ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > ฝ่าวังวนวิกฤติ 7 วันอันตราย ลดอุบัติเหตุการตายอย่างไรให้เหลือศูนย์

ฝ่าวังวนวิกฤติ 7 วันอันตราย ลดอุบัติเหตุการตายอย่างไรให้เหลือศูนย์

12 เมษายน 2018


ในช่วงสงกรานต์หรือวันหยุดยาวแทบทุกครั้ง เราจะได้เห็นแคมเปญรณรงค์ลดอุบัติเหตุจากของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ออกมาอยู่เสมอ ทว่าสถิติอัตราการตายจากอุบัติเหตุบนถนนกลับไม่เคยลดลง จนวันนี้ไทยถือเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลกในประเด็น “ความปลอดภัยบนท้องถนน” (Road Safety) จากข้อมูลโดยสรุปพบว่า

  • จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (World Health Oraganization: WHO) ปี 2557 ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตบนถนนเป็นอันดับที่ 2 ของโลก คือ 36.2 คนต่อประชากร 100,000 คน นั่นหมายถึงในแต่ละวันจะมีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้อนถนนเฉลี่ย 24,000 คนต่อปี หรือ 66 คนต่อวัน
  • ในรายงาน SDG index ปี 2017 ซึ่งประเมินความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติพบว่า ประเด็นเรื่องอุบัติเหตุการเสียชีวิตบนท้องถนนนั้นถือเป็น 1 ใน 8 ของประเด็นท้าทายที่สุดในการผลบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG 3.6 การลดอัตราการเสียชีวิตลงให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2020
  • ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ระบุว่า เดือนเมษายนของทุกปีจะเป็นเดือนที่มีเด็กเสียชีวิตมากที่สุด สาเหตุจากการจมน้ำและอุบัติเหตุจราจร เพราะเป็นช่วงเวลาที่เด็กเดินทางมากที่สุด โดยช่วงเทศกาลสงกรานต์ถือเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับ “3 เดือนอันตราย”

“ปัจจุบันมีหน่วยงานจำนวนมากที่พยายามจะแก้ปัญหาอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล แต่ปัญหาก็ไม่ได้ลดลง” นายอรรถ เหมวิจิตรพันธ์” รองประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดตัวโครงการ “คุณปลอดภัย ทุกคนปลอดภัย ร่วมกันใช้ถนนอย่างมีความรับผิดชอบ” โครงการรณรงค์เพื่อสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา

นายอรรถ เหมวิจิตรพันธ์” รองประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวในการเปิดตัวโครงการ “คุณปลอดภัย ทุกคนปลอดภัย ร่วมกันใช้ถนนอย่างมีความรับผิดชอบ ”

เขายอมรับว่าเชลล์ก็เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่พยายามทำงานรณรงค์การขับขี่อย่างปลอดภัยในช่วงเทศกาล แต่เมื่อดูตัวเลขในภาพรวม อัตราการเกิดอุบัติเหตุโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ก็ยังสูงมาก

คำถามที่สำคัญคือเราจะเริ่มที่ตรงไหน!!

ในปีนี้นอกจากได้ปรับแคมเปญรณรงค์ความปลอดภัยเฉพาะในช่วงสงกรานต์ไปสู่แผนการดำเนินงานที่มีความต่อเนื่องมากขึ้น โดยทำงานเชิงกลยุทธ์ ที่จะดำเนินงานระหว่างปี 2561-2563 ในการพัฒนาความปลอดภัยอย่างยั่งยืน รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ท้องถนนด้วยกันผ่านกระบวนการดำเนินธุรกิจและการยกระดับทำงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ เครือข่ายภาคประชาสังคมและองค์กรอิสระ รวมไปถึงการทำงานกับพันธมิตรระดับโลก  “Global Road Safety Partnership” องค์กรไม่แสวงหากำไรด้านความปลอดภัยบนท้องถนน

ทำความเข้าใจ “รากปัญหา”อุบัติเหตุไทย จาก “ไม่รู้” ถึง “ไม่พร้อม”

ในทางสถิติ ข้อมูลจากรายงานขององค์การอนามัยโลกในปี 2557 ระบุว่า ส่วนใหญ่ 73% ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเป็นผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ รองลงมาเป็นคนเดินเท้า 8% อันดับที่ 3 ผู้โดยสารรถยนต์และรถที่มีน้ำหนักเบา 7% อันดับที่ 4 คนขับรถยนต์และรถที่มีน้ำหนักเบา 6% และอันดับที่ 5 คนขับและผู้โดยสาร รถบรรทุกหรือรถขนาดใหญ่ 2%

นายแพทย์พรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตของคนไทยมาจากการขับขี่มอเตอร์ไซค์ จากจำนวนผู้ใช้รถราว 30 ล้านคน มีมอเตอร์ไซค์ถึง 27 ล้านคน สาเหตุของปัญหามาจาก

    1) การใช้รถใช้ถนนโดยขาดความพร้อม จึงถือเป็นปัญหาใหญ่ เพราะในวิถีชีวิตคนไทย เด็ก 9-10 ปีครอบครัวก็เริ่มที่จะขับขี่มอเตอร์ไซค์แล้วรวมไปถึงคนที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่

    2) ปัญหาที่มาจากโครงสร้างพื้นฐานของถนนหลัก การลดอุบัติเหตุจะสามารถทำได้จากการแยกเส้นทางของรถในพื้นที่กับรถที่วิ่งระยะไกล  

    3) ทัศนคติเกี่ยวกับการขับขี่ปลอดภัยของคนไทย ที่ว่าความปลอดภัยเป็นเรื่องของเราทุกคนไม่ใช่หน้าที่ของรัฐ

“การทำความเข้าใจของคนใช้รถใช้ถนนยังไม่ได้เดินทางมาถึงจุดที่คนจะเข้าใจตัวเองว่า ชีวิตคนจะปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัยขึ้นอยู่กับตัวเรา ในประเทศญี่ปุ่นทุกคนต้องสอบใบขับขี่ 60 ชั่วโมง แต่ละชั่วโมงต้องมาเรียนจริงและผ่านเกณฑ์การสอบ 90% ในไทยเราวันนี้เราขยับมาที่การจะทำใบขับขี่ได้ 15 ชั่วโมง เขาให้อบรมเรื่องความปลอดภัยเราก็บ่นว่าเป็นภาระ ผมคิดว่าปัญหาความไม่พร้อมของผู้ขับขี่จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก” ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุกล่าว

ขณะที่ “กรวิภา บุญตานนท์” เจ้าหน้าที่ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างความปลอดภัยและการบาดเจ็บในเด็ก กล่าวว่า ถ้าจะเฉพาะเจาะจงในช่วงสงกรานต์ สิ่งที่น่ากังวลมากสำหรับเด็กนอกจากอุบัติเหตุเสียชีวิตจากการไม่ได้นั่งคาร์ซีทสำหรับเด็กในอุบัติเหตุทางรถยนต์แล้ว การขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญที่นอกจากผู้ปกครองที่ต้องห้ามบุตรหลานแล้ว การบังคับใช้กฎหมายก็เป็นส่วนสำคัญ

“วัลลภ งามสอน” ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิภาพการขนส่ง กรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีผู้ถือใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ จำนวน 31 ล้านคน แบ่งเป็น ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ออกใหม่ 7 แสนคน ใบอนุญาตขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ออกใหม่ 5 แสนคน  ขณะที่ในแต่ละปีสำหรับใบอนุญาตมอเตอร์ไซค์ทำใหม่รวมที่ต่ออายุแล้วมี 5 ล้านคนต่อปี นี่เป็นตัวเลขในระบบ ทว่า โจทย์ที่สำคัญมากของประเทศไทยยังอยู่ที่ “คนที่อยู่นอกระบบ”  โดยสิ่งที่จะต้องทำควบคู่กันคือจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้คนที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ขึ้นไปขับรถ และทำอย่างไรที่จะทำให้คนขับรถในทุกประเภทของไทยมีคุณภาพมากขึ้นในการขับขี่อย่างปลอดภัย

Goal Zero: ลดอัตราการตายอย่างไรให้เหลือศูนย์

จากประสบการณ์ใน 70 ประเทศที่เชลล์ดำเนินการทั่วโลกในเป้าหมาย “ลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเหลือศูนย์” (Zero Fatality) ซึ่งเป็นเป้าหมายขององค์กรที่เริ่มต้นเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ปัจจุบัน ข้อมูลอัตราการเสียชีวิตของพนักงานจากอุบัติเหตุบนถนนลดลงจนเกือบจะเหลือศูนย์ โดยปี 2557-2560 เชลล์ทั่วโลกมีอัตราผู้เสียชีวิตเพียง 1 คนในปี 2559 และ 1 คนในปี 2560 และสำหรับประเทศไทยนั้นสามารถบรรลุอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นศูนย์มานานแล้วนับตั้งแต่ปี 2556 จนปัจจุบัน

“อรรถ” เล่าว่า จากประสบการณ์ของเรา เชื่อว่าการขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยและการลดอุบัติเหตุจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้  เพราะหลายปีก่อนเมื่อประกาศเรื่องนี้ครั้งแรกในองค์กร เราก็คิดว่าการกำหนดเป้าหมายอุบัติเหตุจากการตายบนถนนเหลือศูนย์มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่วันนี้มันเป็นไปได้แล้ว จากการปลูกฝังวัฒนธรรมการขับขี่อย่างปลอดภัยในองค์กรและการออกกฎ มาตรการต่างๆ ที่เข้มงวดและบังคับใช้อย่างเข้มงวด

เช่น  การกำหนดชั่วโมงการขับรถไม่ให้เกินมาตรฐาน  การกำหนดเวลาที่ต้องจอดพักทุก 3 ชั่วโมงในเส้นทางไกล การพัฒนาทักษะในการขับขี่ระดับสูงด้วยเครื่องจำลองการขับขี่ให้กับพนักงานขับรถตลอดห่วงโซ่ธุรกิจของเชลล์ซึ่งจะทำให้สามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด การทำเรื่อง Journey Management หรือการบริหารและวางแผนในการขับขี่ที่พนักงานขับรถจะต้องรู้ว่าตลอดเส้นทางมีจุดไหนที่เป็นจุดเสี่ยง จุดไหนที่เป็นจุดที่ต้องระวังเป็นพิเศษ รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีในการติดตามและเก็บข้อมูลการขับขี่ใช้สำหรับวิเคราะห์พฤติกรรมในการขับขี่ เพื่อนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้นเสมอ ฯลฯ

“เราดูกระทั่งว่าจะทำยังไงให้พนักงานขับรถของเรามีสมาธิกับการทำงาน โดยดูว่าเขาต้องมีรายได้เพียงพอหรือมีเงินเดือนที่จะดูแลครอบครัวโดยที่ไม่ต้องกังวลใจ ขับขี่ด้วยความสบายใจไม่ต้องไปทำงานเพิ่มและได้พักผ่อน  เราทำหลายๆ อย่างที่จะลดสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ” อรรถกล่าวในที่สุด

เครื่องจำลองการขับขี่ให้พนักงานขับรถตลอดห่วงโซ่ธุรกิจของเชลล์ซึ่งจะทำให้สามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด

อนาคตกับแนวทางยกระดับความปลอดภัยบนถนน

จากประสบการณ์การขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยบนถนนใน 70 ประเทศ  ผลการศึกษาของเชลล์พบว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ เกือบ 90% มาจากพฤติกรรมของคนในการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย แต่สำหรับประเทศไทยพบว่ามี 3 ปัจจัยหลักของอุบัติเหตุบนถนนมาจาก

    1) โครงสร้างพื้นฐานทางถนน  
    2) พฤติกรรมในการขับขี่
    3) การบังคับใช้กฎหมาย

ในการดำเนินงานในแผนการดำเนินงานตามโครงการ “คุณปลอดภัย ทุกคนปลอดภัย ร่วมใช้ถนนอย่างรับผิดชอบ” ในประเทศไทย จะทำงานร่วมกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น 50 องค์กรธุรกิจ ภาคประชาสังคม ฯลฯโดยดำเนินการ 5 แนวทาง ได้แก่

    1) การสร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณชนผ่านกิจกรรมการรณรงค์ต่างๆ
    2) การปลูกฝังวัฒนธรรมการเดินทางอย่างปลอดภัยผ่านการให้ความรู้ มีการทดลองดำเนินโครงการนำร่องไปแล้ว คือ โครงการ “Childvoice to Safety” ให้ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยบนถนนและการขับขี่ในโรงเรียน  
    3) การจัดอบรมเชิงลึกและการฝึกทักษะการขับขี่อย่างปลอดภัยให้กับพนักงานขับรถในห่วงโซ่อุปทานจำนวน 5,000 คน ภายใน 3 ปี
    4) การส่งเสริมกฎหมายและสนับสนุนให้มีการบังคับใช้กฎหมาย (Law of Enforcement) ที่ก่อให้เกิดความปลอดภัยทางถนน 5) การส่งเสริมให้โครงสร้างถนนมีความปลอดภัย จะเห็นว่ามีปัญหาในหลายจุดที่เกิดซ้ ำเชลล์จึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความปลอดภัย เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางมะตอยที่สามารถระบายน้ำได้ดีขึ้น มีความหนืดมากขึ้น ฯลฯ

ทั้งนี้ จากการประเมินขององค์การอนามัยโลก  ประเทศไทยมีกฎหมายจราจรที่ค่อนข้างจะครอบคลุมตามมาตรฐานความปลอดภัยในการใช้ถนนสากล มีเพียงกฎหมายที่เกี่ยวกับเด็กเท่านั้นที่ยังไม่ครบถ้วน เช่น กฎหมายการบังคับใช้ที่นั่งสำหรับเด็กในรถยนต์ รวมถึงการห้ามเด็กนั่งด้านหน้าข้างคนขับซึ่งเป็นจุดที่มีความปลอดภัยต่ำที่สุด เป็นต้น แต่ประเด็นที่น่าจะเป็นจุดอ่อนไหวมากที่สุดน่าจะมาจากกฎหมายด้านความปลอดภัยในการควบคุมการก่อสร้างถนนและการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายควบคุมความเร็วที่ได้คะแนนค่อนข้างต่ำ ขณะที่การบังคับใช้กฎหมายเรื่องเมาไม่ขับ การไม่สวมหมวกกันน็อก การคาดเข็มขัดนิรภัย ฯลฯ ได้คะแนนการบังคับใช้กฎหมายในระดับกลาง และทั้งหมดคือความจริงที่ต้องใช้เวลาในการพัฒนาระบบนิเวศน์ความปลอดภัยทางถนนในท้ายที่สุด (ดูข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทยด้านล่าง)