ThaiPublica > คอลัมน์ > ลักษณะมุ่งอนาคต ควบคุมตน: Locus of Control

ลักษณะมุ่งอนาคต ควบคุมตน: Locus of Control

17 มิถุนายน 2017


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี www.powdthavee.co.uk

เมื่อประมาณสามปีที่เเล้ว ดร.หวาน เนื้อเเพร เล็กเฟื่องฟู (Warn Nuarpear Lekfuangfu) อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ซึ่งตอนนั้นเธอยังเป็นนักเรียนปริญาเอกที่ University College London อยู่) ได้เเนะนำให้ผมรู้จักกับตัวเเปรของพฤติกรรมของคนตัวหนึ่งที่มีชื่อว่า Locus of Control (LOC) หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “ลักษณะมุ่งอนาคต ควบคุมตน”

LOC คืออะไร

LOC เป็นทัศนคติที่เรามีต่อความสามารถของตัวเราเองในการควบคุมหรือเปลี่ยนเเปลงอนาคตของตัวเราเเละคนรอบข้าง ในการทำให้ LOC เข้าใจง่ายขึ้น เราสามารถวัด LOC ออกมาเป็น scale จากน้อยไปหามากได้ โดยคนที่มี LOC น้อย (เราเรียกคนพวกนี้ว่ามี external locus of control) มักจะคิดว่าทุกๆ อย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขาเเละคนรอบข้างนั้นเกิดขึ้นเพราะ “โชคชะตา” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีๆ (เกิดขึ้นเพราะโชคดี) หรือจะเป็นเรื่องร้ายๆ (เกิดขึ้นเพราะโชคร้าย) ก็ตาม

ส่วนคนที่มี LOC สูง (เราเรียกคนพวกนี้ว่ามี internal locus of control) มักจะคิดว่าทุกๆ อย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขาเเละคนรอบข้างเกิดขึ้นเพราะ “การกระทำ” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีๆ หรือเรื่องร้ายๆ ก็ล้วนเเล้วเเต่มาจากการกระทำของเขาทั้งนั้น

ทำไม LOC ถึงสำคัญ

LOC เป็นสิ่งที่สำคัญก็เพราะว่าคนที่มี external LOC เเละคนที่มี internal LOC นั้นมักจะมีทัศนคติเเละพฤติกรรมที่เเตกต่างกันเวลาที่พวกเขาประสบพบเจอประสบการณ์ชีวิตที่เหมือนๆ กัน ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการเรียน สมมติว่ามีเด็กอยู่สองคน เด็กสองคนนี้มีความสามารถ (ability) ที่เหมือนกัน เเต่คนหนึ่งมี internal LOC ส่วนอีกคนหนึ่งมี external LOC

คนที่มี internal LOC จะบอกกับตัวเองว่า “คนเราสามารถเปลี่ยนอนาคตของตัวเองได้ถ้าเรามีความพยายาม” ส่วนคนที่มี external LOC จะบอกกับตัวเองว่า “คนเราไม่สามารถเปลี่ยนอนาคตตัวเองได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะโชคมากกว่า” เพราะฉะนั้น คนที่มี internal LOC ก็จะพยายามมากกว่าคนที่มี external LOC ในการศึกษาอ่านเขียนเรียนหนังสือ เเละเหตุผลที่คนที่มี internal LOC พยายามมากกว่าคนที่มี external LOC โอกาสที่เขาจะมีผลการเรียนที่ดีกว่าก็จะสูงตามๆ กันไปด้วย (ถึงเเม้ว่าเด็กสองคนนี้จะมีความสามารถที่เท่าๆ กันก็ตาม)

ผลการวิจัยในเศรษฐศาสตร์หลายๆ ชิ้นพบว่า คนที่มี internal LOC นั้นมักจะขยันหางานเวลาที่ตกงานมากกว่าคนที่มี external LOC เยอะ (เพราะพวกเขาเชื่อว่ายิ่งขยันหายิ่งเพิ่มโอกาสในการมีงานใหม่ทำต่อ) เเถมคนที่มี internal LOC ยังออกกำลังกายมากกว่า ทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากกว่า เเละเวลาที่พวกเขาพบเจอในสิ่งที่เลวร้ายในชีวิต พวกเขาก็ยังปรับตัวเร็วกว่าคนที่มี external LOC ทั่วไปอีกด้วย

เเละผมเเละ ดร.หวาน เเละเพื่อนร่วมงานของเราอีกสองคนยังพบอีกว่า คุณเเม่ๆ ที่มี internal LOC มากมักจะใช้เวลาในการอ่านหนังสือให้ลูกฟังนานกว่า สอนหนังสือให้กับลูกมากกว่าคุณเเม่ๆ ที่มี external LOC (ถึงเเม้ว่าคุณเเม่ๆ เหล่านี้จะมีการศึกษาที่พอๆ กันก็ตาม) ซึ่งก็ช่วยส่งผลให้ลูกๆ ของคุณเเม่ๆ ที่มี internal LOC เรียนดีกว่าลูกของคุณเเม่ๆ ที่มี external LOC ด้วย

อะไรเป็นตัวเเปรของ LOC

ก่อนอื่นผมต้องบอกก่อนเลยว่าค่าของ LOC ไม่ค่อยจะเปลี่ยนตามกาลเวลาสักเท่าไหร่ (คือถ้าคุณเป็นคนที่มี internal LOC มาก คุณก็จะเป็นอย่างนั้นเกือบทั้งชีวิต) เเต่ค่าของ LOC สามารถปรับตัวขึ้นลงได้มากที่สุดตอนที่เรายังเป็นเด็กอยู่ (ก่อนเราจะอายุ 12-15) ซึ่งหมายความว่าเราสามารถปลูกฝังการมี internal LOC ในขณะที่ลูกหลานของเรายังเป็นเด็กอยู่ได้

เเละผมเชื่อว่าการปลูกฝังการมี internal LOC ที่ดีที่สุดก็คือการให้เด็กเขารู้ว่าทุกๆ อย่างที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของเขาไม่ได้ขึ้นอยู่กับโชคชะตา หรือคนที่มีอำนาจที่อยู่นอกเหนือความควบคุมของเขาเพียงเเค่อย่างเดียว เเละพวกเขาสามารถเปลี่ยนอนาคตของพวกเขาได้เพียงเเค่เขาพยายาม

พูดง่ายๆ ก็คือ การให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเองว่าอนาคตเป็นสิ่งที่เปลี่ยนเเปลงได้ เเละเป็นสิ่งที่อยู่ในกำมือของตัวเขาเอง (the future is not set in stone)

สำหรับคนที่อยากลองวัด LOC ของตัวเอง ลองทำได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม

สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์

Buddelmeyer, H. and Powdthavee, N., 2016. Can having internal locus of control insure against negative shocks? Psychological evidence from panel data. Journal of Economic Behavior & Organization, 122, pp.88-109.

Caliendo, M., Cobb-Clark, D.A. and Uhlendorff, A., 2015. Locus of control and job search strategies. Review of Economics and Statistics, 97(1), pp.88-103.

Cobb-Clark, D.A., Kassenboehmer, S.C. and Schurer, S., 2014. Healthy habits: The connection between diet, exercise, and locus of control. Journal of Economic Behavior & Organization, 98, pp.1-28.

Cobb‐Clark, D.A. and Schurer, S., 2013. Two economists’ musings on the stability of locus of control. The Economic Journal, 123(570), pp.F358-F400.

Lekfuangfu, W.N., Powdthavee, N., Warrinnier, N. and Cornaglia, F., 2016. Locus of control and its intergenerational implications for early childhood skill formation. The Economic Journal, forthcoming

Suntawong, K. and Panyapa, R., 2017. The Development of Youths’ Self-Esteem through the Implementation of Sammadhitti. Journal of MCU Peace Studies (JMPS), 4(2), pp.74-88.