ThaiPublica > คอลัมน์ > The Science of ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง

The Science of ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง

24 กันยายน 2019


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี www.powdthavee.co.uk

เคยสงสัยกันไหมครับว่าทำไม “คนดี มีศีลธรรม” หลายคนในสังคมของเราถึงมีพฤติกรรมที่ผิดศีลธรรมกัน ทำไมคนดีถึงโกหก ทำไมคนดีถึงกล้าหลอกลวงคนอื่น ทำไมคนดีถึงฆ่าฟันแก่งแย่งชิงดีกัน ทำไมคนดีถึงไม่มีความยุติธรรม

ทำไมคนที่ให้ความสำคัญกับการเป็น “คนดี” หลายคนถึงมีพฤติกรรมที่ดูเหมือนกับว่าเขาไม่แคร์กับการเป็นคนดีเลย มันเป็นไปได้ยังไงกัน

ถ้าพูดกันตามหลักการทางด้านจิตวิทยานั้น การที่คนเรามีพฤติกรรมคล้ายๆกันกับวลีโบราณที่ว่า “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกกันว่า moral hypocrisy นั้นมักจะมาจากสองเหตุผลใหญ่ๆ ซึ่งก็คือ

    1. การตกหล่นของการเรียนรู้ในเรื่องของหลักการของการเป็นคนดี (learning deficit): พูดง่ายๆก็คือ คนที่คิดว่าตัวเองเป็น “คนดี” อาจจะถูกสอนหลักการของการเป็นคนดีที่ไม่ถูกต้องนัก — ยกตัวอย่างการสอนเด็กไทยสมัยโบราณให้ “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” ซึ่งอาจจะทำให้เด็กโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่เห็นแก่ตัวไว้ก่อน และ

    2. การถูกแรงกดดันจากสังคม (social pressure): พูดง่ายๆก็คือคนดีส่วนใหญ่ไม่ได้อยากจะทำอะไรที่ขัดกันกับหลักการของการเป็นคนดีนักหรอก แต่ที่เขาจำเป็นต้องทำนั้นมันเป็นเพราะว่าเขาถูกแรงกดดันจากสังคมให้ทำ หรือถูกแรงกดดันจากคนที่มีอำนาจเหนือกว่าตัวเอง

แต่ถ้าเราดูตามผลการวิจัยสมัยใหม่ในหัวข้อนี้ล่ะก็ เราก็จะพบว่าคำอธิบายทั้งสองข้างบนไม่สามารถอธิบายพฤติกรรม moral hypocrisy ได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าคำอธิบายที่ดีที่สุดว่าทำไมคนดีถึงมีพฤติกรรมที่ขัดกับการเป็นคนดีก็คือ ความเห็นแก่ตัว หรือ self-interest นั่นเอง

ยกตัวอย่างงานวิจัยของ Daniel Batson และ Elizabeth R. Thompson นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Kansas

ในการทดลองของเขาทั้งสองนั้น พวกเขาได้ให้อาสาสมัครที่เข้ามาในห้องแลปเลือกงานให้ตัวเองและคนอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้ ทำกัน โดยตัวเลือกแรกเป็นงานที่ดูสนุกมากๆและมีผลตอบแทนค่อนข้างสูง ส่วนตัวเลือกที่สองเป็นงานที่ดูไม่ค่อยน่าสนุกเท่าไหร่ แถมไม่มีผลตอบแทนให้ด้วย

แต่ก่อนที่อาสาสมัครจะทำการเลือกงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งให้กับตัวเอง และเหลืองานอีกชิ้นหนึ่งให้อีกคนทำนั้น บนโต๊ะของเขามีเหรียญวางอยู่ และข้างๆเหรียญนั้นมีคำแนะนำที่ถูกเขียนเอาไว้ว่า “เพื่อความแฟร์ คนส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้การทอยเหรียญเอา และให้เหรียญเป็นตัวเลือกว่าใครจะได้ทำงานอะไร”

พอพวกเขาถูกถามว่า พวกเขาเห็นด้วยกับคำแนะนำไหมว่าการทอยเหรียญเป็นวิธีที่แฟร์ที่สุด เกือบทุกคนให้คำตอบเหมือนๆกันว่า “เห็นด้วย”

แต่พอถึงเวลาต้องตัดสินใจจริงๆ เพียงแค่ 50% ของอาสาสมัครเท่านั้นที่เลือกการทอยเหรียญเป็นเครื่องช่วยในการ assign งานให้กับตัวเองและอีกคนหนึ่ง และส่วนใหญ่เลือกงานที่สนุกให้ตัวเองทำกัน

แต่เท่านั้นไม่พอ เกือบ 90% ของคนที่ทอยเหรียญ — ซึ่งหน้าหนึ่งของเหรียญมีสติกเกอร์ติดเอาไว้ว่า “ตัวเอง” และ “อีกคนหนึ่ง” — กลับได้ทำงานที่สนุกมากกว่างานที่น่าเบื่อ

เอ็ะ มันเป็นไปได้ยังไง ทำไมมันไม่ใช่ 50-50 สำหรับคนที่ทอยเหรียญล่ะ

ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าสำหรับคนที่ทอยเหรียญ ถ้าเขาทอยได้ “ตัวเอง” เขาก็จะบอกกับตัวเองว่านั่นเป็นการ assignment ของงานที่สนุก แต่ถ้าเขาทอยได้ “อีกคนหนึ่ง” ล่ะก็ เขาก็จะบอกกับตัวเองว่านั่นเป็นการ assignment ของงานที่น่าเบื่อ

สรุปก็คือ คนที่อยากให้คนอื่นเห็นว่าตัวเองเป็นคนดี เป็นคนแฟร์ โดยพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่าเขาเลือกการทอยเหรียญนะ เขาไม่ได้เลือกเองนะ แท้ที่จริงแล้วพวกเขาก็เห็นแก่ตัวพอๆกันกับคนที่ไม่ได้เลือกการใช้เหรียญเลย

บทเรียนสำคัญจากผลงานวิจัยนี้ก็คือ “คนเราส่วนใหญ่อยากจะให้คนอื่น รวมถึงตัวเอง มองตัวเราเองว่าเราเป็นคนดี … จนกระทั่งเราตกอยู่ในสถานการณ์ที่เราสามารถจะได้ผลประโยชน์จากการทำไม่ดี”

ยิ่งไปกว่านั้น ผลการวิจัยในสายนี้ยังพบอีกว่า

  • คนเรามักจะมองตัวเองว่าตัวเองเป็นคนดีกว่าคนอื่น
  • แต่คนเรามักจะมองคนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มของตัวเอง (out-group) ว่าแย่กว่าตัวเองและคนในกลุ่มตัวเอง (in-group) เยอะ (พูดง่ายๆก็คือคนเรามักจะมองพฤติกรรมที่ไม่ดีว่าโอเค ถ้ามันเป็นพฤติกรรมของคนในกลุ่มตัวเอง แต่กลับมองพฤติกรรมเดียวกันว่าเป็นพฤติกรรมที่ชั่วร้ายมหาศาลถ้ามันเป็นพฤติกรรมของคนที่อยู่นอกกลุ่มของกลุ่มตัวเอง)
  • คนเราส่วนใหญ่เกลียดคนที่ประณามพฤติกรรมที่ไม่ดีแต่กลับเป็นพฤติกรรมที่ตัวเองกลับทำเสียเอง (ผู้ปากว่าตาขยิบ หรือ hypocrite) มากกว่าคนที่ทำผิดแต่โกหกว่าไม่ได้ทำ (คนชอบโกหก หรือ liars)

มันยังไม่สายนะครับที่เราจะเริ่มเป็น role model ที่ดีให้กับเยาวชนของเรา

อ่านเพิ่มเติม

Batson, C. D., & Thompson, E. R. (2001). Why don’t moral people act morally? Motivational considerations. Current directions in psychological science, 10(2), 54-57.

Jordan, J. J., Sommers, R., Bloom, P., & Rand, D. G. (2017). Why do we hate hypocrites? Evidence for a theory of false signaling. Psychological science, 28(3), 356-368.