เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน
สั่งบูรณาการทุกหน่วย รับมือพายุ “คาจิกิ”
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการรับมือดีเปรสชั่นที่พัฒนาเป็นพายุโซนร้อน “คาจิกิ” ว่า ตอนนี้รัฐบาลได้เตรียมการและก็มีประสบการณ์อยู่แล้ว ไม่ว่าจะน้ำท่วมใหญ่ในประเทศที่ผ่านมา ประกอบกับช่วงวันสองวันที่ผ่านมาก็เพิ่งมีพายุเข้ามา ซึ่งตนได้สั่งการและย้ำเตือนให้หลายหน่วยงานเตรียมการแก้ปัญหาตั้งแต่บัดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยา และให้กระทรวงมหาดไทย กองทัพ กรมชลประทาน ตลอดจนถึงกระทรวงสาธารณสุข ติดตามสถานการณ์ บูรณาการเตรียมพร้อมรับมือพายุ แจ้งเตือนประชาชนเป็นระยะ รวมถึงการปรับแผนการระบายน้ำเพื่อลดผลกระทบให้มากที่สุด
“แม้ว่าจุดศูนย์กลางของพายุจะไม่ได้เข้าประเทศไทยโดยตรงก็ตาม แต่ไทยยังคงได้รับผลกระทบในเรื่องของปริมาณน้ำฝนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคเหนือ พรุ่งนี้ผมและคณะทำงานก็จะลงพื้นที่ จ.สุโขทัย และ จ.พิษณุโลก เพื่อตรวจเรื่องความเสียหาย ให้กำลังใจผู้ประสบภัย ซึ่งรัฐบาลพร้อมเยียวยาผู้เดือดร้อนในทุกประเด็นทุกมิติ”
ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาที่ประเทศไทยเผชิญมาโดยตลอดคือภัยแล้งและอุทกภัย ซึ่งมีผลต่อเกษตรกรที่เป็นผู้มีรายได้น้อย ตนก็มีความเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ย่านธุรกิจ พื้นที่โรงพยาบาล สถานที่ราชการ รวมถึงเรื่องการคมนาคมพื้นฐาน
“ผมได้สั่งการหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้องไปให้เร่งดำเนินการ ขณะนี้ทางกระทรวงคมนาคมและกระทรวงกลาโหมก็ได้มีการประสานงานกันอยู่ ซึ่งที่เร็วที่สุดคือให้กระทรวงกลาโหมจัดกำลังเข้าไปคลี่คลายสถานการณ์ในเรื่องของเส้นทางให้ได้โดยเร็ว เพราะมีเครื่องจักร เครื่องไม้เครื่องมืออยู่มากพอสมควร ” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ยันรถไฟไทย-จีน ไร้ปัญหา เดินหน้าตามกรอบเวลา
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูงไทย-จีนว่า ตนได้รับรายงาน ก็จะมีการแพร่ออกไปว่าดำเนินการไปถึงไหนอย่างไรแล้ว วันนี้เราก็จะได้มีการเจรจากับฝ่ายจีนเป็นระยะๆ ได้รับรายงานจากกระทรวงคมนาคมว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ยืนยันว่าสามารถดำเนินการต่อไปได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด
สั่ง คค.ลุยสร้างเทอมินอล 2 สุวรรณภูมิ ยึดแผนแม่บทเดิม
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงโครงการเทอร์มินัล 2 สุวรรณภูมิ หลังหลายหน่วยงาน เช่น สภาสถาปนิกและสภาพัฒน์เคยทักท้วงเรื่องการก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตาม master plan ว่า ตนได้ให้กระทรวงคมนาคมชี้แจงแล้ว และข้อเท็จจริงคือ จำเป็นต้องมีการขยายเพื่อรองรับผู้โดยสารที่เติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามหลักสากล และต้องฟังเสียงจากหลายฝ่าย โดยต้องนำข้อดี ข้อเสีย มาประกอบกัน
“ผมได้พูดกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรองนายกรัฐมนตรี ว่าในสัปดาห์นี้จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมถึงกลุ่มผู้ที่คัดค้านมาให้ความเห็นอย่างรอบด้าน ก็ต้องฟังผลดีผลเสีย รวมถึงผลกระทบต่างๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้นในการทำเทอมินัล 2 คืออย่างไรก็ต้องสร้าง แต่จะสร้างอย่างไรก็ไปว่ากันอีกที มีการปรับรูปแบบมาหลายครั้งแล้ว ก็ต้องเอาแผนแม่บทเดิมมาดูด้วย” นายกรัฐมนตรีกล่าว
พร้อมแจง “ปมถวายสัตย์” ตั้งแต่ 16 ก.ย.เป็นต้นไป
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 กรณีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนว่า เป็นเรื่องของสภาและของรัฐบาล ซึ่งวันนี้ตนได้กำหนดไปแล้วว่า พร้อมไปชี้แจงตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2562 เป็นต้นไป ขอให้ตนได้มีเวลาทำงานอื่นไปด้วย ตนไม่มีอะไรขัดแย้งอยู่แล้ว
“ผมไม่ได้ขัดแย้งอะไรกับใคร ขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังในการพูดเรื่องต่างๆ ซึ่งทุกคนต้องรับผิดชอบในคำพูดของตัวเอง เพราะวันนี้เรื่องอยู่ในกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว”
เมื่อถามว่า ครม.จะเสนอให้มีการอภิปรายลับหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่รู้เหมือนกันว่าควรจะลับหรือไม่ เป็นเรื่องที่เขาต้องไปพิจารณากัน และเป็นเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญด้วย ต้องไปว่ากันมา วันนี้ตนได้ให้ไปประสานกับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้วว่าวันเวลาที่ตนพร้อมนั้นเมื่อไรอย่างไร ก็สุดแล้วแต่ว่าทางสภาจะว่าอย่างไร
เมื่อถามย้ำว่า ครม.จะไม่ขอประชุมลับใช่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ก็ต้องพิจารณาร่วมกันว่าจะต้องเป็นการประชุมลับหรือไม่ เพราะที่บอกว่าประชุมลับนั้นก็ไม่เคยเห็นว่าจะเป็นความลับจริงสักที เพราะคนที่เข้าไปอยู่ข้างในก็มักเอาออกมาพูดข้างนอก จึงไม่มีลับ
“ผมเองก็ต้องระมัดระวังคำพูดของผม เพราะเป็นประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาอยู่ จะไปพูดชี้นำได้อย่างไร ก็ขอให้เห็นใจผมตรงนี้บ้างสิ วันนี้งานก็เร่งรัดหลายเรื่อง และผมให้ความสำคัญทุกเรื่อง ขอร้องอย่าเอามาเป็นประเด็นทั้งหมดเลย เพราะวันนี้มีประเด็นเยอะอยู่แล้ว หลายเรื่องก็อยู่ในกระบวนการ ก็ต้องว่ากันไป ผมไม่ได้ขัดแย้งอะไรทั้งสิ้น ขอให้เห็นใจผมบ้าง ทุกวันนี้ก็ทำงานไม่หยุดอยู่แล้ว ขอเวลาให้ผมได้แก้ไขปัญหาของประชาชนไปด้วย เรื่องนี้ผมก็ให้ความสำคัญ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็จะไปชี้แจง แค่นั้นเอง” นายกรัฐมนตรีกล่าว
เมื่อถามว่าคิดว่าจะใช้เวลาชี้แจงฝ่ายค้านกี่วัน พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่รู้ และไม่รู้ว่าฝ่ายค้านจะใช้เวลาซักอะไรมากมายหรือไม่
ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ ครม.เห็นชอบให้วันที่ 18 กันยายน 2562 นี้ เป็นวันอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ในญัตติประเด็นการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนว่า นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ประสานงาน ครม. ได้โทรมาแจ้งกับตนแล้วว่าในวันที่ 11-12 กันยายน 2562 ที่วิปรัฐบาลเสนอให้มีการอภิปรายทั่วไปนั้น นายกรัฐมนตรีติดภารกิจ แต่หากเป็นวันที่ 16 กันยายน 2562 สามารถมาตอบญัตติของฝ่ายค้านได้ ตนจึงได้เจรจากับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา แต่เนื่องจากวุฒิสภาจะใช้วันที่ 16-17 กันยายน 2562 เป็นการประชุมนัดสุดท้ายก่อนที่จะปิดสมัยประชุมในวันที่ 19 กันยายน 2562 ตนจึงให้ความสะดวกแก่ทุกฝ่าย คือวันที่ 18 กันยายน 2562 แต่ทั้งนี้ยังไม่ได้บรรจุวาระดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม แต่หากไม่มีทางเลี่ยงจริงๆ ก็ต้องเป็นวันที่ 18 กันยายน นี้
ส่วนที่มองว่าการกำหนดเป็นวันที่ 18 กันยายน เท่ากับบีบฝ่ายค้าน เพราะให้เวลาน้อยเกินไปนั้น นายชวนกล่าวว่า หากเริ่มประชุมตั้งแต่ช่วงเช้าเชื่อว่าจะเพียงพอ เพราะมีเพียง 2 ประเด็นที่จะซักถาม และเสนอแนะ
หนุนเลิกใช้สารเคมีทำการเกษตร
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีสารเคมีพิษในอุตสาหกรรมการเกษตรจะยังคงเดินหน้าต่อหรือไม่เพราะยังมีการคัดค้าน ว่า ตนเข้าใจถึงเหตุผล หลักการ และความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องลดการใช้สารเคมีอันตรายในอุตสาหกรรมการเกษตรให้ได้โดยเร็ว ทั้งพาราควอต คลอไพริฟอส และไกลโฟเสต ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ 3 กระทรวงด้วยกัน ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม
โดยวันนี้จากที่ได้รับรายงานมาว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ให้กระทรวงเกษตรฯ ไปหาสารที่จะมาทดแทนให้ได้ก่อน ต้องมองในหลายมิติด้วยกัน อันนี้เป็นการพิจารณาร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ทั้งรัฐ ผู้บริโภค และเกษตรกร ซึ่งต้องหาวิธีการที่จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบในทุกๆ ด้าน
“ผมเองนั้นไม่เห็นด้วยอยู่แล้วในการใช้สารเคมีทำการเกษตร แต่ทำอย่างไรจะเดินหน้าไปสู่เกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรจีเอพี ที่ควมคุมได้ วันนี้ต้องร่วมมือกันแก้ปัญหานี้ต่อไปให้ได้โดยเร็ว” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ชี้เพิ่มค่ารักษาพยาบาลครูหัวละ 5 หมื่น ต้องดูงบฯมีพอหรือไม่
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความเป็นไปได้ในการเพิ่มค่ารักษาพยาบาลครูอีกคนละ 5 หมื่นบาท เป็น 150,000 บาทต่อคนต่อปี ว่า การเพิ่มค่ารักษาพยาบาลครู ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ยังต้องพิจารณากันต่อไป เพราะเป็นเรื่องที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งตนเคยบอกแล้วว่านโยบายต่างๆ ของรัฐบาล หรือนโยบายจากพรรคการเมืองต่างๆ จำเป็นต้องมาดูในเรื่องของพระราชบัญญัติงบประมาณประกอบด้วยว่าเรามีงบประมาณมากน้อยแค่ไหนอย่างไร แหล่งที่มาของวงเงินที่ใช้ในการบริหารประเทศ มีกรอบวงเงินอยู่
“ต้องค่อยๆ ปรับไป ผมไม่ได้หมายความว่าจะไม่ทำ หรือทำตามนั้นทั้งหมดก็เป็นไปไม่ได้ เท่าที่ทราบในชั้นต้นการเสนอแผนงานโครงการของทุกกระทรวงมาเป็นเงินประมาณ 5.1 ล้านล้านบาท ซึ่งมากเกินวงเงินงบประมาณที่มีอยู่ คือ 3.2 ล้านล้านบาท ก็ต้องไปปรับกันให้อยู่ในวงเงินที่กำหนด นี่เป็นเหตุผลและความจำเป็นที่เราระบุตอนแรกไม่ได้ จนกว่าที่จะมีการทำแผนงานโครงการจากกระทรวงขึ้นมา” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ปัดจัดรายการ “นายกฯ พบประชาชน” ย้ำ 5 ปี พอแล้ว
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เตรียมเสนอรูปแบบรายการนายกรัฐมนตรีพบประชาชนอีกครั้ง ว่า ตนยังไม่มีนโยบายเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้หากตนจะพบประชาชนก็พบในรูปแบบของการพูดคุยกัน ยืนยันไม่มีการปิดทุกช่อง ดึงสัญญาณเป็นชั่วโมงๆ เหมือนในอดีต อย่างที่ว่ากัน ฉะนั้นขอให้เลิกว่ากันเสียที
“ผมทำมาแล้ว 5 ปี และผมก็มองเห็นว่า ในช่วงนี้เป็นรัฐบาลมีที่มาอย่างไร ผมก็เคารพทุกอัน จะไม่รบกวน แต่อาจมีการให้สัมภาษณ์เป็นครั้งคราว เขากำลังปรับแก้กันว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนได้เรียนรู้รับรู้ ก็แล้วแต่ว่าใครจะไปออก หรืออาจใช้โซเชียลมีเดียบ้าง ก็เป็นวิถีทางที่สามารถทำได้ไม่ใช่หรือ ซึ่งตนพร้อมให้สัมภาษณ์และพบปะประชาชนกลุ่มต่างๆ เช่น เกษตรกร หรือนักศึกษา และผมคงไม่ไปสั่งโทรทัศน์ช่องไหนหรอก ผมคงไม่ไปรบกวนเวลาท่านอีกแล้ว” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ทั้งนี้ สำหรับการเปิดให้สื่อเข้าสัมภาษณ์นั้นเมื่อถึงเวลาตนจะเป็นผู้กำหนดเอง โดยรูปแบบก็จะเป็นรูปแบบทั่วไปที่ใช้กัน ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าสถานการณ์เป็นอย่างนั้นจึงต้องทำแบบนั้น แต่วันนี้เลือกตั้งมาแล้ว
ต่อคำถามถึงกรณีที่นายภาณุวัฒน์ พันธุ์วิชาติกุล หรือซินแสภาณุวัฒน์ ทำนายว่านายกฯ จะอยู่ดูแลบ้านเมืองอีก 2 สมัย หรือ 8 ปี ว่า “เหรอ” พร้อมกับอมยิ้มแล้วเอามือแตะที่หน้าอกข้างซ้าย พร้อมระบุว่า “ไม่สงสารฉันบ้างเหรอ จะให้ฉันอยู่อีกตั้งนาน”
มติ ครม.มีดังนี้
วางกรอบหั่นงบฯปี 63 หลังหน่วยงานยื่นขอใช้เงินทะลุ 5 ล้านล้าน
ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.รับทราบรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ของสำนักงบประมาณ ภายหลังจากที่ ครม.มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินทั้งสิ้น 3.2 ล้านล้านบาทเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562 ซึ่งหน่วยรับงบประมาณได้ส่งคำของบประมาณมาทั้งสิ้น 5.099 ล้านล้านบาท ก่อนที่สำนักงบประมาณจะจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปตามแนวทางการจัดทำงบประมาณโดยคำนึงถึงประมาณการรายรับ ฐานะการคลัง และความจำเป็นในการดำเนินภารกิจเพื่อพัฒนาประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ
ทั้งนี้ ใน 7 ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ สำนักงบประมาณได้จัดสรรให้กับยุทธศาสตร์ต่างๆ ดังนี้
- ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง วงเงิน 428,219.2 ล้านบาท (13.4% ของงบทั้งหมด)
- ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน วงเงิน 380,418.8 ล้านบาท (11.8% ของงบทั้งหมด)
- ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ วงเงิน 570,521.8 ล้านบาท (17.9% ของงบทั้งหมด)
- ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม วงเงิน 766,269.1 ล้านบาท (23.9% ของงบทั้งหมด)
- ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วงเงิน 118,576.9 ล้านบาท (3.7% ของงบทั้งหมด)
- ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ วงเงิน 504,657.6 ล้านบาท (15.8% ของงบทั้งหมด)
- รายการค่าดำเนินการภาครัฐ วงเงิน 431,336.6 ล้านบาท (13.5% ของงบทั้งหมด)
แจงความคืบหน้ารถไฟไทย – จีน คาดเปิดใช้ปี 66
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 5/2562 โดยมี นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม, นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม, นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมการขนส่งทางราง, นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง, นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.), นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่ง ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2562 โดยที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) และมอบ รฟท.ดำเนินการ ดังนี้
1. ประสานสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เกี่ยวกับร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก่อน รฟท.ดำเนินการเวนคืนที่ดินและจัดกรรมสิทธ์ต่อไป และขอความอนุเคราะห์กองทัพบกในการจัดตั้งสำนักงานและการใช้พื้นที่สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
2. เร่งพิจารณาผลการประกวดราคา ให้มีความสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
3. เร่งประกาศประกวดราคาสัญญา 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อยภายในเดือนกันยายน 2562 และดำเนินการเอกสารประกวดราคา สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองภายในเดือนกันยายน 2562
4. ตั้งคณะกรรมการเจรจากับฝ่ายจีนเพื่อให้ได้ข้อยุติของสัญญา 2.3 (สัญญาระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งขบวนรถและการฝึกอบรมบุคลากร) ก่อนเสนอสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างฉบับสุดท้าย และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
5. ดำเนินการทบทวนและเสนอเรื่องการปรับกรอบวงเงินสัญญา 2.3 เสนอกระทรวงคมนาคมโดยเร็ว เพื่อให้สามารถดำเนินการก่อสร้างและเปิดให้บริการในปี 2566 ตามแผนงานที่กำหนดไว้
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบปรับปรุงร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ภายใต้คณะกรรมการฯ จำนวน 4 คณะ ได้แก่ 1. คณะอนุกรรมการจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินโครงการ รถไฟความเร็วสูง 2. คณะอนุกรรมการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางและ จัดทำแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง 3. คณะอนุกรรมการปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ เพื่อทำหน้าที่เป็นระบบสนับสนุนผู้โดยสารให้กับระบบรถไฟความเร็วสูง 4. คณะอนุกรรมการพัฒนาพื้นที่และเมืองตามแนวเส้นทางโครงการ รถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการนำเสนอร่างคำสั่งแต่งตั้งเพื่อลงนามในคำสั่งแต่งตั้งต่อไป
อนึ่ง สำหรับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2562 อนุมัติงบกลาง วงเงิน 751 ล้านบาท ให้ รฟท.ดำเนินการจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดงานโยธา ระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะเวลาศึกษา 19 เดือน ซึ่งปัจจุบัน รฟท.อยู่ระหว่างดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาฯ โดยมีแผนกำหนดลงนามในสัญญาภายในเดือนกันยายน 2562 สำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ เพื่อเชื่อมโยงด้านรถไฟระหว่างไทย-ลาว-จีน ที่มีการประชุมและลงนามความร่วมมือระหว่างกัน เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา จะมีกำหนดการประชุมทั้งสามฝ่ายเพื่อหารือในรายะเอียดในการดำเนินงานต่อไป
ไฟเขียว “จุรินทร์” ลงนามข้อตกลงอาเซียน 2 ฉบับ
ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ลงนามในเอกสาร 2 ฉบับ ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 5-10 กันยายน 2562 ได้แก่
ข้อตกลงยอมรับร่วมผลการตรวจสอบและรับผิดชอบผลิตภัณฑ์ยานยนต์ของอาเซียน (ASEAN Mutual Recognition Arrangement on Type Approval for Automotive Products)
ร่างพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียน (ASEAN Protocol on Enhanced Dispute Settlement Mechanism)
“เมื่อลงนามแล้วจะต้องส่งให้รัฐสภาพิจารณาให้เห็นชอบข้อตกลงฯ และพิธีสารฯ ก่อนแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันต่อไป เพราะทั้งสองเรื่องเข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้า หรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวางตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ”
ทั้งนี้ ร่างข้อตกลงฯ เป็นการให้สิทธิประเทศสมาชิกแต่งตั้งหน่วยบริการทางเทคนิคในการทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยายนต์และชิ้นส่วนเพื่อยื่นขอขึ้นบัญชีกับคณะกรรมการยานยนต์ของอาเซียน ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการยอบรับรายงานผลการทดสอบผลิตภัณฑ์ยานยนต์ของอาเซียนซึ่งกันและกัน รวมถึงการยกระดับการค้าของอาเซียนด้วย ในขณะที่ร่างพิธีสารฯ เป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศอาเซียนให้ทันสมัย และมีความชัดเจนมากขึ้น สอดคล้องกับหลักการขององค์กรการค้าโลก กลไกประกอบด้วย 1) การปรึกษาหารือ 2) การประสานท่าที การประนอม การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท 3) การตั้งคณะผู้พิจารณาประเมินประเด็นข้อพิพาท การตรวจสอบข้อเท็จจริง 4) กระบวนการอนุญาโตตุลาการ
นอกจากนี้ ครม.ยังรับรองร่างเอกสาร 10 ฉบับคือ
- ร่างแผนการดำเนินงานตามกรอบบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียนปี 2562-2568 (ASEAN Digital Integration Framework Action Plan 2019-2015)
- ร่างแนวทางการพัฒนาแรงงานมีทักษะ/ผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (Guideline on Skilled Labor/Professional Service Development in Response to the Fourth Industrial Revolution)
- ร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมอาเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 (ASEAN Declaration on Industrial Transformation to Industry 4.0)
- ร่างแนวทางในการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยอาเซียน (Policy Guideline on Digitalization of ASEAN Micro Enterprises)
- ร่างการปรับปรุงข้อบทว่าด้วยระเบียบวิธีการปฏิบัติด้านหนังสือรับรองท้องถิ่นกำเนินสินค้าเพื่อรองรับระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียน (Amended ATIGA Operation Certification Procedure to aloe for ASEAN-wide- self-Certification Scheme)
- ร่างปรับปรุงรับรองหนังสือถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียน (Amended Co From D)
- ร่างขอบเขตการดำเนินงานของการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (TOR: General Review of the ASEAN Trade in Goods Agreement)
- ร่างแผนร่วมมือระหว่างอาเซียนกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย (Programme of Cooperation between the Eurasian Economic Commission and the Association of Southeast Asian Nation for 2019-2020)
- ร่างแผนงานเพื่อยกระดับการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA FJC Work Plan for the Upgrade AANZFTA)
- ร่างแถลงการณ์ของรัฐมนตรีครบรอบ 10 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (Ministerial Statement on the 10th Year Anniversary of the AANZFTA)
“สำหรับร่างเอกสารทั้ง 10 ฉบับนี้ เป็นการปรับเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ เช่น การอำนวยความสะดวกทางการค้าแบบไร้รอยต่อ การเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมยุค 4.0 การปรับปรุงข้อบทว่าด้วยระเบียบวิธีปฏิบัติด้านนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า และแผนงานความร่วมมือหรือการเจรจาระหว่างกลุ่มอาเซียนกับกลุ่มประเทศอนุภูมิภาค ประโยชน์ที่จะได้คือ 1. ประเทศอาเซียนได้เตรียมความพร้อมในการรับมือและใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี 2. กฎ ระเบียบเกี่ยวกับการค้าได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและขั้นตอนการดำเนินงานให้กับผู้ประกอบการ 3. ประสานความร่วมมือกับประเทศนอกภูมิภาค เพื่อขยายตลาดการค้าและการลงทุน รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ในทางกลับกัน หากไม่มีการดำเนินการดังกล่าว ประเทศไทยและอาเซียนอาจสูญเสียขีดความสามารถทางการแข่งขันในการเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนให้กับภูมิภาคอื่น”
รายงานผลประชุม RCEP คาดลงนามปี 63
ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.รับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) สมัยพิเศษ ครั้งที่ 8 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2-8 สิงหาคม 2562 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รายงานให้ ครม.ทราบว่าได้หารือทวิภาคีกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ ซึ่งทุกประเทศพร้อมสนับสนุนไทยในฐานะประธานอาเซียนและประธานการประชุม RCEP ในปีนี้ และพร้อมให้ความร่วมมือเพื่อให้การเจรจาบรรลุผลสำเร็จ โดยไทยคงต้องเดินหน้าแสดงบทบาทนำใน RCEP ต่อไป เนื่องจากความตกลงดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนของไทย
ทั้งนี้ ในรายละเอียดการเจรจามีความคืบหน้าเป็นอย่างมากใน 3 ประเด็น ได้แก่
1) มีความคืบหน้าเพิ่มเติมของคณะเจรจาที่สามารถสรุปแนวทางการค้าบริการ ได้แก่ โทรคมนาคม การเงิน และบริการวิชาชีพ
2) การเจรจาเปิดตลาดไปดำเนินการแล้วร้อยละ 68 จากคู่เจรจาทั้งหมด 225 คู่ ครอบคลุมประเด็น 3 ด้าน สินค้า บริการ และการลงทุน
3) มีการเจรจาเรื่องสำคัญที่ติดขัดในช่วงที่ผ่านมา คือ ข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการของบางประเทศ การระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนเอกชนกับรัฐ และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
“นอกจากนี้ นายจุรินทร์ยังได้รายงานให้ ครม.ทราบว่ายังคงมีประเด็นคงค้างที่ต้องเร่งหาข้อสรุปในช่วงเวลาที่เหลือ เช่น การเจรจาเปิดตลาดสินค้าและตลาดการค้าบริการระหว่างประเทศคู่เจรจา การจัดทำข้อบทสำคัญ เช่น กฎถิ่นกำเนิดสินค้าการลงทุน และการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา ซึ่งหากประเทศพสมาชิกพร้อมที่จะยืดหยุ่นเพื่อหาทางออกร่วมกัน คาดว่าจะสามารถสรุปผลการเจรจาได้ตามเป้าหมาย เพื่อเตรียมข้อบทให้พร้อมสำหรับขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย คาดมีโอกาสสูงที่จะสำเร็จภายในปลายปีนี้และลงนามได้ในปี 2563” ผศ. ดร.รัชดา กล่าว
เลื่อนเปิด “ศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว” เหตุ พมจ. ไม่พร้อม
ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบให้เลื่อนการพิจารณาพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 ของสภาผู้แทนผู้แทนราษฎรให้เป็นวาระเร่งด่วน เนื่องจากเดิมพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 ที่แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเดิมเมื่อปี 2550 ได้ขยายขอบเขตอำนาจของสำนักงานพัฒนาสังคมจังหวัด (พมจ.) จากเดิมที่เป็นเพียงหน่วยงานรับเรื่องและประสานงานต่อให้มีอำนาจในการสั่งการเพิ่มเติม เช่น สั่งแยกคู่สามีภรรยาได้ ดังนั้นทำให้จำเป็นต้องสรรหาบุคคลกรในด้านอื่นๆ นอกจากสังคมสงเคราะห์ เช่น ด้านนิติศาสตร์ จึงต้องอาศัยเวลาเตรียมพร้อมของส่วนราชการ
“กฎหมายใหม่ได้เพิ่มอำนาจให้ พมจ.มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสังคมได้ หากไม่มีการเตรียมความพร้อม เพิ่มกำลังคนที่มีความรู้ด้านกฎหมาย และการอบรมกำลังคนให้มีความพร้อม จึงเห็นว่าการชะลอการพระราชบัญญัตินี้มีความจำเป็น ขอให้ประชาชนเข้าใจ” ผศ. ดร.รัชดา กล่าว
ตั้งกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
รายงานข่าวจากสำนักโฆษก สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ครม.มีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกครั้งที่ 6/2562 เรื่อง ร่างระเบียบคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกว่าด้วยกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอ โดยมีรายละเอียดให้ตั้งกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยสาระสำคัญดังนี้
1. คณะกรรมการบริหารกองทุน ประกอบด้วยเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือผู้ที่เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักงบประมาณ จำนวน 1 คน ผู้แทนกระทรวงการคลัง (กค.) จำนวน 1 คน ผู้แทน สกพอ. จำนวน 1 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของ กค. จำนวนไม่เกิน 3 คน และผู้บริหารกองทุนเป็นกรรมการและเลขานุการ
โดยมีหน้าที่และอำนาจกำหนดนโยบาย กำกับดูแลการบริหารจัดการ และติดตามการดำเนินงาน ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน พิจารณาอนุมัติแผนการดำเนินงานประจำปี และอนุมัติโครงการภายใต้วัตถุประสงค์ของกองทุน ติดตามการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และแผนการดำเนินงานของกองทุน รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาในการดำเนินงานแก่ผู้ได้รับการจัดสรรเงินกองทุนและสนับสนุนให้มีการสำรวจผลกระทบจากการพัฒนาในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นระยะ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาโครงการ
2. ให้คณะกรรมการบริหารกองทุนมีอำนาจและหน้าที่ตามที่กำหนดและให้แต่งตั้งผู้บริหารกองทุน เพื่อทำหน้าที่บริหารงานกองทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์
3. ให้ สกพอ.จัดทำโครงสร้างการบริหารกองทุนเพื่อรองรับการดำเนินงานด้านต่างๆ รวมทั้งการกำหนดกรอบอัตรากำลัง เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ หรือสวัสดิการต่างๆ โดยให้มีความเหมาะสมในการดำเนินงานและฐานะการเงินของกองทุน เสนอคณะกรรมการบริหารพิจารณาอนุมัติโดยความเห็นชอบของ กค.
4. เงินและทรัพย์สินของกองทุน ประกอบด้วย 1) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้ 2) เงินบำรุงตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 3) เงินสมทบจากรายได้ของ สกพอ. ตามมาตรา 24 (2) แห่งพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 4) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ 5) เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่ตกเป็นของกองทุน และ 6) ดอกผลหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุนโดยเงินและทรัพย์สินที่เป็นของกองทุนไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง
5. ให้ สกพอ.เปิดบัญชีเงินฝากไว้ที่กรมบัญชีกลาง กค. เพื่อรับเงินและจ่ายเงินตามวัตถุประสงค์ของกองทุน และเพื่อความคล่องตัว ให้ สกพอ.สามารถเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ ธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจ หรือธนาคารที่เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐสำหรับหมุนเวียนใช้จ่ายได้ภายในวงเงินและเงื่อนไขที่คณะกรรมการบริหารกำหนด และทุกสิ้นเดือนให้ สกพอ.นำเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารในส่วนที่เกินวงเงินส่งเข้าบัญชีกองทุนที่เปิดบัญชีเงินฝากไว้ที่กรมบัญชีกลาง กค.ดังกล่าว
6. เงินกองทุนให้ใช้จ่ายเพื่อกิจการตามวัตถุประสงค์ของกองทุน อันได้แก่ 1) เพื่อการพัฒนาพื้นที่หรือชุมชน ช่วยเหลือหรือเยียวยาประชาชนและชุมชนบรรดาที่อาจได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2) สนับสนุนและส่งเสริมการศึกษา และให้ทุนการศึกษาแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือที่อยู่ใกล้เคียงและได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 3) ค่าใช้จ่ายอื่นที่จะส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด และ 4) ค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุน
7. การจัดซื้อ การจ้าง และการเช่าตามระเบียบนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และข้อกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ
8. ให้ สกพอ. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหาร วางและรักษาไว้ ซึ่งระบบบัญชีที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถจัดทำรายงานทางการเงิน แสดงฐานะทางการเงิน และผลการดำเนินงานของกองทุนได้อย่างถูกต้องตามหลักการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป รวมทั้งจัดทำและส่งข้อมูลทางการเงิน และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กรมบัญชีกลางกำหนด
9. ให้ สกพอ.จัดทำรายงานการเงินของกองทุนเสนอคณะกรรมการบริหารพิจารณาให้ความเห็นชอบภายใน 60 วัน นับแต่วันสิ้นปีบัญชีของทุกปี และส่งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือบุคคลที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินให้ความเห็นชอบเป็นผู้สอบบัญชีเพื่อทำการตรวจสอบและรับรอง และเมื่อรายงานทางการเงินได้รับการตรวจสอบและรับรองแล้วให้ส่ง กค.ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ที่ได้รับรายงานจากผู้สอบบัญชี
10. การประเมินผลการดำเนินงานของกองทุน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนประกาศกำหนด
11. ให้ สกพอ.โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหาร จัดให้มีระบบการตรวจสอบภายใน เพื่อตรวจสอบการดำเนินงานของกองทุน ตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ปฏิบัติการตรวจสอบภายในสำหรับหน่วยงานของรัฐ หรือมาตรฐานสากลการปฏิบัติงานวิชาชีพการตรวจสอบภายใน
“สมคิด” ยันศก.ไทยยังไม่ถดถอย แค่โตต่ำกว่าเป้า
ศ. ดร.นฤมล กล่าวเพิ่มเติมว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงใน ครม.ด้วยว่า แม้เศรษฐกิจไทยขณะนี้ขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมาย หากดูตัวเลขเทียบปีต่อปีและไตรมาสต่อไตรมาสแล้วก็ยังเป็นการขยายตัวอยู่ จึงฝากให้ทุกหน่วยงานช่วยกันสื่อสารไม่ให้คนเข้าใจผิดว่าเศรษฐกิจไทยถดถอย ขณะเดียวกัน สศช.ยังได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบถึงภาพรวมของเศรษฐกิจไทย โดยเห็นว่าตัวชีวัดด้านต่างๆทางเศรษฐกิจกำลังปรับตัวดีขึ้น ทั้งดัชนีการอุปโภคและบริโภค การใช้จ่ายภาครัฐ และการท่องเที่ยวที่กำลังขยายตัว ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังไม่ดีมากนัก ซึ่งรองนายกฯ ก็ขอให้ทุหน่วยงานต้องสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน เพื่อให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น
“นายกฯ ได้ย้ำใน ครม.ว่า แม้เครื่องชี้เศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่เศรษฐกิจฐานรากยังไม่ดี สินค้าเกษตรบางตัวมีราคาดี แต่บางตัวมีราคาที่ลดลง จึงฝากกระทรวงเกษตรฯ ไปดูแลทั้งการปรับเปลี่ยนการผลิต การลดต้นทุน การทำปุ๋ยสั่งตัด และให้กระทรวงพาณิชย์มาร่วมด้วย พร้อมกันนี้รองนายกฯ ยังได้ฝากให้สำนักงบประมาณ เร่งรัดการเบิกจ่ายงบกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกไปด้วย อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์นี้จะมีการประชุม ครม.เศรษฐกิจอีกด้วย”
ไฟเขียวเพิ่ม ขรก. ดีอี 46 อัตรา – ตำรวจ 9,000 อัตรา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติการจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้แก่ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และการจัดสรรอัตราข้าราชการตำรวจตั้งใหม่ให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามมติคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐในการประชุมครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2562 ตามที่สำนักงาน ก.พ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วมคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐเสนอ
โดยมีรายละเอียดดังนี้
1) การจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้แก่ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 46 อัตรา มีรายละเอียดค่าใช้จ่ายด้านบุคคลกรเพิ่มขึ้น 11.79 ล้านบาทต่อปี
2) การจัดสรรอัตราข้าราชการตำรวจชั้นประทวนตั้งใหม่ให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 9,000 อัตรา (เป็นกรอบอัตรากำลังที่ คปร.เคยยุบเลิกไป จำนวน 14,000 อัตรา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้เคยมีมติ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 อนุมัติอัตราข้าราชการตำรวจชั้นประทวนเพิ่มใหม่ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติไปแล้ว จำนวน 5,000 อัตรา) มีรายละเอียดค่าใช้จ่ายด้านบุคคลกรเพิ่มขึ้น 1,700.36 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้นี้ คปร.มีมติเพิ่มเติมสำหรับอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้กับส่วนราชการในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ การพิจารณาจัดสรรกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการให้กับสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวม 11 อัตรา ให้เสนอคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) พิจารณาต่อไป [สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอขอรับการจัดสรรกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ จำนวน 47 อัตรา และกำหนดเงื่อนไขการใช้ตำแหน่งดังกล่าว โดยไม่ให้นำตำแหน่งที่ได้รับการจัดสรรมายุบเลิกเพื่อปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งอื่นเป็นระดับที่สูงขึ้น ทั้งนี้ การจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับอัตราข้าราชการตั้งใหม่ของทั้งสองส่วนราชการดังกล่าวให้ส่วนราชการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงบประมาณกำหนด
นอกจากนี้ ครม.มติอนุมัติการจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้กับสำนักงาน ก.พ.ตามจำนวนที่ต้องใช้จริงไม่เกิน 80 อัตรา เพื่อใช้เป็นกรอบอัตรากำลังหมุนเวียนตามแนวทางการรักษากลุ่มกำลังคนคุณภาพ ตามมติ คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.)
ตั้ง “พล.อ.ชัยชาญ ” นั่งหัวหน้าผู้แทนพิเศษแก้ไขปัญหาชายแดนใต้
นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม.มีมติแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง ข้าราชการการเมือง รวมถึงผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนี้
- สำนักข่าวกรองแห่งชาติ เสนอแต่งตั้งนายฤทธี ศรีสวัสดิ์ ที่ปรึกษาด้านการต่อต้านการก่อการร้ายแห่งชาติและอาชญากรรมข้ามชาติ ให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป
- กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 4 ราย ได้แก่ 1. นายธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 2. นายไพศาล ดั่นคุ้ม รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 3. นายณรงค์ สายวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงฯ และ 4. นายยงยศ ธรรมวุฒิ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) กลุ่มที่ปรึกษาระดับกระทรวง ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงฯ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป
- กระทรวงคมนาคม จำนวน 7 ราย ได้แก่ 1. นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงคมนาคม 2. นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงฯ 3. นางอัมพวัน วรรณโก อธิบดีกรมท่าอากาศยาน ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ 4. นายสมัย โชติกุล รองปลัดกระทรวงฯ ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ 5. นายวิทยา ยาม่วง ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเจ้าท่า 6. นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงฯ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และ 7.นาย สราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทางหลวง ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป
- กระทรวงการคลัง จำนวน 7 ราย ได้แก่ 1. นายยุทธนา หยิมการุณ รองปลัดกระทรวงการคลัง ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมธนารักษ์ 2. นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมบัญชีกลาง 3. นางปานทิพย์ ศรีพิมลที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการคลัง 4. นางญาณี แสงศรีจันทร์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง 5. นางศิริวัลย์ แก้วมูลเนียม ที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี กรมสรรพากร ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการคลัง 6. นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ 7. นายวิจักษณ์ อภิรักษ์นันท์ชัย ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี กรมศุลกากร ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง
- ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 7 รายโดยมี พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล เป็นหัวหน้าผู้แทนพิเศษรัฐบาล พล.อ. จำลอง คุณสงค์ เป็นรองหัวหน้าผู้แทนพิเศษรัฐบาล ส่วนผู้แทนพิเศษรัฐบาล อีก 5 คน ได้แก่ 1. พล.อ. ปราการ ชลยุทธ 2. พล.อ. วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ 3. พล.อ. มณี จันทร์ทิพย์ 4. นายฉัตรพงศ์ ฉัตราคม และ 5. นายจำนัล เหมือนดำ
- แต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ได้แก่ 1. นายแสนศักดิ์ ศิริพานิช อดีตหัวหน้ายุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ภาคใต้ ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ 2. นางรัชนี พลซื่อ อดีตผู้สมัคร ส.ส. เขต 2 จังหวัดร้อยเอ็ด พปชร. ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ จะมีผลตั้งแต่วันที่ ครม.มีมติเป็นต้นไป
อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 3 กันยายน 2562เพิ่มเติม