ThaiPublica > เกาะกระแส > ธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มลดดอกเบี้ยรอบใหม่ รับมือสงครามเย็นทางการค้า

ธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มลดดอกเบี้ยรอบใหม่ รับมือสงครามเย็นทางการค้า

16 สิงหาคม 2019


รอบใหม่แห่งการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มแล้ว รับมือสงครามเย็นทางการค้า หลังความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยืดเยื้อ ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ในช่วง 10 ปีก่อนธนาคารทั่วโลกต่างพากันลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติการเงินโลกที่มีสาเหตุจากการล่มสลายของเลห์แมนบราเทอร์สถาบันการเงินชั้นนำในสหรัฐฯ ปลายปี 2008 พร้อมกับฉีกแนวการดำเนินนโยบายการเงินแบบเดิมด้วยการอัดฉีดเงินหรือที่รู้จักกันดีว่า quantitative easing หรือ มาตรการ QE เข้าระบบเศรษฐกิจจำนวนมากมหาศาล จนทำให้เศรษฐกิจโลกพลิกฟื้นกลับมาเป็นบวกได้อีกในปี 2010 จากที่ติดลบกว่า 1% ปี 2009 และในปีเดียวกันเศรษฐกิจประเทศหลักติดลบ 3.3% แต่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาขยายตัว 2.3%

ธนคารกลางสหรัฐฯ หรือ Federal Reserve เริ่มมาตรการ QE เดือนพฤศจิกายน 2008

นับจากปี 2010 ที่เศรษฐกิจโลกกลับมาขยายตัว 5.4% เศรษฐกิจประเทศหลักขยายตัว 3.1% ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาขยายตัว 7.4% นั้น เศรษฐกิจโลกมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่อัตราดอกเบี้ยโลกก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำ เพราะโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวยังมีอยู่ และบางประเทศก็ประสบกับเศรษฐกิจถดถอยเป็นช่วงๆ ใน 3-4 ปีก่อนได้เห็นธนาคารกลางส่วนใหญ่ปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากปี 2556 ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มลดการใช้มาตรการ QE กระนั้นมีธนาคารกลางบางประเทศปรับลดอกเบี้ยลง

ปี 2558 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยลดดอกเบี้ยติดต่อกัน 2 ครั้งคือเดือนมีนาคมลดลง 0.25% มาที่ 1.75% และลด 0.25% เดือนเมษายนมาที่ 1.50% จากนั้นได้คงอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องจนมาถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2562 ที่ได้ลดดอกเบี้ยลด 0.25%

ปี 2558 ยังเป็นปีแรกที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นดอกเบี้ยมาที่ 0.25-0.50% ในเดือนธันวาคมหลังเศรษฐกิจฟื้นตัวและคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ 0.25% จากการลดดอกเบี้ยในวันที่ 17 ธันวาคม 2559 แต่ในช่วงแรกยังเป็นการขึ้นดอกเบี้ยแบบเป็นช่วง (target range)

นับจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดยวันที่ 14 ธันวาคมปี 2559 ปรับขึ้นดอกเบี้ยมาที่ 0.50-0.75% วันที่ 14 มิถุนายน ปีเดียวกันปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกมาที่ 1.00-1.25% วันที่ 13 ธันวาคม 2560 ปรับดอกเบี้ยมาที่ 1.25-1.50% ส่วนในปี 2561 ปรับขึ้นดอกเบี้ยรวม 3 ครั้ง คือวันที่ 21 มีนาคม 2561 ขึ้นดอกเบี้ยมาที่ 1.50-1.75 % วันที่ 13 มิถุนายนปรับขึ้น 0.25% มาที่ 1.75-2.00 % เป็นครั้งแรกที่เลิกปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบ target range และวันที่ 19 ธันวาคม ขึ้นดอกเบี้ยมาที่ 2.25-2.50%

การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศเศรษฐกิจหลัก เริ่มเห็นมากในปลายปี 2560 เช่น Monetary Authority ฮ่องกง, ธนาคารกลางเกาหลีใต้, ธนาคารกลางแคนาดา และธนาคารกลางอังกฤษที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยมาที่ 0.50% ในวันที่ 2 พฤศจิกายน จนต่อเนื่องถึงปี 2561 ที่ได้เห็นธนาคารกลางอินโดนีเซีย ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ ธนาคารกลางตุรกี ธนาคารกลางอินเดีย เฉพาะเดือนกันยายนเดือนเดียวมีธนาคารกลางถึง 16 ประเทศที่ขึ้นดอกเบี้ย เช่นเดียวกับเดือนพฤศจิกายนที่มีการขึ้นดอกเบี้ยตลอดทั้งเดือน

สงครามการค้าป่วนโลก

ปี 2562 ซึ่งเป็น 11 ปีให้หลัง ธนาคารกลางพากันจับมือลดดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่งเป้าหมายก็ยังเหมือนเดิมคือ กระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ครั้งนี้สาเหตุของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจกลับไม่ใช่วิกฤติการเงินอีกแล้ว เพราะธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงิน ภาครัฐ หน่วยงานกำกับดูแล ได้เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการเงินไว้อย่างหนาแน่น แม้จะมีบางจุดบางประเทศที่ความเปราะบางบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นหลัก

ปัญหาหลักที่สร้างความปั่นป่วนให้กับเศรษฐกิจโลกในขณะนี้คือ ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่เริ่มขึ้นในปี 2018 วันที่ 7 กุมภาพันธ์ สหรัฐฯ เก็บภาษีเป็นการทั่วไปในอัตรา 30% จากแผงโซลาร์นำเข้า (วงเงิน 8.5 พันล้านดอลลาร์) ยกเว้นจากแคนาดา และเก็บภาษีเครื่องซักผ้านำเข้า (วงเงิน 1.8 พันล้านดอลลาร์) ในอัตรา 20%

ทั้งสองฝ่ายมีการตอบโต้กันไปมา จนวันที่ 23 มีนาคมสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมในอัตรา 15-25% ยกเว้นอาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล และเกาหลีใต้ วันที่ 2 เมษายน จีนตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีสินค้านำเข้า 128 รายการในอัตรา 15-25% วันที่ 3 เมษายนสหรัฐฯ เปิดเผยสินค้า 1,334 รายการที่อยู่ในข่ายเก็บภาษี 25% วันรุ่งขึ้นจีนประกาศเก็บภาษีสินค้า 106 รายการในอัตรา 25%

วันที่ 16 เมษายนสหรัฐฯ กล่าวหาบริษัท ZTE จากจีนว่าฝ่าฝืนมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และสั่งห้ามบริษัทสหรัฐฯ ทำธุรกิจกับ ZTE วันที่ 17 เมษายน จีนประกาศมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดเก็บภาษี 178.6% จากข้าวฟ่างนำเข้าจากสหรัฐฯ

เดือนพฤษภาคม 2561 ทั้งสองประเทศตกลงที่จะเจรจาแก้ไขความขัดแย้งทางการ แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ทำให้ปลายเดือนสหรัฐฯ กลับมาใช้มาตรการภาษีอีกรอบ ขณะที่มีการเจรจาต่อเนื่อง แต่ในวันที่ 6 มิถุนายน สหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนโดยตรงในวงเงิน 34 พันล้านดอลลาร์จาก 818 รายการในอัตรา 25% ซึ่งจีนตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีสินค้านำเข้า 545 รายการ ในวงเงินที่เท่ากันและอัตราภาษีเท่ากัน

แม้จะมีช่วงหยุดพักเพื่อการเจรจาการค้ากัน แต่ความตึงเครียดทางการค้าก็เริ่มรุนแรงมากขึ้น เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2562 สหรัฐฯ นำชื่อบริษัทหัวเว่ยจากจีนไว้ในบัญชีต้องห้าม หรือ entity list มีผลให้หัวเว่ยไม่สามารถซื้อสินค้าจากบริษัทสหรัฐฯ ได้เลยหากไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐฯ

เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาทั้งสองประเทศยังคงใช้มาตรการทางภาษีตอบโต้ระหว่างกัน และสหรัฐฯ ใส่ชื่อบริษัทจีนเพิ่มเติมใน entity list อีก 5 ราย แต่ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ G-20 ที่ญี่ปุ่นปลายเดือนมิถุนายน สหรัฐฯ กับจีนหันมาเจรจาการค้ารอบใหม่ และสหรัฐฯ เริ่มผ่อนปรนให้หัวเว่ย

แต่การเจรจาแก้ไขความขัดแย้งทางการค้าไม่มีความคืบหน้า จนวันที่ 1 สิงหาคม ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มในวงเงิน 300 พันล้านดอลลาร์ ในอัตรา 10% ซึ่งมีผลวันที่ 1 กันยายนนี้ ขณะที่จีนตอบโต้ด้วยการปล่อยค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าลงต่ำกว่าระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่มีนัยสำคัญทางจิตวิทยา รวมทั้งสั่งให้รัฐวิสาหกิจทุกแห่งระงับการซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ

วันที่ 6 สิงหาคม สหรัฐฯ ประกาศให้จีนอยู่ในรายชื่อประเทศที่แทรกแซงค่าเงิน นับจากนั้นธนาคารกลางจีน หรือ People Bank of China ได้กำหนดอัตรากลางเงินหยวนที่ระดับต่ำกว่า 7 หยวนต่อดอลลาร์ต่อเนื่อง

ในวันที่ 14 สิงหาคม 2562 สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ประกาศเลื่อนการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนออกไปจากวันที่ 1 กันยายนเป็น 15 ธันวาคมนี้ พร้อมตัดสินค้าบางประเภทออกจากบัญชีที่จะถูกเก็บภาษีออกไป แต่ธนาคารกลางจีนยังกำหนดอัตรากลางเงินหยวนไว้ที่ต่ำกว่า 7 หยวนต่อดอลลาร์

ถ่วงเศรษฐกิจโลกโตต่ำ

สงครามการค้าระหว่างประเทศใหญ่ทางเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อนานกว่าปี มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัวลงอย่างมาก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund — IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกลงเป็นระยะ โดยในเดือนตุลาคม 2561 ไอเอ็มเอฟได้ลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 2561 และ 2562 ลงมาที่ 3.7% จากที่คาดการณ์ไว้ในเดือนกรกฎาคมว่าจะเติบโต 3.9% ทั้งสองปี

ต่อมาในรายงานเศรษฐกิจเดือนมกราคม 2562 ไอเอ็มเอฟคงการคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกปี 2561 ไว้ที่ 3.7% แต่ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 2562 ที่ 3.5% ส่วนปี 2563 จะขยายตัว 3.6% ลดลงจากเดือนตุลาคมที่ประมาณการณ์เดิม 0.1%

เดือนเมษายนที่ผ่านมา ไอเอ็มเอฟได้ลดประมาณการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกปี 2562 ลงอีกเป็น 3.3% ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2559

สาเหตุหลักมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน รวมทั้งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศใหญ่

เมื่อเดือนกรกฎาคม รายงานไอเอ็มเอฟระบุว่าเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว โดยคาดว่าจะขยายตัว 3.2% ในปี 2562 แต่จะดีขึ้นเป็น 3.5% ในปี 2563 ซึ่งก็ยังต่ำกว่าประมาณการณ์เดิมที่มองไว้ในเดือนเมษายน

การลดประมาณการณ์ครั้งนี้เป็นผลจากการที่สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนวงเงิน 200 พันล้านดอลลาร์สูงขึ้นจาก 10% เป็น 25% ในเดือนพฤษภาคมและจากการตอบโต้ของจีน

สำหรับประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าคาดว่าจะขยายตัว 1.9% ในปีนี้และ 1.7% ในปี 2563 และได้ปรับเพิ่มประมาณการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ขึ้น 0.3% เป็น 2.6% แต่ปี 2563 จะชะลอตัวลงมาที่ 1.9%

ไอเอ็มเอฟคาดว่า ยูโรโซนจะขยายตัว 1.3% ในปี 2562 และ 1.6% ในปี 2563 ส่วนญี่ปุ่นคาดว่าจะขยาย 0.9% ในปีนี้ แต่จะชะลอตัวลงในปีหน้าเติบโตเพียง 0.4%

กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ประเทศกำลังพัฒนาคาดว่าจะขยายตัว 4.1% ในปีนี้และเติบโตขึ้นอีกในปีหน้าที่ 4.7% แต่ก็เป็นอัตราที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

สำหรับจีนผลกระทบทางลบจากการภาษีที่สูงขึ้นและความต้องการจากต่างประเทศที่อ่อนตัวลง ได้เพิ่มแรงกดดันให้กับเศรษฐกิจท่ามกลางการชะลอตัวเชิงโครงสร้างและการดำเนินการสร้างความเข้มแข็งทางนโยบายเพื่อจัดการกับภาระหนี้ที่สูง จึงคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 6.2% ในปีนี้และ 6.0% ในปี 2563 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา 0.1%

ดอกเบี้ยต่ำช่วยได้แค่ไหนนานเท่าไร

อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือที่ธนาคารกลางจะใช้ในการดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจและควบคุมเงินเฟ้อ โดยในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำเงินเฟ้อต่ำ ธนาคารกลางจะลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจและดอกเบี้ยที่ต่ำจะกระตุ้นการใช้จ่ายทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น แต่ในช่วงเศรษฐกิจขยายตัวร้อนแรงและอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก ธนาคารกลางจะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจและจำกัดการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ

เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้หลายธนาคารกลางในหลายประเทศและในหลายภูมิภาคได้ลดดอกเบี้ยลงเพื่อรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงิน

การลดอัตราดอกเบี้ยใน 10 ปีก่อนธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นผู้นำ แต่การลดดอกเบี้ยครั้งนี้กลับปล่อยธนาคารกลางประเทศเล็ก นำหน้าไปหลายเดือน แต่กระนั้น การลดดอกเบี้ยของเฟดในวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติ 8-2 เสียงลดดอกเบี้ยระยะสั้นลง 0.25%มาที่ระดับ 2.00-2.25% จากเหตุผลที่ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการลดดอกเบี้ย

ก็นับเป็นการตัดริบบิ้นเปิดรอบใหม่ของการลดดอกเบี้ย ของธนาคารกลางทั่วโลก เพราะธนาคารกลางสหภาพยุโรป (European Central Bank — ECB) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan — BOJ) ต่างเปิดทางลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป

เมื่อแยกธนาคารกลางออกเป็นกลุ่มตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ และลักษณะทางเศรษฐกิจแล้ว พบว่ากลุ่ม BRIC ที่ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ซึ่งถูกจับกลุ่มร่วมกันจากลักษณะทางเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกันนั้น ธนาคารกลางจาก 3 ประเทศแรกได้ลดดอกเบี้ยลงไปแล้ว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอินเดียที่ลดลงแล้ว 3 ครั้ง ทำให้ดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ 5.75% ณ วันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา

ขณะที่ธนาคารจีน โดยนายอี้ กัง ผู้ว่าการธนาคาร PBOC กล่าวว่า จีนจะไม่ลดดอกเบี้ยตามธนาคารกลางสหรัฐฯ และอัตราดอกเบี้ยขณะนี้อยู่ในระดับที่เหมาะสม การพิจารณาลดดอกเบี้ยจะประเมินจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก การลดดอกเบี้ยจะทำเพื่อแก้ไขปัญหาความเสี่ยงที่จะเกิดเงินฝืด แต่ขณะนี้จีนมีเงินเฟ้อเล็กน้อย

สำหรับกลุ่มอาเซียน ธนาคารกลางมาเลเซียเป็นรายแรกที่ลดดอกเบี้ยลง 0.25% มาที่ 3.0% เพื่อพยุงค่าเงินริงกิตที่อ่อนค่าในเดือนพฤษภาคม ตามมาด้วย ธนาคารฟิลิปปินส์ ธนาคารอินโดนีเซีย ที่ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และธนาคารกลางของไทยในวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ส่วนธนาคารกลางเวียดนามระบุในต้นเดือนกรกฎาคมว่าอาจจะพิจารณาลดดอกเบี้ยหลายรอบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ขณะที่ในเอเชียธนาคารกลางที่ลดดอกเบี้ยลง คือ เกาหลีใต้ที่ลดเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี ส่วนธนาคารกลางออสเตรเลียลดดอกเบี้ยลงถึง 2 ครั้งภายใน 1 เดือนและอาจจะลดลงอีกเป็น 0.75% หลังจากเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นเพียง 0.6%

ส่วนกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ มีหลายประเทศที่ลดดอกเบี้ยได้แก่ ชิลี ตุรกี ศรีลังกา คอสตาริกา แอฟริกาใต้ ยูเครน ปารากวัย รวันดา คีร์กีซสถาน คาซัคสถาน อาร์เซอร์ไบจัน จอร์เจีย อียิปต์

จะเห็นได้ว่าการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางในเอเชียเพื่อพยุงเศรษฐกิจที่ชะลอตัวนานนั้น สาเหตุหลักมาจากจีนที่ได้รับผลจากสงครามการค้า การส่งออกชะลอตัว เพราะเอเชียส่วนใหญ่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีนต้องพึ่งพาการส่งออกไปจีน แม้ระยะสั้นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนส่งผลดีต่อบางประเทศ เช่น เวียดนาม จากการโยกย้ายฐานการผลิต แต่ความต้องการจากทั่วโลกที่ยังอ่อนแอก็มีผลทางลบที่สูงกว่า

ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ยืดเยื้อยาวนาน ทำให้นักวิเคราะห์มองว่าอาจจะกลายเป็น สงครามเย็น

การลดดอกเบี้ยรอบใหม่ของธนาคารกลางในเอเชียครั้งนี้ เพื่อตอบสนองต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำทำให้ธนาคารกลางสามารถลดอัตราดอกเบี้ยลงโดยไม่ต้องกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อนัก แสดงให้เห็นว่าธนาคารกลางประเทศกำลังพัฒนาและเศรษฐกิจเกิดใหม่มีความระมัดระวังต่อการดำเนินนโยบายการเงิน และมีกระสุนเพียงพอที่จะบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและมีความเสี่ยง

แต่การลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกจะช่วยพยุงเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน และจะใช้ดอกเบี้ยต่ำได้นานแค่ไหน เพราะปัจจุบันดอกเบี้ยก็อยู่ในระดับต่ำมากอยู่แล้ว อีกทั้งขึ้นชื่อว่าสงครามเย็นแล้ว ไม่สามารถคาดเดาการสิ้นสุดได้ ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ยังมีปัญหาสภาพคล่องที่ตึงตัวและเงินไหลออก โดยในเดือนมิถุนายนกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มีเงินไหลออกสุทธิติดลบ 35.8 พันล้านดอลลาร์ อันเป็นผลจากสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น

ในช่วงที่โลกประสบวิกฤติเศรษฐกิจ ธนาคารกลางสหภาพยุโรปได้ใช้อัตราดอกเบี้ย 0% ในปี 2557 และธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ใช้ดอกเบี้ยติดลบ (negative rate) ในปี 2559 เพื่อไม่ให้เงินเยนแข็งค่าจนกระทบเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออก

มีความเป็นไปได้แค่ไหนที่โลกจะเห็นการใช้ดอกเบี้ย 0% หรือดอกเบี้ยติดลบในวงกว้างมากขึ้นเพื่อพยุงเศรษฐกิจ นอกเหนือจากธนาคารกลางสหภาพยุโรป ธนาคารกลางญี่ปุ่น ธนาคารกลางเยอรมนี และธนาคารกลางฝรั่งเศสที่ใช้ดอกเบี้ยต่ำกว่า 0% อยู่

การเริ่มลดดอกเบี้ยรอบใหม่ของธนาคารกลางทั่วโลกนี้ จะรับมือกับยุคสงครามเย็นทางการค้าได้หรือไม่ ยังไม่มีความแน่ชัด เพราะความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจยังไม่มีแนวโน้มยุติ แต่กลับเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น

นอกจากนี้ เงินเฟ้อก็ไม่ใช่สาเหตุหลักของการดำเนินนโยบายการเงินอีกต่อไป เพราะเงินเฟ้อโลกยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตในยุคสงครามการค้าจึงเป็นความท้าทายหลักของการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกที่ยังติดหล่มดอกเบี้ยต่ำ