ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ สวน “อนาคตใหม่” ปากท้องชาวบ้านสำคัญกว่าแก้ รธน. – มติ ครม.เห็นชอบงบฯปี 63 วงเงิน 3.2 ล้านล้าน ขาดดุล 4.69 แสนล้าน

นายกฯ สวน “อนาคตใหม่” ปากท้องชาวบ้านสำคัญกว่าแก้ รธน. – มติ ครม.เห็นชอบงบฯปี 63 วงเงิน 3.2 ล้านล้าน ขาดดุล 4.69 แสนล้าน

6 สิงหาคม 2019


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

นายกฯ สวน “อนาคตใหม่” ปากท้องชาวบ้านสำคัญกว่าแก้ รธน. – มติ ครม.เห็นชอบงบฯปี 63 วงเงิน 3.2 ล้านล้าน ขาดดุล 4.69 แสนล้าน

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน โดยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีรายงานว่า บรรยากาศการประชุม ครม. วันนี้เต็มไปด้วยความสุขสดชื่น รักใคร่สามัคคีระหว่างรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอความร่วมมือกับทุกฝ่ายในการทำงานร่วมกันตามนโยบายรัฐบาล พร้อมอวยพรวันเกิดแก่นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ และนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่เกิดในเดือนเดียวกัน

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังได้ฝากรองนายกรัฐมนตรีแต่ละท่านตรวจดูประเด็นที่ต้องการเพิ่มเติม ในส่วนที่จะต้องกล่าวในวันส่งมอบนโยบายวันที่ 8 สิงหาคม 2562 นี้ ซึ่งจะไม่เป็นการลงรายละเอียดเหมือนเช่นที่แถลงในสภา แต่จะเป็นเรื่องการขับเคลื่อนนโยบายว่าจะต้องทำเช่นไร

แจงความคืบหน้าบึ้มป่วนกรุง – จับมือระเบิดได้แล้ว 9 คน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความคืบหน้าการติดคนร้ายก่อเหตุระเบิดหลายจุดในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่า เรื่องดังกล่าวมีการรายงานประจำวันให้ตนรับทราบทุกวันถึงความคืบหน้า ซึ่งวันนี้ก็มีความคืบหน้าไปมาก สืบหาตัวผู้กระทำความผิดเพิ่มขึ้นถึง 9 คนแล้ว และกำลังดำเนินการสืบสวนต่อไปเพื่อดำเนินการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายให้ได้ ด้วยวิธีการตามกระบวนการยุติธรรม ทั้งวัตถุพยาน พยานบุคคลจะต้องทำให้รอบคอบ

“รัฐบาลจะทำเรื่องนี้ให้ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดอยากขอบคุณเจ้าหน้าที่และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงประชาชนที่ร่วมกันเป็นหูเป็นตา ตามที่ผมได้เคยพูดไปว่าเราจะรักษาความมั่นคงแบบองค์รวมได้อย่างไร ทั้งในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งต้องเริ่มจากตัวเอง ชุมชน และประชาชนสามารถช่วยรัฐในการถ่ายภาพซึ่งถือเป็นการดี” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ด้าน ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานความคืบหน้าสถานการณ์ความปลอดภัยในประเทศ ครม.รับทราบว่า จากการบูรณาการข่าวสารข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ ทำให้ภายใน 24 ชั่วโมง สามารถจับกุมมือวางระเบิดได้ถึง 2 คน และควบคุมตัวได้เพิ่มอีก 7 คนในเวลาต่อมา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบข้อมูลเชิงลึก ซึ่งกล้องซีซีทีวีเป็นส่วนสำคัญทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการจับกุมผู้ต้องสงสัยได้

“นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ขอให้ทำการสอบสวนให้ละเอียด อย่างไรก็ตามขอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามหลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชน แต่ทั้งนี้ก็ฝากให้ทุกคนเข้าใจและแยกแยะให้ดีระหว่างการดำเนินการตามกฎหมายและเรื่องสิทธิมนุษยชน” ศ. ดร.นฤมล กล่าว

สวน “อนาคตใหม่” ปากท้องชาวบ้านสำคัญกว่าแก้ รธน.

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า มาศึกษาในประเด็นที่จะแก้ไขก่อน ซึ่งตนได้กำหนดไว้ในนโยบายแล้ว ทั้งนี้จะต้องดูด้วยว่าการแก้รัฐธรรมนูญนั้นเป็นการแก้เพื่ออะไร เพื่อใคร แล้วประชาชนจะได้ประโยชน์หรือไม่ ตนอยากให้ดูจุดนี้เป็นประเด็นที่สำคัญก่อน ส่วนประเด็นอื่นก็ต้องหารือกันต่อไป

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า วันนี้มีเรื่องเร่งด่วนกว่าเรื่องนี้ คือเรื่องการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจวันนี้นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจากสงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจ รวมถึงความมั่นคงในภูมิภาคอื่นๆ ด้วย ซึ่งมีผลกระทบไปถึงตลาดทุน และตลาดหลักทรัพย์ เป็นเรื่องที่ต้องระวัง รวมถึงต้องแก้ปัญหาเรื่องภัยแล้งที่วันนี้ทุกคนต่างทราบดีว่าปริมาณน้ำสะสมของไทยที่เก็บไว้มีค่อนข้างน้อย ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมการทั้งการขุดรอกคูคลอง ฯลฯ ไว้อีกหลายมาตรการด้วยกัน

ป้อง “ปารีณา” เตือน ปชช.ระวัง “ข่าวปลอม”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถาม กรณีที่นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ จะถูกพรรคอนาคตใหม่ ฟ้องร้องหลังโพสต์เฟสบุ๊กมีเนื้อหาข่าวปลอม โดยมีภาพตัดต่อภาพนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้คนเข้าใจผิดว่าอาจเชื่อมโยงกับเหตุระเบิดกลางกรุงเทพฯ ว่า ส่วนตัวได้สอบถามจากนักการเมืองหรือ ส.ส. รวมถึงบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

“นางสาวปารีณา จะคลี่คลายเรื่องต่างๆ ในเฟซบุ๊กของตัวเอง เพราะมันมีการกล่าวอ้างเยอะแยะเหมือนกัน บางทีเขาก็ไม่ได้เขียนเอง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันต่อไป” 

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า วันนี้เราจะต้องระวังเรื่องของเฟกนิวส์ หรือข่าวเท็จ เพราะหลายครั้งมีการโพสต์ข้อความโดยที่ไม่มีความเป็นจริง ซึ่งตนเข้าใจว่าเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล แต่ทุกคนต้องรับผิดชอบหากเกิดผลกระทบ ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีการสืบสวนสอบสวนตามกฎหมาย ทั้งนี้หากใช้เทคโนโลยีในเชิงสร้างสรรค์ก็จะเป็นประโยชน์มหาศาล เพราะโซเชียลมีเดียนั้นมีทั้งประโยชน์และโทษ

“หลายเรื่องโพสต์ออกมาในนามผมก็มี ลุงตู่บ้าง ประยุทธ์บ้าง เลอะเทอะไปหมด ทั้งที่ผมไม่ได้ตั้งมากมายขนาดนั้น เพราะเป็นเรื่องที่คณะทำงานเขาตั้งขึ้น” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ลั่นแก้ปมถวายสัตย์ฯเอง ยันทำครบถ้วนแล้ว

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายและตั้งกระทู้ถามกรณีการนำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนว่า สำหรับเรื่องถวายสัตย์ปฏิญาณนั้น กำลังพยายามแก้ไขปัญหาอยู่ แต่ยืนยันว่าได้ทำครบถ้วน ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็คงต้องว่ากันต่อไป

เมื่อถามว่า ที่กำลังหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น หาทางอย่างไร พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า “ก็กำลังหาทาง ไม่รู้จักคำว่าหาทางหรืออย่างไร เอาละ เรื่องนี้ผมจะทำของผมเอง”

เมื่อถามต่อว่าจะชี้แจงในสภาด้วยตัวเองหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ถ้าให้ชี้แจงในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ตนคงไปไม่ได้เพราะจะเดินทางลงพื้นที่ภาคใต้ เดี๋ยวคงรอไปก่อน เรื่องบางเรื่องก็ต้องฟังเหตุฟังผลกันบ้าง เพราะถ้าเอาทุกอย่างมาผูกกันหมดก็จะแก้ไขปัญหาไม่ได้ ขอให้ไว้ใจตน เชื่อว่าตนทำได้ และต้องทำให้ได้

มั่นใจคุมหนี้สาธารณะอยู่ ปี 63 ตั้งงบขาดดุลตามกรอบเดิม

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการอนุมัติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ว่า วันนี้ได้มีการเสนอให้ความเห็นชอบงบประมาณประจำปี 2563 ซึ่งยังตั้งอยู่ในกรอบวงเงินเดิมคือ 3.2 ล้านล้านบาท และยังคงตั้งงบประมาณในลักษณะงบประมาณขาดดุลไว้เช่นเดิม

“ไม่ใช่ว่าจะเอาขาดดุลทุกปีๆ มารวมกัน แล้วไปสรุปท้ายสุดว่าเราเป็นหนี้อยู่เท่านี้ จะต้องมาหารแบ่งกันเท่านี้ ใช้หนี้กันกี่ปี คงไม่ใช่หรอก มันต้องเป็นการบริหารในภาพรวม มีการใช้หนี้สาธารณะ มีการใช้หนี้ระยะสั้น ระยะยาว มีการชำระดอกเบี้ย มีการชำระเงินต้น มันก็อยู่ในกรอบวงเงินงบประมาณในเรื่องการบริหารจัดการงบประมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชบัญญัติงบประมาณที่ออกไปเมื่อปีที่แล้ว คุมไว้ทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นหนี้สาธารณะ รวมถึงการตั้งเงินอยู่ในกลุ่มต่างๆ”

“ในส่วนของแต่ละกระทรวงก็ได้ให้แนวทางว่า จะตั้งงบประมาณไว้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจะมีกำหนดให้เพิ่มขึ้นได้กี่เปอร์เซ็นต์ก็ตาม ฉะนั้น ขออย่าไปดูเฉพาะโครงการ ต้องไปดูในเม็ดเงินรวมของแต่ละกระทรวงเขาได้เท่าไร เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร มันมีรายละเอียดอยู่ข้างในหลายเรื่องด้วยกัน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ปฏิเสธข้อกล่าวหารัฐบาลส่งคนทำร้าย “ปวิน”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ผู้ต้องหาคดี 112 ถูกทำร้ายที่เกียวโต โดยกล่าวหาว่ารัฐบาลส่งคนไปทำ ว่า เรื่องคุณปวิน ตนก็เห็นใจเขา แต่เขาถูกทำร้ายที่ญี่ปุ่น รัฐบาลหรือจะกล้าส่งคนไปทำ กฎหมายบ้านเขาเป็นอย่างไร รัฐบาลคงไม่กล้าทำเช่นนั้น โดยยืนยันว่าไม่ใช่แค่ “คงไม่ทำ” แต่ “ไม่ทำอยู่แล้ว”

“แต่ละประเทศเขาจะมีสัญญากันว่า จะพยายามแก้ปัญหาไม่ให้คนที่ทำร้ายประเทศเพื่อนบ้านมาอยู่ในประเทศตนเอง ก็เป็นกติกาสำคัญ ทางไทยเองก็ดูไม่ให้คนที่เคลื่อนไหวในเชิงต่อต้านรัฐบาลเข้ามาอยู่ในประเทศไทย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

กำชับตั้งบอร์ด รสก. เน้นคนดี – คุณสมบัติถูกต้องตาม กม.

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.ได้แต่งตั้งข้าราชการการเมือง เช่น เลขานุการรัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรี ที่ปรึกษาบางกระทรวง ซึ่งจะทยอยแต่งตั้งเข้ามาเรื่อยๆ ก็ขอให้มีการตรวจสอบความถูกต้องในเรื่องกฎหมาย และเรื่องเกี่ยวกับบัญชีทรัพย์สินต่างๆ ที่เราห่วงกังวลกัน

ส่วนการแต่งตั้งรัฐวิสาหกิจต่างๆ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า จะมีคณะกรรมการอยู่ 2-3 คณะ ซึ่งตนได้ชี้แจงใน ครม.ไปแล้วว่า การจะปรับเปลี่ยนอะไรต่างๆ จำเป็นต้องเป็นไปตามกฎหมาย เพราะมีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้เกิดความเชื่อมั่น ไว้วางใจ มีคณะกรรมการกลั่นกรองทั้งหมด ซึ่งรัฐวิสาหกิจไทยมีกว่า 50 แห่ง บางแห่งก็มีผลกำไรอยู่แล้ว ทำอย่างไรจะมากขึ้น ทำอย่างไรจะโปร่งใส ในส่วนที่ขาดทุนก็ต้องยอมรับว่าหลายอย่างมาจากเรื่องของรัฐสวัสดิการด้วย ก็ต้องมาดูว่าทำอย่างไรจะมีผลกำไรมากขึ้น

“ปัญหาอยู่ที่หนี้สะสม ที่กองอยู่เยอะมาก ซึ่งรัฐบาลนี้ก็พยายามที่จะลดลงไปเรื่อยๆ จะลดซะทีเดียวก็ลำบาก เพราะบางแห่งก็หลายหมื่นล้าน บางแห่งก็เป็นแสนล้าน ซึ่งเป็นมาหลายรัฐบาลมาแล้ว ก็ต้องแก้กันต่อไป โทษใครไม่ได้ จะทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับประโยชน์สุงสุด” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ได้ฝากให้ประชาชนมีหตุมีผลในการจะพิจารณา หรือการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ขอให้มีข้อเท็จจริงไปประกอบบ้าง เพราะหากใช้จะความรู้สึกในการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเดียวนั้นไม่ได้ เพราะการทำงานซึ่งในที่ประชุม ครม.วันนี้ ตนก็ได้ย้ำ ครม.ทุกคนให้ปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการเตือนให้ระมัดระวังทุกอย่างในการทำงานทั้งหมด ซึ่งตนก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีจาก ครม.ทุกคนที่มาจากหลายพรรคการเมือง วันนี้ก็ทำความเข้าใจกันไปเรื่อยๆ กติกาต่างๆ ก็มากขึ้นเรื่อยๆ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ตอนนี้งานต่างๆ ก็ได้มีการแบ่งมอบไปแล้วว่าใครรับผิดชอบคณะกรรมการคณะไหน ซึ่งมีเป็นร้อยๆ คณะ ทั้งตนเอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีก็แบ่งกันไป รวมไปถึงพื้นที่ส่วนราชการก็กำหนดแล้ว เรื่องกติกาการแต่งตั้งรัฐวิสาหกิจก็มีการชี้แจงไปแล้ว

ด้าน ศ. ดร.นฤมล กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากในช่วงนี้เป็นช่วงครบวาระดำรงตำแหน่งที่คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งเริ่มทยอยลาออก จึงต้องมีการชี้แจงต่อที่ประชุม ครม.ทราบ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำและฝากรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องพิจารณาแต่งตั้งบุคคลที่เหมาะสมทั้งด้านคุณสมบัติและกฎหมาย เนื่องจากในการแต่งตั้งคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 3 ฉบับ เช่น กฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติที่ควรเป็น กฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติต้องห้าม และกฎหมายรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง

เตรียมลงพื้นที่ตรวจราชการ “ยะลา” 7 ส.ค.นี้

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการลงพื้นที่ตรวจราชการที่จังหวัดยะลาในวันที่ 7 สิงหาคม 2562 ว่า ตนรู้สึกดีใจที่จะได้ลงพื้นที่ในวันพรุ่งนี้ที่ จ.ยะลาซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญที่ชาวบ้านวิตกกังวลในเรื่องของวันฮารีรายอ วันที่ 11 สิงหาคม 2562

“เราก็เข้มงวดอยู่ตลอดเวลา แต่ช่วงวันดังกล่าวก็จะต้องเข้มงวดมากขึ้นจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ฉะนั้นทุกคนต้องช่วยกันทำให้ปลอดภัย เราทะเลาะ ขัดแย้งต่อไปไม่ได้อีกแล้ว และเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่ต้องยอมรับว่าดีขึ้นมาก เพราะประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตา ถือเป็นการป้องปรามอีกทางหนึ่ง”

“รัฐบาลก็ต้องแก้ปัญหาในทุกมิติ ในเรื่องของการพูดคุยสันติสุขก็เดินหน้าต่อไป เรื่องขอความร่วมมือกับองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) และขอความร่วมมือกับประเทศมุสลิมให้เข้าใจการแก้ปัญหาของประเทศไทย ซึ่งทุกคนก็เข้าใจไปในทางที่ดี และประเทศมหาอำนาจก็ยอมรับวิธีการแก้ปัญหาของเราหมด ซึ่งอาจจะไม่เหมือนกับประเทศอื่นบนโลกใบนี้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ทั้งนี้ในวันที่ 7 สิงหาคม 2562 นายกรัฐมนตรี จะเดินทางถึงอาคารศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ในเวลา 09.45 น. โดยมีกำหนดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมมอบนโยบายและสั่งการต่อที่ประชุมเพื่อประสานแนวทางการปฏิบัติต่อไป

ภายหลังประชุมฯ นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานเปิดและเยี่ยมชมศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นทางการ พร้อมมอบเงินอุดหนุนช่วยเหลือและหนังสือเอกสารสำคัญแก่ผู้แทนประชาชน โดยจะมอบเงินค่าตอบแทนการทำงานของผู้นำศาสนาในพื้นที่ 5 จังหวัด ให้กับประธานกรรมการอิสลาม เงินช่วยเหลือเยียวยาให้กับผู้แทนของกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 5 ราย มอบบัตรส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ จำนวน 1 บริษัท และหนังสือขอบคุณภาคเอกชนที่มีการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งมอบหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กับผู้นำศาสนาและผู้แทนประชาชนของ จ.ยะลาและ จ.ปัตตานี รวมทั้งจะพบปะประชาชนในพื้นที่

จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปสักการะศาลหลักเมือง จ.ยะลา และตรวจเยี่ยม โครงการทุเรียนคุณภาพที่บริเวณตลาดกลางยางพารายะลา ต.สะเตง ก่อนเดินทางกลับ

ย้ำจัดรายการนายกฯพบ ปชช.เป็นครั้งคราว – ขอพูดเท่าที่จำเป็น

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีแนวคิดที่เสนอให้จัดรายการนายกฯ พบประชาชนเหมือนที่ผ่านมาว่า รายการอะไร ไม่มี ยังไม่มี ต่อจากนี้จะไม่มีการจัดรายการแบบ 5 ปีที่ผ่านมา ถ้าจะมีก็คือการจัดรายการแบบเป็นครั้งเป็นคราว

เมื่อถามว่าถือเป็นข่าวดีของประชาชนหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า พูดก็เหนื่อยพอแล้ว แต่คนที่เขาฟังก็มี ไม่ใช่ว่ามีแต่คนไม่ฟัง ที่พูดมาก็ด้วยความปรารถนาดี และอยากให้ทุกคนย้อนกลับไปดูว่าที่พูดมาทั้งหมด 5 ปีนั้นได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง แต่บางครั้งนายกฯ ก็พูดยาว พูดไว ทำให้คนตามไม่ทัน แล้วมาบอกว่านายกฯ พูดไม่รู้เรื่อง แต่จากนี้จะเป็นการจัดรายการเป็นครั้งเป็นคราว เท่าที่จำเป็น จะไม่พูดออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ถ้าไม่จำเป็น

มติ ครม.มีดังนี้

ศ.ดร.นฤมล โญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

เห็นชอบงบฯปี 63 วงเงิน 3.2 ล้านล้าน ขาดดุล 4.69 แสนล้าน

ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 3,200,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ 2562 ที่กำหนดไว้ 3,000,000 ล้านบาท เป็นจำนวน 200,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 และเป็นนโยบายงบประมาณขาดดุลสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ 2563 จำนวน 469,000 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. รายจ่ายประจำ จำนวน 2,393,120.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 120,463.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 74.7 ของวงเงินงบประมาณรวม ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 75.8
  2. รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 62,709.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ซึ่งไม่มีการเสนอตั้งงบประมาณ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 100 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.0 ของวงเงินงบประมาณรวม
  3. รายจ่ายลงทุน จำนวน 655,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 5,861.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.5 ของวงเงินงบประมาณรวม ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 21.6
  4. รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 89,170.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 10,964.9 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.8 ของวงเงินงบประมาณรวม เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 2.6

ทั้งนี้ การจัดทำงบประมาณดังกล่าวตั้งอย่บนสมมติฐานที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.0-4.0 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออกที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและระบบการค้าโลกที่คาดว่าจะสามารถปรับตัวต่อมาตรการกีดกันทางการค้าได้มากขึ้น รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวตามการเร่งเบิกจ่ายภายใต้โครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่มีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในช่วงปี 2563-2564 และการลงทุนภาคเอกชนที่มีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการย้ายฐานการผลิตระหว่างประเทศ

ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐและภาคครัวเรือนขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่อง สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ คาดว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงร้อยละ 0.8-1.8 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณร้อยละ 5.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

ด้านประมาณการรายได้รัฐบาล ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 คาดว่ารัฐบาลจะจัดเก็บรายได้รวมจำนวน 3,237,500 ล้านบาท เมื่อหักการคืนภาษีของกรมสรรพากร อากรถอนคืนกรมศุลกากร การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด การกันเงินเพื่อชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก และการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คงเหลือรายได้สุทธิ จำนวน 2,731,000 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการรายได้สุทธิปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ตามเอกสารงบประมาณที่กำหนดไว้ จำนวน 2,550,000 ล้านบาท เป็นจำนวน 181,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.1

“ส่วนความกังวลว่ารัฐบาลจะมีภาระหนี้มากขึ้นต้องเรียนว่าปัจจุบันหนี้สาธารณะต่อจีดีพียังอยู่ที่ 42% และยังอยู่ในกรอบเพดานที่ 60% นอกจากนี้ การกู้ขาดดุลเป็นเพียงแหล่งรายได้หนึ่งของรัฐบาล เรายังมีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน การร่วมทุนภาครัฐและเอกชนหรือพีพีพี ที่จะใช้เป็นแหล่งเงินทุนในการลงทุนของรัฐ ครม.ก็ติดตามเรื่องอย่างใกล้ชิดให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างเกิดประโยชน์ทั่วถึงที่สุด โดยสำนักงบประมาณได้เสนอแผนบูรณาการงบประมาณจากเดิมที่จะให้งบแยกเป็นกระทรวงๆ ก็จะนำโครงการที่เกี่ยวข้องกันหลายกระทรวงมาบูรณาการงบกันโดยมีรองนายกรัฐมนตรีแต่ละท่านดูแล”

“ส่วนเรื่องความล่าช้าของงบที่อาจจะเสร็จในปีหน้า ครม.ได้ให้ไปศึกษาดูว่าจะสามารถจัดสรรเงินจากแหล่งอื่นได้หรือไม่ เช่น จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่อาจจะมีระเบียบอะไรคุมอยู่ก็ให้ไปดูว่าจะปลอดล็อกอย่างไร หรือส่วนของงบที่ยังตั้งผูกพันไม่ได้ทันต้องหาแนวทางนำกลับมาใช้งานกับนโยบายอื่นๆ ก่อน” ศ. ดร.นฤมล กล่าว

ศ. ดร.นฤมล กล่าวต่อไปถึง ปัญหาเศรษฐกิจโลก ว่า ครม.ได้ให้สภาพัฒน์ติดตามอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามการค้า โดยล่าสุด พล.อ. ประยุทธ์ ได้พูดคุยกับ Mike Pompeo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ก็หารือไปว่าทางไทยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าค่อนข้างมากให้สหรัฐอเมริกาช่วยหาทางออกด้วย แต่ขณะเดียวกันสงครามการค้าก็มีข้อดีที่ไทยอาจจะได้ประโยชน์ เช่น การย้ายฐานการผลิตต่างๆ เข้ามาเพิ่มเติม

มอบรองนายกฯ จัดสรรงบประมาณตามยุทธศาสตร์

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 24 แผนงาน สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างเรียบร้อยจึงปรับโครงสร้างของคณะกรรมการใหม่ตามความรับผิดชอบของรองนายกรัฐมนตรีแต่ละคน ได้แก่

คณะที่ 1 พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานกรรมการ กำกับดูแล จำนวน 7 เรื่อง ดังนี้

1) การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
2) การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และการจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม
3) การจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์
4) การบริหารจัดการทรัพยากร
5) การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล
6) การส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
7) การส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ

คณะที่ 2 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานกรรมการ กำกับดูแล จำนวน 5 เรื่อง ดังนี้

1) การวิจัยและนวัตกรรม
2) การพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ
3) การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ
4) การขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
5) การพัฒนาผู้ประกอบการ เศรษฐกิจชุมชน และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล

คณะที่ 3 นายวิษณุ เครืองาม ประธานกรรมการ กำกับดูแล จำนวน 5 เรื่อง ดังนี้

1) การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชนของหน่วยงานภาครัฐ
2) การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ
3) การป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด
4) การปฏิรูปกฎหมายและพัฒนากระบวนการยุติธรรม
5) การยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ให้มีคุณภาพ เท่าเทียมและทั่วถึง

คณะที่ 4 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานกรรมการ กำกับดูแล จำนวน 3 เรื่อง ดังนี้

1) การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต
2) การสร้างความเสมอภาคเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ
3) การพัฒนาศักยภาพการผลิตภาคการเกษตร

คณะที่ 5 นายอนุทิน ชาญวีรกูล ประธานกรรมการ กำกับดูแล จำนวน 3 เรื่อง ดังนี้

1) การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว กีฬา และวัฒนธรรม
2) การพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์
3) การพัฒนาระบบประกันสุขภาพ

“นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าไม่ได้มีเจตนาสร้างอุปสรรคในการทำงานให้แก่ ครม.ขอให้เข้าใจว่า รัฐบาลพยายามขับเคลื่อนแผนงานร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนสูงสุด” ศ. ดร.นฤมล กล่าว

แบ่งงาน “รองนายกฯ” กำกับดูแลกรรมการ 195 คณะ

รายงานข่าวจากสำนักโฆษก สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ครม.รับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 166/2562 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี จำนวน 47 คณะ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่างๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 167/2562 เรื่อง มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่างๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 148 คณะ

(คลิกดูรายละเอียดคำสั่งแบ่งงานนายก – รองนายก ฯเพิ่มเติม)

นอกจากนี้ ครม.มีมติเห็นชอบแต่ตั้งข้าราชการการเมือง 27 ตำแหน่ง เช่น นายอนุรุทธิ์ นาคาศัย ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, พล.อ.อ. ธนู ปานสุวรรณ ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณรองนายกรัฐมนตรี, นายสุรชัย ภู่ประเสริฐ ให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ประจำนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, พลตำรวจโท พิจาร จิตติรัตน์ ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, นายพลพีร์ สุวรรณฉวี ให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ประจำนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี, นางใยอนงค์ ทิมสุวรรณ ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และนายณัฏฐชัย ศรีรุ่งสุขพินิจ ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการพลเรือนสามัญระดับสูงอีกกว่า 30 ตำแหน่ง

ทั้งนี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมตรี ได้กำชับแก่ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมืองในวันนี้ว่า จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินแก่คณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภายใน 30 วัน ซึ่งจะมีการนัดแนะข้อควรระวัง และข้อควรปฏิบัติกันต่อไปอีกครั้ง

เร่งเคลียร์กฎหมายค้างท่อ 48 ฉบับ

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม.มีมติ เห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการร่างพระราชกฤษฎีกาที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว รวม 48 ฉบับ ตัวอย่างเช่นหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ การกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน การลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร การจัดตั้งสถาบัน (องค์การมหาชน) การอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ การเพิกถอนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า การโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ โดยให้รัฐมนตรีหรือหัวหน้าหน่วยงานของรัฐเจ้าของเรื่องพิจารณายืนยันร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวไปยัง สลค. แล้วให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป

ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติและร่างอนุบัญญัติ (ร่างพระราชกฤษฎีกา ร่างกฎกระทรวง ร่างระเบียบ และร่างประกาศ) ที่คณะรัฐมนตรีชุดก่อนได้มีมติอนุมัติหลักการและอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของ สคก.ให้ สคก.ตรวจพิจารณาร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติดังกล่าวต่อไป และเมื่อตรวจพิจารณาเสร็จแล้วให้ สลค.แจ้งหน่วยงานของรัฐเจ้าของเรื่อง เพื่อยืนยันก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 6 สิงหาคม 2562เพิ่มเติม