ThaiPublica > เกาะกระแส > “ศุภชัย ศรีศุภอักษร” ซุกที่ดินสหกรณ์ฯ คลองจั่น ค้นบ้านพบที่ดิน 54 แปลง 1,527 ไร่ อายัดรอตรวจสอบ – คดีที่ดิน ”อลิสา อัศวโภคิน” คาดเสร็จกลางเดือนหน้า

“ศุภชัย ศรีศุภอักษร” ซุกที่ดินสหกรณ์ฯ คลองจั่น ค้นบ้านพบที่ดิน 54 แปลง 1,527 ไร่ อายัดรอตรวจสอบ – คดีที่ดิน ”อลิสา อัศวโภคิน” คาดเสร็จกลางเดือนหน้า

9 มิถุนายน 2015


DSC_2468
พ.ต.ท. ปกรณ์ สุชีวกุล (ซ้าย) ผู้อำนวยการ ส่วนตรวจ 2 สำนักเทคโนโลยีและการตรวจสอบ (สทศ.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ, นางสุวณา สุวรรณจูฑะ (กลาง) อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ, พ.ต.ท. สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ (ขวา) ผู้อำนวยการกองคดีพิเศษ 3 กรมสอบสวนคดีพิเศษ

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2558 พ.ต.ท. สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองคดีพิเศษ 3 กรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวภายหลังการประชุมติดตามผลคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น ครั้งที่ 14 ระบุความคืบหน้าของการสอบสวนเส้นทางการเงินของ นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์ฯ คลองจั่น และเครือข่ายที่ร่วมยักยอก ว่าการเข้าตรวจค้นสำนักงานและที่พักของนายศุภชัย ณ ชั้น 2 ของอาคารยูทาวเวอร์ ถนนศรีนครินทร์ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 พบเอกสารรวมถึงเอกสารสิทธิ์ที่ดินในหลายจังหวัด ซึ่งมีทั้งเอกสารสิทธิ์ตัวจริงและส่วนที่เป็นสำเนา

สำหรับตัวจริง ทั้งหมดเป็นเอกสารสิทธิ์ นส.3 ก. ในพื้นที่ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ทั้งหมด 680 แปลง เนื้อที่ 1,616 ไร่ คิดราคาประเมินราว 116 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดดีเอสไอลงพื้นที่เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2558 เพื่อตรวจสอบความถูกต้องกับสำนักงานที่ดินในพื้นที่ พบว่ามีเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นทั้งหมด ตามที่ระบุใน นส.3 ก.

ส่วนเอกสารสำเนาที่ดิน มีทั้งที่เป็นโฉนด และ นส.3 ก. อยู่ในพื้นที่หลายจังหวัด ทั้งหมด 54 แปลง คิดเป็นเนื้อที่ถึง 1,527 ไร่ ได้แก่

1. ที่ดิน อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี จำนวน 14 แปลง เนื้อที่ 130 ไร่ มีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์

2. ที่ดิน อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี จำนวน 3 แปลง เนื้อที่ 304 ไร่ มีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์

3. ที่ดิน อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์, อ.เมือง จ.สมุทรปราการ, อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี, อ.สามโคก จ.ปทุมธานี และในกรุงเทพมหานคร จำนวน 12 แปลง เนื้อที่ 78 ไร่ ส่วนนี้มีสหกรณ์ฯ คลองจั่นเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์

4. ที่ดิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา และ จำนวน 25 แปลง เนื้อที่ 1,014 ไร่ มีสหกรณ์ฯคลองจั่นเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์

การดำเนินการจากนี้จะส่งมอบที่ดินคืนให้กับสหกรณ์ฯ คลองจั่น เฉพาะส่วนที่มีเอกสารสิทธิ์ตัวจริง แต่ส่วนที่เป็นสำเนาจะอายัดไว้เพื่อรอตรวจสอบความถูกต้องของผู้ถือครองพื้นที่ที่ถูกต้องในปัจจุบัน รวมถึงการได้มาของทรัพย์สินกับข้อมูลของสำนักงานที่ดินในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ทรัพย์สินที่พบใหม่นี้อยู่นอกรายการอายัดทรัพย์ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เมื่อปี 2556

พ.ต.ท. สมบูรณ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังพิจารณาคำร้องของสหกรณ์ฯ คลองจั่น เพื่อให้ดีเอสไอถอนอายัดทางอาญาสำหรับที่ดิน 4 แปลง ใกล้วัดพระธรรมกาย เนื้อที่ 46 ไร่ มูลค่า 321.4 ล้านบาท ใน อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยสหกรณ์แนบคำสั่งศาลแพ่งประกอบการพิจารณา แต่ที่ประชุมมีมติยังไม่ถอนอายัดเนื่องจากกังวลข้อกฎหมาย จึงตั้งอนุกรรมการไปศึกษารายละเอียดว่าสามารถทำได้โดยไม่ขัดกฎหมายหรือไม่

ทั้งนี้ ที่ดิน 4 แปลง มีที่มาจาก เมื่อปี 2552 นายศุภชัยยักยอกเงินสหกรณ์ฯ 321.4 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นของบริษัทเอ็มโฮม เอสพีวี 2 พร้อมกับที่ดินในนามของเอ็มโฮมฯ แต่ในปี 2556 ปปง. เข้าอายัดที่ทั้งหมดจากบริษัทเอ็มโฮมฯ ซึ่งปัจจุบันมีการซื้อขายเปลี่ยนมือเพื่อทำธุรกิจอย่างหนาแน่น ดังนั้น กลุ่มทุนบนพื้นที่จึงรวมตัวเจรจากับสหกรณ์ฯ คลองจั่นในชั้นศาล โดยกลุ่มทุนยอมซื้อคืนในราคาที่นายศุภชัยยักยอกไป 321.4 ล้านบาท เพื่อแลกกับการถอนอายัดที่ดิน

ตัวแทนจากกลุ่มทุนจากซ้ายมาขวา เสื้อสีเขียวตัวแทนจากตลาดไท, นายอเนก คำชุ่ม (ทนายความนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คดีจำนำข้าว),นายธวัชกิตน์ ธนานันท์ตรากูล ผู้ถือหุ้นใหญ่เอ็มโฮมและนพ.บรรลือ กองไชย กรรมการและผู้ถือหุ้นเอ็มโฮม มอบเช็คเพื่อชำระหนี้จำนวน 321.4 ล้านบาทแลกกับถอนอายัดที่ดินแก่ผู้บริหารสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558
ตัวแทนจากกลุ่มทุนจากซ้ายมาขวา เสื้อสีเขียวตัวแทนจากตลาดไท, นายอเนก คำชุ่ม (ทนายความนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คดีจำนำข้าว),นายธวัชกิตน์ ธนานันท์ตรากูล ผู้ถือหุ้นใหญ่เอ็มโฮมและนพ.บรรลือ กองไชย กรรมการและผู้ถือหุ้นเอ็มโฮม มอบเช็คเพื่อชำระหนี้จำนวน 321.4 ล้านบาทแลกกับถอนอายัดที่ดินแก่ผู้บริหารสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558

อนึ่ง กลุ่มทุนดังกล่าวได้เจรจาไกล่เกลี่ยตกลงกันเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558 โดยได้นำเงินจำนวน 321.4 ล้านบาท มาชำระคืนสหกรณ์ฯ คลองจั่น

ด้านความคืบหน้าการสอบสวนอีก 2 คดีพิเศษ ที่ต่อยอดจากคดียักยอกทรัพย์หลักในข้อกล่าวหาฟอกเงินอาญาเกี่ยวกับที่ดิน ได้แก่คดีพิเศษที่ 68/2558 กล่าวหานายสถาพร วัฒนศิรินุกูล อดีตพระวัดพระธรรมกาย และคดีพิเศษที่ 70/2558 กล่าวหานางสาวอลิสา อัศวโภคิน ทายาทนักธุรกิจชื่อดัง ซึ่งทั้งสองคดีสอบสวนก้าวหน้าประมาณ 60% โดยสอบปากคำฝั่งเจ้าของที่ดินเดิมกับผู้ขายไปแล้ว ส่วนผู้ซื้อที่ดินจากนายศุภชัย กรณีนางสาวอลิสา คาดว่าจะเรียกสอบปากคำช่วงปลายเดือนมิถุนายน และคาดว่าจะสรุปสำนวนการสอบสวน 2 คดีนี้ได้ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม

พ.ต.ท. ปกรณ์ สุชีวกุล ผู้อำนวยการสำนักคดีการเงินการธนาคาร ในฐานะหัวหน้าชุดสอบสวนเส้นทางการเงิน เปิดเผยความคืบหน้าการสอบปากคำพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย หลังปรากฏหลักฐานรับเช็คบริจาคจากนายศุภชัย 13 ฉบับ มูลค่า 684 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดพนักงานสอบสวนไปสอบปากคำถึงในวัดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน โดยระบุว่า ต้องสอบปากคำพระมหาบุญชัย จารุทัตโต ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน วัดพระธรรมกายเพิ่มเติม ซึ่งเป็นบุคคลที่พระธัมมชโยอ้างว่าเป็นผู้ดูแลการรับเงินบริจาคแทนเจ้าอาวาส และจะเชิญสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อสอบถามมาตรฐานการทำบัญชีรายรับรายจ่าย รวมถึงวิธีการรับเงินบริจาคที่เหมาะสมเพื่อเปรียบเทียบกับวิธีของวัดพระธรรมกาย

นอกจากนี้ การสอบปากคำพยานที่รับเช็คยักยอกสั่งจ่ายจากนายศุภชัยกว่า 878 ฉบับ มูลค่า 11,367 ล้านบาท ปัจจุบันสอบพยานไปแล้วกว่า 50 ปาก ทำให้สรุปสำนวนที่มาของเช็คสั่งจ่ายได้กว่า 500 ฉบับ ซึ่งจะเร่งส่งสำนวนให้ทางอัยการพิเศษดำเนินการต่อภายในสัปดาห์นี้ ส่วนเช็คที่เหลืออีกกว่า 300 ฉบับ จะเร่งสอบพยานที่เหลือและขอเอกสารยืนยันเส้นทางการเงินจากธนาคาร

โดยในวันพุธที่ 10 มิถุนายน 2558 จะเรียกสอบพยานนายสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา หรือ “เสี่ยบิ๊ก” ประธานสโมสรฟุตบอลอินทรีเพื่อนตำรวจ หลังจากเลื่อนนัดในวันนี้ (9 มิ.ย.) ซึ่งปรากฏหลักฐานว่าช่วง ปี 2552 นายสัมฤทธิ์ทำธุรกรรมกู้ยืมเงินราว 20 ล้านบาท จากนายวัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์ หนึ่งในเครือข่ายรับเช็คจากนายศุภชัยมากถึง 2,500 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สัปดาห์ที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษตั้งข้อกล่าวหาว่า นายสัมฤทธิ์ในฐานะเจ้าของบริษัท บิลเลียน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป ซึ่งใช้หลักทรัพย์ปลอมเพื่อค้ำประกันการกู้ยืมเงินกองทุนฌาปนกิจสงเคราะช่วยเพื่อนครู (ช.พ.ค.) จาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ไปกว่า 3,000 ล้านบาท โดยอ้างว่านำไปลงทุนสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แต่เมื่อตรวจสอบไม่พบการดำเนินการใดๆ