”มาตรการกระตุ้นฯ”

ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.ได้หารือกันถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลง โดย พล.อ. ประยุทธ์ ได้ให้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อธิบายต่อ ครม. ซึ่งมอบหมายต่อให้นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้ให้ข้อมูลต่อ ครม. โดยระบุว่าเศรษฐกิจโลกมีความผันผวนค่อนข้างมาก ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายตัวชะลอตัวลง อุปสงค์ของเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน เนื่องจากที่ผ่านมา 3-4 ปี อุปสงค์ของโลกถูกขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจจีนเป็นหลัก เมื่อเกิดสงครามการค้าระหว่างกันทำให้อุปสงค์ของเศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบลดลง และกระทบต่อภาคส่งออกของไทยที่ชะลอตัวตามลงมา ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังไปได้ดีอยู่ แม้ว่านักท่องเที่ยวจีนจะลดลงแต่มีนักท่องเที่ยวจากอินเดียเข้ามาทดแทน

“หากเปรียบเทียบกับหลายประเทศเศรษฐกิจก็ชะลอตัวเช่นเดียวกับไทย และสำหรับภาคส่งออกถือว่าของไทยยังหดตัวในระดับที่น้อยกว่าอีกหลายประเทศในภูมิภาค แต่สำหรับตัวเลขต่างๆ ในรายละเอียดสภาพัฒน์จะเป็นผู้แถลงในระยะต่อไป นอกจากนี้ ที่เราเห็นรายงานทั้งในไทยและต่างประเทศคือสงครามการค้าเริ่มขยายตัวไปสู่สงครามค่าเงิน ค่าเงินหยวนที่ถูกทำให้อ่อนลง แล้วไทยเองก็นิ่งนอนใจไม่ได้ต้องเตรียมการรับมืออย่างใกล้ชิดด้วย”

“ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ในสัปดาห์ที่แล้วก็ลดดอกเบี้ยนโยบายลง ค่าเงินบาทก็อ่อนตัวเล็กน้อยก่อนจะกลับมาสู่สถานะก่อนลดดอกเบี้ย ส่วนด้านภาครัฐคาดว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา แต่รายละเอียดจะชัดเจนจะประชุมกันใน ครม.เศรษฐกิจนัดแรกวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2562 ช่วงเช้าและแถลงหลังจากประชุมต่อไป ตอนนี้ ครม.รับทราบสถานการณ์หมดแล้วและต้องการให้เกิดความมั่นใจเชื่อมั่นเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป” ศ. ดร.นฤมลกล่าว

นอกจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ยังสั่งการอีกว่า การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใดๆ ขอให้ทุกกระทรวงช่วงกันดู ไม่ใช่เพียงแต่กระทรวงการคลัง แต่รวมไปถึงกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แม้กระทั่งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงอุดมศึกษา ต้องคิดมาตรการร่วมกันทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว จะไม่ใช่คิดแต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเพียงอย่างเดียว บางส่วนอาจจะต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ก็ฝากให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงหารือมาตรการตามแนวทางนโยบายเศรษฐกิจของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คือ BCG หรือ Bio-Circular-Green เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะกลางและยาวต่อไปด้วย

ดึง “ธปท.-ตลท.-ก.ล.ต.” ตั้งทีมเศรษฐกิจ

ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเศรษฐกิจของรัฐต่างๆ ดร.สมคิดได้แจ้งให้ ครม.ทราบว่าจะมีแนวทางตั้งคณะกรรมการร่วมที่จะดูแลมาตรการทางเศรษฐกิจร่วมกัน นอกจาก ครม.เศรษฐกิจแล้ว องค์กรที่มีอิสระทั้งหลายจะสามารถทำงานร่วมกันผ่านคณะกรรมการร่วมได้ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาแก้ไขประเด็นปัญหาต่างๆ ไปในทิศทางเดียวกันอย่างบูรณาการ

“ท่านก็เรียน ครม.ด้วยว่าไม่ใช่ว่าจะตั้งกรรมการชุดนี้ขึ้นมาเพื่อไปควบคุมองค์กรอิสระทั้งหลาย แต่เราต้องการให้การทำงานเป็นการบูรณาการร่วมกัน แล้วแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง” ศ. ดร.นฤมลกล่าว

เล็งโยกงบ อปท. 6 แสนล้าน สั่งมหาดไทยศึกษา “ปลดล็อก”

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม.ได้รับทราบรายงานผลสัมฤทธิ์จากการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ในไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ โดยระบุว่าในภาพรวมจากเป้าหมายงบประมาณตามมติ ครม. 1,946,920 ล้านบาท หรือคิดเป็น 77% ของงบประมาณรวม 3 ล้านล้านบาท ได้เบิกจ่ายหรือก่อหนี้ไปแล้ว 1,848,879 ล้านบาท หรือคิดเป็น 73.12% ของงบประมาณรวม ต่ำกว่าเป้าหมายไป 98,041.3 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในงบรายจ่ายประจำได้เบิกจ่ายไปมากกว่าเป้าหมาย โดยเบิกจ่ายไป 1,581,051.2 ล้านบาทจากเป้าหมาย 1,575,940.75 ล้านบาท ขณะที่งบรายจ่ายลงทุนในส่วนของการเบิกจ่ายล่าช้าจากเป้าหมายที่ 363,052.34 ล้านบาท โดยเบิกจ่ายไป 267,827.87 ล้านบาท หรือต่ำกว่าเป้าหมายไป 95,224.47 ล้านบาท ส่วนของการก่อหนี้ได้ก่อหนี้ไปมากกว่าเป้าหมายที่ 363,052.34 ล้านบาท แต่เบิกจ่ายไป 423,383.67 ล้านบาท มากกว่าเป้าหมาย 60,331.33 ล้านบาท

“นอกจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ได้สั่งการให้ทุกกระทรวงกลับไปทบทวนการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2562 ซึ่งเหลือเวลาเบิกจ่ายเพียงแค่ 2 เดือนหลังจากนี้ พร้อมเน้นย้ำให้ทุกโครงการสอดคล้องกับการแก้ปัญหาภัยแล้ง หรือ สอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วน 12 ข้อที่รัฐบาลได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา โดยกำชับให้ทุกกระทรวง นำเสนอโครงการให้ ครม.เห็นชอบภายในเดือนสิงหาคมนี้ และผูกพันงบประมาณให้ได้ภายในเดือนกันยายน หากไม่ได้จะต้องจัดทำเป็นงบประมาณปี 2563 ขณะที่การดึงงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่คาดว่าจะมีประมาณ 600,000 ล้านบาท โดยสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยไปดูว่าจะปลดล็อกได้อย่างไรและให้รายงานกลับมาโดยเร็ว”

ตั้ง ขรก.การเมือง 15 กระทรวง กว่า 30 ตำแหน่ง

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม.มีมติแต่งตั้งนายวิรัช รัตนเศรษฐ เป็นประธานคณะกรรมการประสานงาน สภาผู้แทนราษฎร (ปสส.) และแต่งตั้งนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ เป็นรองประธานคนที่ 1 เพื่อให้การดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภาเป็นไปอย่างมีระเบียบแบบแผนตามระบบรัฐสภา ตลอดจนการประสานงานกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกรัฐสภา และพรรคการเมือง ในปัญหาต่างๆ ด้านนิติบัญญัติให้ดำเนินการไปอย่างราบรื่น ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสนับสนุนการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีในการเสนอร่างกฎหมาย การแจ้งความคืบหน้าตามแผนการปฏิรูปประเทศ และดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องกับงานด้านนิติบัญญัติ ส่งผลให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเรียบร้อย

พร้อมกันนี้ ยังตั้งคณะที่ปรึกษา ได้แก่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์, นายเทวัญ ลิปตพัลลภ, นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล, นายสุรชัย ภู่ประเสริฐ และนางฐะปาณีย์ อาจารวงศ์

ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า มีการแต่งตั้งข้าราชการการเมืองแต่ละกระทรวงไปเรื่อยๆ คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะตั้งเสร็จเรียบร้อย

“ขอให้มองว่าเป็นการตั้งคนเพื่อไปทำงาน ไปช่วยกระทรวง ไปช่วยรัฐมนตรีในการทำงาน จริงๆ แล้วตำแหน่งพวกนี้เป็นตำแหน่งสำหรับนายกรัฐมนตรี แต่ตนก็ได้มอบหมายให้ทุกกระทรวงไปเพื่อให้ช่วยติดตามงานและรายงานมาที่นายกรัฐมนตรีทุกเดือนว่าไปทำอะไรมาบ้าง ถึงแม้จะไปอยู่ตามกระทรวงก็ตาม ก็กราบเรียนเพื่อให้เกิดความมั่นใจ ว่าเป็นระบบการตรวจสอบถ่วงดุลเหมือนกัน อย่าไปดูถูกว่าเป็นตำแหน่งที่ไม่มีความสำคัญ ตำแหน่งตอบแทน ตำแหน่งเทกระโถน ดูถูกคนแบบนี้ไม่ได้ หากดูถูกคนแบบนี้ไม่มีใครอยากทำงานให้อยู่แล้ว ฝากทุกท่านไว้ด้วย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

โดยวันนี้ ครม.เห็นชอบแต่งตั้งข้าราชการการเมืองใน 15 กระทรวง กว่า 30 ตำแหน่ง อาทิ นายไชยยศ จิรเมธากร ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ประจำนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี, นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ตำแหน่งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ประจำนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี,นายอลงกรณ์ พลบุตร ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นางสาวณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ)และนางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น

ร่วมถึงการแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีอีก 7 ตำแหน่ง ได้แก่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายสรรเสริญ สมะลาภา กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์, นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม, นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน, นายสำเริง แหยงกระโทก กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข,นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี และนายสมเกียรติ ศรลัมพ์ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

อ่านมติ ครม.ประจำวันที่ 13 สิงหาคม 2562เพิ่มเติม