ThaiPublica > คอลัมน์ > ทำไมโซเชียลมีเดียจึงเป็นศัตรูของความสามารถในการยอมรับการคิดต่างของคนอื่นในสังคมของเรา

ทำไมโซเชียลมีเดียจึงเป็นศัตรูของความสามารถในการยอมรับการคิดต่างของคนอื่นในสังคมของเรา

16 กันยายน 2020


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี www.powdthavee.co.uk

เมื่อสองวันที่แล้วผมได้นั่งดูหนังสารคดีที่มีชื่อว่า The Social Dilemma ที่ออกฉายทาง Netflix แล้วมีหลายจุดที่ชอบ (ถ้าใครยังไม่ได้ดูแล้วไม่อยากถูกสปอยล์ก็ไปดูหนังก่อนแล้วค่อยมาอ่านนะครับ) แต่จุดที่ผมชอบที่สุดในหนังก็คือธีมที่เกี่ยวกับพฤติกรรมศาสตร์และอคติทางด้านความคิดของคน โดยเฉพาะอคติที่มีชื่อว่า confirmation bias

สำหรับใครยังไม่รู้จักว่า confirmation bias คืออะไรล่ะก็ confirmation bias ก็คือการที่คนเราส่วนใหญ่มักจะแสวงหาแต่ข้อมูลที่รองรับความเชื่อที่เรามีอยู่แล้วตั้งแต่ต้นเท่านั้น ส่วนข้อมูลที่ขัดกันกับความเชื่อที่เรามีอยู่แล้ว เรามักเลือกที่จะไม่อ่านมัน ไม่รับมัน เพราะการรับข้อมูลที่ขัดกันกับความเชื่อที่เรามีอยู่มักจะก่อให้เกิด cognitive dissonance หรือความรู้สึกไม่สบายใจจากการมีข้อมูลที่ขัดกันในหัวของเรา (ยกตัวอย่างเช่น คนที่ติดบุหรี่มักจะไม่อยากได้ยินคนอื่นมาบอกเขาว่าการสูบบุหรี่มันไม่ดีต่อสุขภาพ คนที่ติดบุหรี่มักจะชอบเสพข้อมูลอื่นๆ ที่ทำให้เขาสบายใจ เช่น ข้อมูลที่ว่ามีคนสูบบุหรี่ที่มีชีวิตอยู่เกือบถึงร้อยปี อะไรแบบนี้)

confirmation bias เป็นอะไรที่เกิดขึ้นกับคนเราเกือบทุกคนตั้งแต่ก่อนที่จะโลกเราจะมีโซเชียลเดียเสียอีก แต่ว่าในโลกก่อนที่จะมีโซเชียลมีเดียนั้น คนเราส่วนใหญ่ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงการรับรู้ข้อมูลที่ขัดกันกับความเชื่อที่เรามีได้เสมอ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าในสมัยก่อนนั้นเราไม่ได้มีแหล่งข่าวที่คัดเอาแต่ข้อมูลที่เราต้องการจะเสพเพื่อความสบายใจของเราเพียงแค่อย่างเดียว มันจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะไม่รับรู้ข้อมูลที่สามารถก่อให้เกิด cognitive dissonance (ความขัดแย้งกันในการรู้คิด) ในหัวของเราได้

แต่ด้วยกลไกหรืออัลกอริทึมของโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook หรือ Twitter ทำให้เราได้สัมผัสกับความคิดเห็นของคนอื่นที่ตรงกันกับเราเพียงแค่อย่างเดียว มันทำให้เราเสพแต่ข่าวที่รองรับความเชื่อและความรู้สึกที่เรามีอยู่ตั้งแต่ต้นแล้ว ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่ากลไกของโซเชียลมีเดียจะคัดเลือกในแต่ละสิ่งที่มันคิดว่าเราอยากจะเสพ อยากจะอ่าน มาให้เราเท่านั้น (เช่น ถ้าคุณคลิกดูวิดีโอแมวไปหนึ่งครั้ง คุณก็จะเห็นว่า Facebook มักจะนำวิดีโอแมวอื่นๆมาแนะนำให้คุณคลิกดูต่อไปเรื่อย … และนี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ผมมีดูวิดีโอหมาเกือบทุกๆ คืนก่อนนอน) ส่วนสิ่งที่เราไม่เคยคลิกเข้าไปอ่านหรือเข้าไปดู กลไกของโซเชียลมีเดียก็จะไม่นำมาให้เราเห็นอีก

Twitter ก็เช่นเดียวกัน คนเราส่วนใหญ่มักจะเลือกติดตามแต่คนที่คิดเหมือนกันกับเขาแทนคนที่คิดต่างกันกับเขา

มันจึงเป็นอะไรที่ไม่แปลกเลย ที่คุณแทบจะไม่เคยเห็นโพสต์ของคนที่คิดต่างจากคุณใน Facebook News Feed มันจึงเป็นอะไรที่ไม่แปลกเลย ที่คุณคิดว่าคนส่วนใหญ่คิดเหมือนกันกับคุณ

มันจึงเป็นอะไรที่ไม่แปลกเลย ที่คุณจะคิดว่าคนที่คิดต่างจากคุณนั้นเป็นคนโง่ และที่คุณคิดว่าเขาโง่ก็เพราะคุณคิดว่าพวกเขาเห็นข้อมูลเดียวกันกับที่คุณเห็นแต่เขาก็ยังไม่ตาสว่างสักที ทว่าในความเป็นจริงนั้น กลไกของโซเชียลมีเดียทำให้เขาไม่เห็นในข้อมูลที่คุณเห็น ส่วนตัวคุณเอง คุณก็ไม่เห็นในข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่เขาเห็นเช่นเดียวกัน

พูดง่ายๆก็คือ อัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียนั้นทำให้ confirmation bias ของเราทำงานเหมือนกับมันพึ่งจะกินกาแฟไปร้อยแก้ว

แล้วเราจะทำยังไงดี ทางออกทางหนึ่งคือเราอาจจะต้องลองคลิกไปอ่านในสิ่งที่เราไม่อยากจะอ่านบ้าง เลือกติดตามคนที่เราไม่เห็นด้วยบ้าง เลือกที่จะไปเข้ากลุ่มกับคนที่คิดต่างกับเราเยอะๆ บ้าง จะสามารถช่วยทำให้เราฝึกการเอาใจเขามาใส่ใจเรา (empathy) ได้ เพราะ empathy เท่านั้นที่จะสามารถช่วยคนเราทุกคนในสังคมได้

ผมขอทิ้งท้ายไว้ด้วยคำพูดที่ Daniel Patrick Moynihan นักการเมืองสหรัฐฯ เคยพูดเอาไว้ว่า

“You are entitled to your opinion. But you are not entitled to your own facts.”
คุณมีสิทธิ์ในการออกความคิดเห็นของคุณ แต่คุณไม่มีสิทธิ์ที่จะบอกว่าข้อมูลของคุณเป็นข้อมูลเดียวที่สำคัญ