ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ เผยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่ง 9 ประการทรงอยากเห็นกระบวนการยุติธรรมเป็นไปตามขั้นตอน – คสช. เตรียม ม.44 รวบหน่วยงานน้ำ

นายกฯ เผยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่ง 9 ประการทรงอยากเห็นกระบวนการยุติธรรมเป็นไปตามขั้นตอน – คสช. เตรียม ม.44 รวบหน่วยงานน้ำ

8 สิงหาคม 2017


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธาน

ปัด “ทรัมป์” ตั้งเงื่อนไขแบนเกาหลีเหนือ – คุย “ทิลเลอร์สัน” ถกประเด็นเยือนสหรัฐฯ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีการตั้งเงื่อนไขในการยกระดับความสัมพันธ์ขอให้ไทยเข้าเป็นแนวร่วมต่อต้านคัดค้านโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือหรือไม่อย่างไร ว่า ไม่ได้มีการตั้งเงื่อนไขใดๆ เนื่องจากไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ มายาวนานนับร้อยปี ในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียน ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นเป็นเพียงการหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน

“ท่าทีต่างๆ เราได้แสดงความชัดเจนไปแล้ว ปฏิบัติตามมติ พันธกรณีต่างๆ ที่มีอยู่ของสหประชาชาติด้วย ซึ่งได้มีการประกาศท่าทีที่ชัดเจนตามกรอบของอาเซียนไปแล้ว อย่าให้เป็นเงื่อนไขอะไรเลย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ต่อคำถามเรื่องการพบปะนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จะมีประเด็นสำคัญต้องหารืออะไรบ้างนั้น พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ที่ รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ มาในครั้งนี้ เพื่อการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียน จึงได้ถือโอกาสนี้มาพบปะตนด้วย ประเด็นคงเป็นเรื่องการพบปะระหว่างตนและนายทรัม์ปในระยะเวลาอันใกล้นี้ โดยจะมีการหารือเรื่องความร่วมมือในทุกๆ ด้าน ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ การค้าการลงทุนต่างๆ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่เคยระบุว่ามีบางประเทศไม่เชิญ เพราะเป็นหัวหน้า คสช. นั้นหมายถึงประเทศสหรัฐอเมริกาใช่หรือไม่  ว่า ต้องทำความใจใน 2 ส่วน คือ การเยือนต่างประเทศนั้นตนสามารถไปได้ทุกประเทศหากมีการประชุมระดับผู้นำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การประชุม G20 การประชุมเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน ตนไปมาหมดแล้ว แต่การเยือนอย่างเป็นทางการตนไม่สามารถไปได้ เนื่องจากเป็นผู้นำรัฐบาลเช่นนี้ ต้องเข้าใจ เป็นคนละประเด็นกัน ซึ่งกฎหมายของต่างประเทศเขาเป็นเช่นนั้น ในวันหน้าทุกอย่างคงกลับมาสู่สถานการณ์ปกติ เพียงแต่วันนี้การติดต่อการค้าการลงทุนก็ผ่านทางเอกอัครราชทูต ทางสมาคมการค้าการลงทุนของประเทศต่างๆ

ห่วงความมั่นคงกว่าการเมือง – ขอ ปชช. เคารพกฎหมาย

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการประชุม คสช. วันนี้มีการประเมินสถานการณ์ทางการเมืองอย่างไรบ้าง ว่า ตนมองด้านความมั่นคงมากกว่า เป็นเรื่องการเตรียมความพร้อมในพระราชพิธีที่สำคัญของประเทศไทย ถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในเดือนตุลาคม ซึ่งต้องรักษาเสถียรภาพ การปฏิบัติงานของรัฐบาลให้ได้ และต้องให้ทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายให้ได้

“ฝากเตือนทุกคนด้วย ผมไม่ได้ปิดกั้นอะไรเลย เพียงแต่อย่าให้ผิดกฎหมาย แม้แต่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เล็กๆ น้อยๆ ซึ่งที่ผ่านมาพอไม่บังคับใช้ก็บานปลายไปเรื่อย มีการอ้างไปถึงรัฐธรรมนูญ เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาก็มีปัญหาอีกแบบ หากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ต่อคำถามความคิดเห็นต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ยกเลิกระบบ “พรรคเดียว เบอร์เดียว” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของ กรธ. ที่จะเสนอขึ้นมา เป็นเรื่องของการจัดทำกฎหมายลูก ตนยังไม่มีความคิดเห็นอะไรตอนนี้ เพราะต้องไปฟังในส่วนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วย เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาร่วมกัน และตนนั้นให้สิทธิของแม่น้ำแต่ละสายในการดำเนินงาน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงว่า ระบบพรรคเดียวเบอร์เดียวจะช่วยลดการซื้อสิทธิขายเสียงได้จริงหรือไม่นั้นไม่ได้อยู่ที่กฎหมายอย่างเดียว แต่อยู่ที่ตัวของคน ทั้งนักการเมือง พรรคการเมือง และประชาชน

“ประชาชนก็อย่าไปรับเงิน ซึ่งทุกคนทราบดีว่าในอดีตเกิดอะไรมาบ้าง ใครหรือพรรคใดที่ให้เงินแสดงว่ามีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ใจและอย่าไปรับของเขา คงแนะนำได้เท่านี้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ยังไม่ปลด ผอ.พศ. – ขอประชาชนอย่ากดดันมาก

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีเลขาธิการสมาพันธ์ชาวพุทธแห่งประเทศไทย มีมติเรียกร้องให้เปลี่ยนตัวผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ผอ.พศ.) ว่า ตนยังไม่เห็นมีการเสื่อมเสียถึงขนาดนั้น เพราะ ผอ.พศ. ทำหน้าที่ของตนตามกฎ กติกา โดยทางมหาเถรสมาคมร่วมมือกันอยู่ มีการหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่อง จึงเชื่อว่าเป็นเพียงเรื่องของคนบางกลุ่ม แต่ยืนยันว่ารับฟังทุกปัญหาเพื่อนำไปสู่การปฏิรูป ไม่อยากให้ประชาชนไปกดดันมากนัก และไม่อยากให้ชาวพุทธออกมาเคลื่อนไหวจนเป็นเรื่องใหญ่โต

พอใจลงทะเบียนแรงงานฯ -ทำถูก กม. ไม่ถูกเรียกรับผลประโยชน์

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความพอใจในการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่สิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมาว่า ตนพอใจในการดำเนินการซึ่งถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต่อเนื่องและเป็นระบบ ทั้งการต่ออายุและการเปลี่ยนงานที่สามารถทำในประเทศได้ ส่วนการนำเข้าแรงงานต้องพิสูจน์สัญชาติที่ต้นทาง ซึ่งตนก็ได้รับคำขอบคุณในการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวจากสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งทางกัมพูชาพร้อมให้การสนับสนุนในการทำพาสปอร์ตที่สถานทูต

“กระทรวงแรงงานได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีแรงงานมาลงทะเบียนประมาณ 8 แสนคน ล่าสุดมีแรงงานมาลงทะเบียนแล้วประมาณ 7 แสนคน แต่จากการประเมินจากข้อมูลภายนอกทั้งจากเอ็นจีโอและเอกชนมีการประเมินไว้มากกว่านี้ จึงต้องติดตามเช่นกันว่าเป็นข้อมูลจริงเท็จอย่างไร ก็ขอความร่วมมือให้แรงงานต่างด้าวและผู้ประกอบการมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย จะได้ไม่ถูกเรียกรับผลประโยชน์ ซึ่งได้มีการผ่อนผันให้ถึงเดือนธันวาคม 2560 หลังจากนี้จะไม่มีการผ่อนผันให้อีกแล้ว เรื่องนี้ต้องช่วยกันอย่าปล่อยให้เป็นภาระของรัฐบาลฝ่ายเดียว” นายกรัฐมนตรีกล่าว

สั่ง ตม.-ทอท.-คมนาคม หามาตรการรับปัญหาเครื่องบินดีเลย์

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีปัญหาความล้าช้าในการตรวจหนังสือเดินทางที่สนามบินดอนเมืองว่า ที่ผ่านมามีปัญหาขั้นตอนการ
กรอกเอกสาร และปัญหาเครื่องบินดีเลย์ ทำให้มียอดผู้โดยสารตกค้างสะสม ซึ่งปกติขั้นตอนการทำเอกสารต่อคนใช้เวลาเพียง 3-5 นาที เท่านั้น

“ผมได้สั่งการให้ทั้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้ว และได้กำชับให้หามาตรการรองรับกรณีเครื่องบินดีเลย์และกรณีมีผู้คนมากกว่าเวลาปกติ ให้แก้ไขปัญหาให้รวดเร็วขึ้น ปัญหาเป็นสิ่งที่ท้าทายต้องแก้ไขปัญหาให้ได้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย เพราะปัญหาเกิดขึ้นตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ขณะนั้นขอความร่วมมือประชาชนอย่าพูดให้เสียหายกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยเลย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ในหลวงห่วงใยน้ำท่วม – เล็งถกจัดการน้ำพรุ่งนี้

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2560 ตนได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เป็นการส่วนพระองค์ เพื่อถวายรายงานการทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะการแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั้งภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ

“ผมได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบแล้วว่ารัฐบาลกำลังมีโครงการต่างๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช ที่ทรงริเริ่มไว้มาหลาย 10 ปี บางโครงการก็ยังไม่สำเร็จ เนื่องจากประสบปัญหาจากประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในที่ดิน หรือพื้นที่ส่วนบุคคล ซึ่งในวันที่ 9 สิงหาคม 2560 จะมีการหารือกับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำในเรื่องดังกล่าวว่าจะต้องทำอะไรให้เกิดขึ้นได้บ้าง โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ซึ่งอาจจะต้องมีการเวนคืนที่ดินกันหรือไม่ หรือจำเป็นต้องเช่าพื้นที่เอกชนเพื่อเก็บกักน้ำให้ได้อย่างแท้จริง วันนี้ถ้าเราปล่อยให้น้ำท่วมถึงเวลาก็ไปเยียวยาก็ต้องไปดูในภาพรวมว่าในพื้นที่ดังกล่าวประชาชนมีรายได้อย่างไร ปลูกพืชปีละกี่ครั้ง และปริมาณน้ำท่วมเท่าไร ก็จะต้องไปหารือว่าจะใช้เป็นพื้นที่เก็บน้ำเลยได้หรือไม่” นายกรัฐมนตรีกล่าว

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่ง 9 ประการทรงอยากเห็นกระบวนการยุติธรรมเป็นไปตามขั้นตอน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเพิ่มเติมใน 9 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่

  • ทรงรับสั่งให้รัฐบาลช่วยเหลือตามมาตรการต่างๆ อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ลดภาระความซ้ำซ้อน สิ่งใดที่สถาบันจะช่วยได้ ก็จะทรงพระราชทานความช่วยเหลือมาให้ อย่างที่ทรงพระราชทานอยู่ปัจจุบันนี้ พร้อมทรงรับสั่งให้แก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนเป็นพื้นที่ไป ถ้าไม่สามารถแก้ไขในภาพรวมได้
  • ทรงรับสั่งขอให้ทำให้ประเทศชาติและประชาชนมีความสุข ทั้งการช่วยเหลือ การบรรเทา การจัดระเบียบ การสร้างวินัย การสร้างอุดมการณ์ ขอให้ทำในทุกมาตรการอย่างต่อเนื่อง
  • ทรงรับสั่งให้ช่วยกันรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไทยแต่โบราณกาลที่เป็นส่วนที่ดีงาม เป็นอัตลักษณ์ของไทย ให้คนมาท่องเที่ยว มาชื่นชมขอให้รักษาไว้ให้ได้
  • ทรงรับสั่งเรื่องภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ เช่น ภัยคุกคามรูปในแบบเก่า การรักษาอธิปไตย วันนี้น้อยลง ก็มีแต่การรักษาทรัพยากรบนแผ่นดิน และบนพื้นน้ำที่เป็นอาณาของประเทศไทย ที่จำเป็นต้องมีกำลังไว้รักษา และภัยคุกคามรูปแบบใหม่ต้องเตรียมมาตรการรองรับให้ดี ให้เป็นสากล
  • ทรงรับสั่งให้ดูแลเรื่องระบบการศึกษา ซึ่งปัจจุบันได้มีการปฏิรูปการศึกษา เร่งกระบวนการเรียนรู้ ให้คนไทยมีความรู้ สามารถประกอบอาชีพมั่นคง มีความเข้มแข็ง มีหลักคิดที่ถูกต้องในทุกๆ เรื่อง จะได้ลดความขัดแย้ง
  • ทรงขอให้ช่วยกันส่งเสริมกลุ่มงานจิตอาสา ซึ่งตนได้สั่งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้กระทรวงมหาดไทยจัดตั้งอาสาสมัครในการดูแลพื้นที่ และความมั่นคง ในลักษณะจิตอาสา หรือทำกิจกรรมสาธารณะ
  • ทรงรับสั่งเรื่องการดูแลประชาชน ให้ความเป็นธรรม กระบวนการยุติธรรมทุกอย่างให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ มีหลักฐานที่ชัดเจน ให้ประชาชนเชื่อมั่นไว้วางใจในกระบวนการยุติธรรมให้ได้
  • ทรงรับสั่งให้ข้าราชการทุกหมู่เหล่า ทรงขอให้ประพฤติตนเป็นแบบอย่าง เป็นแม่แบบให้กับประชาชนให้เคารพศรัทธาเชื่อมั่นในการทำงานเพื่อให้เกิดความร่วมมือ ลดผลกระทบระหว่างกันให้ได้ในการบังคับใช้กฎหมาย
  • ทรงเสียพระทัยในการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยรับสั่งว่าขอให้ช่วยกันสร้างความเข้าใจ ขยายสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงทำไว้มากมายให้ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป ขอให้สำนึกถึงสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมขอให้นำทุกอย่างที่ทั้งสองพระองค์ได้ทรงริเริ่มนำไปขับเคลื่อน ส่วนพระองค์จะสนับสนุนส่งเสริมรัฐบาลในการทำเพื่อประชาชน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวไปต่อว่า ในเรื่องการถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ได้ทรงรับสั่งว่า อยากให้ประชาชนในทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด มีส่วนร่วมในการวางดอกไม้จันทน์ แต่ทั้งหมดคงมาที่กรุงเทพฯ ไม่ได้ ขอให้จัดสถานที่ในการวางดอกไม้จันทน์ในทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสวางด้วยมือของตัวเองอย่างทั่วถึง

มติ ครม. มีดังนี้

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

มติ ครม. มีดังนี้

อนุมัติงบกลาง 1,685 ล้านบาท เยียวยาเกษตร ครัวเรือนละ 3,000 บาท

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ครม. อนุมัติงบประมาณประจำปี 2560 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเนื่องจากพายุตาลัสและพายุเซินกา วงเงิน 1,685 ล้านบาท ครัวเรือนละ 3,000 บาท โดยต้องเป็นเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบและอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินตั้งแต่ช่วง 4 กรกฎาคม 2560 – 15 สิงหาคม 2560 และขึ้นทะเบียนเกษตรกรและประกอบกิจกรรมการเกษตรกับหน่วยงานของรัฐก่อนเกิดภัยพิบัติ อนึ่ง หากเป็นเกษตรที่มีคุณสมบัติได้รับความช่วยเหลือมากกว่า 1 ด้าน (ด้านพืช ด้านประมง และปศุสัตว์) จะสามารถเลือกได้เพียง 1 ด้านเท่านั้น โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

“เหตุผลสำคัญที่ต้องนำงบกลางมาช่วยเหลือ เนื่องจากตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัตกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 จะต้องมีความเสียหายทั้งหมด งบกลางส่วนนี้จึงเป็นการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับเกษตรกรบางส่วนที่อาจจะได้รับผลกระทบแต่ยังไม่ถึงเกณฑ์ดังกล่าว” นายณัฐพรกล่าว

สำหรับการบริหารจัดการจะจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและรับรองข้อมูลเกษตรที่ได้รับผลกระทบ โดยมีระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ให้นายอำเภอแต่งตั้งคณะกรรมการระดับหมู่บ้าน โดยมีกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านหรือประธานชุมชนเป็นประธาน มีสมาชิกองค์กรปกครองส่วนตำบลหรือเทศบาล อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน อาสาสมัครด้านปศุสัตว์และประมง (ถ้ามี) ผู้แทนหน่วยทหารกองทัพบก สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ (ถ้ามี) เป็นกรรมการ และมีเกษตรอำเภอ ประมงอำเภอ ปศุสัตว์อำเภอ เป็นเลขานุการร่วม มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบคุณสมบัติของเกษตรกรและรับรองความถูกต้องข้อมูล

ทั้งนี้ พายุตาลัสและพายุเซินกาได้สร้างความเสียหายแก่พื้นที่การเกษตร เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และปศุสัตว์ จำนวน 36 จังหวัด เป็นพื้นที่เกษตร 4.44 ล้านไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 27,456 ล้านไร่ กระชัง 416 ตารางเมตร และมีสัตว์ได้รับผลกระทบ 1,179,592 ล้านตัว และแปลงหญ้า 467 ไร่ และคาดว่าจะกระทบครัวเรือน 561,520 ครัวเรือน

ผ่านกฎหมายตั้งโฮลดิ้ง ถือหุ้นรัฐวิสาหกิจ

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ครม. ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. หลังจากเคยเห็นชอบในหลักการและส่งให้สำนักงานคณะกรรมกฤษฎีกาตรวจสอบ โดยขั้นต่อไปจะนำกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสถานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคาดว่าจะประกาศใช้ได้ภายในปีงบประมาณ 2561

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวประกอบด้วยหลักการสำคัญ 6 เรื่อง ได้แก่ 1) การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติเพื่อกำหนดนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ ขณะที่ คนร. ชุดปัจจุบันยังจัดตั้งภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

2) มีแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องแผนพัฒนาฯ และยุทธศาสตร์ชาติ และเป็นช่องทางในการส่งผ่านนโยบายของภาครัฐไปยังรัฐวิสาหกิจให้มีความชัดเจนและโปร่งใส

3) มีกระบวนการสรรหากรรมการที่ชัดเจน โปร่งใสและมุ่งเน้นประสบการณ์และความรู้ความสามารถที่จำเป็นต่อการดำเนินงานและการพัฒนาของรัฐวิสาหกิจ (Skill matrix)

4) มีกลไกระบบการกำกับดูแลที่ดี (Good Governance) เพื่อเปิดเผยข้อมูลให้เกิดความโปร่งใสและส่งเสริมความรับผิดรับชอบในการดำเนินตามนโยบายของรัฐบาล (Transparency & Accountability)

5) พัฒนาระบบประเมินผลที่เชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจและนโยบายอย่างเป็นระบบ

6) จัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ โดยมีกระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมด ทำหน้าที่ในฐานะผู้ถือหุ้นเชิงรุก (Active Shareholder) เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้มีความพร้อมในการแข่งขันเชิงพาณิชย์และสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยคงความเป็นรัฐวิสาหกิจไว้ ให้ผู้อำนวยการ สคร. รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ไปพลางๆ ระหว่างรอสรรหาคณะกรรมการบริหารต่อไป

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นจะมีรัฐวิสาหกิจที่โอนความดูแลเข้ามา 11 แห่ง ได้แก่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน), บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ขนส่ง จำกัด, บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน), บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด, บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด, บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด

ส่วนธนาคารกรุงไทยยังไม่สามารถโอนมาได้ทันที เนื่องจากปัจจุบันธนาคารกรุงไทยมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถือหุ้นอยู่ ขณะที่กระทรวงการคลังถือหุ้นกองทุนฟื้นฟูฯ อีกต่อหนึ่ง ซึ่งต้องรอให้กระทรวงการคลังและกองทุนฟื้นฟูหารือกันก่อนว่าจะโอนเข้ามาอย่างไร ขณะที่บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ไม่ถูกโอนเข้ามา เนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีพันธกิจเฉพาะและไม่เกี่ยวกับกับเชิงพาณิชย์

อนุมัติ ขสมก. กู้เงิน 2,833 ล้านบาท จ่ายค่าน้ำมัน-ซ่อมบำรุง

รายงานข่าวระบุว่า ครม. มีมติอนุมัติให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กู้เงินเพื่อนำไปชำระค่าเชื้อเพลิงและค่าเหมาซ่อมของรถปรับอากาศ ประจำปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 2,833.084 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าเชื้อเพลิง 1,905.543 ล้านบาท และค่าเหมาซ่อม 927.542 ล้านบาท เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้เพียงพอต่อการให้บริการของ ขสมก. และประหยัดดอกเบี้ยค้างชำระ ซึ่งดำเนินการเป็นประจำทุกปี โดยในปี 2560 ครม. เคยอนุมติจำนวน 3,319.690 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2561 คาดว่าจะประหยัดค่าดอกเบี้ยได้ประมาณเดือนละ 11.926 ล้านบาท หรือปีละ 143.113 ล้านบาท

อนุมัติงบ 1,535 ล้านบาท อุดหนุนดอกเบี้ยโครงการพักชำระหนี้ชาวนา

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยให้สมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/2560 วงเงิน 1,535.816 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะอุดหนุนดอกเบี้ยให้ 3% ต่อปีเป็นระยะเวลา 2 ปี สำหรับเกษตรที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 ได้ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปหารือรายละเอียดกับสำนักงบประมาณสำหรับเกษตรกรที่มิใช่ลูกค้า ธ.ก.ส. ว่าจะชดเชยดอกเบี้ยอย่างไร ขณะที่ลูกค้า ธ.ก.ส. รัฐบาลจะอุดหนุนร่วมกับ ธ.ก.ส. ฝ่ายละ 1.5%

ยืมกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร 358 ล้านบาท หนุนโครงการ “โคบาลบูรพา”

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบจัดสรรเงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรสำหรับดำเนินการตามโครงการสนับสนุนปัจจัยการผลิตปศุสัตว์ในโครงการโคบาลบูรพา วงเงินยืม (เงินหมุนเวียน) 358.8 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0% ต่อปี โดยมีระยะเวลาปลอดหนี้สำหรับส่งเสริมอาชีพเลี้ยงโคเนื้อใน 3 ปีแรกและกิจกรรมส่งเสริมอาชีพเลี้ยงแพะใน 2 ปีแรก และมีกำหนดชำระคือภายใน 6 ปี และ 5 ปีตามลำดับ อนึ่ง มีเกษตรกรเป้าหมาย 6,000 รายสำหรับโคเนื้อ กู้ยืมรายละ 58,000 บาท และมีเกษตรเป้าหมายสำหรับแพะ 100 ราย กู้ยืมได้รายละ 108,000 บาท

พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เตรียมออก ม.44 ตั้ง สนง.ทรัพยากรน้ำฯ – เปิดช่องคนนอกนั่งเก้าอี้บริหารมหา’ลัย – ปรับอำนาจ ปปง.

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม คสช. มีมติให้มีคำสั่งตามมาตรา 44 ใน 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่

  1. การรวมหน่วยงานบริหารจัดการน้ำของภาครัฐทั้งหมดที่อยู่ในหน่วยงานหรือกระทรวงต่างๆ ให้เป็นหน่วยงานเดียว โดยจัดตั้งเป็นสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลดงบประมาณค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และให้การดำเนินงานมีความเป็นเอกภาพเป็นไปในแนวทางเดียวกัน สำหรับรายละเอียดเรื่องกำลังพลนั้นจะต้องมีการพิจารณาการย้ายกำลังคนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ร่วมด้วย
  2. ให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถแต่งตั้งบุคคลที่ไม่ได้เป็นข้าราชการพลเรือน ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี หรือหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ โดยให้บุคคลซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นข้าราชการพลเรือนสามารถดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้ เพื่อแก้ไขปัญหาการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา เนื่องจากปัจจุบันสถาบันการศึกษาของรัฐในระดับอุดมศึกษามีปัญหาเรื่องการสรรหาของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งบริหาร ทำให้การบริหารงานขาดความต่อเนื่อง มีความล่าช้า และการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาไม่เป็นไปตามระบบ จนส่งผลให้การดำเนินงานเรื่องการปฏิรูปการศึกษาตามนโยบายรัฐบาลไม่เป็นไปตามแผนงาน สำหรับคุณสมบัติและข้อจำกัดอื่นๆ ยังคงเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  3. ให้มีการปรับปรุงแก้ไของค์ประกอบและขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

แต่งตั้ง “เลิศวิโรจน์” นั่งปลัดเกษตร – “สุรจิตต์” นั่ง เลขาฯ ส.ป.ก.

พ.อ.หญิง ทักษดา กล่าวว่า ครม. มีมติแต่งตั้ง นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายสุรจิตต์ อินทรชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สำหรับแต่งตั้งโยกย้ายอื่นๆ ดูเอกสารแนบ มติ ครม. แต่งตั้งข้าราชการ ประจำวันที่ 8 สิงหาคม 2560