ThaiPublica > สู่อาเซียน > วิจัยกรุงศรีชี้ แปรรูปรัฐวิสาหกิจ กุญแจสำคัญเพิ่มประสิทธิภาพเศรษฐกิจเวียดนาม ระบุสามปัจจัยจำเป็นการเชื่อมโยงสู่โลก

วิจัยกรุงศรีชี้ แปรรูปรัฐวิสาหกิจ กุญแจสำคัญเพิ่มประสิทธิภาพเศรษฐกิจเวียดนาม ระบุสามปัจจัยจำเป็นการเชื่อมโยงสู่โลก

7 กันยายน 2019


วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้ออกงานวิจัย “การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ กุญแจสำคัญเพิ่มประสิทธิภาพเศรษฐกิจเวียดนาม”โดยมองว่าเวียดนามได้เริ่มแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างจริงจังครั้งแรกในปี 1986 ภายใต้การปฏิรูป Doi Moi หรือ โด่ย-เหม่ย ถือเป็นการปฏิรูปครั้งสำคัญที่มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยระบบตลาดมากขึ้น โดยลดการผูกขาดของภาครัฐและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน การแปรรูปในระยะแรก (ช่วงปี 1990-1992)ส่วนใหญ่เป็นการแปรรูปกิจการรัฐวิสาหกิจขนาดเล็กและเป็นกิจการที่ไม่ใช่สาขาการผลิตที่เป็นยุทธศาสตร์ ทำให้จำนวนรัฐวิสาหกิจของเวียดนามลดลงมากเกือบครึ่งหนึ่งภายใน 2 ปี จาก 12,000 แห่ง ในปี 1990 เหลือราว 6,500 แห่ง ในปี 1992

หลังจากนั้นการแปรรูปคืบหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไปเนื่องจากกิจการรัฐวิสาหกิจที่เหลือมีขนาดใหญ่และมีความซับซ้อน ทางการเวียดนามจึงใช้วิธีการจัดกลุ่มกิจการรัฐวิสาหกิจที่เหลือ โดยอาศัยแนวคิดการจัดกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในญี่ปุ่นหรือ Chaebolของเกาหลีใต้เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการและแบ่งอำนาจความรับผิดชอบ โดยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม เรียกว่า General Corporation 90 (GC 90) และ GC 91โดยแต่ละ GC จะเสนอรายชื่อรัฐวิสาหกิจที่จะทำการแปรรูปต่อทางการเวียดนาม ซึ่งทำให้ในช่วงต่อมา (ปี1996-2016) รัฐวิสาหกิจในเวียดนามทยอยลดลงไปอยู่ที่กว่า 2,600 แห่ง ณ สิ้นปี 2016 แต่ยังมีจำนวนมากและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสูง โดยมูลค่าสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจดังกล่าวมีสัดส่วนกว่า 1 ใน 3 ของ GDP เวียดนาม

สามปัจจัยจำเป็นการเชื่อมโยงสู่โลก

หน่วยงานภาครัฐของเวียดนามจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ปัจจุบันเศรษฐกิจเวียดนามเปิดกว้างและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกอย่างมาก เห็นได้ชัดจากความเชื่อมโยงทางการค้า โดยสัดส่วนการค้าของเวียดนามเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงถึง 200% ของ GDPในปี 2018 จากเพียง 24% ของ GDP ในปี 1986 ซึ่งเป็นปีที่เวียดนามเริ่มเปิดประเทศครั้งแรก จากสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้น การค้าสินค้า บริการ และการไหลเข้า-ออกของเงินทุนระหว่างประเทศที่คล่องตัวมากขึ้น ทำให้เวียดนามต้องเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้พร้อมรองรับความเปลี่ยนแปลง

ความจำเป็นต้องระดมทุนเพื่อใช้จ่ายในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศจำนวนมากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาประเทศของเวียดนามตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจปี 2016-2020 จากการประเมินโดย UNESCAPและธนาคารโลก ชี้ให้เห็นว่าเวียดนามมีความจำเป็นต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับความพร้อมของประเทศ เป็นจำนวนราว 23-34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี สูงเป็น 2 เท่าของเงินลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2011-2015)

เวียดนามเผชิญภาวะขาดดุลงบประมาณและมีภาระหนี้ภาครัฐในระดับสูง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าใช้จ่ายและหนี้ของรัฐวิสาหกิจปัจจุบันเวียดนามมียอดขาดดุลงบประมาณเฉลี่ย 5.7% ของ GDP (ปี 2013-2017)IMF คาดว่าจะยังคงขาดดุลต่อเนื่องในระดับ 4.7% ของ GDPในปี 2020 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของทางการที่ไม่เกิน 3.5% ของ GDPภายในปี 2020 นอกจากนี้ เวียดนามยังเผชิญปัญหาหนี้ภาครัฐที่อยู่ในระดับสูงและเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 50% ของ GDP ในปี 2011 เป็น 61% ของ GDP ในปี 2015 ซึ่งเป็นระดับที่เข้าใกล้เพดานระยะยาวที่ทางการกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 65% ของ GDP

ประเด็นที่น่ากังวล คือ หนี้ของกิจการรัฐวิสาหกิจ ซึ่งอยู่ในรูปของ หนี้ที่มีรัฐบาลค้ำประกัน และหนี้รัฐบาลท้องถิ่น มีสัดส่วนประมาณ 16% ของหนี้ภาครัฐทั้งหมดหรือ 26% ของGDP ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างสูง เพิ่มขึ้นจาก 15% ของ GDP ในปี 2011 หากเวียดนามสามารถลดค่าใช้จ่ายและภาระหนี้ที่เกิดขึ้นในส่วนของกิจการรัฐวิสาหกิจได้ จะช่วยลดภาระภาครัฐลงได้

      

กลไกขับเคลื่อนการแปรรูป

  • การออกกฎระเบียบใหม่เพื่อกำหนดเป้าหมายแนวทางและกระบวนการแปรรูป
  • การแปรรูปรัฐวิสาหกิจของเวียดนามมีความชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่ปี 2016 โดยรัฐบาลได้แสดงเจตนารมณ์ผ่านการออกกฎระเบียบและข้อกำหนดหลายฉบับ เพื่อเร่งให้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจของประเทศมีความคืบหน้า สำหรับกฎระเบียบที่สำคัญ อาทิ

    1) สื่อสารถึงสาขาเป้าหมายที่ต้องการเร่งแปรรูป คำสั่งนายกรัฐมนตรี วันที่ 28 ธันวาคม 2016 ระบุถึงการแบ่งประเภทรัฐวิสาหกิจในเวียดนาม และ ประกาศรายชื่อรัฐวิสาหกิจที่ต้องการจะแปรรูป ทั้งนี้ จากรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 240 กิจการ ซึ่งยังไม่เคยผ่านการแปรรูปมาก่อน ในจำนวนนี้มีรัฐวิสาหกิจถึง 106 ที่รัฐบาลจะลดการถือ ครองหุ้นให้เหลือไม่ถึง 50% ภายในปี 2020

    2) กำหนดสัดส่วนการถอนการถือครองหุ้นในรัฐวิสาหกิจที่ผ่านการแปรรูปแล้ว เมื่อวันที่ 17สิงหาคม 2017 รัฐบาลเวียดนามได้ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ระบุรายชื่อรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลมีแผนจะถอนการถือครองหุ้นเพิ่มเติมอีก 406 กิจการ และประกาศจำนวนกิจการเป้าหมายที่จะถอนการถือครองหุ้นในแต่ละปี ทำให้นักลงทุนสามารถประเมินและวางแผนการลงทุนในกิจการที่สนใจได้อย่างมีระบบและเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

    3) กฎระเบียบเป็นสากลน่าเชื่อถือและมีความหลากหลายมากขึ้น เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2017 รัฐบาลเวียดนามได้ออกกฤษฎีการะบุแนวทางและกระบวนการในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และแนวทางในการกำหนดราคาหลักทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจเพื่อใช้ในการแปรรูปโดยการกระจายหุ้นต่อไป ซึ่งจะส่งผลดีในการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน และยังสร้างความเสมอภาคแก่นักลงทุนในการลงทุนผ่านการกระจายหุ้นของรัฐวิสาหกิจ

  • กลไกหลากหลายและมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนมากขึ้น
  • รัฐวิสาหกิจที่มีอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่มีขนาดใหญ่ทั้งในแง่มูลค่าสินทรัพย์และจำนวนกิจการในเครือ ทำให้การแปรรูปจำเป็นต้องอาศัยกลไกที่น่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับจากนักลงทุนเข้ามาช่วย เพื่อให้การแปรรูปเป็นไปโดยสะดวกและสามารถดึงดูดการลงทุนได้ตามเป้าหมาย ทั้งนี้ ทางการเวียดนามได้เพิ่มทางเลือกการแปรรูปให้สามารถดำเนินการผ่านการกระจายหุ้น โดย 1)ขายหุ้นบางส่วน และ/หรือ 2)ออกหุ้นที่เสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial Public Offerings: IPOs) เพิ่มเติมจากการแปรรูปในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีทางเลือกเพียงการถอนการถือครองหุ้นของรัฐบาล การยุบ และการควบรวมระหว่างกิจการรัฐวิสาหกิจด้วยกันเท่านั้น

    ทั้งนี้ เพื่อให้การกระจายหุ้นของรัฐวิสาหกิจมีแผนและกำหนดเวลาชัดเจน ทางการเวียดนามได้กำหนดรายชื่อรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่จำนวน 127 กิจการที่มีแผนการแปรรูปด้วยการกระจายหุ้นผ่านการออก IPOs ระหว่างปี 2016-2020 โดยมีการกำหนดรายชื่อรัฐวิสาหกิจที่จะออก IPOsในแต่ละปีอย่างชัดเจน

    การเปิดเสรีการค้าช่วยผลักดันความสำเร็จ

    ในปัจจุบันเวียดนามมีการเปิดเสรีการค้า (Free Trade Agreement: FTA) มากขึ้นและมาตรฐานสูงขึ้นเวียดนามจึงต้องดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับความผูกพันภายใต้ความตกลง FTA ที่มีมาตรฐานสูง

    นับตั้งแต่การปฏิรูป Doi -Moi จนถึง ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2019 เวียดนามมีความตกลง FTA ที่ลงนามและมีผลบังคับใช้แล้วรวม 10 ฉบับ ในจำนวนนี้เป็นความตกลง FTA ที่มีมาตรฐานสูงที่มีผลบังคับใช้แล้ว 1 ฉบับ คือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2018

    นอกจากนี้ เวียดนามยังมี FTA ที่มีมาตรฐานสูงกำลังจะมีผลบังคับใช้อีก 1 ฉบับ คือ ความตกลงการค้าเสรีระหว่างเวียดนามและสหภาพยุโรป (Vietnam-European Union FTA: EVFTA)โดยเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2019 เวียดนามและสหภาพยุโรปได้ลงนาม EVFTA อย่างเป็นทางการ และรัฐสภายุโรปคาดว่าความตกลงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในปี 2019 หรืออย่างช้าต้นปี 2020 อีกทั้งยังอยู่ระหว่างเจรจาความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP)ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง FTA ที่มีมาตรฐานสูงเช่นกัน โดยมีประเทศภายใต้กรอบเจรจารวม 16 ประเทศ (ครอบคลุมสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ รวมทั้ง จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) โดยที่ประชุมผู้นาอาเซียนเห็นพ้องว่าจะเร่งสรุปผลการเจรจาได้ราวเดือนพฤศจิกายน 2019

    การเปิดเสรีด้านการลงทุนหนุนให้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น นับตั้งแต่เวียดนามเข้าเป็นสมาชิก WTO ในปี 2007 เป็นต้นมา เวียดนามได้ทยอยเปิดเสรีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สาขาธุรกิจต่างๆ เปิดกว้างมากขึ้น จนกระทั่งเปิดเสรีเต็มรูปแบบ (นักลงทุนต่างชาติลงทุนได้ 100 %ของจำนวนหุ้นทั้งหมด) ในหลายสาขา อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ การผลิตพลังงานไฟฟ้า รวมถึงธุรกิจบริการ เช่น ก่อสร้าง การขนส่งทางน้ำ และค้าปลีก-ค้าส่ง เป็นต้น

    ด้วยสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนที่เปิดกว้างและการผ่อนคลายระเบียบด้านการลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจุดแข็งสำคัญคือ กิจการรัฐวิสาห กิจส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ผูกขาดหรือผู้นำตลาดในเวียดนาม(อาทิ ธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของเวียดนามที่มีแนวโน้มขยายตัวสูง ปัจจัยบวกเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ แต่ยังเอื้อให้เวียดนามมีโอกาสมากขึ้นในการบรรลุเป้าหมายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

    ยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาตลาดทุน

    ทางการเวียดนามได้กำหนดเป้าหมายที่จะลดจำนวนรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลถือหุ้นเต็มจำนวน (100%) เหลือ 103 กิจการ จากทั้งหมด 240 กิจการภายใต้แผนการแปรรูป ส่วนกิจการที่เหลือจะถูกปรับโครงสร้างและกระจายหุ้นออกไป หากการแปรรูปสำเร็จตามเป้าหมาย รัฐบาลเวียดนามจะสามารถลดค่าใช้จ่ายและภาระหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการแปรรูป อีกทั้งยังทำให้มีรายได้จากการแปรรูปซึ่งช่วยชดเชยการขาดดุลการคลัง ส่งผลให้ฐานะการคลังของเวียดนามมีความเข้มแข็งมากขึ้น

    โดยทางการเวียดนามประเมินว่าแผนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจครั้งนี้จะก่อให้เกิดรายได้จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจจำนวนรวม 250 ล้านล้านด่อง (เฉลี่ย 50 ล้านล้านด่องต่อปี คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5% ของงบประมาณปี 2016 ที่เริ่มแผนแปรรูปรัฐวิสาหกิจ) ซึ่งจะสามารถชดเชยรายจ่ายได้ราว 6.5-9.5% ของเงินลงทุนของรัฐบาลโดยเฉลี่ยต่อปี(ตัวเลขจากการคำนวณโดยวิจัยกรุงศรี)

    การแปรรูปรัฐวิสาหกิจหนุนบทบาทภาคเอกชนและช่วยยกระดับประสิทธิภาพการผลิต ภาคเอกชนมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตั้งแต่ปี 1986 เป็นต้นมา พบว่า สัดส่วนการลงทุนภาครัฐทยอยลดลง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีบทบาทเพิ่มขึ้น (ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากต่างประเทศเป็นหลัก) น่าสังเกตว่า ในช่วงปี 1986-1992 การลงทุนโดยเอกชนเพิ่มขึ้นรวดเร็วจากสัดส่วน 4% ของ GDP ในปี 1986 เป็น 15% ของ GDP ในปี 1992 สอดคล้องกับความคืบหน้าในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจช่วงดังกล่าว ขณะที่ในช่วงปี 2007-2016 สัดส่วนการลงทุนโดยเอกชนกลับชะลอลงตามความล่าช้าของการแปรรูปในช่วงนั้นเช่นกัน โดยสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 27 ของ GDP เป็น 20% ของ GDP ในปี 2016

    นอกจากนี้ยังช่วยให้รัฐวิสาหกิจปรับปรุงผลิตภาพและประสิทธิภาพการผลิต งานวิจัยของ Thanh Hong Nguyen(2016) ที่ศึกษาการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในเวียดนามในช่วงปี 2002-2011 ของสาขาการผลิตใน 24 สาขาการผลิต พบว่า รัฐวิสาหกิจที่ผ่านการแปรรูปแล้ว จะมีผลิตภาพการผลิตเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ย 2.99% ต่อปี กล่าวคือ รัฐวิสาหกิจที่ผ่านการแปรรูปจะมีผลิตภาพสูงกว่าโดยเปรียบเทียบกับก่อนแปรรูป

    อีกทั้งยังหนุนการออก IPOs ของเวียดนามสูงสุดในอาเซียน การแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้วยวิธีการกระจายหุ้นช่วยให้ตลาดหลักทรัพย์เติบโตอย่างรวดเร็ว ในปี 2018 เวียดนามสามารถออก IPOs เป็นมูลค่า 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในจำนวนนี้กว่าครึ่งหนึ่งเป็นการออก IPOs ตามแผนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ส่งผลให้เวียดนามเป็นประเทศที่มีมูลค่าการออก IPOsสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน

    สำหรับปี 2019 คาดว่าจะมีรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ดำเนินการออก IPOs อาทิ VietnamPostsandTelecommunications Group (VNPT), EVN Genco 1 and 2, Agribank, และ MobiFone ทั้งนี้ Baker McKenzieร่วมกับ Oxford Economics ประเมินว่า ด้วยแรงหนุนจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจการออก IPOs ของเวียดนามในช่วงปี 2019-2021จะยังคงมีมูลค่าสูงสุดในภูมิภาคนี้ที่ราว 3.5-4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี

    มูลค่าตลาดหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ของเวียดนามเพิ่มขึ้นรวดเร็วเกือบเท่าตัวในช่วง 5 ปี จาก 21.2%ของ GDP ในปี 2013 เป็น 40.4% ของ GDP ในปี 2017 และเริ่มสูงใกล้เคียงกับตลาดหลักทรัพย์ในอินโดนีเซีย ในระยะนับจากนี้ หากทางการเวียดนามสามารถผลักดันให้รัฐวิสาหกิจสามารถออก IPOsได้เพิ่มขึ้น จะช่วยเสริมการเติบโตของตลาดทุนของเวียดนามให้โดดเด่นต่อไป และมีโอกาสแซงหน้าอินโดนีเซียในไม่กี่ปีข้างหน้าได้

    สาหรับประเด็นท้าทายสำคัญที่อาจทำให้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจล่าช้า คือ ปัจจัยด้านขนาดและความซับซ้อนของโครงสร้างกิจการ เนื่องด้วยรัฐวิสาหกิจที่เป็นเป้าหมายในการแปรรูปนั้น หลายกิจการเป็นกิจการขนาดใหญ่มีความซับซ้อนเชิงโครงสร้างและขอบเขตความรับผิดชอบ ทำให้ต้องอาศัยเวลาในกระบวนการแปรรูปยาวนานกว่าที่ทางการเวียดนามคาดไว้ อาทิ การกำหนดเวลาให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการออกและขาย IPOsให้แล้วเสร็จในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งมีความยากลำบากในทางปฏิบัติ เนื่องจากมีขั้นตอนและกระบวนการที่เกี่ยวข้องมากมาย นอกจากนี้ ปัจจัยความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก อาทิ ประเด็นการปกป้องทางการค้าและความผันผวนของตลาดเงิน อาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติชะลอการตัดสินใจลงทุนออกไป และทาให้การแปรรูปล่าช้าได้

    แม้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในปัจจุบันอาจต้องอาศัยระยะเวลามากตามความซับซ้อนของโครงสร้างองค์กรและอาจต้องเผชิญประเด็นท้าทายอื่นๆ แต่คาดว่าความสำเร็จจากการแปรรูปครั้งนี้จะทำให้ก้าวต่อไปของเวียดนามมีโมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่นาโดยภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยสร้างผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจหลายด้าน อันได้แก่

      1) เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจที่เข้าสู่การแปรรูปซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจการที่มีความสำคัญต่อประเทศ

      2) เพิ่มความมั่นคงทางการคลัง โดยลดการใช้จ่ายภาครัฐและลดภาระหนี้ภาครัฐ รวมทั้งการนำรายได้จากการแปรรูปส่วนหนึ่งมาใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

      3) ช่วยพัฒนาตลาดทุนให้เติบโตต่อเนื่องผ่านการออก IPOs ที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับต้นๆในภูมิภาค

      และ 4) ช่วยดึงดูดการลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะในสาขาการผลิตเพื่อการส่งออก ธุรกิจในภาคเกษตรกรรรม การผลิตพลังงานไฟฟ้า รวมถึงธุรกิจบริการ อาทิค้าปลีก-ค้าส่ง ก่อสร้าง การขนส่ง และโทรคมนาคม

    ทั้งนี้ ผลเชิงบวกดังกล่าวจะช่วยให้เวียดนามมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งขึ้นผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในหลายสาขา ปูทางไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศในระยะยาว