ThaiPublica > คอลัมน์ > เอางานวิจัย “ลงหิ้ง” แบบไหนจึงจะขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะได้

เอางานวิจัย “ลงหิ้ง” แบบไหนจึงจะขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะได้

30 กันยายน 2019


กฤษฎา บุญชัย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

ตัวแทนเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ชูป้ายสนับสนุน #แบนพาราควอตเดี๋ยวนี้หน้ากระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562

ช่วง 10 กว่าปีมานี้ สถาบันการวิจัยนโยบายสาธารณะต่างๆ พากันครุ่นคิดที่จะออกแบบงานวิจัยอย่างไรไม่ให้ “ขึ้นหิ้ง” เพราะที่ผ่านมา งานวิจัยของนักวิชาการไทยส่วนมากไม่เพียงส่งผลต่อการขับเคลื่อนนโยบายน้อย แต่ยังเกิดภาวะหลุดลอยไปจากสังคม กลายเป็นอุตสาหกรรมทางปัญญามีการลงทุนสูง แต่สร้างคุณค่าได้น้อยมาก

“ขึ้นหิ้ง” เป็นปัญหาก็จริง แต่วิธีการ “ลงหิ้ง” อาจจะเกิดปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม ขึ้นอยู่กับว่าจะลงไปที่ไหน ด้วยกระบวนการอะไร

เพราะเป้าหมายการ “ลงหิ้ง” ขณะนี้พุ่งเป้าไปที่การส่งเสริมให้หน่วยราชการซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนนโยบายนำงานวิจัยไปใช้กำหนดนโยบาย โดยที่มองข้ามปัญหาโครงสร้างและวัฒนธรรมอำนาจของระบบราชการที่ยากจะเอาความรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่หน่วยงานเหล่านั้นครองอำนาจนำอยู่ไปใช้

ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะออกแบบและขับเคลื่อนอย่างไร งานวิจัยก็ไม่ “ลงหิ้ง” ไปสู่มือประชาชน แต่กลับเกิด “หิ้ง” อันใหม่ๆ ที่ชุมชนและประชาชนเจ้าของปัญหาเอื้อมไปไม่ถึง เพราะกลไกนโยบายของรัฐเหล่านี้เติบโตอยู่ได้ในโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม การออกแบบงานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายภายใต้โครงสร้างเช่นนี้จึงไม่สามารถเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางปัญญา ทลายโครงสร้างอำนาจอันเหลื่อมล้ำ และสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ประชาชนได้เท่าใดนัก

ในฐานะที่ผู้เขียนขับเคลื่อนงานวิชาการและเคลื่อนไหวทางนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ความมั่นคงทางอาหาร และเกษตรกรรมยั่งยืนมากว่า 20 ปี พบว่า ฐานทางปัญญาของการปฏิรูปกรอบคิดนโยบายไม่ได้มาจากสถาบันวิชาการที่ไหน แต่มาจากขบวนการทางปัญญาสาธารณะที่สร้างขึ้นด้วยการเรียนรู้ปัญหาจากมุมองของผู้ทุกข์ยาก แสวงหาบทเรียน สร้างความรู้เพื่อจัดการชีวิตในสถานการณ์ต่างๆ ที่มากระทบ เกิดเป็นทางเลือกจากจุดเล็กๆ น้อย เชื่อมประสานกันเป็นโครงข่ายทางปัญญา การสนทนา สาธารณะที่ขัดแย้งแตกต่าง ก่อรูปเป็นหลักคิด การออกแบบอนาคต และพัฒนาข้อเสนอทางนโยบายที่มาจากเรื่องราวของชีวิตทางสังคมที่หลากหลาย ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ใหม่ๆ กระบวนการทั้งหมดนี้ใช้เวลาสั่งสมตกผลึกมานาน ซึ่งหาได้มาจากนักวิจัยมืออาชีพ โครงการวิจัยขนาดใหญ่ที่เริ่มต้นบนความว่างเปล่า หรือไม่ได้มาจากการขับเคลื่อนความรู้ของหน่วยงานราชการที่เป็นไปตามระบบ

เรามาลองดูตัวอย่างกันครับฐานคิดนโยบายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชนฐานรากเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ย้อนกลับไปเมื่อต้นทศวรรษ 2530 สถาบันวิชาการต่างๆ ด้านการเกษตร ต่างผลิตความรู้และนักวิชาการเพื่อรองรับเกษตรพาณิชย์เคมีด้วยแนวคิดปฏิวัติเขียว (การเกษตรแผนใหม่ที่มุ่งผลิตเชิงอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีแผนใหม่ เช่น เมล็ดพันธุ์ปรับปรุง สารเคมี การจัดการแปลงแบบใหม่ ฯลฯ) แทบไม่ปรากฏงานวิจัยของรัฐ สถาบันวิชาการตั้งคำถามต่อปัญหาของปฏิวัติเขียวในเชิงกระบวนทัศน์ว่ากระทบต่อความอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อย ความยั่งยืนของระบบนิเวศ สิทธิในทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่น ความมั่นคงอาหารของชุมชน ความปลอดภัยด้านอาหารจากสารเคมี และความเป็นธรรมทางสังคมอย่างไร

จนเมื่อเกษตรกรรายย่อย นักพัฒนาเอกชน นักวิชาการที่ร่วมกับชุมชน ได้ก่อรูปเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เช่น เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และขบวนการทางสังคมตั้งแต่ทศวรรษ 2530 จนถึงทุกวันนี้ องค์ความรู้เกษตรกรรมที่โลกยอมรับ คือ เกษตรกรรมยั่งยืน ได้กลายเป็นองค์ความรู้หลักและพัฒนาออกไปหลายมิติทั้งเรื่องสุขภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงอาหาร กระบวนการสร้างความรู้เหล่านี้หาได้มาจากสถาบันวิชาการของรัฐ หรือ “ผู้เชี่ยวชาญ” ใดๆ แต่มาจากกระบวนการทางปัญญาสาธารณะโดยขบวนการประชาชน ทั้งเกษตรกร นักพัฒนา นักวิชาการ หรือเจ้าหน้าที่ราชการที่ร่วมในขบวนการทางสังคมมาต่อเนื่องยาวนาน สร้างแนวคิด รูปแบบการเกษตรยั่งยืนที่หลากหลาย ตั้งแต่ไร่หมุนเวียนของกลุ่มชาติพันธุ์ นาธรรมชาติในอีสาน สวนยกร่องในภาคกลาง สวนสมรมในภาคใต้ จากปราชญ์ชาวบ้าน สู่กลุ่มเกษตรทางเลือก ขยายจากครอบครัวสู่ ชุมชน จังหวัด และภูมินิเวศ สั่งสมเป็นฐานปัญญาในการขับเคลื่อนนโยบายจากฐานราก

และมาถึงตอนนี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ได้กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน 5 ล้านไร่ และในทางกฎหมาย กำลังมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ก้าวหน้า ก็ล้วนมาจากกระบวนการทางปัญญาของขบวนการทางสังคมที่สั่งสมมาช้านาน

ขณะที่หน่วยงานวิจัยทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ เกษตรศาสตร์และอื่นๆ ยังวนเวียนอยู่กับเรื่องเทคนิค เช่น การผลิตที่แข่งขันได้ การใช้สารเคมีให้มีประสิทธิภาพ การใช้เทคโนโลยีที่ต้องพึ่งพา ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดเป็นคำถามวิจัยที่ยังสร้างสภาวะให้ชาวบ้านตกอยู่ภายใต้การครอบงำของกลุ่มทุนการเกษตรและอาหารต่อไป นับว่ากระบวนการทางปัญญายังล้าหลังกว่าเกษตรกรที่ขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนที่ก้าวข้ามพรมแดนความรู้ใหม่ไปสู่ระบบการผลิตและจัดการอาหารที่ยั่งยืนและเป็นธรรมไปแล้ว จนเมื่อกระแสเกษตรกรรมยั่งยืนสามารถปักหลักทางนโยบายได้ นักวิจัย สถาบันวิจัยต่างๆ ก็เข้ามาทำประทับตรา จัดระบบ สร้างภาษาเทคนิค ออกแบบระเบียบวิธี จัดสร้างโมเดล ทดสอบต้นแบบ ฯลฯ

จึงไม่น่าแปลกใจที่ในวันนี้ สังคมตื่นตัวเรื่องพิษภัยสารเคมีปราบศัตรูพืช จากการขับเคลื่อนทางปัญญาของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ThaiPAN) และประชาชนทุกภาคส่วน ก้าวสู่กระบวนทัศน์ใหม่ด้วยการผลิตที่หลากหลายทางนิเวศและวัฒนธรรมท้องถิ่น สร้างความยั่งยืนแก่ทรัพยากร ความมั่นคงอาหาร และความปลอดภัยของสุขภาพ แต่หน่วยงานที่ขึ้นชื่อว่าเป็นกลไกวิชาการของรัฐ กลับไม่กล้าที่จะใช้ความรู้และปัญญาชี้ชัดว่า สังคมไทยควรไปให้พ้นจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชร้ายแรงได้แล้ว เพราะนั่นเท่ากับการยืนยันว่าองค์ความรู้เกษตรเคมีที่สถาบันวิชาการต่างๆ ผลิตมากำลังถึงจุดจบแล้ว

ในด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ย้อนไปเมื่อฐานทรัพยากรโดยเฉพาะป่าไม้ยังถูกมองเป็นสินค้าของภาครัฐและธุรกิจเอกชนที่เข้ามาสัมปทานไม้ สถาบันวิชาการป่าไม้ไทยยังยึดติดกับวนศาสตร์เชิงพาณชิย์จากยุโรป ไม่มีงานวิชาการจากสถาบันใดที่สรุปชี้ชัดให้ยกเลิกสัมปทานเพื่อปกป้องป่า และกระจายอำนาจการจัดการป่าสู่ชุมชน มีแต่ชุมชนในพื้นที่ป่าภาคต่างๆ ทั่วประเทศที่ยืนหยัดปกป้องพื้นที่ป่าจากนายทุนที่เข้ามาสัมปทานไม้หรือครอบครองพื้นที่ป่าเพื่อประโยชน์ต่างๆ ประจวบกับอุทกภัยใหญ่ที่อำเภอกระทูน นครศรีธรรมราช ในปี 2531 รัฐบาลจึงได้ยกเลิกสัมปทานไม้ แต่ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนดังกล่าวกลับถูกนักวิชาการและหน่วยงานรัฐลืมไป

เมื่อรัฐหันมาเล่นบทนักอนุรักษ์ป่า ก็ใช้เครื่องมือกฎหมายประกาศเขตป่าอนุรักษ์โดยครอบทับชุมชนในพื้นที่ป่าจำนวนมาก สถาบันวิชาการป่าไม้ไทยก็เอารูปแบบป่าอนุรักษ์ เช่น เขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ขับไล่ชุมชนจากสหรัฐอเมริกามาขยายผล ไม่มีงานวิชาการจากภาควนศาสตร์ใดเลยที่ตั้งคำถามอย่างจริงจังต่อโครงสร้างรวมศูนย์อำนาจจัดการป่าของรัฐ ความรุนแรงจากความรู้ที่ละเมิดสิทธิชุมชน มีแต่งานวิชาการที่สร้างระบบตรวจสอบควบคุมชุมชนในพื้นที่ป่าให้เข้มงวด โดยไม่สนใจสร้างความรู้เพื่อกระจายอำนาจการจัดการป่าสู่ชุมชนและสังคม และมาเรียนรู้เข้าใจวิถีสิทธิชุมชนในการจัดการป่าเพื่อเป็นทางออกของการการจัดการป่าที่ยั่งยืนและเป็นธรรม

ปัญญาเพื่อการเปลี่ยนแปลงมาจากฐานราก ขบวนการป่าชุมชนเรียนรู้เข้าใจการจัดการป่าตามวิถีวัฒนธรรมและสภาพความเป็นจริงของชีวิตที่ถูกปิดล้อมโดยนโยบายป่าไม้ของรัฐ สร้างงานวิจัยแบบมีส่วนร่วมทั้งชาวบ้าน นักพัฒนา และนักวิชาการจากสถาบันอิสระ เกิดเป็นหลักการสิทธิชุมชน แนวคิดการจัดการป่าแบบมีส่วนร่วม และผลักดันเป็นร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนมาตั้งแต่ปี 2536 โดยเริ่มจากปฏิเสธร่าง พ.ร.บ.ของกรมป่าไม้ที่ยกร่างมาก่อนหน้านั้น ด้วยเหตุผลว่า ร่างของรัฐไม่ยอมรับสิทธิชุมชนโดยเฉพาะในพื้นที่ป่าอนุรักษ์

กระบวนการทางปัญญาที่ขับเคลื่อนป่าชุมชน ได้ผ่านการต่อรองทางนโยบายมานับสิบปี จึงสุกงอมเป็นแนวคิดและข้อเสนอการจัดการป่าที่มีสิทธิชุมชนเป็นฐาน จากป่าชุมชนสู่การจัดการลุ่มน้ำ การจัดการทรัพยากรชายฝั่ง สิทธิชุมชนในสิ่งแวดล้อม พันธุกรรม ความมั่นคงอาหารและอื่นๆ กลายเป็นหลักสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา เกิดรูปธรรมใหม่ๆ มากมาย เช่น โฉนดชุมชนโดยขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เขตวัฒนธรรมพิเศษของชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ข้อบัญญัติท้องถิ่นจัดการทรัพยากรของชุมชนภาคเหนือ ระบบการจัดการทรัพยากรชายฝั่งของประมงพื้นบ้าน การจัดการภูมิทัศน์ลุ่มน้ำโดยชุมชน การรับรองสิทธิชุมชนต่อพันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

แม้ในวันนี้ แนวคิดจัดการป่าของโลกได้เปลี่ยนไปไกลแล้ว ดังที่ปรากฏอยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGS) เป้าหมายที่ 15 เปลี่ยนจากแนวคิดทำไม้เชิงพาณิชย์ การจัดป่าอนุรักษ์สุดขั้ว มาสู่การจัดการป่าแบบมีส่วนร่วมของชุมชนและสังคม ความรู้และปัญญาของขบวนการป่าชุมชนและอื่นๆ ได้ก้าวไปสู่ระดับโลก (ซึ่งก็มาจากฐานประชาชนทั่วโลก)

แต่ระบบวิชาการป่าไม้ทั้งที่มาจากหน่วยงานรัฐ และสถาบันวิชาการที่ป้อนงานวิจัยให้รัฐ ยังคงตรึงการจัดการป่าให้อยู่ในกระบวนทัศน์อำนาจนิยมของรัฐต่อไป รูปธรรมก็เช่น การออกแบบกฎหมายใหม่ ได้แก่ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ที่ออกมาในปีนี้ ก็ยังก้าวไม่พ้นระบอบอำนาจนิยมของรัฐต่อไป สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญที่มาจากเจตจำนงของประชาชนถูกเปลี่ยนรูปแปลงร่างกลายเป็นกฎหมายป่าไม้ของรัฐเพื่อกำกับหน้าที่และการดำรงอยู่ของชุมชนในพื้นที่ผ่อนปรนเท่านั้น

จากตัวอย่างทั้งเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืนและการจัดการป่าบ่งบอกได้ว่า ปัญญาที่สร้างการเปลี่ยนแปลงทางกระบวนทัศน์ และออกแบบนโยบายสาธารณะที่ก้าวหน้าสอดคล้องกับความเป็นจริงทางสังคม มาจากขบวนการทางปัญญาของสาธารณะโดยขบวนการเคลื่อนไหวประชาชน งานวิจัยในสภาวะการเคลื่อนไหว ได้แนบแน่นไปกับชีวิตทางสังคมและการเมืองของประชาชน ด้วยฐานปัญญาทางสังคมที่เข้มแข็งเช่นนี้ จึงช่วยหนุนเสริมนักวิชาการ นักวิจัยต่างๆ ให้ผลิตองค์ความรู้ที่หลุดกรอบอำนาจเดิมๆ ได้

แต่ตรงกันข้าม สถาบันหรือกระบวนการวิจัยภายใต้โครงสร้างอำนาจรวมศูนย์ของรัฐและการกำกับของระบบทุนกลับขยายความรุนแรงเชิงโครงสร้างมากยิ่งขึ้น นโยบายเกษตรพาณิชย์สารคมี นโยบายการจัดการป่าแบบรวมศูนย์ นโยบายส่งเสริมเขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นโยบายพลังงานฟอสซิล นโยบายจัดการสิ่งแวดล้อมแบบลดทอนเพื่อการขยายอุตสาหกรรม นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจเสรีที่ไม่ต้องรับภาระสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ล้วนมีฐานงานวิจัยจากสถาบันวิชาการกระแสหลักรองรับ

หากเราเลือกที่จะเอาวิชาการ “ลงหิ้ง” ไปสู่สถาบันทางอำนาจทางวิชาการและกลไกนโยบายของรัฐ เราอาจจะได้วาทกรรม เครื่องมือ เทคนิค ตัวชี้วัด ผู้เชี่ยวชาญใหม่ๆ ในเรื่องใหม่ๆ เช่น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภูมิทัศน์ภาคเกษตร และอื่นๆ อีกมากมาย กระบวนการทางปัญญาในสถาบันอำนาจเช่นนี้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างไม่ได้ มีแต่เป็นศูนย์ผลิตวิชาการที่ดึงดูดทรัพยากร ทรงอำนาจ ธำรงโครงสร้างความรุนแรงสืบต่อไป

เพราะพลังทางปัญญาที่เปลี่ยนแปลงโลกไม่เคยขึ้นไปบน “หิ้ง” จึงไม่ต้อง “ลงหิ้ง” ดังนั้นสถาบันส่งเสริมวิชาการต่างๆ สามารถออกจากโครงสร้างความรุนแรงได้ด้วยการเปลี่ยนกระบวนทัศน์การสร้างการวิจัยนโยบายสาธารณะเสียใหม่ ด้วยการไม่สร้างระบบวิจัยที่แยกขาดออจากสังคม แต่ควรมุ่งส่งเสริมระบบ กระบวนการปัญญาสาธารณะขึ้นมาอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการวิชาการที่เข้าไปเรียนรู้จากฐานล่าง และพัฒนาร่วมกับขบวนการทางสังคมให้เกิดเป็นกระบวนการทางปัญญาสาธารณะ มีคุณภาพทั้งแนวคิด เครื่องมือ ฐานข้อมูล การสังเคราะห์ความรู้ การพัฒนาข้อเสนอและกลไกขับเคลื่อนทางนโยบายที่ประชาชนมีส่วนร่วม

ด้วยการเปลี่ยนฐานที่มั่นของการสร้างปัญญาเสียใหม่ เราจึงจะสามารถพัฒนาวิชาการนโยบายสาธารณะที่ก้าวข้ามโครงสร้างแห่งความเหลื่อมล้ำและรุนแรง และเป็นวิชาการและนโยบายที่เป็นของสาธารณะอย่างแท้จริง