ThaiPublica > คอลัมน์ > บทสรุปสำคัญๆ 20 ข้อของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเเละเศรษฐศาสตร์ความสุข

บทสรุปสำคัญๆ 20 ข้อของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเเละเศรษฐศาสตร์ความสุข

25 เมษายน 2018


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

เป็นเวลากว่าสิบเจ็ดปีแล้วที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ความสุขและเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมา ถ้าผมจะลองพยายามสรุปผลงานวิจัยที่ผมคิดว่าสำคัญๆ สัก 20 ข้อจากประสบการณ์ของผมละก็ ผมก็คงจะเลือกบทสรุปดังต่อไปนี้

1. คนรวยมีความสุขมากกว่าคนจน แต่ถ้าประเทศรวยขึ้น ค่าเฉลี่ยความสุขของประเทศนั้นๆ มักจะไม่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย (Easterlin Paradox)

2. ถ้ามีโอกาส คนเราส่วนใหญ่มักเลือกที่จะโกงและไม่เคารพกฎกัน แต่จะไม่โกงเยอะมากหรือทำผิดกฎหมายใหญ่ๆ เพราะคนเราส่วนใหญ่ยังอยากมองกระจกและมองเห็นตัวเองเป็นคนดีอยู่ (moral flexibility)

3. ความรู้สึกในปัจจุบันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราไม่สามารถจินตนาการความรู้สึกในอนาคตที่แตกต่างจากความรู้สึกที่กำลังรู้สึกอยู่ได้ (presentism)

4. คนเรามักจะไม่ทราบถึงเหตุผลที่แท้จริงที่ทำให้ตัวเองเลือกที่จะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่ถ้ามีคนถามเราว่าทำไมเราถึงเลือกที่จะประพฤติอย่างนั้น เรามักจะมีเหตุผลต่างๆ นานาเป็นคำตอบให้กับคนที่ถามเสมอ (rationalisation)

5. คนโง่ไม่มีความสามารถพอที่จะช่วยทำให้เขารู้ตัวเองว่าเขาโง่ได้ (Dunning-Kruger effect)

6. คนที่ตกงานมักจะมีความสุขน้อยกว่าคนที่มีงานทำ แต่ความทุกข์ที่มาจากการตกงานของพวกเขาจะลดน้อยลงถ้าเขาได้อาศัยอยู่ในท้องถิ่นที่มีคนตกงานเยอะ (social norm effect)

7. เวลาที่เราตัดสินใจว่าใครถูกใครผิด เรามักจะคิดว่าเราใช้เหตุผลก่อนการใช้อารมณ์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เวลาที่เราเห็นอะไรที่เราไม่ชอบ อารมณ์ของเรามักจะขึ้นก่อน ซึ่งก็จะส่งผลทำให้เราตัดสินใจว่าสิ่งที่เราเห็นนั้นไม่ดี หลังจากนั้นเราก็ค้นหาเหตุผลเพื่อมาอธิบายว่าทำไมเราถึงตัดสินใจอย่างนั้นแทน (moral judgment)

8. การมีเงินเป็นสิ่งเสพติด ยิ่งมีเงินมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งไม่สามารถกลับไป ณ สภาพในตอนที่เรามีเงินน้อยได้อีก (income aspirations)

9. คนเรามักมองหาข้อมูลที่รองรับในสิ่งที่เราปักใจเชื่ออยู่แล้ว และปฏิเสธข้อมูลที่ขัดกันกับความเชื่อที่เรามีอยู่ (confirmation bias)

10. ตัวแปรของความสุขที่สำคัญที่สุดคือการมีคนรอบข้างที่ดี การมีคนที่ช่วยสนับสนุนเราเวลาที่เราลำบากและต้องการคนช่วยเหลือ ไม่ใช่เงินทอง ไม่ใช่การมีชื่อเสียงในสังคม (social support theory)

11. โดยเฉลี่ยแล้วคนเราใช้เวลาประมาณหนึ่งถึงสองปีในการปรับสภาพความสุขของตัวเองให้กลับมาดีเท่ากับตอนก่อนที่จะสูญเสียคนที่เรารักไป แต่กลับไม่สามารถปรับตัวให้รู้สึกชินกับความทุกข์ที่มาจากการเดินทางไปทำงานในตอนเช้าได้เลย แม้ว่าจะเราจะใช้เวลาในการเดินทางไปกลับจากที่ทำงานอย่างนั้นมานานหลายปีแล้วก็ตาม (hedonic adaptation)

12. คนเราส่วนใหญ่กลัวการเปลี่ยนใจแล้วเป็นการเปลี่ยนใจที่ผิดมากกว่าการไม่เปลี่ยนใจแล้วเสียโอกาสที่ไม่ได้เปลี่ยนใจ (พูดง่ายๆ ก็คือคนเรากลัว foolish actions มากกว่า foolish inactions) แต่ในความเป็นจริงแล้วคนเราส่วนใหญ่มักเสียใจในสิ่งที่ไม่ได้ทำมากกว่าสิ่งที่ทำไปแล้วแต่ออกมาไม่ได้ดังใจ (status quo bias และ ignorance of psychological immune system)

13. คนส่วนใหญ่มักจะเชื่อว่าตัวเองเป็นคนไม่โกง เป็นคนที่ไม่นอกใจใครถึงแม้ว่าจะมีโอกาส แต่ถ้าเรานำคนส่วนใหญ่เหล่านั้นไปอยู่ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมละก็ อะไรก็เกิดขึ้นได้ (hot-cold empathy gap)

14. คนเราเกลียดการสูญเสียมากกว่าชอบการได้ แต่ถ้าเราเสียอะไรไปเยอะ คนเรามักจะยอมพนันขันต่อเพื่อขอแค่ให้ได้ทุนที่เสียไปคืนมา (ซึ่งก็อาจจะทำให้ยิ่งเสียเพิ่มกว่าเดิมเป็นหลายเท่าตัว) (loss aversion และ break-even effect)

15. กิจวัตรประจำวันที่ส่งผลให้เรามีความสุขประจำวันที่มากที่สุดก็คือช่วงเวลาที่เราใช้ในการมีเพศสัมพันธ์ ส่วนกิจวัตรประจำวันที่ส่งผลให้เรามีความสุขน้อยที่สุดก็คือการเดินทางไปทำงานตอนเช้า (daily reconstruction method)

16. ตัวแปรความสุขในที่ทำงานที่ดีที่สุดคืองานที่ทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้นมีความหมายมากกว่าเงินเดือนที่เราได้มา (meaningful work)

17. ยิ่งเราใช้พลังสมองในการคิดอะไรสักอย่างหนึ่งเท่าไหร่ ระดับของความสามารถในการยับยั้งชั่งใจและควบคุมตัวเองมักจะลดน้อยลงเท่านั้น (self-control problem)

18. คนเราไม่ชอบถือสองความคิดที่ขัดกันในหัว (อย่างเช่น การสูบบุหรี่ไม่ดีต่อสุขภาพ แต่การสูบช่วยทำให้เราคลายเครียดได้) ในการขจัดความรู้สึกที่ไม่ดีนี้ให้หมดไปนั้น คนเราสามารถเปลี่ยนพฤติกรรม (เลิกสูบ) หรือเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับพฤติกรรมนั้นๆ (ไม่ใช่คนที่สูบบุหรี่ทุกคนจะตายจากโรคมะเร็ง) แต่เพราะว่าพฤติกรรมเปลี่ยนยากกว่าทัศนคติ คนเราจึงเลือกที่จะเปลี่ยนทัศนคติแทน (cognitive dissonance)

19. คนที่รักสันโดษ (introvert) มักจะเสียเปรียบคนที่ชอบเข้าสังคม (extrovert) เวลาที่ไปสัมภาษณ์งาน แต่คนที่รักสันโดษ เมื่อเทียบกันกับคนที่ชอบเข้าสังคม มักจะไม่ค่อยตกเป็นเหยื่อของการคิดตามคนอื่น ซึ่งการคิดตามๆ กันไปโดยที่ไม่ใช้เหตุผลเป็นหลักเป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการสรุปหรือตัดสินใจที่ผิดของคนในกลุ่มใหญ่ๆ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าคนที่รักสันโดษไม่ได้แคร์ว่าคนอื่นๆ จะต้องยอมรับในตัวเขาหรือความคิดของเขามากเท่ากันกับคนที่ชอบเข้าสังคม (groupthink)

20. คนเราส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าคิดต่างจากความคิดที่คนส่วนใหญ่มี แต่การคิดต่างของคนส่วนน้อย ถึงแม้ว่าจะเป็นการคิดต่างที่ผิดก็ตาม สามารถช่วยทำให้คนส่วนน้อยอื่นๆ ที่คิดต่างเหมือนกัน แต่เป็นการคิดต่างที่ถูกกล้าที่จะแสดงตัวเองและความคิดของตัวเองออกมาในสังคม (social conformity)