ThaiPublica > เกาะกระแส > คดีที่หายไป – 4 ปีคดีบิลลี่ “พอละจี รักจงเจริญ” ครอบครัวยังคงรอคอยความยุติธรรม

คดีที่หายไป – 4 ปีคดีบิลลี่ “พอละจี รักจงเจริญ” ครอบครัวยังคงรอคอยความยุติธรรม

18 เมษายน 2018


“พิณนภา พฤกษาพรรณ” หรือ “มึนอ” ภรรยาของ”พอละจี รักจงเจริญ” หรือ “บิลลี่” แกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ. ที่หายตัวไป

วันที่ 17 เมษายน 2561 เป็นวันครบรอบ 4 ปีการหายตัวไปของ “พอละจี รักจงเจริญ” หรือ “บิลลี่” นักปกป้องสิทธิมนุษยชนบ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งจนถึงวันนี้ยังไม่มีใครพบเห็นเขาอีกเลย ส่วนการสืบสวนการหายไปในทางคดีก็แทบไม่มีความคืบหน้ามากนัก และค่อยๆ เงียบหายไป

ล่าสุด วันเดียวกันนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์เนื่องในวาระครบรอบ 4 ปีการหายตัวไปของบิลลี่ โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 บิลลี่หายตัวไปที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หลังถูกควบคุมตัวในวันเดียวกัน โดยเจ้าหน้าที่อุทยานซึ่งระบุว่าพวกเขาควบคุมตัวบิลลี่ไว้เนื่องจาก “การมีไว้ในครอบครองซึ่งน้ำผึ้งป่าอย่างผิดกฎหมาย” แต่ได้ปล่อยตัวเขาไปในวันนั้น

อย่างไรก็ตาม มีพยานหลักฐานซึ่งสนับสนุนข้อสันนิษฐานที่ว่า บิลลี่ตกเป็นเหยื่อการบังคับบุคคลให้สูญหายและการสูญหายโดยไม่สมัครใจ ซึ่งนับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง และเป็นอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ

แอมเนสตี้จึงเรียกร้องอีกครั้งให้ทางการไทยทำการสอบสวนการหายตัวไปของบิลลี่อย่างเป็นอิสระ เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และเยียวยาครอบครัวของเขาและผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ รวมทั้งนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และถึงเวลาแล้วที่ทางการไทยต้องกำหนดให้มีกรอบและสถาบันทางกฎหมาย เพื่อป้องกันและส่งเสริมการเยียวยากรณีการสูญหายโดยไม่สมัครใจและการบังคับบุคคลให้สูญหาย และยอมรับสิทธิของผู้เสียหาย รวมทั้งครอบครัวของผู้สูญหายและบุคคลหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการสูญหาย ซึ่งสำหรับพวกเขาแล้ว การสูญหายของบุคคลเป็นการละเมิดที่ต่อเนื่องและเป็นสาเหตุของความทุกข์อย่างยิ่ง

ที่ผ่านมาแอมเนสตี้พบว่าครอบครัวของบิลลี่ต้องเผชิญกับอุปสรรคนานัปการ ตั้งแต่ความล้มเหลวในการสอบสวนเพื่อหาตัวบิลลี่ ไปจนถึงความล่าช้าในการผ่านร่างกฎหมายเพื่อเอาผิดกับผู้กระทำการบังคับบุคคลให้สูญหาย นอกจากนี้ การแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย กลับลดหย่อนมาตรการคุ้มครองเพื่อป้องกันการสูญหายของบุคคล และลดทอนมาตรการป้องกันทางกฎหมายที่สำคัญไม่ให้เกิดการละเมิดเช่นนั้นขึ้น

แอมเนสตี้จึงเรียกร้องทางการไทยเร่งรัดการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ให้สอดคล้องกับพันธกรณีตามกฎหมายของประเทศไทย รวมทั้งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) และให้ผ่านเป็นกฎหมายโดยเร็ว นอกจากนี้ ประเทศไทยควรปฏิบัติตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อเดือนมีนาคม 2560 เพื่อให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามรับรองอนุสัญญาไปก่อนหน้านี้แล้ว

ก่อนหน้านี้ “มึนอ-พิณนภา” ภรรยาของบิลลี่ เคยเล่าย้อนเหตุการณ์หายตัวไปของบิลลี่กับไทยพับลิก้าว่า ช่วงนั้นเป็นช่วงสงกรานต์ เมษายน 2557 บิลลี่อยู่ที่บ้าน อยู่กับครอบครัว ที่ตำบลป่าเด็ง (อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี) วันสุดท้ายที่เขาอยู่คือวันที่ 15 เมษายน ก่อนจะออกจากบ้านไป แต่ไม่ได้บอกว่าจะออกนอกบ้านไปค้างกี่คืน เขาบอกแค่ว่า เขามาทำหน้าที่ อบต. เพราะเขาเป็นสมาชิก อบต.ห้วยแม่เพรียงด้วย

“วันแรกที่เขาหาย ก็ไม่รู้นะ เขาหายวันที่ 17 เมษายน 2557 พอวันที่ 18 เมษายน พี่ชายพี่บิลลี่โทรถามหนูว่า เห็นบิลลี่กลับไปถึงบ้านหรือยัง หนูก็บอกว่ายังไม่เห็นเลย เพราะพี่บิลลี่บอกว่าจะไปทำหน้าที่ อบต. แล้วก็จะไปหาแม่ด้วย หนูก็ถามว่า ไม่เจอกันหรือ”

“พี่ชายพี่บิลลี่ก็บอกว่า เจอแล้วเมื่อวาน แต่พี่บิลลี่ลงมาข้างล่างแล้ว แต่มีคนบอกว่า มีคนเจอว่าพี่บิลลี่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแก่งกระจานควบคุมตัว ข้อหาที่เอาน้ำผึ้ง แล้วพี่ชายพี่บิลลี่ก็โทรหาพี่บิลลี่ไม่ติด ไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เอาไปไว้ที่ไหน”

มึนอเชื่อว่าการหายตัวไปของบิลลี่ไม่ใช่เรื่องน้ำผึ้งแน่นอน แต่เหตุของการหายตัวไปน่าจะเป็นเพราะบิลลี่ช่วย “ปู่คออี้” (นายโคอิ มีมิ) และชาวบ้าน ที่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เผาบ้าน เผายุ้งข้าว เมื่อปี 2554 พี่บิลลี่จึงเข้ามาช่วยเหลือปู่ พาปู่ไปฟ้องที่ศาลปกครอง น่าจะเป็นจากเรื่องนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะไม่พอใจจากเรื่องนี้ ก็เลยจับตัวไป

มึนอยังเล่าว่า ช่วงเวลาที่บิลลี่ไม่อยู่ ชีวิตครอบครัวค่อนข้างลำบาก ต้องหาเลี้ยงชีพเพื่อเลี้ยงดูลูกๆ 5 คน ต้องดูแลพ่อแม่ของเธอที่เจ็บป่วยบ่อยครั้ง รวมทั้งลุกขึ้นมาเรียกร้องความยุติธรรมให้กับสามี ท่ามกลางความยากลำบากในฐานะผู้หญิงชาวกะเหรี่ยงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง

ที่ผ่านมา มึนอเดินสายไปยื่นหนังสือเรื่องคดีบิลลี่หลายครั้ง ทั้งกับเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้มีอำนาจ สถานทูต กระทั่งองค์การสหประชาชาติ ฯลฯ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ช่วยกระตุ้นและผลักดันความจริงเรื่องสามีของเธอให้ปรากฏ

“หนูก็เรียกร้องตามขั้นตอนกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่ได้มาข่มขู่อะไร จะมีแต่ชาวบ้านด้วยกันในหมู่บ้าน เหมือนกับเขาเตือนว่า อย่าไปเดินเรื่องบิลลี่ เดี๋ยวจะหายเหมือนบิลลี่อีก บางครั้งโดนพูดมาอย่างนั้นก็รู้สึกไม่พอใจ เพราะรู้สึกว่าตัวเองมาถึงขั้นนี้แล้ว ก็เลยบอกชาวบ้านบางคนที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายเดียวกับหนูนะว่า เราก็ไม่ได้ไปเรียกร้องนอกกฎหมาย ทำตามกฎหมายทุกขั้นตอน ในใจคิดว่า ไม่มีความผิดอะไรที่จะต้องกลัว”

“ส่วนครอบครัวก็ลำบากค่ะ ตอนนี้หนูทำทุกสิ่งที่ทำได้ ทำไร่ ปลูกผัก ปลูกข้าว ทอผ้า แต่ปีนี้ไม่มีข้าว ก็ต้องซื้อข้าวกิน แล้วบ้านหนูอยู่ป่าเด็ง อยู่ในเขตอุทยานเหมือนกัน ต้องไปทำไร่อยู่ในเขตอุทยาน แล้วต้องแบกของเดินขึ้นเขา ก็ลำบาก”

“ตอนที่พี่บิลลี่อยู่ก็ช่วยกันทำมาหากิน ช่วยกันปลูกพืชผักขาย ช่วนกันเก็บขาย ตอนนี้เหลือหนูกับลูก 5 คน แล้วก็พ่อกับแม่หนู ก็ไม่ค่อยสบายทั้ง 2 คน ถ้าทำคนเดียว รายได้ครอบครัวมันก็ไม่พอ”

“แต่ยังดีที่ลูกๆ มีเพื่อนๆ ของพี่บิลลี่ที่รู้จัก เขาก็ช่วยให้ทุนการศึกษา ทำให้ดีขึ้นหน่อย หนูก็ส่งเขาเรียนทุกคน เท่าที่ส่งได้นะ ถ้าส่งไม่ได้ ค่อยหาทางใหม่” มึนอเล่าถึงความเป็นอยู่ของครอบครัว

แถลงการณ์แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฉบับเต็ม

ครอบครัวยังคงเฝ้ารอความยุติธรรม สี่ปีหลังการหายตัวไปของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

สี่ปีนับแต่พอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหายตัวไป หลังการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ภาคตะวันตกของประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เสียใจกับความล้มเหลวของทางการไทย กับการที่ครอบครัวยังไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับชะตากรรมและที่อยู่ของบิลลี่ รวมถึงอุปสรรคในขั้นตอนทางราชการต่างๆ ที่มี ขัดขวางการแสวงหาความยุติธรรมของครอบครัวของเขา

โอกาสครบรอบการหายตัวไปของบิลลี่ เป็นสัญญาณเตือนอย่างชัดเจนถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ทางการไทยต้องกำหนดให้มีกรอบและสถาบันทางกฎหมาย เพื่อป้องกันและส่งเสริมการเยียวยากรณีการสูญหายโดยไม่สมัครใจและการบังคับบุคคลให้สูญหาย และยอมรับสิทธิของผู้เสียหาย รวมทั้งครอบครัวของผู้สูญหายและบุคคลหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการสูญหาย ซึ่งสำหรับพวกเขาแล้ว การสูญหายของบุคคลเป็นการละเมิดที่ต่อเนื่องและเป็นสาเหตุของความทุกข์อย่างยิ่ง

ครอบครัวของบิลลี่ต้องเผชิญกับอุปสรรคนานัปการ ตั้งแต่ความล้มเหลวของรัฐที่ไม่สามารถสอบสวนการบังคับบุคคลให้สูญหายอย่างดีพอ ไปจนถึงความล่าช้าในการผ่านร่างกฎหมายเพื่อเอาผิดกับการบังคับบุคคลให้สูญหาย ที่ผ่านมาทางการยังแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งการปรับปรุงแก้ไขดังกล่าว กลับลดหย่อนมาตรการคุ้มครองเพื่อป้องกันการสูญหายของบุคคล และลดทอนมาตรการป้องกันทางกฎหมายที่สำคัญไม่ให้เกิดการละเมิดเช่นนั้นขึ้น

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องอีกครั้งให้ทางการไทยประกันให้มีการสอบสวนอย่างเป็นอิสระ ไม่ลำเอียง เป็นผล และรอบด้าน ต่อการสูญหายของบิลลี่ รวมทั้งสนับสนุนให้การดำเนินงานดังกล่าวเกิดขึ้นโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ จนกว่าจะทราบว่าบิลลี่อยู่ที่ไหน ประกันให้มีการเยียวยาครอบครัวของเขาและผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ รวมทั้งนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

แอมเนสตี้ฯ ยังเรียกร้องให้ทางการไทยเร่งรัดการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายให้สอดคล้องกับพันธกรณีตามกฎหมายของประเทศไทย รวมทั้งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) และให้ผ่านเป็นกฎหมายโดยไม่ชักช้า นอกจากนี้ ประเทศไทยควรปฏิบัติตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อเดือนมีนาคม 2560 เพื่อให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามรับรองอนุสัญญาไปก่อนหน้านี้แล้ว

พอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ มีอายุ 30 ปีขณะที่หายตัวไปที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 หลังถูกควบคุมตัวในวันเดียวกันโดยเจ้าหน้าที่อุทยานซึ่งระบุว่า พวกเขาควบคุมตัวบิลลี่ไว้เนื่องจาก “การมีไว้ในครอบครองซึ่งน้ำผึ้งป่าอย่างผิดกฎหมาย” แต่ได้ปล่อยตัวเขาไปในวันนั้น อย่างไรก็ตาม มีพยานหลักฐานซึ่งสนับสนุนข้อสันนิษฐานที่ว่า บิลลี่ตกเป็นเหยื่อการบังคับบุคคลให้สูญหายและการสูญหายโดยไม่สมัครใจ ซึ่งนับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง และเป็นอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ในช่วงที่หายตัวไป บิลลี่อยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลร่วมกับชาวบ้านกะเหรี่ยงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและนักกิจกรรมอื่นๆ ในการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่อุทยานซึ่งถูกกล่าวหาว่าเผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้านในปี 2553 และ 2554

ความพยายามของญาติที่ต้องการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้ทำคดีนี้ล้มเหลวด้วยเหตุผลทางเทคนิค รวมถึงการที่ทางการไม่ยอมรับสิทธิของพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาและแม่ของลูกห้าคนในฐานะผู้เสียหาย ทำให้เธอไม่สามารถกระทำการในนามของสามี เนื่องจากเธอไม่ได้สมรสตามกฎหมายกับบิลลี่ ยังมีรายงานซึ่งระบุข้ออ้างของทางการไทยว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษไม่สามารถสอบสวนกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหายได้ เนื่องจากไม่พบศพ ซึ่งถือว่าตรงข้ามกับมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการสอบสวนการเสียชีวิตอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องและกระตุ้นทางการไทย ให้แก้ไขการดำเนินงานที่ล่าช้าและยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอในการสอบสวนการหายตัวไปของบิลลี่ ซึ่งเน้นให้เห็นความล้มเหลวอย่างต่อเนื่องของประเทศไทย ในการช่วยให้เหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้รับการเยียวยาและการชดเชยอย่างเป็นผล ความล้มเหลวเช่นนี้ยังก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมาก อันไม่อาจยอมรับได้ ต่อการละเมิดนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นซ้ำรอยในอนาคต จากการทำงานอย่างชอบธรรมเพื่อเยียวยาและเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ในประเทศไทย

อ่าน คดีที่หายไป – 3 ปีคดีบิลลี่ “พอละจี รักจงเจริญ” ภรรยาระบุไม่มีความผิดอะไรที่จะต้องกลัว มั่นใจระบบยุติธรรมแต่คนไม่ปฏิบัติ