ThaiPublica > คอลัมน์ > สถิติเพื่อการตัดสินใจ

สถิติเพื่อการตัดสินใจ

1 พฤษภาคม 2015


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑตย์

สถิติตัวเลขเป็นข้อมูลสำคัญที่ใช้ประกอบการตัดสินใจ มีสถิติของสังคมไทยบางเรื่องที่น่าสนใจอย่างสมควรนำไปใช้ในการตัดสินใจด้านนโยบาย

เรี่องแรกคือเรื่องโรงเรียนขนาดเล็ก ผู้เขียนได้เห็นการอ้างตัวเลขเรื่องนี้ผิดอยู่บ่อย จึงขอนำตัวเลขของปีการศึกษา 2557 ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยมาให้เห็นกันดังนี้

ข้อมูลขนาดของโรงเรียนและจำนวนโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งหมายความถึงโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน (เฉลี่ยชั้นละไม่เกิน 20 คน) ดังต่อไปนี้ จำนวนนักเรียน 0 คน มีอยู่ 197 โรงเรียน/1-20 คน(793 โรงเรียน)/21-40 (2,403)/41-60 (3,372)/61-80 (3,520)/81-100 (2,819)/101-120 (2,402)

เมื่อรวมจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กแล้วมีอยู่ทั้งหมด 15,506 ในจำนวนโรงเรียนทั้งหมดของ สพฐ. 30,922 หรือร้อยละ 50.15 จำนวนนักเรียนทั้งหมดของโรงเรียนขนาดเล็กคือ 1,017,363 คน หรือ ร้อยละ 14.3 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมดของ สพฐ. 8,132,167 คน โดยมีครู 86,711 คน หรือร้อยละ 21.55 ของจำนวนครูทั้งหมดของ สพฐ. 489,123 คน

ข้อมูลข้างต้นหมายความว่าโรงเรียนขนาดเล็กมีอยู่ประมาณครึ่งหนึ่งของโรงเรียนของ สพฐ. ทั้งประเทศโดยมีนักเรียนอยู่ร้อยละ 14.30 (ประมาณ 1 ล้านคน) ของนักเรียนทั้งหมดแต่ต้องใช้ครูร้อยละ 21.55 (ประมาณ 86,000 คน) ของครูทั้งหมด

พูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่านักเรียนในโรงเรียนเหล่านี้จำนวน 1 ล้านคน ต้องใช้ครูเกือบ 90,000 คน (ในจำนวนครูทั้งหมดเกือบ 500,000 คน) หรือนักเรียนจำนวนเพียงร้อยละ 14.3 ของทั้งหมดต้องใช้ครูกว่า 1 ใน 5 ดูแล นอกจากนี้นักเรียนและครูอยู่ในโรงเรียนครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด

จำนวนโรงเรียนขนาดเล็กก็เพิ่มไม่หยุดหย่อนเพราะเด็กเกิดน้อยลงทุกทีในแต่ละปี ในปีการศึกษา 2554 มีจำนวนโรงเรียนขนาดเล็ก 14,638 หรือร้อยละ 46.83 ในปีการศึกษา 2555 มี 14,816 (ร้อยละ 47.62) ปี 2556 มี 15,386 (ร้อยละ 49.6) และปี 2557 มี 15,506 (ร้อยละ 50.15)

เรี่องที่สอง คือเรื่องการบริโภคอาหารของเด็กประถม การสำรวจนักเรียน 66,700 คน จากโรงเรียน 1,042 แห่งใน 4 ภูมิภาค ได้ผลว่าร้อยละ 51.8 ได้ทานผักที่ปลูกเองในโรงเรียน ร้อยละ 18.7 ทานผักเพียงพอ ร้อยละ 44.3 ทานผลไม้เพียงพอ ร้อยละ 10.6 อ้วน ร้อยละ 40.8 ทานนมทุกวัน (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนมแต่งรส) ร้อยละ 48 ทานน้ำหวาน / น้ำอัดลมทุกวันวันละ 1 แก้ว และร้อยละ 36.7 ซื้อลูกชิ้นปิ้ง / ทอดมากที่สุด

เรี่องที่สาม คือเรื่องคนไทยบริโภคหวานล้นเกิน ในปี 2554 ที่มีสถิติเปรียบเทียบข้ามประเทศในอาเซียน คนไทยบริโภคน้ำอัดลมถึง 41.3 ลิตร/คน/ปี เป็นอันดับ 1 ของอาเซียน รองลงมาคือฟิลิปปินส์ 31.3 ลิตร/คน/ปี สิงคโปร์ 26.6 มาเลเซีย 17.1 เวียดนาม 5.3 อินโดนีเซีย 3.1

ในปี 2553 คนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ย 23.4 ช้อนชา/วัน (หนึ่งช้อนชาเท่ากับประมาณ4 กรัม) WHO แนะนำให้บริโภคน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา/วัน ประมาณร้อยละ 40 ของซองบรรจุน้ำตาลสำหรับเติมกาแฟในธุรกิจโรงแรมมีขนาด 8 กรัม หรือ 2 ช้อนชา คนส่วนใหญ่เติมหมดซองซึ่งพฤติกรรมนี้น่ากังวลเพราะคนไทยดื่มกาแฟเฉลี่ย 233 แก้ว/คน/ปี ซึ่งส่วนใหญ่ใส่น้ำตาลด้วย

เรื่องที่สี่ คือเรื่องการสูบบุหรี่ของคนไทย สำหรับประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไประหว่าง พ.ศ. 2534-2556 สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจพบว่าถึงแม้จะมีจำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงไม่มากนัก (2534 จำนวน 12.26 ล้านคน 2556 มีจำนวน 10.77 ล้านคน) แต่อัตราการสูบบุหรี่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยลดจากร้อยละ 32 ในปี 2534 หรือร้อยละ 19.95 ในปี 2556

เรื่องที่ห้า เรื่องการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ สำหรับประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปในช่วงเวลา 2547-2557 อัตราการดื่มลดลงไปบ้างแต่ไม่มากนัก กล่าวคือจากร้อบยละ 55.5 ในปี 2547 ลดลงไปเป็นร้อยละ 53.0 ในปี 2557

ที่น่าสนใจก็คือเมื่อแยกเพศก็จะพบว่าในขณะที่ชายมีอัตราการดื่มที่ลดลงไปเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2547 กับปี 2557 แต่ในช่วงกลางก็อาจเรียกได้ว่าเกือบทรงตัว แต่หญิงมีอัตราการดื่มที่สูงขึ้นเป็นลำดับ จากร้อยละ 10.3 ในปี 2547 เป็นร้อยละ 12.9 ในปี 2557 อย่างไรก็ดีจำนวนชายดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอร์มากกว่าหญิงประมาณ 4 เท่าตัว

เมื่อพิจารณาการดื่มแอลกฮอร์ในระดับที่เรียกว่าอันตราย (เพศชายดื่มตั้งแต่ 41กรัม/วันขึ้นไป และเพศหญิงดื่มตั้งแต่ 21 กรัม/วันขึ้นไป) ก็พบว่าทั้งชายและหญิงมีอัตราที่ลดลง คือชายลดลงจากร้อยละ 16.6 ในปี 2546-47 เป็นร้อยละ 9.1 ในปี 2551-52 ส่วนหญิงลดจากร้อยละ 2.1 เป็น ร้อยละ 1.6

ค่าใช้จ่ายครัวเรือนของประชากรไทยในหมวดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ระหว่าง 2450-2557 ลดลง กล่าวคือจากค่าใช้จ่าย 154,998 บาทต่อครัวเรือน/ปีในปี 2550 เหลือ 139,333 บาทต่อครัวเรือน/ปี ในปี 2557

ถ้าใครอยากรู้ว่าใครเป็นคนด้อยประสิทธิภาพในการทำงานจนทำให้มีคนตายจากอุบัติเหตุระหว่างสงกรานต์ปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 42 คน คำตอบง่าย ๆ โดยไม่ต้องจ้างคนศึกษาก็คือฆาตกรที่มีนามว่า ‘สถิติที่ไม่เข้าท่า’ เมื่อราคาน้ำมันลดต่ำลงมาก รัฐบาลส่งเสริมการท่องเที่ยว ท้องถิ่นจัดงานสงกรานต์สนุกสนาน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมีจำนวนรถ จำนวนคนเดินทางโดยรวมกันเป็นจำนวนระยะทางที่เดินทางโดยคนทั้งหมดมากขึ้น และก็เป็นธรรมดาที่ต้องมีคนตายเพิ่มขึ้น (ไม่เชื่อก็ลองดูสถิติคนตายด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์บนถนนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติของจังหวัดนครราชสีมาดูก็ได้) เฉกเช่นเดียวกับมีคนตายในวัย 80 มากกว่าคนตายในวัย 30 ปี เลิกดูตัวเลขคนตายแบบไร้เดียงสานี้กันเถอะ ถ้าจะดูกันให้ถ่องแท้ก็ต้องเปรียบเทียบจำนวนคนตายต่อกิโลเมตรของแต่ละสงกรานต์จึงจะได้ความจริง

ความจริงจะปรากฏชัดได้ด้วยการมีพื้นฐานของการเก็บสถิติที่ดี เข้าใจธรรมชาติของสถิติและแปรสถิติเป็นความจริงจนสามารถนำออกมาเป็นนโยบายที่ดีได้โดยอาศัยการตัดสินใจที่ดี

หมายเหตุ: ตีพิพม์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 27 เมษายน 2558