ThaiPublica > คอลัมน์ > กระแสชังมหาตมา คานธี

กระแสชังมหาตมา คานธี

20 มิถุนายน 2019


วรากรณ์ สามโกเศศ

มหาตมา คานธี ที่มาภาพ : https://www.oneindia.com/feature/why-mahatma-gandhi-is-not-father-of-nation-rti-activist-seeks-answers/articlecontent-pf4678-1316546.html

ถึงแม้คนทั่วโลกชื่นชม มหาตมา คานธี บุรุษผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลกแห่งศตวรรษที่ 20 แต่ก็มีคนบางกลุ่มในอินเดียปัจจุบันที่สร้างกระแสชิงชังมหาบุรุษท่านนี้อย่างสร้างความตะลึงงันให้แก่ชาวโลก

Amy Kazmin รายงานในหนังสือพิมพ์ Financial Times อันทรงอิทธิพลของอังกฤษเมื่อเร็วๆ นี้ว่ามีการเปิดตัวกระแสชิงชังที่แอบซ่อนมานานในสังคมอินเดียโดยนักการเมืองเมื่อมีการหาเสียงในการเลือกตั้งใหญ่ในอินเดียระหว่างเมษายนและพฤษภาคม 2019 ที่ผ่านมานี้

“มหาตมา” (จิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่) เป็นคำนำหน้าชื่อที่คนอินเดียมอบให้แก่ “Father of the Nation” ด้วยความรักและชื่นชม มหาบุรุษท่านนี้เป็นผู้นำการต่อสู้กับอังกฤษเพื่อความเป็นเอกราชโดยใช้หลัก “อหิงสา” (การไม่เบียดเบียน การเว้นจากการทำร้าย การไม่ใช้ความรุนแรงมีต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด) อย่างชนะใจชาวโลกและบีบให้อังกฤษเจ้าอาณานิคมยอมปล่อยให้เป็นเอกราชในที่สุด

ชื่อเดิมของมหาตมา คานธี คือ โมหันทาส กรัมจันท์ คานธี เกิด ค.ศ. 1867 เป็นนักกฎหมายที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยลอนดอน ใน ค.ศ. 1916 เขาตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสานต่อการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้แก่คนอินเดียในสมัยที่อินเดียเป็นอาณานิคมของอังกฤษ การผนึกกำลังคนละเล็กคนละน้อยข้ามระยะเวลาอันยาวนานด้วย “สัตยาเคราะห์” (การยึดความจริงเป็นหลักการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมโดยใช้วิธีดื้อแพ่งไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือคำสั่งที่เห็นว่าไม่ยุติธรรมแต่ไม่ใช้วิธีรุนแรง) ซึ่งเป็นพลังที่สั่นสะเทือนอำนาจที่กดขี่ชาวอินเดียอย่างได้ผล

หลังจากต่อสู้มายาวนานถึง 90 ปี อินเดียก็ได้รับเอกราชในวันที่ 15 สิงหาคม 1947 แต่เอกราชนี้ได้มาด้วยการที่ “อินเดียเดิม” (British India) ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเทศ คือ ปากีสถานและอินเดีย (ประกาศ 3 มิถุนายน 1947) และตามมาด้วย Indian Independence Act 1947 (ประกาศ 14 สิงหาคม 1947) โดยปากีสถานเป็นประเทศแยกออกไป และข้ามเที่ยงคืนอีกไม่กี่นาทีต่อมาอินเดียก็ได้รับเอกราช

ความขัดแย้งระหว่างสองศาสนาในอินเดียที่มีมายาวนาน ได้รับ “การแก้ไข” โดยปากีสถานแยกไปเป็นดินแดนของชาวมุสลิม ส่วนฮินดูอยู่ในอินเดีย สิ่งที่เกิดตามมาก็คือการอพยพวุ่นวายของผู้คนจนมีผู้ไร้บ้าน 14 ล้านคน มีการฆ่าฟันกันตายระหว่าง 200,000-2,000,000 คนจนเป็นโศกนาฏกรรมที่แสนเศร้า

มหาตมา คานธี ต้องการเห็นสังคมอินเดียที่ยอมรับมุสลิมและซิกข์อย่างเท่าเทียม เป็นสังคมที่ยอมรับความหลากหลายของความเชื่อ อย่างไรก็ดี ฮินดูชาตินิยมกลุ่มหนึ่งไม่พอใจความคิดแนวนี้ของผู้นำการต่อสู้เป็นอย่างมาก

คนกลุ่มนี้เกลียดชังมหาบุรุษที่ใช้ “อหิงสา” เพราะเห็นว่าทำให้อ่อนแอในการต่อสู้โดยเฉพาะกับมุสลิมและซิกข์ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย พวกเขาโทษมหาตมาคานธีที่ทำให้เกิดการแบ่งแยก “อินเดียเดิม”

ความรุนแรงเกิดขึ้นหนักในรัฐปัญจาบและเบงกอล มหาตมา คานธี พยายามช่วยระงับข้อขัดแย้งโดยเดินทางไปเยี่ยมสถานที่เกิดความรุนแรงหลายครั้งและในครั้งสุดท้ายเขาก็ถูกสังหารด้วยปืน 3 นัดเข้าหน้าอกในวันที่ 30 มกราคม 1948 เมื่อมีอายุ 78 ปี
ผู้สังหารคือ Nathuram Godse ฮินดูชาตินิยมซึ่งในที่สุดถูกจับและประหารชีวิตร่วมกับผู้สมคบอีกหลายคน กลุ่มที่เกลียดและชิงชังมหาตมา คานธี มีชื่อว่า RSS (มาจากชื่อผู้นำฝ่ายขวาหัวรุนแรงของฮินดู Rashtriya Swayamsevak Sangh) โจมตีด่าทอมหาตมา คานธี อย่างเปิดเผยในตอนปลายชีวิต แต่เพิ่งรามือไปเมื่อสมาชิกของกลุ่มได้สังหารเขาแล้ว

ในปัจจุบันถึงแม้คนอินเดียจำนวนมากจะชื่นชมบูชามหาตมา คานธี แต่เชื้อของกลุ่ม RSS ก็ยังไม่หมดไป ภายใต้ผิวน้ำของสังคมอินเดียยังมีความชิงชังไม่พอใจเขาอยู่ไม่น้อยที่ทำให้เกิดการ “อ่อนข้อ” ให้แก่มุสลิมและซิกข์

หลักฐานว่ากระแสนี้ยังมีอยู่ก็คือในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา กลุ่มหนึ่งของผู้นำพรรค BJP (Bharatiya Janata Party) ของนายกรัฐมนตรี Modi คนปัจจุบันได้กล่าวสรรเสริญนาย Nathuram Godse ฆาตกรสังหารมหาตมา คานธี เมื่อ 71 ปีก่อนต่อหน้าฝูงชนว่าเป็น “ผู้รักชาติ”

พรรค BJP ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากกลุ่ม RSS ซึ่งสืบทอดมายาวนาน และไม่เขินอายที่จะกล่าวเชิดชูฆาตกรในที่สาธารณะ ถ้านักการเมืองกล้าพูดเช่นนี้อย่างเปิดเผยก็แสดงว่าจะต้องถูกใจคนส่วนหนึ่งอย่างแน่นอน ดังนั้นกระแสชิงชังมหาตมา คานธี ในสังคมอินเดียนั้นยังดำรงอยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มฮินดูฝ่ายขวา ประเด็นที่น่าพิจารณาก็คือแนวคิดนี้จะซึมลึกเข้าไปในจิตใจของคนรุ่นใหม่ที่เกิดไม่ทันเหตุการณ์มากน้อยเพียงใด

มหาตมา คานธี ที่มาภาพ : https://www.oneindia.com/feature/why-mahatma-gandhi-is-not-father-of-nation-rti-activist-seeks-answers/articlecontent-pf4680-1316546.html

สำหรับชาวต่างชาติผู้ชื่นชมและเทิดทูนมหาตมา คานธี มหาบุรษผู้เสียสละเพื่อชาวอินเดียและเป็นต้นแบบของบุรุษอื่นในศตวรรษที่ 20 ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิและความยุติธรรม เช่น Nelson Mandela และ Martin Luther King JR. การได้ทราบว่ามีคนอินเดียกลุ่มหนึ่งชิงชังวีรบุรุษท่านนี้ อาจรู้สึกตกใจและประหลาดใจ แต่ถ้าหากพิจารณาประวัติศาสตร์แล้วอาจรู้สึกปลงได้

บุคคลหนึ่งสำคัญขึ้นมาในประวัติศาสตร์ก็เพราะได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญซึ่งย่อมทำให้มีผู้ได้ มีผู้เสีย มีผู้เห็นพ้องหรือขัดแย้งเพราะอุดมการณ์ไม่ตรงกันเป็นธรรมดา ความยิ่งใหญ่ทำให้มี ผู้ศึกษาวิจัย เอาแว่นขยายส่องดูทุกสิ่งที่ได้เกิดขึ้น ภาพที่ปรากฏขึ้นแก่คนรุ่นต่อมาก็มักมาจากภาพเหล่านี้ที่บ่อยครั้งถูกบิดเบือนเพราะผู้ศึกษาที่ขาดความเป็นกลางหรือมีวัตถุประสงค์แอบแฝง

ไม่มีอะไรที่ทำให้คนในสังคมหนึ่งแตกแยกอย่างฝังรากลึกและต่อเนื่องยาวนานนับพันปีได้เท่าศาสนาและเชื้อชาติ และต่อมาในยุคร้อยๆ ปีหลังคืออุดมการณ์ทางการเมือง บุคคลในประวัติศาสตร์คือตัวละครในความแตกแยกเหล่านี้ ประวัติศาสตร์ (his story = history) นั้นเขียนโดยมนุษย์ที่มักมีอคติเป็นเจ้าเรือน จึงควรรับฟังด้วยการไตร่ตรองและปลงในความไม่แน่นอน ใครจะไปรู้ต่อไปถ้าคนอินเดียถูกครอบงำโดยฮินดูฝ่ายขวาทั้งประเทศ ผู้สังหารมหาตมา คานธี อาจเป็นวีรบุรุษของอินเดียไปก็ได้

สิ่งที่เป็น “ความจริง” ในประวัติศาสตร์นั้นมีอยู่ แต่ต้องสดับตรับฟังและกลั่นกรองการถูกบิดเบือนและถูกครอบงำด้วยอคติด้วยความระมัดระวังเสมอ

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 18 มิ.ย. 2562