หนึ่งในภารกิจที่ท้าทายขณะนี้ของ “ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์” หลังจากย้ายมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็คือการออกแบบจัดตั้งกระทรวงใหม่ที่มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า “กระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม” ซึ่งเป็นกระทรวงที่กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อเตรียมคนไทยไปสู่ศตวรรษที่ 21 และปฏิรูประบบเศรษฐกิจสังคมไทยไปสู่ฐานนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์เรื่องไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล คสช.
ทั้งนี้คาดว่า กระทรวงใหม่จะตั้งขึ้นได้ในเร็วๆ นี้ อย่างช้าที่สุดคือก่อนการเลือกตั้งต้นปีหน้า “..กระทรวงใหม่ตั้งขึ้นเพื่อตอบโจทย์สองเรื่อง คือ 1. เป็นกระทรวงที่เตรียมคนไทยไปสู่ศตวรรษที่ 21 ผ่านมหาวิทยาลัย และ 2. เป็นกระทรวงหลักในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจสังคมไปสู่ฐานนวัตกรรม ซึ่งส่วนสำคัญก็คือ มหาวิทยาลัยและการวิจัย” ดร.สุวิทย์บอกถึงเหตุผลหลักของการตั้งกระทรวงใหม่ พร้อมเปิดฉากเล่าในรายละเอียด
ความท้าทายงานวิจัยและนวัตกรรม
ดร.สุวิทย์กล่าวว่า เรื่องวิจัยและนวัตกรรมขณะนี้เป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่ผ่านมางานวิจัยประเทศไทยมีปัญหาคือเป็นซัพพลายไซด์ ตอบโจทย์ผู้วิจัย แต่ไม่ตอบโจทย์ประเทศ ไม่ตอบโจทย์เอกชน ไม่ตอบโจทย์ชุมชน การจัดตั้งกระทรวงครั้งนี้จึงต้องการขับเคลื่อนงานวิจัยจากซัพพลายไซด์เป็นดีมานด์ไซด์
นอกจากนี้ งานวิจัยที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการตีพิมพ์เพื่อผลงานของอาจารย์หรือใครต่อใคร ซ้ำยังเป็นวิจัยเป็นชิ้นๆ เป็นเบี้ยหัวแตก ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ แต่วันนี้อยากจะทำวิจัยเพื่อไปสู่นวัตกรรม ทำอย่างไรที่จะให้งานวิจัยเรื่องใหญ่ๆ สามารถทำได้จริง
ดร.สุวิทย์เล่าว่า เขาเพิ่งกลับจากการไปดูงานครบรอบ 70 ปี กระทรวงวิทยาศาสตร์ของประเทศอิสราเอล โดยนายกรัฐมนตรีอิสราเอล (เบนจามิน เนทันยาฮู) กล่าวว่าอิสราเอลนั้นอยู่ท่ามกลางศัตรู จึงต้องอยู่ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เขาบอกว่าทุกวันนี้อิสราเอลมีเทคโนโลยีครบครัน ทำขึ้นมารองรับได้เกือบทุกอุตสาหกรรม ต่อไปในอนาคตอิสราเอลจะกลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลก เพราะรถยนต์ในอนาคตควบคุมด้วยเทคโนโลยี ไม่ใช่น้ำมันอีกต่อไป และยังบอกว่าจากนี้ไปจะวิ่งเข้าหาบ่อน้ำแหล่งใหม่ หรือวิทยาศาสตร์ชุดใหม่ คือควอนตัมคอมพิวติ้ง (quantum computing) เก็บบิ๊กดาต้าบนอะตอมได้อีกมหาศาล
“นี่คือสิ่งที่นายกฯ อิสราเอลพูดแค่ 15 นาที ผู้ฟังกว่า 20 ประเทศอ้าปากค้าง ถึงบอกว่ากระทรวงนี้ไม่ตั้งไม่ได้ เพราะวันนี้กระทรวงวิทย์ก็ไม่มีพลัง มหาวิทยาลัยเองควรจะเป็นคนผลิตวิจัย ก็ไม่มีพลัง ถ้าประเทศไทยอยู่อย่างนี้จะไม่รอด เพราะตอนนี้เหมือนโลกมันรีเซ็ตให้ทุกคนมีโอกาสเท่ากัน แต่ถ้าเรายังจัดทัพกันอย่างนี้ ต่างคนต่างอยู่ ไม่มีพลังแน่นอน”
กับดัก “4 ไม่” ของมหาวิทยาลัยไทย
ดร.สุวิทย์บอกว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยไทย ติดอยู่ใน 4 กับดักใหญ่ โดยเขาใช้คำว่า university myopia ซึ่ง myopia แปลว่าสายตาสั้น นั่นคือ
1. มหาวิทยาลัย “ไม่ต้องดิ้นรน” เพราะติดอยู่ในคอมฟอร์ทโซนมานานแล้ว
โดยก่อนหน้านี้มีข้อเขียนของอาจารย์จรัส สุวรรณเวลา น่าสนใจมากบอกว่ามหาวิทยาลัยผูกขาด ได้รับการปกป้องมากเกินไป ไม่ต้องรับผิดชอบในคุณภาพของบัณฑิต ไม่ต้องมานั่งคิดว่าล้มละลายหรือไม่ ขณะที่มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เช่น อเมริกา ปิดไปแล้ว 500 แห่ง
2. “ไม่สามารถสร้างความแตกต่าง” ทุกมหาวิทยาลัยอยากจะเป็น comprehensive university ทุกคนอยากจะเบ่งให้ตัวเองใหญ่ขึ้น ทั้งที่ไม่มีความแตกต่างอะไรเลย
3. การผลิต “ไม่สอดรับกับความต้องการที่แท้จริงของประเทศ” สังคมไทยบ้าดีกรี ปริญญา มากกว่าการนำความรู้ไปใช้งาน
4. “ไม่ตอบโจทย์โลกในศตวรรษที่ 21” คือโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว แต่มหาวิทยาลัยไทยไม่เปลี่ยน ไม่หด มีแต่ขยายมากขึ้น แถมผลิตบัณฑิตออกมาไม่ตอบโจทย์ ซึ่งในอนาคตไม่มีใครเรียนแบบนี้อีกแล้ว ไม่มีใครยอมทู่ซี้เรียน 4 ปี เขาอยากเรียนต่อเมื่อเขาต้องการ
“ตอนนี้ประเทศเราไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยการวิจัยมานานแล้ว ทำวิจัยเพื่อเอาตำแหน่ง ทำแบบเบี้ยหัวแตก เป็นวิจัยเหมือนสักแต่ว่าทำ แล้วก็พึ่งพางบประมาณรายปี มันควรจะต้องมีการรวมศูนย์บอกว่าเรามีเงินก้อนหนึ่ง แล้วบอกเลยว่าโจทย์ของประเทศ 3 เรื่องนี้ต้องทำให้ได้ใน 3-5 ปี ประเทศมันจะได้มีความหวังหน่อย”
ถามว่าวันนี้เรามีเทคโนโลยีของตัวเองหรือเปล่า ไม่มี มันควรจะมีเหมือนโครงการอพอลโล 11 dream-believe-dare-do แล้วทำให้ได้ แต่วันนี้ หากมองในแง่เศรษฐกิจพอเพียง เราไม่มีความพอเพียงทางเทคโนโลยี เรายืมจมูกคนอื่นหายใจหมด อิสราเอลนั้นแห้งแล้ง ต้องไปเห็นว่าเขาเลี้ยงปลาจนกระทั่งมีปลามากกว่าน้ำที่เลี้ยง ผลิตภาพสูงมาก ใช้เทคโนโลยี ใช้การจัดการ
“วันนี้เราก็ไปให้เขามาช่วยเรื่องเกษตร ช่วยเรื่องน้ำ แต่ไม่รู้เขาพูดจริงหรือพูดเล่น เขาขับรถกลับไปกลับมา แล้วบอกว่าประเทศไทยไม่เห็นมีที่ไหนที่แห้งแล้งเลย แต่บอกว่านี่มัน poor management”
โจทย์ใหม่ agenda-based research ไม่ใช่เบี้ยหัวแตก
เมื่อเป็นแบบนี้ การออกแบบกระทรวงใหม่จึงต้องคิดใหม่ทั้งระบบ ดร.สุวิทย์กล่าวว่า จะต้องนำหน่วยงานที่อยู่ใกล้กัน จากเดิมต่างคนต่างอยู่มารวมอยู่ด้วยกัน แล้วกำกับด้วยกองทุนวิจัย ด้วยนโยบาย ขณะเดียวกันต้องปรับโครงสร้าง ปรับระบบอุดมศึกษา ระบบวิจัย และระบบนวัตกรรม เพื่อให้แต่ละหน่วยงานสามารถปลดปล่อยพลังและศักยภาพออกมาให้ได้มากที่สุด
“ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยคือกองหนึ่งมาอยู่ด้วยกัน แต่ก็ต้องคลี่ออกมาให้ชัด มหาวิทยาลัยมี 5 ประเภท คือ 1.มหาวิทยาลัยเน้นวิจัย 2. มหาวิทยาลัยเน้นพื้นที่ เช่น ราชภัฏ 3. มหาวิทยาลัยมีความเฉพาะทาง เช่น ราชมงคล 4. มหาวิทยาลัยเอกชน และ 5. มหาวิทยาลัยชุมชน โดยทั้ง 5 แบบนี้ มี 5 ภารกิจที่ต่างกัน เคพีไอต่างกัน คุณตอบโจทย์ภารกิจของคุณ”
แต่วันนี้คิดเหมือนกันไปหมด ทุกมหาวิทยาลัยแห่กันอยากจะเป็น comprehensive แต่วิธีคิดใหม่คือ สมมติราชภัฏ 38 แห่งครอบคลุมทั่วประเทศ แจกโจทย์ไปเลย 1 ราชภัฏ ดู 2 จังหวัด แล้วให้โจทย์เลยว่าคุณมีหน้าที่วิจัยเรื่องความยากจน แก้ปัญหาความยากจน เป็นโจทย์รีเสิร์ชเชิงบูรณาการใน 2 จังหวัดนี้ ให้ไปเลย 5 ปี เงินประมาณนี้ ถ้าคุณทำได้ในปีที่หนึ่ง เราจะให้ปีที่สอง แต่ถ้าคุณทำไม่ได้เราจะเริ่มตัดเงิน
“ถามว่าในเรื่องความยากจนคุณเล่นเรื่องอะไร เรื่องน้ำ เรื่องขยะ เรื่องเกษตร เล่นเรื่องที่เกี่ยวกับคนในพื้นที่นั้นเอง อย่างนี้ภารกิจราชภัฏจะชัด แล้วจะได้ทุ่มลงไป ไม่ใช่โจทย์แบบสะเปะสะปะ ปีหน้าขอเงินใหม่ แล้วทำเรื่องอื่นอีก อย่างนั้นมันไม่ตอบโจทย์ แต่เราบอกว่าครั้งนี้รีเสิร์ชจะต้องเป็น “agenda-based research” สำหรับราชภัฏ เป็นโจทย์ในแนวพื้นที่”
เช่นเดียวกันกับกลุ่มมหาวิทยาลัยเชิงวิจัย ที่ ดร.สุวิทย์แจงว่า “…ก็เป็นอีกแนวหนึ่ง เป็นโจทย์วิจัยเรื่องใหญ่ๆ สมมติคุณไปทำเรื่องสมาร์ทซิตี้ เรื่องพลังงาน เรื่อง precision medicine เป็นโจทย์ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ไปทำ proposal แล้วขอเงิน แต่ต้องลิงก์กับยุทธศาสตร์ชาติ
“สมมติยุทธศาสตร์ชาติที่เรากำลังคุยมี 5-6 เรื่องสำคัญ เช่น เรื่องอีอีซี ซึ่งเทคโนโลยีระบบรางต้องมี แต่ตอนนี้เรายังไม่มีเลย ซื้อเขาอยู่ แต่ถึงวันหนึ่งเราต้องควบคุมระบบรางของเรา ทั้งเมคคานิก ทั้งอิเล็กทรอนิกส์ สมมติมีงบหมื่นล้าน ใครทำได้ มาประมูลกัน หรือปัญหาประเทศไทยคือสังคมผู้สูงอายุ (ageing) สร้างอุตสาหกรรมเอจจิ้งได้มั้ย มีงบเท่านี้ คุณเสนอมา ก็แข่งกัน อย่างนี้ถึงจะมีพลัง”
“ดังนั้น โจทย์ของกระทรวงใหม่ต้องเป็นโจทย์ที่เรียกว่าเป็น agenda-based research ไม่ใช่เบี้ยหัวแตก ทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ไม่เอา แล้วควรจะต้องทำแบบต่อเนื่อง การออกแบบกระทรวงใหม่ต้องไม่ใช่แค่การโครงสร้างหรือระบบ แต่ยังต้องตอบโจทย์ประเทศ ตอบโจทย์เอกชน และตอบโจทย์ชุมชนให้ได้ ” ดร.สุวิทย์กล่าว
ประเทศที่พัฒนาแล้ววิจัยส่วนใหญ่มาจากเอกชน ไม่ใช่มาจากรัฐ แต่ ณ วันนี้วิจัยเราอาจจะยังต้องมาจากรัฐ แต่ต้องเป็นรัฐที่ตอบโจทย์เอกชน ไปตอบโจทย์ชุมชน เป็นโจทย์การวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ก็มีสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์รวมอยู่ด้วย เพราะเราต้องการสร้างคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ไม่ใช่เรื่องวิทยาศาสตร์อย่างเดียว
“แต่ที่ผ่านมาทุนวิจัยเกือบ 70- 80% เทลงไปแบบสะเปะสะปะ วันนี้เราบอกว่าไม่ได้ โอเคว่ามหาวิทยาลัยนั้นความเป็นอิสระของเขา เขาอยากจะทำอะไรก็ทำได้ แต่ได้แค่ระดับหนึ่ง แต่วันนี้เราบอกว่าไม่เอาแล้ว ส่วนหนึ่งอาจจะวิจัยจากข้างล่างขึ้นมาไม่ว่ากัน แต่อย่างน้อยจะต้องมีวิจัยจากข้างบนลงไปเป็น agenda based”
ดร.สุวิทย์กล่าวย้ำว่าจากนี้ไปมีโจทย์ให้ สมมติรัฐบาลมีนโยบายทำอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ก็จะมีอุตสาหกรรมบางอย่างที่เทคโนโลยีไม่ได้ใช้แค่ทางการทหาร ยังใช้ทางเอกชนได้ เช่น โดรน หรือ intelligent system เป็นเทคโนโลยีสองทาง กระทรวงกลาโหมมีโจทย์ให้ทำเรื่องนี้ อย่างนี้คุ้ม และมันจะเกิดขึ้นมาเร็วมาก
“ท่านายกฯ ไปมหาวิทยาลัยทุกแห่ง บ่นว่ามหาวิทยาลัยโชว์โรบอทเหมือนกันไปหมด คือทุกคนเริ่มจากศูนย์เหมือนกัน แทนที่ของเบสิกคุณไปร่วมกันทำแล้วไปต่อให้ลึก เช่น ไปเก่งเรื่องเมดิคัลโรบอท อินดัสเตรียลโรบอท เซอร์วิสโรบอท ต่างคนต่างเก่ง แต่ตอนนี้กลายเป็นทุกคนเริ่มจากศูนย์เหมือนกันหมด
“ฉะนั้นเราบอกเลยว่าวันนี้คุณต้องเก่งบางเรื่องบนโจทย์ที่เราให้ ถ้าคุณไม่เก่งจริงเราเอาเงินออก ถ้าคุณเก่งจริงเราให้ต่อ และให้แบบมีโมเมนตัม ฉะนั้นแต่ละมหาวิทยาลัยหรือแต่ละสถาบันวิจัยจะเริ่มแกร่ง และเริ่มรู้ว่าเก่งเรื่องอะไร เก่งให้สุด ไม่ใช่เก่งทุกเรื่อง วันนี้เก่งเฉพาะตัวทุกเรื่อง แต่เก่งได้ไม่กี่คน มันไม่ใช่เป็นสถาบัน แต่เราต้องการให้เขาเก่งจนกระทั่งเขาฟอร์มเป็นสถาบันได้”
“ฉะนั้นการปรับโครงสร้างกระทรวงใหม่ครั้งนี้ จริงๆ ไม่มีอะไรแปลกใหม่ เพียงแต่เราpoor management คือของมีอยู่ในมือ แต่ร้อยเรียงไม่เป็น ถมเงินลงไปกี่หมื่นล้านก็ไม่ได้ผล ดังนั้นวิธีง่ายๆ คือจัดระเบียบใหม่ แล้วชี้นำว่าประเทศต้องการแบบนี้” ดร.สุวิทย์อธิบาย
วิทยาศาสตร์ตอบภาคประชาชน ใช้ “STEM” reskill ประชาชน
ดร.สุวิทย์กล่าวย้ำว่าการออกแบบกระทรวงใหม่ต้องเป็น “วิทยาศาสตร์ตอบภาคประชาชน” เพราะในอนาคตประชาชนส่วนใหญ่จะตกงาน ถ้าไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่มาจากสเต็ม (STEM) คือ วิทยาศาสตร์ (science), เทคโนโลยี (technology), วิศวกรรม (engineering), คณิตศาสตร์ (mathematic)
“เราจะต้องเอาสเต็มไปฝังอยู่ในประชาชนให้ได้ ผมจึงตั้ง Career for the Future Academy จะเห็นได้ว่ามันไม่ใช่วิทยาศาสตร์เพียวๆ แล้ว มันจะเหมือนเป็นการเอาทักษะที่ต้องใช้วิทยาศาสตร์ไปไว้ที่ประชาชน ไป reskill เขา เพราะว่าจะมีคนตกงาน เพราะสกิลเราเปลี่ยน”
เพราะฉะนั้น career นี้จะต้องทำหน้าที่ reskill, upskill คน แล้วทำยังไงให้สเต็มไปฝังอยู่ในเด็กรุ่นใหม่ของเรา ไม่อย่างนั้นเด็กก็จะไปทำในสิ่งง่ายๆ อย่างไปเรียนสังคมศาสตร์ซะเยอะ ซึ่งก็ไม่ว่ากัน แต่ประเด็นคืออาชีพเกือบทุกอาชีพ ไม่ใช่แค่เรื่องหุ่นยนต์หรือวิทยาศาสตร์ หลายอาชีพไม่ว่าอาชีพไหนก็ตาม มันต้องใช้สเต็ม
ฉะนั้น มันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ถึงบอกว่าต้องจัดทัพใหม่ คุณจะตั้งกระทรวงนี้ขึ้นมา ไม่ใช่เท่ห์ๆ แล้วไปตั้ง แต่ตั้งมาแล้วตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้เสียอะไรก่อน
“มหาวิทยาลัยก็เหมือนกัน คุณจะไปตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้เสียอย่างไร เพราะมหาวิทยาลัยในอนาคต มันไม่ได้ตอบโจทย์คนอายุ 18 ถึง 22 แน่ๆ แต่มันตั้งแต่ 15 ถึง 70 แล้ว ใครว่างๆ จะมาเติมความรู้ก็ให้มาเติมที่มหาวิทยาลัย เขาไม่มาเสียเวลา 4-5 ปีในมหาวิทยาลัยแล้ว”
ทำนองเดียวกันกับวิทยาศาสตร์ แต่เดิมเราไปเอ็นจอยอยู่กับแพลตฟอร์มเดียว คือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผมบอกไม่เอา แต่วันนี้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิจัยถึงจุดหนึ่ง คุณต้องสามารถที่จะจัดการมันได้ว่าเอาเอกชนมาลงทุนเทคโนโลยีการเงิน ทำโฮลดิ้งส์คอมพานี บางทีถ้ามันดี ให้เป็นสตาร์ทอัปไปเลย หรือไปเทคโอเวอร์เทคโนโลยีนี้แล้วเอาไปให้เอกชนเราใช้เลย เป็นต้น
รวมทั้งต้องไปตอบโจทย์เอสเอ็มอี สตาร์ทอัป หรือใครต่อใครอย่างไร ถ้าไม่สามารถทำอย่างนี้ได้ เท่ากับเราก็ยังซัพพลายไซด์ ดังนั้น ตรรกะการออกแบบกระทรวงใหม่ ไม่ใช่แค่ออกแบบ 4 แท่ง 5 แท่งเหมือนในอดีตแล้วสะปะสะปะ แต่มีกลไก โดยพยายามจะมองโลกในศตวรรษที่21
3 คำ ภารกิจใหม่ของกระทรวงที่ร้อยเรียงใหม่ คลี่ใหม่ จัดระเบียบใหม่
จากที่อธิบายมาทั้งหมด ดร.สุวิทย์ขมวดสรุปประเด็นว่า ภารกิจของกระทรวงใหม่มี 3 คำ ประกอบด้วย
1. กระทรวงนี้เป็น “Future Setting” เชื่อมปัจจุบันกับอนาคตของประเทศ เพราะงานวิจัยคือองค์ความรู้ อาจเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิด หรือเกิดแล้วจะทำอย่างไรให้เกิดพลัง แล้วแปลงเป็นนวัตกรรม
2. “Game Changer” จะต้องเป็นกระทรวงที่สามารถทำงานบนโมเดลธุรกิจแบบใหม่ หรือระบบนิเวศแบบใหม่ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะไม่อย่างนั้นจะถูก disrupt ซึ่งวิธีแก้ก็คือ คุณก็ต้องทำตัวให้ disrupt
“โจทย์การทำงานจะต้องใช้ประโยชน์จาก disruptive technology อย่างประเทศอิสราเอสที่บอกว่า เมื่อถูก disruption วิธีการก็คือคุณต้อง reinvention ดังนั้นคีย์เวิร์ด reinvention ก็คือ game changer ซึ่งก็คือจะ reinvent นั่นเอง เช่น game changer ทางด้านเฮลท์แคร์ ก็คือ reinvent เฮลท์แคร์ หรือ game changer ด้านการศึกษา ก็คือ reinvent การศึกษา หรือ reinvent ซิตี้”
3. กระทรวงนี้ต้องสร้าง “Innovative Capacity Building” คือสร้างขีดความสามารถหรือสมรรถนะที่จะนำไปสู่นวัตกรรม ซึ่งเป็นคีย์เวิร์ดเรื่อง talent technology
“สามคำนี้เป็นภารกิจของกระทรวงนี้ future setting, game changer, และ innovative capacity building สามคำนี้มันจะนำพาประเทศไทยไปสู่ 4.0 แล้วจะทำได้ หัวใจคือมหาวิทยาลัย แต่มหาวิทยาลัย ณ วันนี้ ถ้าร้อยเรียงใหม่ให้ดี คลี่ใหม่ จัดระเบียบใหม่ แต่ละกลุ่มเก่งคนละแบบไม่เป็นไร ตอบโจทย์คนละแบบ เราจะได้เอาศักยภาพคนเก่งออกมาให้เยอะ อยู่ที่โจทย์ที่เราตั้ง เพราะไม่อย่างนั้นก็ติดกับดักอยู่แบบเดิม”
“ส่วนกระทรวงวิทย์ สวทช. (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) ก็ต้องคลี่ใหม่ จัดใหม่ แต่เราไม่ได้คลี่ใหม่จัดใหม่เฉพาะวิทยาศาสตร์ เรายังทำเรื่องสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ ด้วย”
เศรษฐกิจ 3 วง ขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0
แน่นอนว่า ภารกิจอันท้าทายของกระทรวงใหม่นี้ สุดท้ายแล้วจะกลับมาที่การตอบโจทย์เรื่องขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่ง ดร.สุวิทย์ยืนยันว่า “…สิ่งที่กล่าวมาต้องกลับมาที่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งจริงๆ ก็คือ เราต้องการตอบโจทย์ประเทศไทยในศตวรรษที่ 21” พร้อมกับอธิบายว่า
“ไม่มีใครสงสัยหรอกว่าคุณต้องเป็น innovation driven economy ซึ่งนวัตกรรมเกิดจากปัญญา เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ เกิดจากเทคโนโลยี แต่เราต้องการแค่นั้นหรือเปล่า เพราะเทคโนโลยีเป็นดาบสองคม”
แต่ “innovation-driven economy” ที่เราสร้างขึ้นมา จะเปลี่ยนจาก value added เป็น value creation economy ที่ผมเคยพูดว่าจาก more for less ทำมากได้น้อย มาเป็น less for more ทำน้อยได้มาก ได้อย่างไร และคำถามใหญ่คือ ใครจะทำ?
“โลกอนาคตน่ากลัวนะครับ เพราะว่าเทคโนโลยีมักจะตกอยู่กับคนรายใหญ่ ดูตามเทรนด์แล้วคนชั้นกลางจะน้อยลง คนรวยจะรวยจัด คนจนก็จะจนจัด มันจะเป็นไบโพลาร์ วันนี้เราเจอแล้ว ตอนนี้ทำไมเศรษฐกิจดูเหมือนไม่ค่อยไปไหน ทั้งที่ตัวเลขเศรษฐกิจดี มาจากอันนี้”
เพราะฉะนั้นไทยแลนด์ 4.0 innovation driven อย่างเดียวไม่พอ ต้อง distributive economy ต้องทำอย่างไรที่ทำออกมาแล้วกระจายให้ได้
“วิธีการกระจาย เช่น ทำไม digital transformation ถึงต้องรีบทำ เพราะดิจิทัลเป็นดาบสองคม ถ้าคุณกระจายเท่าไหร่ โอกาสที่สตาร์ทอัปหรือเอสเอ็มอีได้ใช้ หรือชาวนาได้ใช้จริง มันจะเร็วมาก แต่ในทางกลับกัน ถ้าคุณไม่ทำ ดิจิทัลมันจะกลายเป็น device แยกคนที่รู้กับคนไม่รู้ ฉะนั้น digital transformation สำหรับผม ส่วนหนึ่งคือมันไปตอบโจทย์ distributive economy”
แต่ distributive มันหมายถึงว่า จะทำยังไงที่เทคโนโลยีนั้น คนส่วนใหญ่สามารถเอาไปใช้ได้ ไม่ใช่แค่คนส่วนน้อย ก็กลับมาสู่เรื่องสมาร์ทฟาร์เมอร์ สมาร์ทเอสเอ็มอี ฯลฯ
แต่แค่นี้ไม่พอ เพราะนั่นตอบโจทย์ความมั่นคง ส่วนนวัตกรรมตอบโจทย์ความมั่งคั่ง หรือ distribution ตอบโจทย์ความมั่นคง ทำให้คนขัดแย้งน้อยลง แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ความยั่งยืน ปัญหาของประเทศไทยยังมีทั้งเรื่องขยะ สิ่งแวดล้อม เละไปหมด เพราะฉะนั้นจึงเป็นที่มาของ “circular economy”
“เพราะฉะนั้นไทยแลนด์ 4.0 จึงมีสามวง วงแรก คือ innovation-driven economy วงที่สองคือ distributive economy และวงที่สามคือ “circular economy” นี่คือไทยแลนด์ 4.0
ดังนั้นกระทรวงใหม่ทำไมต้องร้อยเรียงใหม่ คลี่ใหม่ จัดระเบียบใหม่ ทำไม”ราชภัฏ” ต้องมาเน้นเรื่องความยากจน เพราะมันจะ distributive economy จึงให้ราชภัฏมาเน้นตรงนี้ ส่วนมหาวิทยาลัยเก่งๆ มหิดล จุฬาฯ คุณไปทำ innovative หรือบางครั้งเป็น circular ในเชิงพื้นที่ก็ได้ หรือ circular ในภาพใหญ่ของโลกอย่าง climate change
เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยในกระทรวงใหม่ สามารถตอบโจทย์ทั้งสามส่วน แล้วแบ่งงานกันทำ หรือการวิจัยก็เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มีเทคโนโลยีพร้อมใช้สำหรับเกษตรประเภทต่างๆ เช่น เรื่องอาหาร สมุนไพร และในสมุนไพร จริงๆ มันมี herbal city เป็นสิบ ถ้าทำดีๆ ซึ่งพลังในการทำเรื่องเหล่านี้ส่วนหนึ่งอยู่ที่มหาวิทยาลัย
ดังนั้นเมื่อจับมาอยู่ด้วยกัน แล้วทำเรื่องเหล่านี้ ถ้าแบ่งงานกันดีๆ ผนึกกำลังกันดีๆ นี่คือไทยแลนด์ 4.0 มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน มันไปด้วยกันหมด
อ่านต่อ “ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์” ชู circular economy กับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของไทย