ThaiPublica > เกาะกระแส > จีนปล่อยหยวนอ่อนค่า หวั่นสงครามการค้าลุกลามสู่สงครามค่าเงิน

จีนปล่อยหยวนอ่อนค่า หวั่นสงครามการค้าลุกลามสู่สงครามค่าเงิน

6 สิงหาคม 2019


ที่มาภาพ: https://www.aljazeera.com/ajimpact/yuan-devaluation-draws-battle-lines-china-trade-war-190805113953242.html

เมื่อวานนี้(5 สิงหาคม 2562) ธนาคารกลางจีนได้ปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าทะลุระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์ ลงไปที่ 7.05 ต่อดอลลาร์ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2008

การปรับท่าทีในการดำเนินนโนยายอัตราแลกเปลี่ยนของจีนมีสาเหตุจากการที่สหรัฐฯประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน วงเงิน 300 พันล้านในอัตรา 10% ซึ่งจะผลในวันที่ 1 กันยายนนี้

ธนาคารกลางจีนระบุว่า ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงจากความไม่สมดุลและมาตรการกีดกันทางการค้ารวมทั้งการเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าจีน

โดยปกติแล้ว ค่าเงินหยวนจะไม่มีการซื้อขายอย่างเสรี และรัฐบาลจะจำกัดความเคลื่อนไหวของเงินหยวนเทียบกับเงินดอลลาร์ โดยที่ธนาคารกลางจีนหรือ People Bank of China(PBOC) จะดูแลค่าเงินไม่ให้อ่อนค่าลงไปแตะระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์ซึ่งเป็นระดับที่ถือว่าเป็นระดับสำคัญทางจิตวิทยา รวมทั้งมีการกำหนดอัตราอ้างอิงประจำวันและจะปล่อยให้เงินหยวนเคลื่อนไหวขึ้นลงได้ไม่เกิน 2%

PBOC ไม่มีความเป็นอิสระซึ่งแตกต่างจากธนาคารกลางอื่น และมักถูกกล่าวหาว่าแทรกแซงค่าเงินตลอด เมื่อค่าเงินหยวนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก

จูเลียน อีแวนส์-พริทชาร์ด นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส แห่งแคปปิตอล อิโคโนมิคส์ ให้ความเห็นว่า เมื่อเชื่อมโยงการอ่อนค่าของเงินหยวนกับการประกาศเก็บภาษีจากสหรัฐฯรอบล่าสุด แสดงให้เห็นว่า PBOC ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นอาวุธได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะไม่มีการทำให้อ่อนค่าโดยตรงด้วยการเข้าแทรกแซง

จูเลียน กล่าวอีกว่า จีนมักจะบอกเสมอว่าค่าเงินที่ระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์เป็นเส้นแบ่งของการเข้าไปจัดการแต่ที่ผ่านมาก็ได้เข้าแทรกแซงเพื่อไม่ให้ค่าเงินแตะระดับนี้

เงินหยวนที่อ่อนค่าจะทำให้การส่งออกของจีนแข่งขันได้ดีขึ้น หรือมีราคาถูกลงเมื่อซื้อด้วยเงินสกุลต่างประเทศ และหากมองจากมุมของสหรัฐฯแล้ว ดูเหมือนว่าจีนกำลังพยายามที่จะลดผลกระทบจากอัตราภาษีที่สูงขึ้นที่มีต่อการนำเข้าสินค้าจีนไปยังสหรัฐฯ

นอกจากนี้ดูเหมือนว่าผู้บริโภคทั่วโลกว่าจะได้ประโยชน์ เพราะซื้อสินค้าจีนได้ในราคาที่ถูกลง แต่นั่นก็มีความเสี่ยงรวมอยู่ด้วย เพราะทำให้การนำเข้าสินค้าไปยังจีนมีราคาแพงขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อเงินเฟ้อให้สูงขึ้น และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่แล้วก็มีข้อจำกัดมากกว่าเดิม ตลอดจนทำให้ผู้ที่มีเงินอยู่ในมือหันไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น

ปี 2015 จีนลดค่าเงิน 3 ครั้งรวด

ในปี 2015 วันที่ 11 สิงหาคม PBOC ได้สร้างความตกตะลึงให้กับตลาดด้วยการลดค่าเงินหยวน 3 ครั้งติดต่อกัน ทำให้เงินหยวนอ่อนค่าลงถึง 3% และอยู่ระดับต่ำสุดรอบ 3 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์และหากนับตั้งแต่ปี 2005 จนถึง 2015 เงินหยวนของจีนได้ อ่อนค่า 33% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ และเป็นการลดค่าเงินลงอย่างมีนัยะเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี

ในช่วงนั้นเศรษฐกิจจีนเติบโตในอัตราต่ำ แต่ PBOC ระบุว่า การลดค่าเงินหยวนเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปเพื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยกลไกตลาด อย่างไรก็ตามการลดค่าเงินหยวนปีนั้น ทำให้ทั้งโลกปั่นป่วน

การลดค่าเงินหยวนในปี 2015 เป็นหนึ่งในหลายเครื่องมือทางการเงินที่ PBOC ใช้ในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ ซึ่งรวมไปถึงการลดอัตราดอกเบี้ยและการปรับกฎเกณฑ์ตลาดการเงินให้เข้มงวดขึ้น

การตัดสินใจลดค่าเงินหยวนของจีนในปี 2015 ส่วนหนึ่งยังมาจากความต้องการที่จะผลักดันเงินหยวนให้เข้าไปอยู่ในระบบตะกร้าเงินที่เรียกว่า Special Drawing Rights (SDR) ของIMF

SDR หรือ สิทธิพิเศษถอนเงิน นี้เป็นสินทรัพย์ในสกุลเงินที่สร้างขึ้น โดย IMF และจัดสรรไปให้ประเทศสมาชิกถือครอง เพื่อใช้เสริมเงินสํารองระหว่างประเทศ

IMF จะมีการประเมินสัดส่วนตะกร้าเงิน SDR ทุก 5 ปี ในปี 2010 ได้มีการประเมินเงินหยวนไปแล้วครั้งหนึ่งแต่ไม่ได้นำเข้ามาไว้ใน SDR เพราะไม่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินอื่นๆ (Freely usable) แต่การลดค่าเงินหยวนปี 2015 ซึ่งจีนให้เหตุผลว่าเป็นการปฏิรูปเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจตลาด ได้รับการยอมรับจาก IMF เงินหยวนจึงได้เข้าสู่ตะกร้า SDR ในปี 2016

เงินหยวนมีน้ำหนัก 10.92% ในตะกร้าเงิน SDR มากกว่าเงินเยนของญี่ปุ่นที่มีน้ำหนัก 8.33% เงินปอนด์ของอังกฤษที่มีน้ำหนัก 8.09% ในตะกร้า SDR

สหรัฐฯขึ้นบัญชีประเทศปั่นค่าเงิน

การทำให้สินค้าจีนสามารถแข่งขันได้มากกว่าเดิม คือ ประเด็นหลักที่ทำให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำสงครามการค้ากับจีน และที่ผ่านมาได้กล่าวหาว่าจีนลดค่าเงินเพื่อสนับสนุนการส่งออก แต่จีนก็ไม่ยอมรับและปฏิเสธมาตลอด

จีนยืนยันว่า จะไม่แข่งขันด้วยการลดค่าเงิน โดยนายอี้ กัง ผู้ว่าการ ธนาคารกลางจีน กล่าวว่า จีนจะไม่แข่งขันด้วยการลดค่าเงิน และจะไม่กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อการแข่งขัน การอ่อนค่าของเงินหยวนเกิดจากกลไกตลาด

ในแถลงการณ์ระบุคำพูดของนาย อี้ กังว่า“ผมมั่นใจว่าเงินหยวนจะยังเป็นสกุลเงินที่แข็งค่า แม้เมื่อเร็วๆนี้มีความผันผวนบ้างท่ามกลางความไม่แน่นอนจากภายนอก”

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ทวีตข้อความว่า เงินหยวนที่อ่อนค่าทะลุระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์นันเป็นการปั่นค่าเงิน หลังจากนั้นสหรัฐฯได้ประกาศจัดให้จีนอยู่ในรายการประเทศปั่นค่าเงิน

ในแถลงการณ์กระทรวงการคลังระบุว่า นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะร่วมกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund:IMF) ในการกำจัดข้อได้เปรียบในการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม จากการที่จีนปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าอย่างมาก

กลับเข้าตลาดจำกัดการอ่อนค่า

ในวันนี้(6 สิงหาคม 2562) ธนาคารกลางจีนได้เข้าตลาดเพื่อจำกัดการอ่อนค่าของเงินหยวน และยืนยันว่าจะไม่ใช้การลดค่าเงินเพื่อการแข่งขัน และเช้าวันเดียวกันได้กำหนดอัตราอ้างอิงประจำวันให้แข่งขันได้มากขึ้นกว่าที่นักวิเคราะห์จะคาด รวมทั้งประกาศแผนขายพันธบัตร ส่งผลให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้น 0.2%

ลาร์รี่ ฮู นักเศรษฐศาสตร์จากเม็กควอรี่ ซีเคียวริตี้ ให้ความเห็นว่า จีนต้องการให้เงินหยวนมีความยืดหยุ่นทั้งสองด้าน และไม่ต้องการให้ตลาดตื่นตระหนกมาก ซึ่ง PBOC จะปล่อยให้ค่าเงินถูกกำหนดโดยกลไกตลาด เว้นเสียแต่ว่าต้องการที่จะสร้างความเชื่อมั่นในสกุลเงิน

วันนี้ธนาคารกลางจีนกำหนดอัตราอ้างอิงไว้ที่ 6.9683 ต่อดอลลาร์ ซึ่งแข็งค่าผิดจาก 6.9871 ต่อดอลลาร์ของผลสำรวจนักค้าเงินและนักวิเคราะห์โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก โดยเงินออนชอร์หยวนซื้อขายกันที่ 7.0361 ต่อดอลลาร์ และเงินออฟชอร์หยวนอยู่ที่ 7.0669 ต่อดอลลาร์

ธนาคารกลางจีนจะขายพันธบัตรมูลค่า 30 พันล้านหยวนหรือ 4.2 พันล้านดอลลาร์ในฮ่องกง วันที่ 14 สิงหาคมนี้ ซึ่งจะลดสภาพคล่องเงินออฟชอร์หยวนลง ทำให้การเทขายเงินหยวนทำได้ยากขึ้น

ฟรานเซส ชุง จากแวสต์แพค แบงกกิ้ง คอร์ป ในสิงคโปร์กล่าวว่า PBOC กำลังส่งสัญญานว่า จะจำกัดการอ่อนค่าของเงินหยวน และคาดว่าเงินออฟชอร์หยวนจะเคลื่อนไหวที่ระดับ 7.1 ต่อดอลลาร์ในระยะสั้น

นักวิเคราะห์ต่างพากันปรับประมาณการณ์ค่าเงินหยวนลงหลังจากที่อ่อนค่าแรงในวันจันทร์ โดยนักวิเคราะห์จากแบงก์ออฟอเมริกา คอร์ป ปรับประมาณการณ์สิ้นปีลงจาก 6.63 ต่อดอลลาร์เป็น 7.3 ต่อดอลลาร์ เพราะคาดว่าจีนจะใช้ค่าเงินอ่อนลดผลกระทบจากการเก็บภาษีของสหรัฐฯ ส่วนซิตี้กรุ๊ปประเมินว่าเงินหยวนอาจจะตกมาที่ 7.5 ดอลลาร์หากความขัดแย้งทางการค้ารุนแรงขึ้นอีก

นักวิเคราะห์บางรายมองว่า เงินหยวนจะอ่อนค่าได้อีกราว 5% ภายในสิ้นปีนี้ หรืออาจจะปิดที่ 7.30 หยวนต่อดลลาร์เมื่อสิ้นปีจากเดิมที่คาดไว้ 6.90 ต่อดอลลาร์

ขัดแย้งการค้ารุนแรงลุกลามสู่สงครามค่าเงิน

นักวิเคราะห์มองว่า การที่จีนตัดสินใจปล่อยให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงไปต่ำกว่า 7 หยวนต่อดอลลาร์ สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าความขัดแย้งทางการค้ารุนแรงมากขึ้น โดย จอห์น อีเกิล ผู้บริหารของอัลมิงตัน แคปปิตอล เมอร์ชานท์แบงก์กล่าวว่า อุตสาหกรรมสหรัฐที่มีธุรกิจส่วนใหญ่ในจีนจะได้รับผลกระทบอย่างมาก

นิโคล ทาเนบอม จากเช็คเกอร์ส ไฟแนนเชียล แมเนจเม้นท์ มองว่า การลดค่าเงินเป็นเครื่องมือหนึ่งทางเศรษฐศาสตร์เพราะลดผลกระทบจากภาษี ดังนั้นการจีนปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่า ทำให้การนำเข้าจากจีนไปสหรัฐฯราคาลดลง ลดผลกระทบจากภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้บริษัทสหรัฐฯแข่งขันได้น้อยลง อีกทั้งเงินหยวนที่อ่อนค่าจะช่วยการส่งออกของจีน ขณะที่สร้างผลกระทบประเทศอื่นๆ ดังนั้นการส่งออกจีนอาจจะได้รับผลดีจากตลาดอื่นด้วย

อย่างไรก็ตาม จอห์น อีเกิล มองว่า ทั้งหมดทั้งปวงไม่ใช่เรื่องค่าเงิน แต่เป็นสัญญาณว่า สงครามการค้าระอุขึ้น

นักวิเคราะห์บางรายยังเกรงว่าสงครามการค้าจะลุกลามไปยังด้านอื่น โดยวิราช ปาเทล จากฝ่ายบริหารเงินของอาร์เครา ระบุว่า ความเสี่ยงที่ว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะแทรกแซงในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนได้สูงขึ้น ขณะที่จีนก็จะปล่อยให้หยวนอ่อนค่าลง ซึ่งหากกลายเป็นสงครามค่าเงินแล้ว สหรัฐฯก็จะแพ้ขาด จีนมีความก้าวหน้ามากกว่าในการเล่นเกมค่าเงินและมีกระสุนมากกว่า

คริส แซคคาเรลลี่ จาก อินดิเพนเดนท์ แอดไวเซอร์ อัลลิอานซ์ มีความเห็นที่สอดคล้องกัน โดยกล่าวว่า เหตุการณ์นี้อาจจะเป็นสัญญานของสงครามค่าเงิน สิ่งที่ผู้เล่นในตลาดกลัวมากที่สุดได้เริ่มขึ้นแล้วและมีความเป็นไปได้ที่ตลาดจะกลับไปตกอยู่ในภาวะที่ร่วงลงเหมือนกับช่วงใบไม้ร่วงที่ผ่านมา ยกเว้นว่าจะมีปัจจัยอื่นที่ช่วยลดผลกระทบนี้ได้ ซึ่งก็ยังมองไม่เห็น

ที่มาภาพ: https://www.bbc.com/news/business-49245654

เรียบเรียงจาก bbc,bloomberg,fortune